ทปอ. เตรียมลดค่าสมัครสอบ TCAS ให้นักเรียนยากจน – ยากจนพิเศษ
รศ.ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ ผู้จัดการระบบ TCAS ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย

ทปอ. เตรียมลดค่าสมัครสอบ TCAS ให้นักเรียนยากจน – ยากจนพิเศษ

นักเรียนยากจน ยากจนพิเศษ เข้าสู่ระบบ TCAS หรือยืนยันสิทธิ์ปีการศึกษา 2566 มีแค่ร้อยละ 12.46 เท่านั้น แสดงให้เห็นว่าเรายังทำงานหนักกันไม่พอที่จะทำให้คนเข้าสู่ระบบการศึกษามากกว่านี้ ถึงแม้ตัวเลขนักเรียนยากจน-ยากจนพิเศษที่เข้าสู่ระบบ TCAS จะเพิ่มขึ้น แต่เป็นการเพิ่มขึ้น เพราะฐานจำนวนนักเรียนกลุ่มนี้มีมากขึ้นเท่านั้นเอง แล้วเราจะเพิ่มสัดส่วนเหล่านี้ได้อย่างไร น่าจะเป็นประเด็นที่สำคัญ  

ประเด็นสำคัญของเยาวชนกลุ่มนี้ คือ ความกังวลในเรื่องค่าใช้จ่าย เขายังไม่ทราบว่าจะมีหลักประกันอย่างไรที่จะทำให้จบการศึกษาได้ และค่าใช้จ่ายในการสมัครสอบก็ยังเป็นอุปสรรคอย่างยิ่ง ทปอ. พัฒนาระบบ TCAS เข้าปีที่ 5  ระบบ Admission  เดิมก่อนหน้านี้เปิดโอกาสให้นักเรียนสามารถสมัครได้หลายที่ และสามารถวิ่งรอกสอบได้ไม่จำกัด ขณะเดียวกันสามารถยืนยันสิทธิ์ในหลาย ๆ มหาวิทยาลัยพร้อมกันในเวลาเดียวกัน แปลว่าคนที่มีฐานะดีกว่าสามารถที่จะยืนยันสิทธิ์ได้หลากหลายที่ หลากหลายสิทธิมากกว่า ทำให้เกิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำขึ้นมาทันที ระบบ TCAS จึงจัดการปัญหานั้นไม่ให้นักเรียนทุกคนต้องวิ่งรอกสอบ ไม่มีการเปิดสมัครสอบตรงก่อนหน้าที่นักเรียนจะสำเร็จการศึกษา การที่กำหนดลักษณะนี้แปลว่าการวิ่งรอกสอบจะไม่เกิดขึ้น นักเรียนที่มีทุนทรัพย์มากกว่าไม่สามารถที่จะสมัครสอบได้มากกว่าคนอื่น ขณะเดียวกันสิทธิที่ยืนยันจะมีแค่สิทธิเดียวต่อรอบ หมายความถึงนักเรียนจะไม่มีการกันที่กันไปมา คนที่มีทุนทรัพย์มากกว่าจะกันที่คนอื่น จะไม่เกิดกรณีนี้ขึ้น

การที่ทุกคนเรียนจบภายในห้องเรียนก่อนจึงจะสามารถสอบได้ หมายความว่าลดเรื่องการเรียนพิเศษเพื่อจะไปสอบ เพราะการสอบเกิดขึ้นหลังจากการจบหลักสูตรแล้ว  สิ่งเหล่านี้เองเป็นประเด็นที่ TCAS พยายามทำมาโดยตลอด  แต่แม้ว่าเราจะพยายามทำอย่างไรก็ตาม เราไม่เคยมี indicator ในเรื่องของคนที่ยากจนด้อยโอกาสเข้าสู่มหาวิทยาลัย จนกระทั่งเรามีกองทุน กสศ. เรามี KPI ที่สำคัญ คือ ตัวเลขร้อยละ 12.46 ที่เราเห็น และหวังว่า KPI ตัวนี้ จะเป็นสิ่งที่มหาวิทยาลัยต่าง ๆ และระบบ TCAS เอง ใช้ในการทำงานเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา 

ในปีแรก เราอาจจะสามารถช่วยเบื้องต้น เพราะยังมีมาตราการอีกหลายมาตราการ ที่เราเตรียมการเอาไว้ 

  • เรื่องแรก คือการลดค่าใช้จ่าย
    น่าจะเป็นสิ่งที่หลายคนมองเห็นชัดเจนที่สุด ที่ผ่านมาค่าใช้จ่ายในระบบ TCAS นักเรียนที่สมัคร 1 สาขาต้องเสียเงิน 150 บาท สมัคร 2 สาขา 200 บาท สมัคร 3 สาขา 250 บาท  ไล่เรียงขึ้นไปซึ่งในการสมัคร TCAS แต่ละรอบ/สาขา หมายถึงค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้น ดังนั้นถ้าเรามีหลักประกันให้กับนักเรียนโดยเฉพาะกลุ่มยากจน ยากจนพิเศษว่าเขาสมัครได้แน่นอน โดยมีการ waive หรือยกเลิกค่าใช้จ่าย ตอนนี้อยู่ในระหว่างหารือกัน คาดว่าเดือนสิงหาคมนี้น่าจะมีข่าวดี  จากที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย  ในการจะช่วยยกเลิกค่าสมัครน้องกลุ่มนี้อย่างน้อยหนึ่งลำดับสองลำดับก็จะฟรีได้ ลำดับต่อไป ก็จ่ายเงินเพิ่มเฉพาะส่วนต่าง เป็นต้น 

    จริงๆ สูงสุดสมัครได้ 10 อันดับ ค่าใช้จ่ายสูงสุด 900 บาท หลายคนอาจมองว่า 900 บาทเป็นค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง แต่ถ้าเราเปรียบเทียบกับการดำเนินการ คิดง่าย ๆ เหมือนเราสมัคร 10 มหาวิทยาลัย การสมัคร 1 มหาวิทยาลัย ปกติค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 300 บาท 500 บาท 700 บาท  ดังนั้นการสมัครเหล่านี้ จะเป็นการลดค่าใช้จ่าย และลดเพิ่มขึ้นไปอีกถ้าเป็นน้อง ๆ ที่อยู่ในกองทุน กสศ.

    การสมัครเป็นค่าใช้จ่ายเพียงส่วนเดียว ถ้าจะเข้ารอบสาม ก็จะมีเรื่องสอบรายวิชาต่าง ๆ แม้ว่าตอนนี้หลายวิชามีต้นทุนสูงขึ้นเป็นอย่างมาก แต่ทปอ. ก็ไม่มีการปรับค่าสอบมาเป็นเวลานานแล้ว นั่นก็คือ ค่าสอบ TGAT/TPAT ค่าสอบรายวิชา A level ต่าง ๆ แปรผันตามจำนวนที่นักเรียนต้องเลือก ในอนาคต เราอาจะมีกระบวนการในการช่วยลดค่าสมัครสอบได้ด้วย ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือทุกหลายมหาวิทยาลัยที่อยู่ในระบบ TCAS เพื่อลดค่าใช้จ่ายให้นักเรียนกลุ่มนี้
  • แพลตฟอร์มส่งเสริมการมีงานทำระหว่างเรียน
    ส่วนมากนักเรียนที่มาจากมัธยมปลาย คาดหวังถ้าไม่ได้เงินกู้ กยศ. ก็อย่างน้อยได้ทุนการศึกษาของที่มหาวิทยาลัย หรือจะดีกว่านั้นคือได้งานทำระหว่างที่เรียน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องการการสนับสนุนจากทุกมหาวิทยาลัยที่อยู่ในเครือข่าย 

    ในส่วนหนึ่งที่ ทปอ. พยายามจะดำเนินการช่วยเหลือในทุกมหาวิทยาลัย คือการสร้างแพลตฟอร์มการทำงานเพราะการทำงานระหว่างเรียนไม่ใช่เป็นแค่เรื่องรายได้ แต่เป็นเรื่องเพิ่มประสบการณ์เพื่อความรับผิดชอบ เรียนรู้ทักษะการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นอย่างมีคุณค่า สิ่งเหล่านี้อุปสรรคสำคัญอย่างหนึ่งคือ การบริหารจัดการของมหาวิทยาลัย  เพราะมหาวิทยาลัยมีภาระงานเยอะ ถ้า ทปอ. จะเป็นตัวกลางในการพัฒนา แพลตฟอร์มชื่อ U WORK คนที่ต้องการนักศึกษาไปทำงาน สามารถประกาศบนแพลตฟอร์มตรงนี้ เป็นงานประจำ งานพาร์ตไทม์ นักเรียน นักศึกษา ที่สนใจสามารถสมัครผ่านแพลตฟอร์มนี้ ช่วยพัฒนากำลังคน และฝึกให้มีงานทำระหว่างการเรียน 
  • ระบบ Guiding system
    ทปอ. เห็นปัญหานี้มานานแล้วว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สถิติของนักเรียน นักศึกษาที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยได้แล้วแต่ลาออกไปสอบเข้าคณะใหม่หรือมหาวิทยาลัยใหม่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จากเดิมร้อยละ 12-14  ปัจจุบันเพิ่มเป็นร้อยละ 20 ซึ่งแปลว่า 1 ใน 5  ของผู้ที่สอบในระบบ TCAS  คือคนที่กำลังเรียนมหาวิทยาลัย แปลว่าเรากำลังสูญเสียทรัพยากร และเวลาที่นักเรียนนักศึกษาต้องเสียไปอย่างมากมาย ระบบ Guiding system เป็นระบบสำคัญจะผนวกการพัฒนากำลังคนของประเทศ สาขาที่เป็นที่ต้องการเข้ามาอยู่ในระบบนี้ การมีระบบ Interactive รายบุคคลสามารถประเมินตนเองได้ ก่อนจะแนะนำสาขาที่ตนเองจะเรียน ทั้งหมดนี้อยู่ใน Pipeline ของการทำงานของ ทปอ. ทั้งสิ้น  หวังว่าทุกมหาวิทยาลัยจะร่วมกันพัฒนา ไปพร้อม ๆ กัน

กสศ. ชวนอ่าน ‘ภารกิจส่งช้างเผือกให้ถึงดวงดาว’ รายฉบับพิเศษ : หลักประกันโอกาสทางการศึกษาภาคบังคับถึงอุดมศึกษา