“ทุกคนล้วนต้องการ Support System” แนวทางดูแลจิตใจเด็ก drop out ที่กลับเข้าระบบ
รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและวัยรุ่น

“ทุกคนล้วนต้องการ Support System” แนวทางดูแลจิตใจเด็ก drop out ที่กลับเข้าระบบ

ต้นปี 2565 มีรายงานจากเว็บไซต์ npr.org เผยแพร่ออกมาว่า มีเด็กอเมริกันจำนวนมากที่กำลังเผชิญหน้ากับปัญหาสุขภาพจิตหลังจากกลับเข้าเรียนออนไซต์ที่โรงเรียน เนื่องจากหลายคนยังปรับตัวไม่ได้ ช่วงเวลากักตัวอันยาวนานจากวิกฤตโควิด-19 ทำให้ทักษะทางสังคมของเด็กและวัยรุ่นจำนวนไม่น้อยถดถอยลง ยังไม่นับประเด็นความรู้ถดถอย เรียนไม่ทันเพื่อน ที่สะสมจนกลายเป็นความเครียดในตัวเด็ก

ปรากฏการณ์นี้ไม่ได้เกิดแค่ในเด็กและเยาวชนอเมริกันเท่านั้น ในเมืองไทยเอง เมื่อเด็กได้กลับสู่ห้องเรียนออนไซต์อีกครั้ง จำนวนไม่น้อยที่ต้องเผชิญภาวะกดดัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเด็กที่เคยหลุดจากระบบการศึกษาไปตลอดช่วงโควิดระบาด พอกลับเข้ามาเรียนในระบบก็พบความยากลำบากในการปรับตัว เกิดความตึงเครียดขึ้นจนเด็กอาจไม่อยากไปโรงเรียน เสี่ยงหลุดออกจากระบบอีกคราว

ในสถานการณ์อันเกินกำลังที่เด็กและเยาวชนจะรับมือได้เองนี้ ทางสถานศึกษาจะสามารถช่วยพวกเขาได้อย่างไรบ้าง บทความนี้ รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและวัยรุ่น ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม ได้เสนอแนะมุมมองและข้อเสนอบางส่วน เพื่อเป็นแนวทางการเยียวยา โดยเฉพาะสำหรับเด็ก drop out ที่กลับเข้ามาเรียนใหม่ ให้แก่สถานศึกษาได้ลองนำไปปรับใช้ดู

นอกเหนือจากห้องแนะแนว โรงเรียนอาจริเริ่ม “ห้องสปาอารมณ์”

ผมมีข้อเสนอสองสามประการที่คิดว่าโรงเรียนต้องเตรียมรับมือ ประการแรก ต้องริเริ่มก่อตั้งห้องสปาอารมณ์ ห้องสปาอารมณ์นี้แตกต่างยังไงจากห้องแนะแนว ก็แปลงกายห้องแนะแนวให้เป็นห้องสปาอารมณ์ก็ได้ โดยเป็นห้องที่ให้เด็กเขาสามารถจะพักผ่อน มีเสียงเพลงบรรเลง เด็กสามารถวาดรูป มีดนตรีบรรเลงเบาๆ ทำนองนี้ เหมือนตอนที่ผู้ใหญ่ต้องการที่จะสปาอารมณ์ ก็คล้ายๆ กัน ห้องสปาอารมณ์ไม่ได้ยากแสนเข็ญ มีมุมรีแลกซ์พักผ่อนหย่อนใจ หมอว่ายิ่งเป็นโรงเรียนบนดอยยิ่งได้เปรียบ อาจจะเป็นบรรยากาศธรรมชาติ ใต้ต้นไม้ เป็นมุมที่สามารถพักผ่อนสบายๆ ไม่ใช่มุมที่ไปลงโทษใดๆ กับเด็กเขา

ทุกคนล้วนต้องการ Support System: สร้างระบบเพื่อนช่วยเพื่อนเพื่อบรรเทาการบูลลี่

ประการสอง คิดว่าควรต้องสร้างระบบที่ไม่ให้เกิดการบูลลี่กัน โดยเพื่อนช่วยเพื่อน โรงเรียนน่าจะรีบทำความเข้าใจ เตรียมความพร้อมไม่ให้เด็กกลุ่มนี้ถูกบูลลี่จากเพื่อนร่วมชั้นหรือเพื่อนในโรงเรียน บางครั้งเด็กอาจคิดว่าแค่พูดจาหยอกล้อกัน เช่น “แก drop out มานี่นา ตอนนี้กลับมาแล้ว” อะไรพวกนี้ แต่นี่เป็นการบูลลี่ โรงเรียนอาจจะต้องร่วมมือกับนักเรียนทำให้เกิดระบบ YC (Youth Counselor) คือระบบเพื่อนช่วยเพื่อน มิใช่ตัวครู ตัวน้องๆ เยาวชนนั่นแหละสามารถเป็นหูเป็นตาพร้อมจะให้ความช่วยเหลือเกื้อกูล เพื่อให้เขาเกิดความภาคภูมิใจ

เด็กที่ drop out หลายคนมีทักษะชีวิตเจ๋งๆ หลายอย่าง ลองให้เขานำสิ่งที่เขารู้มาแลกเปลี่ยนกับเพื่อน กับโรงเรียน เพื่อไม่ให้เขาเป็นคนที่แบมือรับฝ่ายเดียว เด็กส่วนหนึ่งเขามีงานมีการทำอยู่แล้ว ก็ให้เอาจุดแข็งของเขามาเป็นผู้ให้กับเพื่อนบ้าง เพื่อนอาจจะช่วยเหลือในเรื่องวิชาการเพื่อให้สามารถเรียนรู้ทัน ในขณะที่เขาสามารถให้วิชาชีพในการจัดการเรื่องพวกนี้ได้ เพื่อนช่วยเพื่อน มิใช่เขาเป็นฝ่ายรับอย่างเดียว เขาสามารถให้ได้ด้วยซ้ำไป ก็เหมือนสมัยก่อนที่เราเป็นเด็ก มีชมรม มีรุ่นพี่รุ่นน้องคอยช่วยเหลือเกื้อกูลกัน

Home Room คือพื้นที่ปลอดภัย มีไว้เพื่อถามและฟังกัน

ประการที่สาม Home Room แทนที่จะถามตอนเช้า ก็ถามด้วยสามคำถามก็คือ รู้สึกอย่างไร เครียดมาทั้งวันรู้สึกอย่างไร วันนี้ได้เรียนรู้อะไร และสิ่งที่เรียนรู้จะเอาไปทำอย่างไรต่อ โดยไม่มีภาคบังคับว่าใครจะตอบหรือไม่ตอบ ไม่ตอบก็ไม่ผิด โปรดฟังอีกครั้ง ไม่ตอบก็ไม่ผิด หากไม่มีอารมณ์จะตอบ อารมณ์บ่จอย ก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่ขอให้คงไว้ซึ่งการฟังเสียงเด็ก ฟังเสียงครูเขาฟังมาเยอะแล้ว ก็ขอให้ฟังเสียงเด็กบ้าง

ให้ความสำคัญกับการสร้างอาชีพ

สุดท้ายน่าจะใช้ระบบการสร้างอาชีพมาพัฒนา เอาตัวทักษะอาชีพเป็นหัวใจหลัก อย่าเอาวิชาการเป็นตัวนำ เพราะว่าเด็กจำนวนไม่น้อย เมื่อ drop out แล้วกลับเข้าระบบ คำถามที่เกิดขึ้นกับกลุ่มน้องก็คือ เรียนแล้วได้อะไร แทนที่จะเอางานนั้นไปทำมาหากิน กลับกลายเป็นต้องเสียเวลามาเรียนเรื่องไร้สาระ แปรรูปเป็นเงินทองไม่ได้ เรามีเด็กจำนวนไม่น้อย เขาอาจจะทำมาหากินช่วยพ่อแม่เขาอยู่ บางคนอาจไม่มีพ่อแม่ เขาเป็นเด็กไทยหัวใจแกร่ง โรงเรียนต้องเปิดเป็นโรงเรียนเสริมทักษะอาชีพ

ช่วยกันทำให้เกิดระบบติดตามเด็ก drop out

ต้องช่วยกันทำให้เกิดระบบติดตามเด็ก drop out คณะกรรมการสถานศึกษาช่วยรับเป็นเจ้าภาพทำให้เด็กเขามีสัมมาชีพ มีแผนติดตามระยะยาว ในคณะกรรมการสถานศึกษาก็มีผู้นำท้องถิ่นซึ่งเขาก็มีหน้าที่ติดตามสมาชิกของตัวเอง ก็คอยติดตามดูว่าเด็กเหล่านี้เป็นอย่างไรบ้าง คอยช่วยเหลือสนับสนุนให้เขามีทักษะวิชาชีพติดตัว เขาจะได้ทำมาหากินได้ เลี้ยงตัวเองได้ อยู่ได้ด้วยตัวเอง

อ้างอิง : Kids are back in school — and struggling with mental health issues