ความสำเร็จไม่จำเป็นต้องยิ่งใหญ่ ขอแค่ “เข้าใจ” ผู้คนและสังคมรอบตัว

ความสำเร็จไม่จำเป็นต้องยิ่งใหญ่ ขอแค่ “เข้าใจ” ผู้คนและสังคมรอบตัว

ถอดบทเรียนเชิงประสบการณ์กับ ‘ดร.ไกรยส’ จากเวที Student Leadership Conference : Race4Good “ภาวะผู้นำที่แท้จริงคือการลงมือทำ และได้ผลลัพธ์เพื่อคนอื่น”

ภาวะความเป็นผู้นำของนักเรียนสร้างได้อย่างไร

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้ขึ้น เวที Student Leadership Conference : Race4Good เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานในฐานะองค์กรที่ขับเคลื่อนผลักดันเพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาในประเทศไทย

ภายในงานเยาวชนอายุระหว่าง 10-14 ปี ที่เดินทางมาจากนานาประเทศทั่วโลก จะได้ร่วมเรียนรู้เรื่องการสร้างสังคมที่ดีผ่านการประชุมภาวะความเป็นผู้นำของนักเรียน ในการประชุมที่จัดขึ้นเป็นเวลา 3 วัน (10-12 กุมภาพันธ์ 2566) ณ หอประชุม Memorial Hall โรงเรียนนานาชาติโชรส์เบอรี (Shrewsbury International School) โดยมีเป้าหมายสำคัญคือการให้นักเรียนได้รับฟังและเข้าร่วมกิจกรรมในการพัฒนาตนเอง เสริมสร้างความเชื่อมั่น จุดประกายแรงบันดาลใจ และเรียนรู้ความหมายที่แท้จริงของความสำเร็จและความเป็นผู้นำ ซึ่งไม่จำเป็นต้อง “นำ” ขอเพียงแค่เริ่ม “ทำ” ด้วยตนเองก็เพียงพอ

เยาวชนที่เข้าร่วมการเสวนา ให้ความสนใจกับประสบการณ์และการแบ่งปันความรู้จาก ดร.ไกรยส เป็นอย่างมาก โดยเห็นได้จากการตั้งคำถามถึงที่มาที่ไปและการเข้ามาทำงานกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ตลอดจนความหมายของความสำเร็จ และความเป็นผู้นำ

“ความสำเร็จไม่จำเป็นต้องสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างยิ่งใหญ่เสมอไป”

ดร.ไกรยส ได้กล่าวให้กำลังใจกับเยาวชนทุกคนและยกตัวอย่างประเด็นเรื่องการทำงานกลุ่มให้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้นว่า การที่ทำให้เพื่อนเข้าร่วมทำงานกลุ่มหรือรับฟังความเห็นเราได้ ก็ถือเป็นความสำเร็จแล้ว

ความสำเร็จจึงไม่ได้จำกัดอยู่แค่เพียงผลลัพธ์ แต่ยังหมายรวมถึงการลงมือทำระหว่างทาง ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง “แนวคิด” (mindset) หรือ การสร้างแรงบันดาลใจให้คนอื่น ๆ 

จุดเริ่มต้นของการเลือกมาทำงานเพื่อสังคม คือการเริ่มคิดถึงเส้นทางการทำงานของตัวเองอย่างจริงจังจากด้วยคีย์เวิร์ดหนึ่งคำ นั่นคือคำว่า “ความเห็นอกเห็นใจ” (empathy)

ดร.ไกรยส ได้สะท้อนความรู้สึกให้น้อง ๆ ฟังว่า

“ผมรู้สึกไม่มีความสุขทุกครั้งที่ได้เห็นคนจนใช้ชีวิตอย่างยากลำบากเพราะความไม่มี และความรู้สึกนั้นทำให้ผมอยากจะช่วยทำให้ชีวิตของผู้คนเหล่านั้นดีขึ้น”

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ.

ในเมื่อรู้ความต้องการของตนเองแล้ว ขั้นตอนต่อมาคือการตรวจสอบว่า กำลังความสามารถของตนเองจะสามารถช่วยเหลือคนอื่นได้อย่างไรบ้าง ซึ่งวิธีการในการได้มาซึ่งคำตอบ และเป็นวิธีการที่จะช่วยค้นหาตัวตนด้วยไปในที ก็คือการเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ในระหว่างที่ยังเป็นนักเรียน  

ดร.ไกรยส แบ่งปันข้อมูลว่า ตนเองเลือกที่จะเรียนในสายที่สามารถนำความรู้มาใช้ประโยชน์ในการสร้างสังคมที่ทุกคนมีรายได้เลี้ยงปากท้องได้อย่างเต็มที่ จนนำไปสู่การเลือกเรียนในสายเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก่อนที่จะต่อยอดโดยการไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกในสหราชอาณาจักร โดยเปลี่ยนเป้าหมายมาเรียนด้านเศรษฐศาสตร์นโยบาย จากเดิมที่เลือกเรียนด้านนโยบายการเงินระหว่างประเทศ เพราะตัดสินใจแล้วว่าการเลือกเรียนสายนี้สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้มากกว่า 

แต่แน่นอนว่า ชีวิตย่อมมีบททดสอบผ่านเข้ามาเสมอ 

ระหว่างรอยต่อของการย้ายสาขาเรียนต่อปริญญาเอก ดร.ไกรยสต้องเดินทางทั่วสหราชอาณาจักรเพื่อหาทุนการศึกษาต่อ จนท้ายที่สุด ความพยายามก็ส่งผลตอบแทนที่คุ้มค่า เขาได้นำความรู้กลับมาก่อร่างสร้างพื้นฐานให้กับ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จนถึงทุกวันนี้

“สังคมต้องการการเปลี่ยนแปลง แต่การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อตัวเราเองเป็นคนทำให้เกิดขึ้นเท่านั้น”

การศึกษาคือพื้นฐานที่จะช่วยให้คนก้าวพ้นจากความ “ไม่รู้” และ “ไม่มี”

เป้าหมายของ กสศ. คือการทำให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง ซึ่งทางออกคือการยกระดับให้คนทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพได้อย่างเต็มที่ และพัฒนาตนเองอย่างเต็มศักยภาพ 

ดร.ไกรยสสร้างความมั่นใจให้กับเยาวชนว่า ประเทศไทยจะสามารถยกสถานะกลายเป็นประเทศรายได้สูงได้อย่างแน่นอนหากทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษา ซึ่งเป็นพื้นฐานที่จะช่วยให้คนก้าวพ้นจากความ “ไม่รู้” และ “ไม่มี”

ณ ปัจจุบัน ดร.ไกรยส ได้แบ่งปันความภาคภูมิใจ ที่ได้ช่วยเหลือเด็กยากจนทั่วประเทศไทยกว่า 2 ล้านคนผ่านการทำงาน กสศ. ไม่ว่าจะในทางตรงและทางอ้อม ให้พวกเขาได้เรียนหนังสือผ่านกลไกการให้ทุนด้วยเงื่อนไขที่ว่า ต้องเข้าเรียนเป็นสัดส่วนอย่างน้อยร้อยละ 80 และมีค่าดัชนีมวลรวมร่างกาย (BMI) ตามมาตรฐาน (มีการเติบโตและพัฒนาการทางร่างกายที่สมวัย)

“อาจเป็นเงื่อนไขง่าย ๆ แต่เด็กไทยในต่างจังหวัดจากครอบครัวยากจนหลายรายเขียนจดหมายลาหยุดเรียน 1 เดือน เพื่อขอไปช่วยพ่อแม่เก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตรไปขาย ดังนั้น กสศ. จึงเข้าไปแก้ความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในส่วนนี้”

แต่การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำนั้นเป็นภารกิจที่ยิ่งใหญ่และต้องการองคาพยพที่มีประสิทธิภาพ กสศ. ตระหนักดีว่า นอกเหนือไปจากคิดค้นโครงการต่าง ๆ ที่จะช่วยเหลือเด็กให้หลุดพ้นจากความยากจนที่ติดตัวมาแต่เกิด การขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวงกว้าง ต้องอาศัยการสร้างภาคีเครือข่ายพันธมิตร และความร่วมมือกับหน่วยงาน องค์กร จากภาครัฐและภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะในด้านที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา

ดร.ไกรยสย้ำว่า การสร้างเครือข่ายความร่วมมือเพื่อทำงานขับเคลื่อนความเสมอภาคทางการศึกษานี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งของภาวะความเป็นผู้นำ

“ถ้าทุกคนอยากเป็นผู้นำ ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือ จะไม่มีใครเป็นผู้นำ เพราะขาดผู้ตาม แต่ภาวะผู้นำที่แท้จริง คือการลงมือทำและได้ผลลัพธ์เพื่อคนอื่น”

ถ้าต้องเผชิญกับปัญหา ก่อนที่จะเริ่มลงมือแก้ไข อาจจะต้องเริ่มต้นจากการปรับทัศนคติของตนเองผ่านการมองว่า ทุกปัญหาที่เผชิญอยู่มีทางออกเสมอ ปัญหาหลายอย่างย่อมต้องการการตัดสินใจ และการตัดสินใจเลือก ก็ถือเป็นความเสี่ยงที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

เพราะชีวิตย่อมสร้างบททดสอบให้เราอยู่ตลอดเวลา

ดร.ไกรยสยอมรับว่า สิ่งที่ตนเองเคยลองเสี่ยงมากที่สุด ก็คือการเลือกที่จะกลับมาเมืองไทยเพื่อทำงานร่วมกันกับ กสศ. ซึ่ง ณ ขณะนั้นยังคงเป็นเพียงร่างแผนงานบนกระดาษ ไม่มีการก่อตั้งเป็นองค์กรชัดเจนอย่างในปัจจุบัน หรือการจัดการสานต่อจนเป้าหมายทางการศึกษาลุล่วงตามที่ตนเองตั้งไว้

“เป็นการตัดสินใจที่ยาก ผมเริ่มรับฟังคำแนะนำให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ พิจารณาถึงผลลัพธ์ต่าง ๆ แต่ในท้ายที่สุดแล้ว ผมบอกตัวเองว่าการตัดสินใจที่เกิดขึ้นจะต้องเป็นไปเพื่อเป้าหมายหมายอะไรบางอย่างที่ตอบโจทย์ตัวเอง และเมื่อตัดสินใจแล้วผมจะไม่มีวันเสียใจ ผมเลือกกลับประเทศไทยเพื่อร่วมทำงานกับ กสศ. และโชคดีที่ว่า ผลลัพธ์ของการตัดสินใจในวันนั้น คือ กสศ. ที่ก้าวเดินได้อย่างมั่นคงในวันนี้”

ในด้านความหมายของความสำเร็จ  ดร.ไกรยส กล่าวว่า ตนเองไม่ได้ให้นิยามไว้อย่างยิ่งใหญ่แต่อย่างใด แค่เพียงการได้รับฟังว่าคนอื่นมีความสุขที่ได้ร่วมงานกับ กสศ. และเพื่อนร่วมงานมีความสุขที่ได้ทำงานเพื่อคนอื่น 

“มาตรวัดความสำเร็จของผมก็คือความสุขของผู้คนที่ได้มีส่วนร่วมกับ กสศ.  ซึ่งทำได้หลายวิธีด้วยกัน ง่ายที่สุดก็คือการบริจาค แต่เรายังมีโครงการอีกมากมายที่เกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายต่าง ๆ รวมถึงกับโรงเรียนนานาชาติ ถ้าสนใจสามารถเข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์ของเราได้ที่ www.eef.or.th

ดร.ไกรยส ได้ทิ้งท้ายว่า หากมีโอกาส ก็อยากที่จะนั่งลงพูดคุยกับเด็ก ๆ ที่เคยได้ทุนจาก กสศ. เพื่อเป้าหมายในการสร้างนโยบายที่ดีเพื่อการพัฒนาสังคมต่อไป หรือการได้เห็นเด็กเหล่านั้นเข้ามาทำงานเป็นส่วนหนึ่งกับ กสศ.

หลังจบการเสวนา ยูนา ซอง (Yuna Seung) วัย 13 ปี โรงเรียน Seoul Foreign School กล่าวว่า ประสบการณ์ของ ดร.ไกรยส ได้เปิดโลกของเธอให้กว้างขึ้น แถมยังเป็นบทเรียนและข้อคิดที่เธอสามารถนำไปปรับใช้ได้ในอนาคต รวมถึงสร้างแรงบันดาลใจให้เธอนำความรู้ไปส่งต่อให้กับคนอื่น

ด้าน อาบิ ยู (Abi Yoo) วัย 14 ปี โรงเรียน Seoul Foreign School  กล่าวว่า รู้สึกประทับใจกับความพยายามในการลงมือสร้าง กสศ. เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาไทยของดร.ไกรยส รวมถึงเรื่องการวางแผนเกี่ยวกับอนาคตของตนเอง เรื่องราวของ ดร.ไกรยส เป็นแรงบันดาลใจที่ดีในการทำเพื่อคนอื่น อาบิ ยู ยังสะท้อนเพิ่มเติมด้วยว่า การเข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสดีที่ตนเองจะได้เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ทั้งการเป็นตนเอง การเป็นผู้นำ การทำงานร่วมกับผู้อื่น และการแบ่งปันความรู้ความสามารถของตนเองกับผู้อื่น ซึ่งประสบการณ์ทั้งหมดที่ได้รับ จะเป็นอีกหนึ่งแรงบันดาลใจสำคัญในการคิดและลงมือทำเพื่อคนอื่น ๆ ตามความสามารถของตนเอง

ขณะที่ ซี ฮยุน ปาร์ก (Si Hyun Park) วัย 14 ปี โรงเรียนSeoul Foreign School  ยอมรับว่า ประสบการณ์ของ ดร.ไกรยส ทำให้เห็นว่า ความเห็นอกเห็นใจที่มีต่อผู้อื่นจะเกิดประโยชน์ได้อย่างไร รวมถึงได้รับบทเรียนในการยืนหยัดจัดการกับสถานการณ์ยากลำบากที่เกิดขึ้น โดยสิ่งที่ประทับใจที่สุดก็คือ การที่ ดร.ไกรยส อดทนยืนหยัดทำงานกับ กสศ. ตั้งแต่วันที่องค์กรยังไม่เป็นรูปเป็นร่างจนถึงทุกวันนี้ ส่วนสิ่งที่ชอบที่สุดในการเข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ ก็คือบรรยากาศที่ทุกคนได้มีส่วนร่วม การได้มีโอกาสตั้งคำถาม ทุกคำถามได้รับการรับฟัง และได้รับคำตอบที่น่าสนใจ