มูลนิธิขวัญชุมชน ยกระดับแรงงานนอกระบบ ด้วย “ผ้าไหม” ย้อมสีธรรมชาติ

มูลนิธิขวัญชุมชน ยกระดับแรงงานนอกระบบ ด้วย “ผ้าไหม” ย้อมสีธรรมชาติ

ในวันที่วิกฤตโควิด-19 ยากที่จะรับมือ โดยเฉพาะเรื่องอาชีพ รายได้ และการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนไป บางคนต้องละทิ้งอาชีพเดิมที่เคยทำมาทั้งชีวิตไปทำอย่างอื่นเพื่อหารายได้ 

จังหวัดสุรินทร์ขึ้นชื่อเรื่องผ้าไหม ที่เป็นเอกลักษณ์สะท้อนวิถีชีวิตและภูมิปัญญาท้องถิ่น จนได้รับความนิยมทั้งในประเทศและต่างประเทศ สร้างรายได้ให้จังหวัดปีละไม่ต่ำกว่า 600 ล้านบาท มีแรงงานนอกระบบอยู่ในสายการผลิตประมาณ 60,000 คน ตั้งแต่กลุ่มคนเลี้ยงไหม คนรับจ้างย้อมและมัดไหม ไปจนถึงคนทอผ้า ผ้าไหมจึงเป็นผลิตภัณฑ์สำคัญที่ช่วยโอบอุ้มเศรษฐกิจ

แต่เบื้องหลังความสวยงามที่ปรากฏบนผืนผ้า แรงงานผลิตผ้าไหมที่อยู่ในชุมชนยังคงติดกับดักราคา ขายผ้าทอได้ต่ำกว่าต้นทุน หลายครอบครัวมีหนี้สินจากการกู้ยืมเงินมาซื้อวัตถุดิบทอผ้า 

“ทำอย่างไรให้การทอผ้าซึ่งเป็นวิถีชีวิต และเป็นที่มาของรายได้สำคัญหล่อเลี้ยงครอบครัวแรงงานนอกระบบ ให้กลับมามีโอกาสและทางรอดอีกครั้ง” 

นี่คือโจทย์ท้าทายสำหรับ โครงการส่งเสริมการประกอบการผ้าไหมสร้างสรรค์ในกลุ่มแรงงานนอกระบบขาดโอกาสและขาดแคลนทุนทรัพย์สู่ตลาดเป็นธรรม พื้นที่จังหวัดสุรินทร์ ที่ได้ “มูลนิธิขวัญชุมชน” หน่วยงานพัฒนาอาชีพในจังหวัดสุรินทร์ มาเป็นแม่งานผลักดัน 

กลุ่มเป้าหมายเข้าร่วมโครงการทั้งหมด  90 คน เป็นแรงงานนอกระบบในวัยทำงาน ผู้สูงอายุ ผู้ว่างงาน เยาวชนนอกระบบ และผู้พิการ ในพื้นที่ตำบลจารพัตและตำบลหนองเหล็ก อำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ ภายใต้การสนับสนุนโดย ทุนพัฒนาอาชีพและนวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

สุภาพร ทองสุข ผู้ประสานงานโครงการ กล่าวว่า การส่งเสริมอาชีพทอผ้าไหม ด้วยการพัฒนาการเรียนรู้และยกระดับทักษะ เช่น  การย้อมผ้าด้วยสีธรรมชาติ การมัดย้อม การทอ และการส่งเสริมการขายออนไลน์ รวมถึงการพัฒนาการคิด ทำให้กลุ่มเป้าหมายเกิดความมั่นใจ สามารถนำความรู้และทักษะไปปรับปรุงกระบวนการผลิต เพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ และยังสนับสนุนให้มีการจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจผ้าไหมสร้างสรรค์เพื่อการผลิต ออมทรัพย์และสวัสดิการ การรวมกลุ่มซื้อขายและการผลิตบางขั้นตอน เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่าย เพิ่มคุณภาพการผลิต และยกระดับราคาผ้าไหมสีธรรมชาติ ไม่ให้มีการขายตัดราคากันเอง ทำให้เกิดตลาดที่ยั่งยืน

กระบวนการทั้งหมดส่งเสริมให้เกิด มาตรฐานการผลิตผ้าไหมสร้างสรรค์ ทำให้ผู้เข้าร่วมโครงการเกิดความเชื่อมั่นในตนเองและชุมชน ช่วยสร้างโอกาสทางรายได้ ลดหนี้ครัวเรือน  มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น  และที่สำคัญคือช่วยสืบทอดภูมิปัญญาการทอผ้าให้อยู่คู่จังหวัดสุรินทร์ต่อไป

“การฝึกอบรมทักษะและการจัดการการเงินครัวเรือน มีการปรับระบบการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม กระตุ้นให้ช่างทอมีความตื่นตัวที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์และทักษะ  เพราะช่วยให้ขายผลิตภัณฑ์ได้ในราคาที่สูงขึ้น และเป็นที่สนใจของผู้ซื้อรุ่นใหม่ มีการรวมกลุ่มเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกันในระดับหมู่บ้าน ความสัมพันธ์ของคนชุมชน โดยเฉพาะช่างทอ จากเดิมที่ต่างคนต่างทำงานของตัวเอง ตอนนี้ดีขึ้นกว่าก่อนมาก” สุภาพร กล่าวทิ้งท้าย

ติดตามข้อมูลโครงการเพิ่มเติมได้ที่ : ทุนพัฒนาอาชีพที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน