ผนึกกำลังฝ่าความยากลำบากของโรงเรียนบนเกาะห่างไกลในช่วงโควิด

ผนึกกำลังฝ่าความยากลำบากของโรงเรียนบนเกาะห่างไกลในช่วงโควิด

COVID-19 ส่งผลกระทบรุนแรงในวงกว้าง ไม่เว้นแม้แต่กับโรงเรียนบ้านเกาะนกเภา อ.ดอนสัก จ.สุราษฎร์ธานี  โรงเรียนประถมเล็กๆ บนเกาะที่ห่างไกล  และเป็นเหมือนเกาะปิดที่ไม่มีนักท่องเที่ยวสัญจร และ ไม่เคยมีผู้ติดเชื้อ  แต่ที่ผ่านมาต้องปิดโรงเรียนด้วยคำสั่งจากส่วนกลาง จนทำให้การเรียนรู้ของเด็กในพื้นที่ห่างไกลที่เคยยิ่งยากลำบากอยู่แล้วต้องลำบากหนักขึ้นเป็นเท่าตัว

เริ่มตั้งแต่ปัญหาเรื่องการเรียนการสอนทดแทน​ด้วยบทเรียนใน ออนไลน์ หรือ DLTV ไม่สามารถทำได้ เพราะที่บ้านนักเรียนไม่มีไฟฟ้าใช้  โดยไฟฟ้าที่บนเกาะจะมาหลัง 6 โมงเย็น ซึ่งไม่ใช่เป็นเวลาที่เหมาะสมสำหรับให้เด็กมานั่งเรียนหนังสือ ช่วงเวลานั้น

ทางเลือกอย่างการนำแบบฝึกหัดไปให้เด็กทำที่บ้าน​​จึงเป็นทางออกที่พอจะทำได้แต่ก็ยังมีข้อจำกัด เพราะผู้ปกครองไม่ได้อยู่บ้านคอยช่วยอธิบายเวลาเด็กๆ ไม่เข้าใจเนื้อหา  โดยคุณครู จะลงช่วยตรวจการบ้านและอธิบายแบบฝึกนั้นๆ สัปดาห์ละครั้ง​

แพปลาปิด ผู้ปกครองขาดรายได้
เกาะไม่มีไฟฟ้า เด็กเรียนออนไลน์ลำบาก

ในแง่ชีวิตความเป็นอยู่บนเกาะหลังจากเกิดโควิด แม้จะไม่มีผลกระทบด้านสุขภาพ แต่ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนจากผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง ครูขวัญ – เฉลิมขวัญ ทองสุข ครูโรงเรียนบ้านเกาะนกเภา  เล่าให้ฟังว่า  หลังการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดแพปลาต้องปิด ชาวบ้านไม่มีที่ขายปลา รายได้ไม่มี และยังต้องมาเผชิญกับสถานการณ์ภัยแล้วไม่มีน้ำใช้อีกด้วย

“ตอนนี้สถานการณ์ในพื้นที่ลำบากมากชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่มีรายได้ แต่ยังพอออกไปจับปลามากินแต่ละวันได้ แต่ไม่มีเงินไปซื้อข้าวของเครื่องใช้จำเป็น ​ต้องรอวันที่สถานการณ์ดีขึ้นแพปลากลับมาเปิดได้  และต้องรอดูว่าวันที่ 1 มิ.ย.นี้จะเปิดเรียนได้หรือไม่ ตอนนี้สิ่งที่เด็กๆ อยากได้ก็คือเรื่องทุนการศึกษาเพราะหนังสือแบบเรียนได้รับอุดหนุนอยู่แล้ว โดยเด็กนักเรียนที่นี่เรียนดี​ที่ผ่านมาไปสอบได้ที่ 7 โรงเรียนในเมืองสุราษฎร์ธานี”  

นักเรียนต้องหยุดอยู่บ้านในวันที่ผู้ปกครองไม่มีเงิน

ไม่ต่างจาก โรงเรียนบ้านเกาะพลวย จ.สุราษฎร์ธานี ​ ซึ่งผู้ปกครองในพื้นที่ส่วนใหญ่ทำประมงแต่ปัจจุบัน ไม่สามารถนำสินค้าไปขายได้เพราะแพปลาปิด  อีกทั้งการท่องเที่ยวก็ต้องหยุดชะงักเพราะโควิด​ผู้ปกครองส่วนใหญ่จึงแทบไม่มีรายได้ในช่วงนี้ ส่งผลให้เด็กบางคนไม่ได้ไปโรงเรียน“อย่างเด็กมัธยมจะไม่มีอาหารกลางวัน ผู้ปกครองต้องจ่ายเงินค่าอาหาร 40 บาท ต่อหัว บางบ้านมีลูก 2 คนต้องจ่ายวันละ 80 บาท ช่วงไหนไม่มีเงินก็ต้องคดข้าวห่อมากินที่โรงเรียนแทน หรือหนักกว่านั้นไม่มีเงินซื้อข้าวเลยก็ต้องให้ลูกหยุดอยู่บ้านพอมีเงินก็มาเรียนใหม่”

ร่วมแรงร่วมใจช่วยดูแลปากท้องนักเรียน

นิตยา สาระคง ครูโรงเรียนบ้านเกาะพลวย เล่าให้ฟังว่า จากปัญหาที่เกิดขึ้นบางครั้งก็ได้รับความช่วยเหลือจากภาคเอกชนในพื้นที่ เช่น โรงแรม หรือหน่วยงานอื่น ที่เข้ามาช่วยเหลือสนับสนุนค่าอาหารกลางวันที่ถือเป็นความร่วมแรงร่วมใจจากคนในพื้นที่บ้างนอกพื้นที่บ้าง เพื่อช่วยเหลือสนับสนุนทั้งเรื่องปากท้องและการเรียน

ปัจจุบันโรงเรียนบ้านเกาะพลวยมีนักเรียน 52 คน สอนตั้งแต่อนุบาล 2 ถึง ม.3 โควิดรอบที่ผ่านมาก็ต้องปิดเรียน ในขณะที่การสอนแบบออนไลน์ ทั้งอุปกรณ์ และสัญญาณอินเตอร์เน็ตก็ยังไม่ครอบคลุมทั่วถึง

เงินสนับสนุนจาก  กสศ. ช่วยบรรเทาความเดือดร้อน

ด้านโรงเรียนบ้านท่าเขา ​หนี่งโรงเรียนที่ตั้งอยู่บนเกาะยาว จ.พังงา  หลังจากต้องปิดเกาะเพราะสถานการณ์โควิด  เหลือเพียงแค่เรือขนส่งสินค้าไม่กี่เที่ยว  ส่งผลราคาสินค้าข้าวของเครื่องใช้สูงขึ้น  ผู้ปกครองซึ่งประกอบอาชีพรับจ้างตามโรงแรมต้องหยุดงาน ขาดรายได้

เจษฎา อนันตศรี ผอ.โรงเรียนบ้านท่าเขา กล่าวว่า ผู้ปกครองหลายคนลำบากในช่วงนี้ โดยเฉพาะผู้ปกครองที่มีลูกหลายคน รายได้ลดลง รายจ่ายมากขึ้น ช่วงนี้มีเงินทุนสนับสนุนจาก กสศ. ของนักเรียนยากจนพิเศษในช่วงชั้นรอยต่อที่พอจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนได้บ้าง

เริ่มติดตามเด็กลับมาเรียนให้ทันช่วงเปิดเทอม 1 มิ.ย.

“บางครอบครัวเดือดร้อนมากลูกยังไม่มีรองเท้า วันก่อนตอนมาโรงเรียนใส่รองเท้าแตะคู่ใหญ่ ถามก็บอกว่ายังไม่มีเงินต้องรอเงินจากงบปัจจัยพื้นฐาน เวลานี้ทางโรงเรียนก็ต้องติดตามดูแลเด็กเป็นพิเศษ ให้ครูช่วยดูว่าเด็กๆ อยู่ที่ไหนกันแล้ว ให้เริ่มกลับเข้ามาในพื้นที่ก่อนวันที่ 16 พ.ค. เพื่อจะได้กักตัวครบ 14 วันก่อนเปิดเรียน”

ทั้งหมดถือเป็นอีกสถานการณ์ความยากลำบากของโรงเรียนบนพื้นที่เกาะ ที่มีปัญหามากกว่าพื้นที่ปกติ ทั่วไป  ซึ่งทั้งครู​บุคลากรการศึกษา ตลอดจนภาคเอกชนทั่วไป ต่างต้องช่วยกันดูแลเพื่อให้ผ่านพ้นช่วงวิกฤตนี้ไปให้ได้​

ร่วมสร้างโอกาสไปกับ
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
www.eef.or.th/donate/
ธนาคารกรุงไทย สาขาซอยอารีย์
เลขที่ : 172-0-30021-6
บัญชี : กสศ.มาตรา 6(6) – เงินบริจาค