จับคู่ธุรกิจ เสริมจุดแข็งคนต่างวัย รีดีไซน์ผลิตภัณฑ์จักสานบุกตลาดออนไลน์

จับคู่ธุรกิจ เสริมจุดแข็งคนต่างวัย รีดีไซน์ผลิตภัณฑ์จักสานบุกตลาดออนไลน์

จากสุ่มจับปลาที่ชาวบ้านเคยสานขายกันชิ้นละ 150 บาท แต่เมื่อนำมาปรับแต่งดีไซน์และออกแบบฟังก์ชันการใช้งานใหม่ให้กลายเป็นโคมไฟทรงร่วมสมัย กลับเพิ่มมูลค่าให้กับของชิ้นเดียวกันนี้เป็น 350 บาท แถมยังเป็นที่สนอกสนใจของคนทั่วไป จนผลิตออกมาเท่าไหร่ก็ขายหมดในเวลาอันรวดเร็ว

นี่เป็นเพียงแค่ตัวอย่างความสำเร็จเล็กๆ ของการจับคู่ธุรกิจระหว่างคนต่างวัยในจังหวัดสกลนคร ที่นำจุดแข็งเรื่องภูมิปัญญาการจักสานของผู้เฒ่าผู้แก่ มาจับคู่กับวัยรุ่นที่มีทักษะด้านการตลาดและการขายสินค้าออนไลน์

ป้าพรรณ กล่อมใจ อายุ 62 ปี ซึ่งอาศัยช่วงเวลาว่างจากการทำนา มาทำงานจักสาน ทั้งตะกร้า ชะลอม สุ่ม ​ไปวางขายในตลาด เล่าให้ฟังว่า 

ทำงานจักสานมานานหลายปี แต่ส่วนใหญ่เป็นแบบเดิมๆ ที่ชาวบ้านใช้ในชีวิตประจำวัน 

จนกระทั่งทางมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร เข้ามาช่วยพัฒนา ยกระดับการขายสินค้าออนไลน์  ทำให้ได้ทำงานกับนักศึกษาจบใหม่ในพื้นที่ ซึ่งมีทักษะด้านการตลาด​  มองเห็นเทรนด์สินค้าว่าสินค้าชนิดไหนกำลังเป็นที่นิยม และหากปรับรูปแบบ เพิ่มลูกเล่นเข้าไป จะทำให้สินค้านั้นทันสมัย ตรงกับความต้องการของลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ

“หลานๆ เขาจะมาบอกว่าสินค้านี้กำลังเป็นที่นิยม หรือบางครั้งเขาจะมาถามว่า ป้าทำแบบนี้แบบนั้นได้ไหม ปรับเพิ่มจากของที่เคยทำ เช่น ตะกร้าแบบธรรมดา เพิ่มขอบ เพิ่มขาได้ไหม ก็มาลองทำ ปรากฏว่าขายดี คนชอบ สั่งซื้อเข้ามาเรื่อยๆ แค่เดินขอบเพิ่มนิดหน่อยก็ดูดี ขายได้ราคาดีกว่าเดิม”

เติมความทันสมัยให้ของพื้นบ้าน
เพิ่มมูลค่า​พร้อมขยายฐานลูกค้า

ป้าพรรณมองว่า เดิมลูกค้าจะเป็นแค่ชาวบ้านด้วยกัน แต่ตอนนี้ลูกค้ามีทั้งคนต่างถิ่น นักท่องเที่ยวและคนทั่วไป  โดยมีหลานๆ ช่วยประสานทำการตลาดให้

ในฐานะนักการตลาด พรพิมล ศรีวิไล บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร เล่าให้ฟังว่า หน้าที่หลักๆ ก็คือดูแลเรื่องการตลาด เริ่มจากสำรวจว่าสินค้าไหนกำลังเป็นที่นิยม จากนั้นก็ช่วยพัฒนาออกแบบให้ตรงกับความต้องการ  “สินค้าที่ขายดี คือสุ่มดักปลาที่ดัดแปลงทำเป็นโคมไฟ ลงทุนเพิ่มนิดหน่อยแต่ขายได้ราคาดีกว่าเดิมมาก พอไปวางขาย เจ้าของร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ทก็จะซื้อไปตกแต่งที่ร้านเรื่อยๆ สิ่งที่ทำจึงเป็นทั้งการเพิ่มมูลค่าสินค้าและขยายฐานกลุ่มลูกค้าให้กว้างขึ้น โดยเฉพาะการขายออนไลน์ ซึ่งทั้งหมดก็จะกลับมาเป็นรายได้ที่เพิ่มขึ้นให้กับคนในชุมชน”

“การจัดการธุรกิจชุมชน”
วิชาใหม่ที่ตั้งต้นจากประสบการณ์จริงของชุมชน​

ผศ.ดร.วศิน ด้วงพันธุ์ อาจารย์คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร อธิบายว่า ข้อจำกัดของชุมชนในการทำการตลาดออนไลน์คือ ชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ไม่คุ้นเคยกับเทคโนโลยี หลายคนไม่มีโทรศัพท์มือถือ บางคนมีแต่ไม่เคยใช้โซเชียลมีเดีย นำมาสู่แนวคิดการจับคู่นักการตลาดรุ่นใหม่ ช่วงที่บัณฑิตหลายคนยังไม่มีงานทำในสถานการณ์โควิดมาช่วยทำการตลาด

นวัตกรรมที่เกิดขึ้นคือการคิดร่วมกันระหว่างชาวบ้านในทีมวิสาหกิจ  และกลุ่มนักศึกษา โดยมีทีมทำงานที่ประกอบไปด้วยอาจารย์ที่ปรึกษา นักศึกษา ชาวบ้าน ซึ่งจะทำงานร่วมกันตั้งแต่การเก็บข้อมูล วิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส อุปสรรค เพื่อนำมาปรับปรุงต่อยอดการขายออนไลน์  โดยนักศึกษาจะเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ให้กับชาวบ้าน 

อีกความสำเร็จที่เกิดขึ้น คือการเชื่อมโยงผลลัพธ์ที่ได้กลับไปสู่มหาวิทยาลัย โดยนำความรู้ที่ได้จากโครงการสรุปเป็นบทเรียน พัฒนาเป็นหลักสูตรวิชา“การจัดการธุรกิจชุมชน” 

คาดหวังว่านักศึกษาจะนำความรู้ไปใช้ในการพัฒนาชุมชน หรือไปจับมือกับผู้ประกอบการท้องถิ่น  เพื่อต่อยอดทางการตลาดให้กับชุมชนและตัวนักศึกษาเอง อันถือเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนอีกแนวทางหนึ่ง