เดินหน้าออกแบบนโยบาย “หลักประกันโอกาสทางการศึกษา” กับ ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล

เดินหน้าออกแบบนโยบาย “หลักประกันโอกาสทางการศึกษา” กับ ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล

The Lost Einstein

-ผลการวิจัยของนักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Harvard, MIT และ Stanford ที่ได้ติดตามศึกษาข้อมูลเชิงลึกของ “นวัตกร” ในสหรัฐอเมริกามากกว่าหนึ่งล้านคน ชี้ให้เห็นว่าเด็กเยาวชนจากครัวเรือนที่มีรายได้สูง มีโอกาสมากกว่าเด็กเยาวชนจากครัวเรือนที่มีรายได้น้อย 10 เท่า ในการเติบโตขึ้นเป็นนวัตกรที่สามารถจดสิทธิบัตรได้สำเร็จ 

-ผลการวิจัยนี้ชี้ว่าเด็กจากครัวเรือนยากจนที่สุดของประเทศ แม้จะมีพรสวรรค์มากเพียงใด แต่หากขาดโอกาสทางการศึกษาที่เสมอภาค และระบบนิเวศที่ส่งเสริมการพัฒนาพรสวรรค์ เด็กจะไม่สามารถพัฒนาได้เต็มศักยภาพ และประเทศจะสูญเสียทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ หรือที่เรียกว่าปรากฏการณ์ The Lost Einstein 

-สำหรับประเทศไทย ข้อมูลจากยูเนสโกปี 2558 ระบุว่าเยาวชนจากครอบครัวที่ฐานะยากจนที่สุดร้อยละ 20 ของประเทศมีเพียงร้อยละ 8 เท่านั้นที่สามารถศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัยได้ ต่ำกว่าเด็กที่มาจากครัวเรือนร่ำรวยที่สุดร้อยละ 20 ของประเทศกว่า 6 เท่า 

-เยาวชนกลุ่มนี้คือช้างเผือกที่มีความสามารถ นำมาสู่ความร่วมมือในการเชื่อมโยงฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เพื่อสนับสนุนการจัดสรรทุนการศึกษาจากแหล่งทรัพยากรต่างๆ ของมหาวิทยาลัยมากกว่า 80 แห่ง เพื่อให้เยาวชนกลุ่มนี้ได้พัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ ก้าวไปเป็นทรัพยากรบุคคลระดับมันสมองของชาติต่อไป

สะพานส่งความช่วยเหลือไปถึงตัวเด็ก

-ภารกิจ กสศ.ที่ทำมาตลอด คือป้องกันไม่ให้เด็กเยาวชนผู้ด้อยโอกาสหลุดจากระบบการศึกษา อย่างน้อยต้องจบการศึกษาภาคบังคับ อีกส่วนหนึ่งคือสนับสนุนให้เยาวชนกลุ่มนี้ได้รับการศึกษาในระดับที่สูงที่สุด ไกลที่สุดเท่าที่จะทำได้ 

-กสศ. มีฐานข้อมูลจากการสำรวจติดตามนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษปีละมากกว่าหนึ่งล้านคน โดยในแต่ละปีจะมีนักเรียนยากจนพิเศษมากกว่าหนึ่งแสนคนสำเร็จการศึกษาภาคบังคับในช่วง ม.3 แต่ในจำนวนนี้จะเหลือนักเรียนเพียงหนึ่งหมื่นคนที่ฝ่าฟันอุปสรรคทั้งหลายจนเข้าสอบผ่านระบบ TCAS ได้เรียนมหาวิทยาลัยได้สำเร็จ หรือคิดเป็นเพียง 10% เท่านั้น 

-กสศ. ไม่ได้แค่ให้ทุนเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังมีฐานข้อมูล (CCT) ของเด็กที่อยู่ในการศึกษาภาคบังคับจำนวนนับล้านคน ซึ่งขณะนี้ได้ร่วมมือกับกระทรวง อว. และเครือข่ายมหาวิทยาลัย เพื่อช่วยเด็กที่มีความสามารถและต้องการเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา หากเปรียบเทียบกับหุบเขาที่มีเหว กสศ.จะยืนอยู่ข้างเด็กเล็กและเยาวชนจนถึงระดับมัธยมปลาย ส่วนกระทรวง อว. อยู่อีกฝั่งหนึ่งของปากเหว โดยความร่วมมือระหว่างสองหน่วยงาน จะเป็นดั่งสะพานส่งความช่วยเหลือไปถึงตัวเด็ก 

-ฐานข้อมูล CCT และ TCAS ของ กสศ. และกระทรวง อว. เป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้สามารถกำหนดนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเด็กต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งมีทั้งรูปแบบให้ทุนเรียนโดยไม่ต้องใช้คืนและรูปแบบอื่นๆ ที่เหมาะสมกับทรัพยากรที่มีอยู่ ทั้งยังสามารถใช้ฐานข้อมูลนี้ระดมทรัพยากรเพิ่มจากภาคเอกชนได้อีกด้วย

ตัดวงจรความยากจนข้ามชั่วคน

-ระบบหลักประกันโอกาสทางการศึกษานี้แม้จะเพิ่งอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่ในระยะยาวจะเป็นเครื่องมือสนับสนุนการกำหนดและติดตามนโยบายความเสมอภาคทางการศึกษาตลอดทุกช่วงวัยของประเทศ ที่สำคัญช่วยให้ประเทศไทยมีระบบสารสนเทศและฐานข้อมูลรายบุคคลและรายสถานศึกษาระยะยาว (Longitudinal Database) ครอบคลุมเด็กเยาวชนที่มาจากครัวเรือนซึ่งมีรายได้น้อยที่สุดร้อยละ 20 ของประเทศจำนวนมากกว่าหนึ่งล้านคนในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ รวมถึงภาคเอกชน และประชาชน ช่วยเหลือให้สามารถศึกษาต่อไปจนถึงระดับสูงสุดตามศักยภาพ ตั้งแต่ระดับปฐมวัยจนถึงระดับอุดมศึกษา 

-จากการรวบรวมข้อมูลของ กสศ. ร่วมกับโรงเรียนและองค์กรท้องถิ่นพบว่า เด็กอายุ 3-15 ปีที่อยู่ระหว่างการศึกษาภาคบังคับ 20% จากระดับล่างสุดเป็นเด็กยากจน และ 10-15% เป็นเด็กยากจนพิเศษ ซึ่งมีจำนวนถึง1.1 ล้านคน กสศ. พยายามประคับประคองไม่ให้เด็กหลุดจากระบบการศึกษา หวังตัดวงจรความยากจนข้ามชั่วคนแต่การระบาดของโควิด-19 ทำให้ตัวเลขของเด็กสองกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นมาถึงราว 1.3 ล้านคน 

-โควตาเรียนฟรี 15 ปี ไม่เพียงพอ เพราะการเรียนไม่ได้มีเพียงค่าเล่าเรียน แต่ในชีวิตจริงเด็กมีค่าใช้จ่ายนอกเหนือจากค่าเล่าเรียน เช่น ค่าเดินทางไปกลับ 40 บาท สำหรับบางครัวเรือนที่มีเด็กมากกว่าหนึ่งคน นับเป็นภาระไม่น้อย บางทีพ่อแม่รับของไปขายตลาดตอนเช้าก็พอจะมีรายได้บ้าง แต่ถ้าวันไหนฝนตกก็ทำไม่ได้ แสดงว่าวันนั้นไม่มีรายได้ 

-การระบาดของโควิด-19 สร้างปัญหาซับซ้อนมากขึ้น เนื่องจากเด็กจะมีช่วงรอยต่อ เช่น จากประถมปลายไปมัธยมต้น หรือมัธยมต้นไปมัธยมปลาย ซึ่งเป็นช่วงเปราะบางด้วยหลายเหตุผล เช่น ต้องรีบออกไปช่วยที่บ้านหารายได้ ปัญหาโควิด-19 ที่มาซ้ำเติมจึงไม่ได้เพิ่มแค่จำนวนของเด็กยากจนเท่านั้น แต่ยังเพิ่มความเสี่ยงที่เด็กจะหลุดออกจากระบบในช่วงรอยต่อมากขึ้นอีกด้วย การเรียนออนไลน์ยังซ้ำเติมปัญหาเด็กเข้าไม่ถึงระบบการศึกษา เพราะไม่มีเครื่องมือในการเรียน หรือบางคนมีเครื่องมือแต่กลับไม่มีอินเทอร์เน็ต 

-การหยุดความเหลื่อมล้ำข้ามชั่วคนต้องแก้ต้นเหตุที่โครงสร้าง ช่วยให้เขาพัฒนาตัวเองได้ เมื่อเขาช่วยเหลือตัวเองได้ นี่คือวิธีที่ดีที่สุดในการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม มันคือการพัฒนาคนเพื่อพัฒนาประเทศ

เหนี่ยวนำความร่วมมือ – ใช้เงินน้อย – ทำงานตรงเป้า

-คือ 3 แนวทางสำคัญในการทำงานของ กสศ. เราคุยกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยและกระทรวง อว. ว่าเรามาจับมือกัน ขอให้ฝั่งอุดมศึกษายื่นมือมาช่วยเด็กพวกนี้ อย่าให้เขาตกเหวลงไประหว่างทางช่วงรอยต่อ การทำแบบเจาะกลุ่มเป้าหมาย (targeting) นี้ใช้เงินน้อย และต่างจากการให้ความช่วยเหลือแบบกระจายและครอบคลุม (universal) เช่น กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) 

-เด็กทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับโอกาส โดยไม่จำเป็นต้องเรียนเก่งที่สุดในชั้นเรียน ทั้งนี้ทาง TCAS อาจจะกำหนดสาขาวิชาที่เป็นที่ต้องการของประเทศ

-ในอนาคต กสศ. มีแผนจะเพิ่มความครอบคลุมของระบบสู่กลุ่มผู้ด้อยโอกาสประเภทอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น ผู้พิการ กำพร้า หรือกลุ่มชาติพันธ์ เป็นต้น เพื่อให้เด็กเยาวชนทุกคนในประเทศไทยมีหลักประกันโอกาสทางการศึกษา ไม่มีใครถูกทอดทิ้งไว้ข้างหลัง

ที่มา :
1. สรุปสาระสำคัญจากรายการ :
มาเถอะจะคุย | Jomquan Ep.33 การเมืองคึกคัก แต่ละพรรคเริ่มหาเสียง?
ดำเนินรายการโดยจอมขวัญ หลาวเพ็ชร์ วันที่ 20 ตุลาคม 2564 ออกอากาศทางช่อง YouTube Live: Jomquan และ Facebook Page: The MATTER
2. บทความ “กระทรวง อว. กสศ. และ ทปอ. ร่วมจับมือพัฒนาระบบหลักประกันโอกาสทางการศึกษา”