กสศ.จับมือภาคีเครือข่ายพันธมิตร ชวนโรงเรียนทั่วประเทศเข้าร่วม PISA For Schools เพื่อพัฒนาศักยภาพการศึกษาของไทย

กสศ.จับมือภาคีเครือข่ายพันธมิตร ชวนโรงเรียนทั่วประเทศเข้าร่วม PISA For Schools เพื่อพัฒนาศักยภาพการศึกษาของไทย

ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) พร้อมด้วย ดร.ณัฐา เพชรธนู ผู้อำนวยการศูนย์ PISA สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และ รองศาสตราจารย์ ดร.วีระชาติ กิเลนทอง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย (RIPED) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้ร่วมกันนำการทดสอบ PISA for Schools ซึ่งจัดทำโดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) เข้ามาในประเทศไทย โดยมีจุดประสงค์เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาไทยแบบองค์รวม

ซึ่งหลังจากประสบความสำเร็จกับการจัดงานเสวนา การประเมิน PISA for Schools ยกระดับการศึกษาไทย และทำให้โรงเรียนต้นแบบมีความรู้เพิ่มเติมในการใช้ประโยชน์จากบททดสอบ PISA For Schools พร้อมทั้งยืนยันผลลัพธ์เชิงบวกต่อวงการการศึกษาไทย ภาคีเครือข่ายจึงขอเชิญชวนให้โรงเรียนทั่วประเทศได้เข้าร่วมกับโครงการอย่างทั่วถึง เพื่อเป็นการกระจายองค์ความรู้ให้ครอบครัวอย่างทั่วถึง


การทดสอบ PISA for Schools คืออะไร?

  • OECD พัฒนา การประเมินสมรรถนะผู้เรียนตามมาตรฐานสากลเพื่อการพัฒนาสถานศึกษา (PISA for Schools) ขึ้นเพื่อให้โรงเรียนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากข้อมูลสมรรถนะผู้เรียน ซึ่งสามารถเปรียบเทียบกันได้ทั่วโลก และใช้ข้อมูลดังกล่าวในการพัฒนาโรงเรียนและการจัดการเรียนการสอน
  • แบบทดสอบที่ใช้ในโครงการ PISA for Schools เรียกว่า PISA-based Test for Schools (PBTS) ซึ่งพัฒนาขึ้นโดย OECD ออกแบบมาเพื่อวัดสมรรถนะผู้เรียนใน 3 ด้าน คือ การอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ โดยไม่เน้นการวัดความรู้ตามกลุ่มสาระ แต่เน้นวัดความสามารถของผู้เรียนในการนำความรู้มาประยุกต์ใช้ในสถานการณ์ใหม่ๆ โดย OECD ได้ออกแบบการทดสอบ PBTS ให้สามารถเทียบเคียงข้อมูลกับการสอบ PISA ซึ่งจัดขึ้นทุก 3 ปีได้
  • การทดสอบ PISA for Schools ต่างจากการทดสอบ PISA (หรือเรียกว่า PISA main study) ซึ่งจัดขึ้นทั่วโลกทุก 3 ปี ที่วัตถุประสงค์ โดยการทดสอบ PISA จะเน้นไปที่การจัดทำข้อมูลเชิงเปรียบเทียบในระดับโลก เน้นให้ผู้กำหนดนโยบายใช้ในการพัฒนานโยบายการศึกษาระดับชาติ ส่วน PISA for Schools จะเน้นการรายงานผลระดับโรงเรียน ผ่านรายงานระดับสถานศึกษา (School Report) [ใส่ Link] ออกแบบมาเพื่อให้ครูและผู้บริหารสถานศึกษาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนได้โดยตรง
  • นอกจากข้อมูลสมรรถนะผู้เรียนแล้ว PISA for Schools ยังพ่วงท้ายด้วยแบบสอบถามเพื่อเก็บข้อมูลเกี่ยวกับเศรษฐฐานะ (Socio-economic background) มุมมองของผู้เรียนที่มีต่อตนเอง และการจัดการเรียนการสอน และทักษะทางสังคมและอารมณ์ (Social and Emotional Skills)
  • ในปี 2564 ประเทศไทยได้เข้าร่วมโครงการ PISA for Schools เป็นปีแรก มีโรงเรียนเข้าร่วมทั้งหมด 66 โรงเรียน นักเรียนเข้าร่วมการทดสอบ 2,314 คน

PISA จะมีประโยชน์กับวงการศึกษาในเมืองไทยอย่างไร?

ดร.ณัฐา เพชรธนู ผู้อำนวยการศูนย์ PISA
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน

ดร.ณัฐา เพชรธนู ผู้อำนวยการศูนย์ PISA สพฐ. ชี้ให้เห็นว่า โรงเรียนสามารถใช้ผลการทดสอบ PISA For Schools เพื่อใช้พัฒนาคุณภาพการศึกษา และเรียนรู้การอ่านรายงาน ประยุกต์ใช้กับการประเมินมาตรฐานทางการศึกษาอื่นๆ ที่แต่ละโรงเรียนสามารถเข้าร่วมเพื่อพัฒนาหลักสูตรของตนในอนาคต 

ทั้งยังได้แนะนำให้โรงเรียนในประเทศไทยประยุกต์ใช้เครื่องมือจาก OECD เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการปฏิรูปการศึกษาในระดับภูมิภาค มีข้อมูลเพียงพอที่จะแสดงความเห็นเพื่อปรับปรุงและพัฒนาด้านนโยบาย เพื่อร่วมกันพัฒนาการศึกษาของประเทศไทยต่อไป

รศ.ดร.วีระชาติ กิเลนทอง
อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย (RIPED)

รองศาสตราจารย์ ดร.วีระชาติ กิเลนทอง ได้เสริมในส่วนนี้ว่า สถานศึกษาสามารถนำเอาผลการสอบไปเปรียบเทียบกับมาตรฐานนานาชาติ และออกแบบการศึกษาเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาโดยรวม

ดร.โจแอนน์ แคดดี้ (Dr. Joanne Caddy)
นักวิเคราะห์อาวุโส และ หัวหน้าทีมประจำ OECD

ทางด้านผู้เชี่ยวชาญของ OECD อย่าง ดร.โจแอนน์ แคดดี้ (Dr. Joanne Caddy) นักวิเคราะห์อาวุโสและหัวหน้าทีม PISA for Schools ประจำ OECD ยังได้เน้นย้ำความสำคัญของการเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ PISA For Schools โดยชี้ให้เห็นว่า บุคคลากรทางการศึกษาทุกท่านที่เข้าร่วมถือผู้บุกเบิกในการพัฒนาองค์ความรู้สำหรับการพัฒนาคุณภาพ และกล่าวต่อไปว่า ทุกโรงเรียนที่เข้าร่วมไม่ได้ยกระดับการศึกษาของตัวเองเท่านั้น แต่ยังเป็นการทำให้คุณภาพการศึกษาประเทศไทยโดยรวมเพิ่มขึ้นอีกด้วย

ทีอาโก เดอ มิรันดา เฟรโกโซ (Tiago de Miranda Fragoso)
นักวิเคราะห์ด้านการศึกษา

ดร.ทีอาโก เฟรโกโซ (Dr. TiagoFragoso) นักวิเคราะห์ด้านการศึกษาของ OECD ได้กล่าวถึงความสำคัญทางสถิติของการเข้าร่วมโครงการ PISA For Schools เนื่องจากเป็นการทดสอบที่มีข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ของโรงเรียน 5,000 แห่งที่เข้าร่วมจาก 15 ประเทศ ซึ่งจะทำให้โรงเรียนที่เข้าร่วมได้เห็นภาพใหญ่ของวงการการศึกษาในระดับโลก และเข้าใจถึงทิศทางในการพัฒนาอย่างเป็นเอกภาพ

เซี่ย จื้อ เซิน (Tse Chi Sum) นักวิเคราะห์ด้านการศึกษา

นอกจากเรื่องการเข้าถึงข้อมูลและมาตรฐานการเรียนการสอนแล้ว เซี่ย จื้อ เซิน (Tse Chi Sum) นักวิเคราะห์อีกคนของ OECD ได้อธิบายว่า ทาง OECD ได้จัดทำแพลตฟอร์มออนไลน์ “PISA for Schools Community” ที่จะมีคณะครูและนักการศึกษาจากทั่วโลกเข้ามาแสดงความคิดเห็น ช่วยกันแก้ปัญหาเกี่ยวกับการเรียนรู้ที่ได้พบเจอในแต่ละวัน ทำให้คุณครูไทยสามารถรับคำแนะนำ หรือเสนอแนวทางแก้ไขปัญหากับเพื่อนครูจากทั่วโลก พร้อมยังสามารถปรับแนวทางจากนานาชาติเข้ามาเป็นแนวทางการสอน หรือการเรียนรู้ของตัวเองได้อีกด้วย

ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการ กสศ.

ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ทิ้งท้ายว่า การเข้าร่วมกับโครงการ PISA For Schools จะทำให้วงการศึกษาไทยสามารถยกระดับตัวเองได้รวดเร็ว และยังเป็นปัจจัยที่จะช่วยแก้ไขปัญหาสำคัญที่กำลังเผชิญหน้าอยู่ในขณะนี้ อย่างเช่น ปัญหาการเรียนรู้ของกลุ่มเปราะบาง หรือความไม่เสมอภาคทางการศึกษา เป็นต้น


สำหรับคณะครูหรือโรงเรียนที่สนใจอยากติดต่อเพื่อเข้าร่วมโครงการ หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
สามารถติดต่อได้ที่ คุณภูมิ เพ็ญตระกูล ผู้รับผิดชอบโครงการ PISA for Schools ประเทศไทย
(phoom@eef.or.th)