กศน.- กสศ.ร่วมกันต่อจิ๊กซอว์ สร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิต ลดความเหลื่อมล้ำในพื้นที่

กศน.- กสศ.ร่วมกันต่อจิ๊กซอว์ สร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิต ลดความเหลื่อมล้ำในพื้นที่

สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) นับเป็นหน่วยงานสำคัญที่มีพันธกิจ​จัดและส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยที่มีคุณภาพ เพื่อยกระดับการศึกษา พัฒนาทักษะการเรียนรู้ของประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมาย พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงบริบททางสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต

สอดรับกับวิสัยทัศน์ “คนไทยได้รับโอกาสการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ สามารถดำรงชีวิตที่เหมาะสมกับช่วงวัยสอดคล้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และมีทักษะจำเป็นในโลกศตวรรษที่ 21”

การทำงานที่ผ่านมานั้น ​กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ กศน.ได้ร่วมมือกันพัฒนาทักษะการเรียนรู้ของประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมาย เพื่อร่วมกันสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตในหลายพื้นที่ 

ล่าสุดจากการลงพื้นที่ดูงาน “เรียนรู้ตลอดชีวิต แนวทางการลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย” จังหวัดสกลนคร-นครพนม เมื่อวันที่ 25-27 พฤศจิกายน 2564 

ดร.ภูมิพัทธ เรืองแหล่ รองเลขาธิการ กศน.ระบุว่า  จากการลงพื้นที่พบว่า กศน.และ กสศ.มีเป้าหมายเดียวกันคือ  กลุ่มเด็กเปราะบางหรือเยาวชนที่มีความผิดพลาด จนหลุดจากระบบการศึกษาไปอยู่ที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน

ปัจจุบัน กศน.ปักหมุดเรื่องคนพิการที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป และไม่ใช่แค่พิการ แต่ยังรวมถึงกลุ่มด้อยโอกาส เร่ร่อน กลุ่มบุคคลไร้สัญชาติ สอดคล้องกับวัตถุประสงค์การดำเนินการของ กสศ.ที่เข้าไปให้โอกาส  คืนสิทธิ์ คืนความสุข  ให้เขากลับมาใช้ชีวิตเหมือนคนปกติทั่วไปได้อีกครั้ง 

“ตรงนี้ชื่นชมสิ่งที่ กสศ.​ทำ  เมื่อวานไปที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน จังหวัดนครพนม พบว่าสามารถดูแลเด็กให้กลับมาใช้ชีวิตตามปกติ กศน.อยากสนับสนุนเด็กเหล่านี้ อย่างที่ อ.สมพงษ์ จิตระดับ ระบุว่าเด็กบางคนจบ ม.2 ครึ่ง ม.1 ครึ่ง แต่ติดระเบียบเรื่องอายุทำให้ไม่ได้เรียน กศน. ดังนั้นถ้ามีโอกาสก็จะนำเรียนปรึกษาทางผู้ใหญ่ ทั้งท่านเลขาธิการ กศน. และท่านปลัด ว่าจะมีวิธีให้เด็กอายุต่ำกว่า 15 เข้าสู่การศึกษานอกระบบได้อย่างไร เพื่อไม่ให้เขาเสียโอกาส”

ปลดล็อกระเบียบ สร้างโอกาสการศึกษา

การจัดการศึกษาให้กับกลุ่มที่พลาดโอกาสทางการศึกษาเพราะความยากจน   หากสามารถปลดล็อกระเบียบบางอย่างได้ ก็จะทำให้เกิดโอกาสทางการศึกษามากขึ้น

ปัจจุบันถ้าจะเรียน ม.ต้น อายุต้องไม่ต่ำกว่า 15 ปี ถึงจะเข้าหลักสูตร กศน.ได้  โดยการเรียน ม.ต้นใช้เวลา 2 ปี ม.ปลายใช้เวลา 2 ปี รวม 4 ปี จนบางคนกลัวว่าถ้าไม่จำกัดอายุ จะทำให้มีคนบางกลุ่มออกมาเรียนนอกระบบในชั้นมัธยม  เพราะใช้เวลาแค่ 4 ปี จากเดิมที่จะต้องใช้เวลา 6 ปี แต่ขณะเดียวกันการจำกัดอายุก็ทำให้เด็กบางส่วนขาดโอกาสไป 

รองเลขาธิการ กศน.กล่าวว่า ​ จากที่ได้ไปดูงานที่ตำบลเชียงเครือ อำเภอเมืองสกลนคร  ซึ่งเป็นอีกกลุ่มเป้าหมายของ กศน. หากเป็นไปได้ก็อยากให้ กสศ.สนับสนุนเรื่องการพัฒนาคุณภาพชีวิต  เพราะ กสศ. มีการวิจัยและพัฒนา ฝึกอาชีพชาวบ้าน 

กศน.ก็ทำเรื่องนี้เช่นกันที่จังหวัดบึงกาฬ  โดยร่วมกันพัฒนากับชาวบ้าน จนสามารถสร้างมูลค่าผลิตภัณฑ์จากต้นกก ผือ  กระทั่งบางชิ้นมีราคาถึง 1,000-2,000 บาท

นอกจากนี้กลุ่มเปราะบาง เด็กออกกลางคัน เด็กที่มีปัญหาในชีวิตช่วงวัยรุ่น ทำอย่างไรที่เราจะกู้เขากลับขึ้นมาให้ได้  

พัฒนาต้นแบบ หลักสูตรระยะสั้นพร้อมเงินทุนเริ่มต้นอาชีพ

สำหรับโมเดลต้นแบบของการทำงาน กำลังคิดเรื่องหลักสูตรระยะสั้นเพื่อให้เขาประกอบอาชีพ แต่ปัญหาคือชาวบ้านไม่มีต้นทุน คำถามคือจะต่อยอดหลังจบหลักสูตรระยะสั้น เพื่อให้เขาเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้อย่างไร เช่น เมื่อจบหลักสูตรที่กรมพัฒนาฝีมือแรงงานให้การรับรองหลักสูตร จะสามารถกู้เงินมาลงทุน เช่น งานฝีมือ นวดแผนไทย  โดยขณะนี้กำลังประสานกับทางธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม 

ในส่วนของความร่วมมือระหว่าง กศน.และ กสศ. นั้น ดร.ภูมิพัทธกล่าวว่า 

“กสศ.เองก็​ทำงานเชิงพื้นที่  มองภาพเรื่องของการทำวิจัย คุณภาพชีวิตของประชาชน อยากให้มีหน่วยงานราชการมาดูแลกลุ่มเป้าหมาย ร่วมกันต่อจิ๊กซอว์ ต่อยอดการพัฒนา ตอนนี้อาจจะยังเป็นการจับมือหลวมๆ วันนี้ กศน.มีศูนย์ฝึกตามแนวชายแดนอยู่ 8 ศูนย์ฝึก เป็นโครงการตามพระราชดำริ เกิดขึ้นเพื่อดูแลชีวิตประชาชนตามแนวชายแดน ซึ่งน่าจะสามารถร่วมมือกันได้

“ถ้า กสศ.ทำเหมือนที่จังหวัดบึงกาฬ หรือที่ตำบลเชียงเครือ คือใช้  know-how มาช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิต และ กศน.ก็มีการทำหลักสูตรตำบลระยะสั้น ก็น่าจะมาร่วมมือกันสร้างการเรียนรู้ คือทำทั้งเรื่องเด็กเยาวชนและคุณภาพชีวิตประชาชน โดย กศน.​เป็นหน่วยงานที่รับนักศึกษาทั้งประเทศ ไม่ได้ปักหมุดเฉพาะคนพิการ แต่จัดการศึกษาให้กับเด็กด้อยโอกาส เด็กเร่ร่อน เด็กบนที่สูง ไปจนถึงชาวเล ชาวเกาะ  ทั้งหมดเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ดังนั้นผมอยากให้มีหน่วยงานการศึกษาเข้าไปรับไม้ต่อจาก กสศ.ทำให้เกิดมรรคผล ประชาชนได้อานิสงส์จากการทำงานของพวกเรา”