ถอดบทเรียน “น่านโมเดล” พื้นที่ทดลอง ปฏิรูปการเรียนรู้ เพื่อเด็กนอกระบบที่มีความต้องการพิเศษ

ถอดบทเรียน “น่านโมเดล” พื้นที่ทดลอง ปฏิรูปการเรียนรู้ เพื่อเด็กนอกระบบที่มีความต้องการพิเศษ

เด็กนอกระบบที่มีความต้องการพิเศษ นับเป็นอีกกลุ่มเป้าหมายสำคัญ ที่หลายภาคส่วนให้ความสำคัญเข้าไปดูแลช่วยเหลือ 

“น่านโมเดล” นับเป็นอีกตัวอย่างความสำเร็จที่เริ่มเห็นผลชัดเจน  เพราะการผนึกกำลังของภาคส่วนต่าง ๆ ที่หนุนเสริมซึ่งกันและกัน

เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน  2564 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับศูนย์การศึกษาพิเศษจังหวัดน่าน มูลนิธิรักษ์ไทย จัดเสวนาถอดบทเรียน “เจาะลึกน่านโมเดล พื้นที่ทดลอง ปฏิรูปการเรียนรู้ เพื่อเด็กนอกระบบที่มีความต้องการพิเศษ”  

เริ่มจากภาพรวมในพื้นที่ ดร.เนตรดาว ยั่งยุบล ผู้ประสานงานโครงการเครือข่ายเชิงพื้นที่เพื่อพัฒนาครูและเด็กนอกระบบการศึกษา กล่าวว่า 

“กสศ. ตระหนักถึงการช่วยเหลือเด็กนอกระบบการศึกษาซึ่งมีอยู่ประมาณ 4 แสนคน จึงได้คิดพัฒนาโครงการพัฒนาครูและเด็กนอกระบบการศึกษา มีทั้งหมด 66 โครงการทำงานใน 74 จังหวัด ตั้งเป้าดูแลเด็ก 35,000 คน ซึ่งดำเนินการไปแล้วกว่า 90%  โดยกลุ่มเด็กที่มีความต้องการพิเศษทั้งด้านร่างกายและจิตใจประมาณ 1,300 คน  ถือเป็นหนึ่งในกลุ่มที่ทางโครงการเข้าไปดูแลช่วยเหลือ” 

การทำงานเริ่มต้นจาก กระบวนการค้นหากลุ่มเป้าหมาย สร้างเป้าหมายร่วม วิเคราะห์สถานการณ์ความรุนแรงของปัญหาระดับพื้นที่ เก็บข้อมูลเด็กและครู  นำไปสู่การสรุปผล 

โดยจะวิเคราะห์เป็นรายบุคคล เพื่อนำไปสู่การพัฒนาทักษะชีวิต ทักษะอาชีพ ที่เป็นรูปธรรม สร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เด็ก มีระบบส่งต่อการช่วยเหลือ ทั้งศูนย์การศึกษาพิเศษระดับพื้นที่ สหวิชาชีพ การดูแลความเจ็บป่วยทางด้านร่างกายและจิตใจ ไปจนถึงปัญหาเรื่องการศึกษา  ที่แต่ละพื้นที่จะต้องร่วมกันออกแบบการทำงาน เพราะการทำงานหน่วยเดียวไม่อาจสำเร็จ ต้องใช้หลายหน่วยงานช่วยกัน

เริ่มต้นจากฐานข้อมูลระบบสารสนเทศ
สู่การจัดการศึกษารายบุคคลที่เหมาะสม

โมเดลการทำงานมีจุดเริ่มต้นจากภาครัฐ คือศูนย์การศึกษาพิเศษ จังหวัดน่าน ภาคประชาสังคมคือมูลนิธิรักษ์ไทย  ร่วมกับ กสศ. มีอาสาสมัคร ครูพี่เลี้ยง และที่ถือเป็นหัวใจสำคัญของโครงการคือครูใน 11 อำเภอ ที่ฝ่าความยากลำบากในช่วงโควิด-19 มาด้วยกัน  

เริ่มจากฐานข้อมูลสารสนเทศที่นำไปสู่การช่วยเหลือเด็ก 50 คนได้อย่างถูกต้อง โดยที่รูปแบบการช่วยเหลือจะเป็นการศึกษารายบุคคลที่เหมาะสมกับเด็กพิเศษ และอีกส่วนคือกลไกการพัฒนาเด็ก  การฟื้นฟูสุขภาพกายใจ การบำบัดการเรียนที่บ้าน พัฒนาคุณภาพชีวิตของครอบครัว ส่งเสริมอาชีพหลากหลาย 

มีหลักสูตรสิทธิเด็กและการคุ้มครอง  กิจกรรมบำบัดพัฒนาสุขภาพจิต หลักสูตรให้พ่อแม่มีความพร้อมดูแลเด็กพิเศษ ​ในฝั่งชุมชนก็ต้องทำให้เป็นชุมชนที่ปราศจากอคติ เป็นพื้นที่ปลอดภัยสร้างสรรค์ให้เด็ก

เชื่อมการทำงานกับภาคีเครือข่าย
ด้วยเป้าหมายการช่วยเหลือเด็กนอกระบบทั้งครอบครัว

น.ส.ศรุตา เจริญพรพานิชกุล ผู้ประสานงานพื้นที่จังหวัดน่าน กล่าวว่า เป้าหมายของโครงการเน้นไปที่การสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ให้กับกลุ่มเด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกาย สติปัญญา จิตใจ  และพฤติกรรม  เพื่อช่วยเด็กนอกระบบทั้งครอบครัวและพัฒนาศักยภาพครูในการดูแลเด็ก

เริ่มจากการประชุมเชิงปฏิบัติการ  โดยเชิญนักจิตวิทยา ศูนย์การศึกษาพิเศษ ชมรมผู้พิการ อสม. มาประชุมร่วมกัน เพื่อหาแนวทางว่าแต่ละรายจะต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง   “จังหวัดน่านค้นพบกลุ่มเป้าหมาย 194 คน  ​ 86% ไม่มีอาชีพ  ครอบครัวทำการเกษตร ส่วนใหญ่ไม่มีงานประจำ รับจ้างตามฤดูกาล เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ 26 คน บางส่วนอาศัยอยู่ในพื้นที่ชุมชนไล่รื้อ พื้นที่บุกรุก ทับซ้อน พื้นที่แออัด รายได้ครอบครัวอยู่ที่ประมาณ 1,500-5,000 บาท เป็นเด็กที่ไม่เคยได้รับการศึกษาเลย 37 ครอบครัว ซึ่งมาจากปัญหาความยากจนร่วมกันปัญหาสุขภาพ  การแก้ปัญหาจะเริ่มที่เข้าไปวางแผนช่วยเหลือเด็ก วิเคราะห์​สาเหตุปัญหา ข้อจำกัด  และการช่วยเหลือ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากภาคส่วนต่าง ๆ”

เปลี่ยนการช่วยเหลือแบบ “สังคมสงเคราะห์”
เป็นการพัฒนาเสริมสร้างเชิงอำนาจ Empowerment

ดร.มลิวัลย์ เสนาวงษ์ หัวหน้าโครงการสนับสนุนการพัฒนาครูและเด็กนอกระบบการศึกษาโดยเครือข่ายเชิงพื้นที่ภาคเหนือ (จังหวัดตาก ลำปาง น่าน) กล่าวว่า จากการทำงานที่ผ่านมา สามารถเรียกได้ว่าเป็นโมเดลการทำงานที่เริ่มเห็นผล โดยเน้นไปที่มิติทางสังคม จิตวิทยา การศึกษา และเศรษฐกิจ 

เป้าหมายคือการช่วยเหลือเด็กที่มีความต้องการพิเศษ  ซึ่งต่างจากที่ผ่านมา ที่ทำในลักษณะสังคมสงเคราะห์ แต่โครงการนี้เน้นการพัฒนาเสริมสร้างเชิงอำนาจ หรือ Empowerment  ด้วยการสนับสนุนเด็กแบบองค์รวม  

การทำงานอย่างยั่งยืนได้นั้น จะต้องให้ชุมชนเข้ามีส่วนร่วมดูแลเด็ก การพัฒนาเครือข่าย การช่วยเหลือส่งต่อ และการสร้างความตระหนักเรื่องผู้พิการ ผู้ที่มีความต้องการพิเศษ และนำไปสู่การกำหนดนโยบายของผู้มีอำนาจ  เกิดการสนับสนุนงบประมาณที่มากขึ้น

ดูแลเด็กเชิงลึกเป็นรายบุคคล
พร้อมช่วยเหลือผู้ปกครองให้ดูแลเด็กได้

นางปวริศา สิงห์อุดร ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดน่าน กล่าวว่า ศูนย์การศึกษาพิเศษทำงานร่วมกับมูลนิธิรักษ์ไทยในการช่วยเหลือเด็ก มีแนวคิดคือ ให้เข้าถึงทั้งโอกาสและความเสมอภาค 

โดยงานของศูนย์ ฯ  คือ การค้นหาเป้าหมาย/ วิเคราะห์สถานการณ์ความรุนแรงของปัญหา/ สร้างเป้าหมายร่วมในการทำงานร่วมกับเครือข่ายในพื้นที่/ วิเคราะห์ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง/ ออกแบบเครื่องมือการทำงาน/ เก็บข้อมูลเด็กและครูเพื่อประมวลสรุปผล /คืนข้อมูลกลับไปยังพื้นที่เพื่อออกแบบการทำงานร่วมกัน จากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการพัฒนา

ทางศูนย์ ฯ ได้พัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชนในหลายรูปแบบ โดยเฉพาะการให้โอกาสประกอบอาชีพพื้นฐานตามความสนใจ และภารกิจที่สำคัญอีกประการคือช่วยเหลือผู้ปกครอง ให้มีอาชีพ มีรายได้ และมีความสามารถในการดูแลเด็กต่อไป

“เรามีการทำงานที่ก้าวหน้า ลงไปถึงการดูแลเด็กเชิงลึกเป็นรายบุคคล โดยลงไปที่ตัวอำเภอและสร้างกระบวนการเรียนรู้ในแต่ละเคส ส่วนผู้ปกครองที่อยู่ห่างไกล เราจะให้ความช่วยเหลือ เรื่องการพาไปตรวจทางการแพทย์ เพื่อให้มีใบรับรองหรือบัตรประจำตัว การเก็บข้อมูลสารสนเทศจากการลงพื้นที่ ยังทำให้เราได้พบเด็กที่ตกหล่นจากการสำรวจในแต่ละปี ช่วงอายุตั้งแต่แรกเกิดถึง 19 ปี โดยเป็นการร่วมมือกับ พมจ. ศึกษาธิการจังหวัด และ กศน.”  นอกจากนำเด็กที่ตกสำรวจเข้ารับการส่งต่อเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ ทางศูนย์ ฯ มีนโยบายช่วยเหลือผู้ปกครองให้มีทักษะการดูแลเด็ก   ในกรณีที่เด็กไม่สามารถเข้าเรียนได้  สำหรับพื้นที่ที่ห่างไกลมาก  ทางศูนย์ ฯ เข้าไปหาเด็กไม่ได้ทุกวัน จึงเน้นที่การให้การศึกษากับผู้ดูแล โดยอาศัยความร่วมมือจาก อบต. อบจ. หรือโรงพยาบาลจังหวัด เพื่อนำเจ้าหน้าที่จากเครือข่ายต่าง ๆ เข้าไปช่วยกันลงพื้นที่ทุกครั้ง

‘หน่วยบริการต้นแบบ’
มุ่งส่งเสริมชุมชนในพื้นที่ห่างไกลให้สามารถดูแลเด็กได้จากภายใน

ทางศูนย์ ฯ ได้วางแผนสร้าง ‘หน่วยบริการต้นแบบ’  เพื่อให้ชุมชนมีความพร้อมในการช่วยเหลือเด็กที่มีความต้องการพิเศษด้วยตัวเอง  เพราะถ้าชุมชนสามารถดูแลกันเองได้จากภายใน จะสามารถขยายผลความช่วยเหลือ ให้ตรงกับหน้าที่ของแต่ละหน่วยงานได้ตามมา

ปัญหาใหญ่คือความไม่พร้อมของผู้ปกครอง โดยเฉพาะทางด้านเศรษฐกิจ เช่น ความยากจน ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว หรือมีลูกหลานในครัวเรือนจำนวนมาก 

ข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูลเบื้องต้นที่ทีมงานลงไปเก็บในพื้นที่ จากนั้นจึงรีดข้อมูลต่อมาว่าเด็กคนไหนมีความจำเป็นเร่งด่วน หรือเมื่อเจอเคสที่มีปัญหาหนัก ทางศูนย์ฯ จะประสาน พมจ. รพสต. ที่อยู่ใกล้ เพื่อแบ่งหน้าที่และส่งต่อความช่วยเหลือระหว่างหน่วยงาน แยกออกเป็นการดูแลปัญหาของเด็ก การดูแลปัญหาของผู้ปกครองเด็ก และการดูแลสมาชิกคนอื่น ๆ ในครอบครัว

ผอ.ศูนย์การศึกษาพิเศษ จังหวัดน่าน กล่าวว่านี่คือการสร้างเครือข่าย ที่เริ่มจากกระบวนการคัดกรองเพื่อพัฒนาระบบดูแลเด็กในพื้นที่ห่างไกล  เป้าหมายสำคัญคือต้องทำให้ผู้ปกครองเด็กมีอาชีพ มีรายได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เมื่อนั้นเขาถึงจะพร้อมดูแลเด็กได้ จากนั้นจึงมุ่งไปที่การพัฒนาตัวเด็ก ยกระดับให้เขาช่วยเหลือตัวเองและบอกความต้องการของตัวเองได้ก่อน  แล้วระบบเครือข่ายจะทำให้คณะทำงานไปสู่เป้าหมายได้ มีผลสำเร็จที่ต่อเนื่องยิ่งขึ้น

‘ศูนย์การจัดการเรียนรู้ที่บ้าน
พัฒนากิจกรรมต่าง ๆ ที่อยู่ในวิถีชีวิตของคนทุกกลุ่ม’

น.ส.กรรณาภรณ์ สอนสมฤทธิ์ ผู้จัดการมูลนิธิรักษ์ไทยประจำจังหวัดน่าน กล่าวว่า หน้าที่ในการทำงานของมูลนิธิ ฯ คือการพัฒนาการศึกษากลุ่มสตรีนอกระบบ อายุระหว่าง 15-35 ปี ในพื้นที่กลุ่มชาติพันธุ์ 5 อำเภอด้านบนของจังหวัดน่าน ได้แก่ อำเภอปัว อำเภอเชียงกลาง อำเภอทุ่งช้าง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ และอำเภอบ่อเกลือ

โดยใช้วิธีบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานอื่น ๆ เพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตของกลุ่มเป้าหมาย  เพื่อส่งเสริมให้กลุ่มเป้าหมายหรือผู้ปกครองมีรายได้เพิ่มขึ้น

“เราให้คำแนะนำผู้ปกครอง เพื่อวิเคราะห์แผนอนาคต ตั้งแต่การออกแบบแผนการเพิ่มรายได้ให้ผู้ปกครอง โดยเริ่มจากสำรวจความต้องการว่ากลุ่มเป้าหมายอยากทำอะไร ในพื้นที่มีทรัพยากรและเครือข่ายสนับสนุนใดบ้าง จากนั้นจึงนำทุนสนับสนุนเด็กและผู้ปกครองเข้าไปร่วมพัฒนาให้ตรงจุด ทางมูลนิธิ ฯ ได้มองถึงการทำโครงการพัฒนาผู้ประกอบการรายย่อย ที่จะช่วยให้ผู้ปกครองต่อยอดทางอาชีพ โดยสร้างความร่วมมือด้านการตลาด และพัฒนาคุณภาพงานให้ได้มาตรฐาน มีเอกลักษณ์ ซึ่งเรามีเครือข่ายกับภาคธุรกิจ เช่น Lazada รองรับอยู่” 

ส่วนการพัฒนาเด็กนั้น จากความร่วมมือกับ กสศ. และศูนย์การศึกษาพิเศษ ทางมูลนิธิ ฯ มีข้อมูลที่สามารถนำมาตรวจสอบกับสำนักงานสาธารณสุขและศูนย์การศึกษาประจำหมู่บ้าน เพื่อให้มั่นใจว่า จะสามารถระบุตัวตนของเด็กที่ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือได้

คณะทำงานเห็นร่วมกันว่าจำเป็นต้องสนับสนุนให้เกิดการจัดการเรียนรู้ที่บ้าน โดยเป็นหน้าที่หลักของครูศูนย์การศึกษาพิเศษ ขณะที่ต้องเฝ้าระวังเรื่องความรุนแรงในครอบครัว เช่น ผู้เลี้ยงเด็กไม่เข้าใจความบกพร่องทางพัฒนาการ  จนเกิดการใช้ความรุนแรงลงโทษเด็ก 

อีกกรณีหนึ่งคือเรื่องการสื่อสาร เนื่องจากหลายชุมชนเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ จึงต้องให้ความสำคัญกับเรื่องพัฒนาการสื่อสาร

Chat BOT น่านสุขใจ สื่อกลางให้คำปรึกษาบรรเทาความเครียด

ในช่วงที่ทุกคนต้องเผชิญกับภาวะวิกฤตจากโควิด-19 ทางมูลนิธิรักษ์ไทยได้ร่วมมือกับแผนกจิตเวชโรงพยาบาลน่าน พัฒนาแอปพลิเคชัน Chat BOT ‘น่านสุขใจ’ เพื่อเป็นสื่อกลางในการให้คำแนะนำสำหรับกลุ่มเป้าหมาย บรรเทาความเครียด กังวล อันจะนำไปสู่ปัญหาทางใจที่ใหญ่ขึ้นได้  ความตั้งใจของมูลนิธิ ฯ คือการพัฒนาให้เกิดศูนย์การจัดการเรียนรู้ที่บ้าน และพัฒนากิจกรรมต่าง ๆ ที่อยู่ในวิถีชีวิตของคนทุกกลุ่ม ด้วยเชื่อมั่นว่าการทำงานกับเด็กพิเศษ  ต้องให้ความสำคัญเรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพของผู้ปกครอง โดยช่วยนำความรู้หรือทางเลือกใหม่ ๆ เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาคุณภาพชีวิต