‘ให้วุฒิการศึกษา เป็นใบเบิกทางสู่อนาคต’ นครพนมโมเดล
“ชีวิตเราเหมือนกับบทเพลง ตอนนี้มันอาจจะอยู่ในท่อนที่เศร้า แต่จำไว้ว่า ความเศร้าจะไม่ได้อยู่กับเราตลอดไป”

‘ให้วุฒิการศึกษา เป็นใบเบิกทางสู่อนาคต’ นครพนมโมเดล

“ผมอายุ 13 ปี ยังเด็กมาก แต่รู้สึกเครียดกับทุกสิ่งที่ต้องทำ เป็นช่วงที่ผมคิดว่าตัวเองไม่ไหวแล้ว เหมือนชีวิตต้องแบกรับหลายเรื่องเหลือเกิน ผมรู้สึกว่าเรียนยาก ไม่พร้อม ไหนจะต้องช่วยที่บ้านทำนาด้วย เลยเลือกที่จะออกมาก่อน ผมอายุ 13 ปี ยังเด็กมาก แต่รู้สึกเครียดกับทุกสิ่งที่ต้องทำ คิดว่าอยากออกมาตั้งหลักให้ได้สติก่อนสักเดือนสองเดือนค่อยกลับไปเรียนใหม่”

แต่กลายเป็นว่า เดือนหนึ่งก็แล้ว ปีหนึ่งก็แล้ว ไมค์ก็ยังไม่ได้กลับไปเรียนอย่างที่ตั้งใจไว้

ก่อนที่จะเข้าโครงการ ‘นครพนมโมเดล’ ไมค์ อดีตเยาวชนนอกระบบวัย 19 ปีที่ตอนนี้กำลังเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ในโครงการ ‘นครพนมโมเดล’ รู้สึกว่าตัวเองตัวเองต้องแบกรับปัญหารอบด้านหลังจบมัธยมศึกษาปีที่ 1

เขาแบกรับทั้งเรื่องการเรียนและครอบครัว ที่บ้านยังเข้าใจว่าไมค์มีพฤติกรรมที่พวกเขาตีความว่าออกนอกลู่นอกทาง

“ตอนนั้นที่บ้านคิดว่าเราเป็นเด็กเสียคน กลัวเราติดเพื่อน ติดยา ติดเที่ยว เขาก็จะต่อว่าและบ่นตลอด ทั้ง ๆ ที่เรายังไม่ได้ทำผิดอย่างที่เขาคิด เราจึงเลือกปิดประตูห้อง และอยู่คนเดียว 

ช่วงอายุ 13-14 ปี เป็นช่วงที่ชีวิตมืดมากจนมองไม่เห็นทางออก มันไม่มีแสงสว่างให้เราเดินเลย ไม่รู้จะไปทางไหน ไม่มีใครชี้ทางให้” น้องไมค์เล่า

‘การศึกษา’ มักไม่ใช่ความสำคัญแรกสำหรับเด็กเยาวชนที่อยู่บนเงื่อนไขชีวิตที่ยากลำบาก ไม่มีทุนมากพอ และต้องช่วยครอบครัวทำงานหาเลี้ยงชีพ แม้ว่าไมค์จะเห็นความสำคัญของการเล่าเรียน และอยากกลับเข้าไปในระบบหลังจากที่ตั้งหลักได้ แต่ในความเป็นจริงสถานการณ์ไม่อนุญาตให้เขาทำแบบนั้น

ไมค์อยู่กับยายมาตั้งแต่ 8-9 ขวบ นับแต่พ่อแม่แยกทางกัน วันที่ไม่มีใครเข้าใจ หรือวันที่รู้สึกอยู่คนเดียว สิ่งที่อยู่ในใจของเขามาตลอด จึงเป็นคำสอนและช่วงเวลาที่ได้อยู่กับยาย ด้วยความผูกพันในระดับที่ยายเป็นแรงผลักดันให้ชีวิตของเขาไปต่อได้

‘ทุกคนบนโลกนี้ต้องอยู่คนเดียว ทุกคนจะอยู่กันแค่ชั่วคราว และเราแค่เกิดมาเพื่อใช้ชีวิตช่วงหนึ่งเท่านั้น’

“นี่คือสิ่งที่ยายบอกผม แล้วชีวิตคนเรานั้น ก็เป็นเหมือนบทเพลงที่มีท่วงทำนองทั้งโศกเศร้าและแสนสุข ขึ้นอยู่ที่เราต้องคิดทบทวนเองว่า จะอยู่ในส่วนที่มืดมิดไปตลอด หรือจะพาตัวเองก้าวข้ามเส้นบาง ๆ ที่กั้นอยู่ เพื่อไปเจอกับความสุขความสนุกที่รออยู่ข้างหน้า

“คำพูดของยายทำให้ผมร้องไห้ออกมา แล้วผมก็เช็ดน้ำตากลับไปนอนคิดทบทวน ว่าเราจะอยู่อย่างนี้ต่อไปแบบไม่คิดว่าตัวเองมีค่า หรือจะเปลี่ยนแปลงตัวเอง” ไมค์เล่า

จากวันนั้นผมก็เอาความรู้เรื่องวงจรไฟฟ้าที่มีติดตัว ไปตระเวนทำงานกับพ่อเลี้ยงอยู่ราวสามปี จนพ่อเลี้ยงเสียชีวิตจึงมาอยู่บ้านช่วยแม่เลี้ยงน้อง ๆ

จนวันที่ไมค์ได้กลับมาเรียนอีกครั้ง เมื่อเขาตัดสินใจเข้าร่วมโครงการนครพนมโมเดล และหาลู่ทางเลี้ยงตัวเองไปพร้อม ๆ กันกับเรียนหนังสือ

หวังให้วุฒิการศึกษาเป็นใบเบิกทางสู่อนาคต

ไมค์อายุ 18 ปีแล้ว เมื่อครูท่านหนึ่งซึ่งเป็นคนรู้จักในหมู่บ้าน แนะนำให้กลับไปเรียนในโครงการนครพนมโมเดล แต่เขามีวุฒิการศึกษาแค่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เท่านั้น  

“ครูบอกว่านครพนมโมเดลมีรูปแบบการจัดการศึกษาซึ่งน่าจะเหมาะกับผม จึงอยากให้ลองเรียนดู จะได้มีวุฒิไว้เรียนต่อหรือไปสมัครทำงานได้”

ข้อมูลที่เขาได้รับคือ โครงการนี้เป็นโครงการที่สนับสนุนและส่งเสริมให้เด็กเยาวชนที่อยู่นอกระบบการศึกษา ได้มีโอกาสรับการศึกษาตามบริบทชีวิต เพื่อพัฒนาตนเอง ยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น

ไมค์บอกว่าเขาพร้อมกลับมาเรียนตั้งแต่อายุ 16 ปีแล้ว แต่ที่ปล่อยเวลาให้ล่วงไปถึงสองปี เพราะไม่รู้เลยว่า เยาวชนที่หลุดออกมานอกระบบการศึกษาแล้วเป็นระยะเวลาหนึ่ง จะต้องไปที่ไหน หรือต้องทำอย่างไรถึงจะได้มีโอกาสกลับเข้าไปเรียนหนังสืออีกครั้ง จนจังหวะชีวิตชักพาให้เขาได้มารู้จักกับโครงการ ‘นครพนมโมเดล’

“วุฒิการศึกษาสำหรับผมสำคัญนะ มันเป็นใบเบิกทางไปสู่อนาคต อย่างน้อยถ้าเราไม่มีต้นทุนอะไรเลย แต่เรามีวุฒิ เราก็ยังเอาสิ่งนี้ไปต่อยอดได้หลายอย่าง ใช้เรียนต่อได้ อ้างอิงได้ หรือถ้าไปสมัครงานก็ต้องใช้ เหมือนกับว่ากระดาษแผ่นนี้จะช่วยเปิดโอกาสให้เราได้”

แผนการที่ไมค์วางไว้คือเมื่อจบมัธยมศึกษาปีที่ 3 เขาจะเรียนต่อเพื่อให้ได้วุฒิมัธยมศึกษาปีที่ 6 แล้วมองไปถึงการเรียนต่อชั้น ปวส. หรือเริ่มต้นธุรกิจส่วนตัว 

ความฝันที่เขามุ่งหมายไว้ คือการเป็น ‘โปรแกรมเมอร์’ เพราะเป็นอาชีพที่น่าสนใจ เขาคิดว่างานเกี่ยวกับเทคโนโลยีนั้นให้ความรู้สึกที่พิเศษ

“…ชีวิตคนเราเหมือนบทเพลงที่มีองค์ประกอบหลายท่อนอยู่ด้วยกัน มีทั้งคีย์สูง คีย์ต่ำ มีขึ้นและลง มีท่อนที่เศร้าและท่อนที่สุข มีด้านที่มืดหม่นและด้านสนุกสนานกั้นไว้เพียงเส้นบาง ๆ ซึ่งหากเราก้าวข้ามไปได้ ด้านที่มืดสลัวจะเริ่มสว่าง และเมื่อยิ่งเดินต่อไป แสงสว่างก็จะค่อย ๆ กลืนกลบความมืดมิดให้หายไป” ยายของเขาเคยบอกไว้แบบนั้น

ปัจจุบันไมค์เรียนพร้อมกับทำงานไปด้วย ทั้งทำนา และรับจ้างกรีดยางเพื่อหาเงินมาดูแลครอบครัว

เรื่องราวที่บอกเล่าตรงนี้ ไมค์อยากฝากไปถึงเพื่อน ๆ หรือน้อง ๆ ที่กำลังเผชิญกับอุปสรรค หาทางออกไม่เจอเหมือนกับที่เขาเคยเจอมาก่อน ว่าสำหรับใครที่ครอบครัวกำลังมีปัญหา ไม่ได้เรียนหนังสือในโรงเรียนเหมือนคนอื่น ขออย่าเพิ่งคิดว่าไม่มีทางออกอีกแล้วในชีวิตนี้ อยากให้ลองหาพื้นที่ปลอดภัยให้พบ หาคนที่ไว้ใจได้สำหรับปรึกษา เช่น ครูหรือคนในครอบครัว

“คำพูดของยายเคยทำให้ผมฟื้นกลับมา ทำให้ผมบอกกับตัวเองว่า ถ้าไม่ลงมือทำก็จะไม่มีอะไรเกิดขึ้น อายุเราก็แค่นี้เอง ยังต้องเจออะไรอีกมาก เราไม่ต้องกลัวที่จะเศร้า ไม่ต้องกลัวที่จะทุกข์ อย่างที่ยายบอกว่า ตอนนี้เราอาจอยู่ในบทเพลงท่อนที่กำลังเศร้า และท่อนที่สนุกนั้นยังมาไม่ถึงชีวิตคนเรานั้นแตกต่างกัน บางคนเกิดมาพร้อมความสนุก แต่บางคนก็เกิดมาพร้อมกับความเศร้า แต่จำไว้ว่าความเศร้าจะไม่ได้อยู่กับเราตลอดไป เราต้องมองไปข้างหน้าและทิ้งเรื่องราวข้างหลังไว้ เหมือนบทเพลงที่ค่อย ๆ เลื่อนไหลไปทีละน้อย เลื่อนไหลไปเรื่อย ๆ และไม่ได้มีแต่เฉพาะท่อนที่เศร้าเพียงอย่างเดียว”

*เรียบเรียงจาก INTERVIEW: #บันทึกจากค่ายฉันภูมิใจในตัวเธอ ‘So Proud Of You Camp’ นครพนมโมเดล – Zero Dropout

‘นครพนมโมเดล’ คืองานขับเคลื่อนการสร้างโอกาสทางการศึกษาบนพื้นฐานของความ ‘เสมอภาค’ ซึ่งจังหวัดนครพนม และ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน พัฒนาแผนปฏิบัติการโดยบูรณาการร่วมกันอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายให้เด็กเยาวชนทุกคนในพื้นที่ ได้รับโอกาสเรียนรู้พัฒนาตนเอง ผ่านการทำงานกับเด็กเยาวชน 3 กลุ่ม ตั้งแต่ ‘ต้นน้ำ’ คือเด็กกลุ่มเสี่ยงหลุดจากระบบที่ยังอยู่ในสถานศึกษา ‘กลางน้ำ’ คือเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษากลางทาง หรือ ‘เด็กแขวนลอย’ และ ‘ปลายน้ำ’ คือเด็กเยาวชนในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งเครือข่ายจังหวัดจะร่วมกันสำรวจติดตาม และนำเด็กเยาวชนกลุ่มเป้าหมายให้ได้รับการจัดการศึกษา ในวิธีการและกระบวนการที่เหมาะสม ตามบริบทความจำเป็นของชีวิต เพื่อให้สำเร็จการศึกษาภาคบังคับ พร้อมส่งเสริมผลักดันให้ได้วุฒิการศึกษาในระดับที่สูงขึ้น รวมถึงการการพัฒนาตัวเองสู่เส้นทางอาชีพที่ถนัดและสนใจ