Mindful Generation จากหลักสูตรสองพันกว่าปี สู่ “ห้องเรียนเสมอภาคทางอารมณ์”

Mindful Generation จากหลักสูตรสองพันกว่าปี สู่ “ห้องเรียนเสมอภาคทางอารมณ์”

ผู้นำทางความคิดระดับโลกอย่างยูวัล โนอาห์ แฮรารี นักเขียนหนังสือขายดี 21 บทเรียนสำหรับศตวรรษที่ 21  กล่าวว่า เนื่องจากโลกเปลี่ยนแปลงเร็วมาก เราต้องเรียนรู้ใหม่ตลอดเวลา แต่สิ่งสำคัญที่เด็กและเยาวชนจะได้ใช้ตลอดไปคือความฉลาดทางอารมณ์และความยืดหยุ่นทางจิตใจ จากหลักสูตรสองพันกว่าปีของพระพุทธเจ้า  สู่ “ห้องเรียนเสมอภาคทางอารมณ์”  เพื่อให้เด็กทุกคนไม่ว่าจะยากดีมีจน ได้เข้าถึงการพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์

เนื่องในโอกาสวันวิสาขบูชา กสศ. ชวนอ่านตัวอย่างงานวิจัยเรื่องการเจริญสติ  สู่การเดินทางของ Mind Gen กับความพยายามเปลี่ยนแพ็กเกจของศาสนาพุทธให้ร่วมสมัย เพื่อสร้างคำว่า “สติเพื่อชีวิตแห่งการเรียนรู้” ให้เบิกบานในหัวใจของเด็กและเยาวชน

พระภูมิศรัณย์ ภูมิปญฺโญ

กระแสงานวิจัยในเรื่องของการเจริญสติ (Mindfulness Meditation)

พระภูมิศรัณย์ ภูมิปญฺโญ ได้กล่าวถึงกระแสของงานวิจัยในเรื่องของการเจริญสติ (Mindfulness Meditation) ว่า เป็นที่นิยมในประเทศตะวันตก ส่วนหนึ่งมาจากการริเริ่มของท่านทะไลลามะตั้งแต่ยุค 1980s ที่ได้ส่งเสริมให้นักวิทยาศาสตร์ทางสมองจากมหาวิทยาลัยในตะวันตกทำการวิจัย 

โดยใช้พระทิเบตเป็นผู้เข้าทดลองเก็บข้อมูลแบบต่างๆ โดยเฉพาะการสแกนสมอง (Brain Imaging) ด้วยเครื่อง fMRI ทำให้ผลของการทำสมาธิปรากฏออกมาเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์จนมีงานวิจัยในเรื่องนี้ออกมาเป็นจำนวนมาก มีการใช้กระบวนการ Mindfulness Based Therapy แบบต่างๆ ในการรักษาผู้ป่วยทางจิตเวช พบผลในเชิงบวกต่อการแก้ปัญหาเชิงสุขภาพจิตและกายหลายๆ ด้าน เช่น โรคซึมเศร้า กังวล เครียด นอนไม่หลับ การใช้สารเสพติด ฯลฯ 

สำหรับในระดับห้องเรียน มีงานวิจัยพบว่าเด็กที่มีสติ มีสมาธิดี จะมีความเครียด ความกังวลน้อย ส่งผลให้มีผลการเรียนที่ดี ไม่ค่อยขาดเรียน 

ตัวอย่างงานโดยนักวิจัยจาก MIT-Harvard ร่วมกับองค์กรการศึกษาในบอสตันที่ทำการวิเคราะห์ภาพสแกนสมองของนักเรียนชั้น ป.6 ในเมืองบอสตัน 100 คน โดยกลุ่มทดลองใช้การฝึกอานาปานสติ (Breathing Meditation) ในขณะที่กลุ่มควบคุมให้ไปทำกิจกรรมฝึกโค้ดดิ้ง1 ผลการวิจัยพบว่าเด็กกลุ่มที่ฝึกสมาธิจะมีความเครียดกังวลน้อยกว่า ภาพสมองส่วนอมิกดาลาที่ควบคุมด้านความกลัว การใช้อารมณ์ ลดการทำงานลง 

งานวิจัยอีกชิ้นจาก MIT-Harvard เช่นกัน ได้เก็บข้อมูลเด็กนักเรียนชั้น ป.5- ม.2 ในบอสตันจำนวนสองพันกว่าคน โดยใช้แบบสอบถามวัดสเกลความมีสติ (Mindfulness Attention Awareness Scale)2 พบว่าระดับความมีสติของเด็กมีผลสัมพันธ์กับคะแนนสอบ การเข้าเรียน การมีปัญหาพฤติกรรมในห้องเรียน นอกจากนั้นยังมีงานวิจัยอีกจำนวนมากที่แสดงให้เห็นว่า หากเด็กและเยาวชนได้รับการฝึกสติอย่างต่อเนื่องจะส่งผลในเชิงบวกต่อจิตใจ อารมณ์ การปรับตัวในโรงเรียน โรงเรียนจำนวนมากในประเทศตะวันตกจึงมีการกำหนดให้มีกิจกรรมลักษณะนี้อยู่ในหลักสูตร3

พระภูมิศรัณย์  ภูมิปญฺโญ ในฐานะที่เคยเป็นนักเศรษฐศาสตร์ เชื่อว่าการพัฒนาการเจริญสติ (Mindfulness) ให้กับเด็กและเยาวชน เป็นการลงทุนที่ไม่ได้มีต้นทุนสูง และสามารถได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่า อาจจะดีกว่าหรือเทียบเท่าการลงทุนในระดับปฐมวัยที่นักเศรษฐศาสตร์เคยทำวิจัยด้วยซ้ำ เพราะหากเด็กและเยาวชนได้รับการปลูกฝังสติ สมาธิ มีความยับยั้งชั่งใจ มีวิจารณญาณ ย่อมจะสามารถใช้ชีวิตที่ดี สามารถแก้ปัญหาต่างๆ ในทางที่ถูกต้องได้ในระยะยาว 

ปัจจุบันพอจะมีงานวิจัยในทางเศรษฐศาสตร์ที่ศึกษาถึงผลตอบแทน (Return to Investment) ของการมีสติอยู่บ้างเช่นกัน แม้จะยังไม่ได้สมบูรณ์มากนัก เช่น วิทยานิพนธ์ปริญญาเอกทางเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมที่ MIT ในปี 20234 ซึ่งศึกษากลุ่มตัวอย่างที่ใช้โปรแกรมฝึกสมาธิทางแอปพลิเคชันของบริษัท Headspace  โดยทำการเก็บข้อมูลแบบเชิงสุ่ม (RCT)  ในกลุ่มเป้าหมายชาวอเมริกัน 2,384 คน 

ผลการวิจัยพบว่ากลุ่มทดลองที่ได้ฝึกสติวันละ 10 นาที เป็นเวลา 5 วันต่อสัปดาห์ ในระยะเวลา 1 เดือน จะลดกลไกการสร้างความเครียดและความกังวล (0.44 SD เทียบกับกลุ่มควบคุม) ลดผลกระทบจากรับข้อมูลเชิงลบที่มีผลต่ออารมณ์ในการตัดสินใจที่สำคัญ และทำให้มีประสิทธิภาพในการทำงานที่ดีขึ้น มีรายได้สูงขึ้น (มี Productivity ในการตรวจต้นฉบับเพิ่มขึ้น 1.9%) อนึ่งการทดลองนี้ใช้เวลาเพียง 1-2 เดือน ถ้าหากว่าได้มีการทำอย่างสม่ำเสมอน่าจะยิ่งเห็นผลที่ชัดขึ้นในระยะยาว  

พระภูมิศรัณย์เห็นว่าในระยะยาวอยากให้ กสศ. ได้ให้ความสำคัญกับการลงทุนในเรื่องการพัฒนาการเจริญสติ (Mindfulness) ในเด็กและเยาวชนด้วย นอกเหนือจากการสนับสนุนในด้านเงินอุดหนุน

Mind Gen : การเดินทางเพื่อสร้าง Mindful Generation

เมื่อหันมามองในบริบทของเมืองไทย  มีตัวอย่างที่น่าสนใจคือ Mind Gen ที่เป็นการต่อยอดแนวทางตามหลักพุทธธรรม ผ่านการสร้างสรรค์กิจกรรมและสร้างองค์ความรู้สำหรับคนหลากหลายกลุ่มทั้งเด็กและเยาวชน และผู้สนใจทั่วไป

พระบูชา ธัมมปูชโก ผู้อำนวยการโครงการพระธัมเจดีย์
และศูนย์สร้างสรรค์เยาวชนไทยหัวใจใฝ่ธรรม

พระบูชา ธัมมปูชโก ผู้อำนวยการโครงการพระธัมเจดีย์ และศูนย์สร้างสรรค์เยาวชนไทยหัวใจใฝ่ธรรม อดีตวิศวกร ปริญญาเอกมหาวิทยาลัยโตเกียว ผู้หันมาทำงานผลักดันด้านการพัฒนาจิตของเด็กและเยาวชน ได้อธิบายคำสอนสำคัญในทางพระพุทธศาสนาว่า “ธาตุรู้เป็นพื้นฐานของสรรพสิ่ง”  โดยได้ยกตัวอย่างการเจริญสติผ่านการขยับมือ 3 นาทีว่า

“การขยับมือนั้นเมื่อทำด้วยสภาพใจที่ผ่อนคลายและเป็นกลาง จะเป็นการฝึกมีสติอยู่กับฐานกายซึ่งเป็นคำสอนพื้นฐานในพุทธธรรม  ถ้าจะอธิบายในทางวิทยาศาสตร์ก็คือการรับรู้อยู่กับธรรมชาติภายใน คือระบบประสาทรับความรู้สึกของกาย (Body Sensation) ซึ่งตัวที่เชื่อมโยงอยู่ภายในร่างกายทั้งหมด คือตัวอิเล็กตรอนที่วิ่งอยู่ในระบบเส้นประสาท และอิเล็กตรอนนี่แหละที่เป็นอนุภาคมูลฐานสำคัญอันหนึ่งของจักรวาล และเป็นรอยต่อของการรับรู้ที่อยู่ภายในกับวัตถุที่อยู่ภายนอก ซึ่งตะวันตกพยายามอธิบายด้วยควอนตัมฟิสิกส์”

ห้องเรียนเสมอภาคทางอารมณ์

“หลักพื้นฐานของเศรษฐศาสตร์ตะวันตกคือ ‘การบริหารทรัพยากรให้เพียงพอกับความต้องการของมนุษย์’ แต่นั่นเป็นสิ่งที่ขัดกับหลักความจริง เพราะความโลภของมนุษย์ไม่มีขีดจำกัด ควรจะกลับด้านประโยคเสียใหม่ เป็นบริหารความต้องการของมนุษย์ให้เพียงพอต่อทรัพยากรของโลก

“เมื่อหันมาดูเรื่องความเสมอภาคทางการศึกษา ถ้าเราเน้นเพียงความเสมอภาคภายนอกด้านวัตถุเพียงอย่างเดียว ก็อาจยังไม่สมดุล และอาจจะไปไม่ถึงเป้าหมายได้  แต่สิ่งที่เราสามารถทำควบคู่ไปด้วยกัน แล้วจะทำให้ความเสมอภาคภายนอกนั้นสมดุลได้ ก็คือการพัฒนาศักยภาพของเยาวชน โดยต้องเริ่มจากการพัฒนาคุณสมบัติภายในคือการมีสติและความฉลาดทางอารมณ์ และให้เยาวชนในกลุ่มที่มีพลังภายในค่อนข้างเข้มแข็งหรือพัฒนาไปมากกว่า มีโอกาสในการที่จะสร้างสรรค์และช่วยเหลือเยาวชนที่มีกำลังภายในอ่อนกว่า นั่นคือเปลี่ยนกลุ่มก้อนของเขาจากเด็กด้อยโอกาสเป็นเด็กสร้างโอกาส คือเขาต้องสร้างโอกาสให้ทั้งตนเองและในเครือข่ายของเขาเอง และพวกเราที่เป็นพลังภายนอก ก็ต้องสร้างโอกาสให้เขาด้วยเช่นกัน”

จุดเด่นของ Mind Gen คือ การมีทางเลือกให้กับเยาวชนที่แตกต่าง

“Mind Gen กลุ่มนำกระบวนกร พี่ๆ เป็นผู้นำกระบวนการให้น้องๆ เน้นเรื่องสติและความฉลาดทางอารมณ์ เน้นปริญญาตรีหรือ ม.ปลาย  แต่ถ้าไม่ชอบทำกิจกรรม เราก็มี  Mind Gen กลุ่มสร้างสื่อ  ดังนั้นหากกลุ่มพี่ๆ ผู้นำกิจกรรมคนไหนไม่ถนัดที่จะออกหน้ามานำกระบวนการ ก็ยังสามารถฝึกที่จะทำงานเบื้องหลังได้ ทั้งการสร้างสรรค์สื่อและการสร้างบทเรียนออนไลน์ ตลอดจนการเป็นผู้บริหารจัดการวางแผนงานเบื้องหลังได้เช่นกัน

“กลุ่มผู้เรียนซึ่งเป็นเยาวชนรุ่นเล็กเอง ก็มีโอกาสเป็นรุ่นพี่ผู้นำกิจกรรมหรือผู้สร้างสื่อหรือผู้บริหารจัดการแผนงานเบื้องหลังได้ โดยทางโครงการมีคู่มือการสร้างแบบฝึกหัดออนไลน์แบบอินเตอร์แอคทีฟประเภทต่างๆ เตรียมไว้สำหรับการฝึกอบรมเยาวชนผู้สนใจด้วย ช่วยให้เยาวชนได้มองเห็นช่องทางพัฒนาตัวเอง”

สติเพื่อชีวิตแห่งการเรียนรู้ (Mindfulness for Life Learning)

สุพิชฌาย์ คงเพิ่มวงศ์ ผู้จัดกระบวนการและพัฒนากิจกรรมส่งเสริมการเรียนอย่างตื่นรู้แบบผสมผสาน อดีตสาวทำงานด้านการศึกษาเชิงธุรกิจที่ทิ้งเงินเดือนหลักแสนเพื่อหันมาทำงานที่มีความหมายต่อจิตใจ กล่าวว่า

สุพิชฌาย์ คงเพิ่มวงศ์ ผู้จัดกระบวนการ
และพัฒนากิจกรรมส่งเสริมการเรียนอย่างตื่นรู้แบบผสมผสาน

“ในส่วนของกิจกรรมเยาวชนนั้นตั้งต้นจากการประยุกต์คำสอนดั้งเดิมกับประเด็นในโลกยุคใหม่ ทั้งเรื่องสติสัมปชัญญะและการประพฤติตนให้เป็นคนที่มีคุณค่า ซึ่งเป็นเรื่องที่สอดคล้องกับความสนใจของผู้นำโลกในงาน  World Economic Forum  ปี 2018 ว่าเราจะเตรียมตัวเด็กรุ่นใหม่อย่างไร ควรจะให้เรียนอะไรเพื่ออาชีพการงานในอีก 10-15 ปีข้างหน้า 

“ทางโครงการจึงได้สร้างสรรค์เนื้อหาที่เป็นองค์ความรู้หลักเกี่ยวกับด้านจิตใจและการประพฤติปฏิบัติที่ดีงาม ในรูปแบบบทเรียนออนไลน์แบบอินเตอร์แอคทีฟที่เน้นใช้ภาษาอังกฤษ โดยนำมาผสมผสานผ่านกระบวนการจัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ผ่านเรื่องราว (Story-based Leatning Approach)”

เธอบอกว่ากระบวนการเรียนอย่างตื่นรู้ (Mindful Active Learning)  นั้นคือการสอดแทรกการแสดงความคิดเห็นต่อตัวละคร เกี่ยวกับอารมณ์ความรู้สึกที่ปรากฏในเรื่องราว  ซึ่งจะสามารถเชื่อมโยงไปสู่การสังเกตอารมณ์ความรู้สึกของผู้เรียนเอง และต่อยอดไปสู่การสังเกตเพื่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวันอย่างค่อยเป็นค่อยไป

การฝึกทำความเข้าใจเรื่องเล่าและฝึกถ่ายทอดเรื่องราว นับเป็นหัวใจสำคัญของกระบวนการนี้

“เรามีกลุ่มพี่ๆ ทำหน้าที่เป็นเสมือนคุณครู ซึ่งแต่ละคนจะมีทักษะและความถนัดที่แตกต่างกันไป โดยพี่บางคนอาจถนัดด้านภาษา บางคนถนัดด้านศิลปะ และบางคนถนัดด้านเครื่องมือเทคโนโลยี  แต่ทุกคนจะช่วยกันสื่อสารกับผู้เรียน ทั้งเพื่อการทำความเข้าใจเนื้อหาหลัก และการเทียบเคียงกับคำตอบจากประสบการณ์ของผู้เรียนรุ่นเยาว์ 

“ระหว่างเรียนก็จะมีช่วงที่ให้ทุกคนได้กลับมาคอยรู้สึกตัว ไม่ว่าจะเป็นการรู้สึกถึงการนั่ง การลุกขึ้นยืน การลงมานอนสบายๆ กลับมานั่งหลับตายกแขนขึ้นลงสบายๆ รวมถึงการกลับมาอยู่กับลมหายใจ เพื่อให้ทุกคนฝึกการรู้จักหยุดตัวเองจากกิจกรรมภายนอกเพื่อกลับมาสังเกตตัวเองว่าขณะที่เรียนรู้อยู่นั้นมีความเคร่งเครียด มีความกรำเกร็ง มีความสงสัยเกิดขึ้นมากน้อยเพียงใด แล้วค่อยตั้งต้นเรียนต่อไปด้วยกันบนพื้นฐานของความสบายนั้นต่อไป”


1Mindfulness training reduces stress and amygdala reactivity to fearful faces in middle-school children. Behavioral Neuroscience, 133(6), 569–585. https://doi.org/10.1037/bne0000337
2Greater mindfulness is associated with better academic achievement in middle school. Mind, Brain, and Education, 13, 157–166. https://doi.org/10.1111/mbe.12200
3Mindfulness-based interventions in schools-a systematic review and meta-analysis. Front Psychol. 2014  https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/25071620/
4Managing Emotions: The Effects of Online Mindfulness Meditation on Mental Health and Economic Behavior โดย Pierre-Luc Vautre และ Advik Shreekumar.  Massachusetts Institute of Technology 2023


สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Mind Gen
Website : https://mindgen.net/
Youtube : www.youtube.com/@mindgen

ที่มา : เรียบเรียงบางส่วนจากกิจกรรมเสวนา  “แนวทางการพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ในเด็กและเยาวชน ประสบการณ์จากเครือข่าย Mind Gen” 25 พฤษภาคม  ณ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)