ช่วยพ่อวัยรุ่น – แม่วัยใส ไม่ส่งต่อปัญหาสู่รุ่นลูก กสศ. สนับสนุนทุนพัฒนาอาชีพ สร้างรายได้ เสริมการเรียนรู้

ช่วยพ่อวัยรุ่น – แม่วัยใส ไม่ส่งต่อปัญหาสู่รุ่นลูก กสศ. สนับสนุนทุนพัฒนาอาชีพ สร้างรายได้ เสริมการเรียนรู้

ในวงเสวนาออนไลน์ Little Big Communities Talk season 2 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ มีหัวข้อหนึ่งที่น่าสนใจ นั่นคือ ประเด็นว่าด้วยการสร้างการเรียนรู้และสนับสนุนเส้นทางอาชีพให้ ‘พ่อแม่วัยรุ่น’ เพื่อแก้ปัญหา ‘ความยากจนข้ามรุ่น’ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการบรรยายพิเศษจาก ศาสตราจารย์ ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ประธานอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาเยาวชนและประชากรวัยแรงงานนอกระบบ และกรรมการบริหาร กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ในหัวข้อ ‘พ่อแม่วัยรุ่นกับปัญหาความยากจนข้ามรุ่นของสังคมไทย’

ศาสตราจารย์ ดร.สมพงษ์ กล่าวว่า ในประเทศไทยเรา มีตัวเลขที่น่าตกใจ สมัยที่เป็นคณะกรรมการพัฒนาเด็กแห่งชาติ ปี 2553  เคยนำตัวเลขสถิติของพ่อแม่วัยใสเสนอกับคณะรัฐมนตรีในสมัยนั้น พบว่ามีตัวเลขประมาณกว่า 120,000 คน

“ตอนนั้นคนก็ตกใจกันเยอะ พอปี 2555 มันก็ขึ้นสูงสุดที่ 128,492 คน เราเริ่มเห็นจำนวนเด็กอายุ 10 – 14 ปี มีถึง 3,700 คน และเด็กอายุ 15 – 19 ปี กว่า 128,000 คน ตอนนั้นเรื่องใหญ่มากนะครับ เราอาจจะเป็นประเทศต้น ๆ เลย ที่มีสถิติของคุณแม่วัยใสสูงสุด สิ่งที่ตามมาคือคณะรัฐมนตรีในขณะนั้นได้เล็งเห็นความสำคัญของปัญหานี้ จึงมีมาตรการออกมา เช่น การออกพระราชบัญญัติเพื่อมาดูแล และมีเรื่องต่าง ๆ เกิดขึ้นต่อเนื่องตามมาจากประเด็นนี้อีกมากมาย”

ศาสตราจารย์ ดร.สมพงษ์ จิตระดับ
ประธานอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาเยาวชนและประชากรวัยแรงงานนอกระบบ
และกรรมการบริหาร กสศ.

ศาสตราจารย์ ดร.สมพงษ์ กล่าวต่อไปว่า จากจำนวนกว่า 128,000 คน ในปัจจุบันสำรวจเมื่อปี 2563 พบว่าตัวเลขได้ลดลงมาตามลำดับ จนถึงขณะนี้ตัวเลขคุณแม่วัยใสอยู่ที่ประมาณ 56,000 คน โดยเด็กที่อยู่ในช่วงอายุ 10 – 14 ปี จาก 3,700 กว่าคน ลดเหลือ 1,783 คน เพราะฉะนั้น เราจึงตั้งเป้าหมายในปี 2569 ว่าตัวเลขจะต้องลดลงให้มากที่สุด เด็กในช่วงอายุ 10 – 14 ปี ที่ไม่ควรมีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น อย่างน้อยก็ให้เหลือเพียง 0.5 ต่อจำนวนประชากร 1,000 คน ส่วนในช่วงวัย 15 – 19 ปี ต้องลดลงมาให้เหลือ 28.7 และเป้าหมายคือ 25 ต่อประชากร 1,000 ซึ่งตัวเลขขณะนี้อยู่ในระดับที่ใกล้เคียงตามที่ตั้งเป้าหมายไว้แล้ว

“สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นก็คือว่าภาพรวมของแม่วัยรุ่นมักจะเกิดขึ้นบริเวณชายแดนและเขตอุตสาหกรรม EEC ไม่ว่าจะเป็นระยอง ปราจีนบุรี และฉะเชิงเทรา เพราะฉะนั้นเราพอจะมองเห็นลักษณะการกระจุกตัวของปัญหานี้อยู่”

ศาสตราจารย์ ดร.สมพงษ์ กล่าวต่อว่า งานวิจัยหลาย ๆ ชิ้น มีสิ่งหนึ่งที่ตรงกัน คือถ้ามีปัญหาของการตั้งครรภ์ในวัยเรียนเกิดขึ้น โดยวัฒนธรรมของเด็กกลุ่มนี้และสิ่งที่เป็นต่อไปคือจะมีการส่งต่อปัญหานี้ข้ามไปสู่รุ่นลูกไม่ว่าเขาจะมีลูกสาวหรือลูกชาย

“ขอยกตัวอย่างกรณีที่ จ.ปราจีนบุรี เมื่อแม่วัยใสต้องออกจากโรงเรียนตอนประมาณ ม.2 ก็เข้าไปทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมแห่งหนึ่ง มีลูกสาวติดมา ทำงานเป็นแรงงานเด็ก วันหนึ่งทำงานประมาณ 8 ชั่วโมง แต่รายได้ไม่พอต้องทำโอที ทำงานตั้งแต่เช้ายันค่ำจนเป็นเส้นเลือดขอดทั้งที่ยังเป็นวัยรุ่น ส่วนลูกสาวเขาก็เติบโตขึ้นมาท่ามกลางความขาดการเอาใจใส่ เพราะว่าแม่ต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ทำงาน ลูกก็เติบโตขึ้นมาเป็นเด็กวัยรุ่น ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมไม่สู้ดีนัก ติดเพื่อน สภาพแวดล้อมเต็มไปด้วยปัญหาความรุนแรงและยาเสพติด และสุดท้ายลูกเขาก็ตั้งครรภ์เหมือนคุณแม่ พอคลอดลูกเสร็จ ตัวลูกก็ต้องเข้าไปทำงานในโรงงานเหมือนเป็นวงจรสืบต่อกันไปเรื่อย ๆ”

ศาสตราจารย์ ดร.สมพงษ์ กล่าวว่า หากปล่อยให้เป็นแบบนี้ ปัญหาเรื่องการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควรก็จะส่งต่อไปอีก คราวนี้ก็จะถึงรุ่นหลานเขา เพราะฉะนั้นจึงจำเป็นต้องมีการแทรกแซง ซึ่งหมายถึงการให้ความช่วยเหลือ เพื่อให้มีการตัดวงจรคุณแม่วัยใสเกิดขึ้น

“อีกกรณีหนึ่งที่เราตามอยู่ในจังหวัดแห่งหนึ่งทางภาคเหนือ เด็กอยู่ชั้น ม.ปลาย เรียนหนังสือเก่ง มาจากครอบครัวที่ดีมาก ตั้งใจจะเรียนต่อมหาวิทยาลัย แต่เผอิญก้าวพลาด ถูกล่วงละเมิดทางเพศ ทำให้ตั้งครรภ์ในระหว่างเรียน เด็กถูกผลักออกจากระบบการศึกษาเลย ต้องออกมาทำงานร้านสะดวกซื้อแล้วก็เลี้ยงลูกไป เมื่อเราไปเจอเคสนี้ เราจึงแทรกแซงด้วยการให้ทุนการศึกษา ส่งเสริมในเรื่องต่าง ๆ จนในที่สุดเด็กก็สามารถเรียนจบชั้น ม.ปลายได้ และไปเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาได้ โดยเลี้ยงลูกไปด้วย”

ศาสตราจารย์ ดร.สมพงษ์ กล่าวว่า ปัญหาคุณแม่วัยใส ถ้าเราไม่แทรกแซงให้ความช่วยเหลือ เด็กจะส่งต่อปัญหานี้ไปยังรุ่นลูก แต่เมื่อมีความช่วยเหลือจากภาครัฐ ภาคประชาสังคม เข้าไปช่วยออกแบบการเรียนรู้ให้เด็กกลุ่มนี้ ปัญหาก็จะคลี่คลายไป เป็นลักษณะการออกแบบที่เรียกว่า Family Center เด็กจะมีชีวิตที่ดีขึ้น แรงบันดาลใจเรื่องการศึกษาที่หายไปพร้อมกับการตั้งครรภ์ในระหว่างเรียน จะค่อย ๆ ฟื้นกลับมา เด็กมีเวลาเรียนรู้ที่จะอยู่กับครอบครัวของตัวเอง เรียนรู้ที่จะอยู่กับลูกและมุมมองต่อเรื่องการศึกษาดีขึ้นตามลำดับ

เพราะฉะนั้นในช่วงที่มีลูก โจทย์คือจะทำอย่างไรให้เด็กมีการศึกษาและมีอาชีพ และปรับเปลี่ยนทัศนคติของพ่อแม่เด็ก จะทำอย่างไรจะสามารถให้เด็กมีพื้นที่ มีเรื่องการยอมรับ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เป็นเรื่องของการออกแบบการเรียนรู้ทั้งสิ้น

“ปี 2563 กสศ.ได้ทำงานกับเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษา มีเด็กทั้งหมดประมาณ 15 กลุ่ม มีเอ็นจีโอ 66 องค์กรร่วมมือกันทำงานในพื้นที่ 74 จังหวัด พบว่าเด็กในกลุ่มที่พร้อมจะส่งต่อปัญหาความยากจนข้ามรุ่นไปสู่รุ่นลูกของเขาได้ ส่วนใหญ่เป็นเด็กในระดับข้างล่างสุดเกือบทั้งหมดเลย และเรายังเจอเด็กท้องไม่พร้อมถึง 899 คน จากเด็ก 36,000 คน ซึ่งเราให้การช่วยเหลืออยู่ในขณะนี้ ดังนั้น การจะพัฒนาไปสู่ศตวรรษที่ 21 เป็นไปได้ค่อนข้างยาก หากเด็กในช่วงอายุ 15 – 24 ปี ประมาณ 900,000 คน เป็นคนที่ไม่มีทักษะและพัฒนายาก เขาจะทยอยเข้าไปทดแทนแรงงานนอกระบบเมื่อเค้าโตขึ้น เขาจะมีเงินเดือนประมาณ 6,000 – 8,000 ไปจนตลอดชีวิตเลย”

ศาสตราจารย์ ดร.สมพงษ์ กล่าวว่า จากสภาวะดังกล่าว การส่งต่อความยากจนข้ามรุ่นจึงเกิดขึ้นตลอดเวลาในประเทศไทย แนวคิดในเรื่องของการพัฒนาคุณแม่วัยใส หากก้าวพลาด หรือถูกปฏิเสธจากระบบการศึกษา ครอบครัว และสังคมรอบข้าง จึงต้องเกิดการบริหารจัดการขึ้น จะทำอย่างไรให้เขาไปต่อได้พร้อม ๆ กับการดูแลเด็กอีกคนหนึ่งที่กำลังจะคลอดออกมา ต้องไม่ปล่อยให้ความสดใสร่าเริงและอนาคตของเด็กต้องหยุดชะงักลง 

“การเข้าไปให้ความช่วยเหลือ ผมคิดว่าต้องให้ความเข้าใจพื้นฐานในเรื่องของสภาพจิตใจ การดูแล การรับฟังปัญหาของเด็ก ต้องคืนสิทธิของความเป็นพลเมือง สิทธิมนุษยชน สิทธิของความเป็นเด็กกลับมา แล้วค่อย ๆ ออกแบบการเรียนรู้ ที่ไม่ใช่การเรียนรู้ของแม่อย่างเดียว แต่ต้องมีส่วนของพ่อเด็กด้วยเพื่อให้เขาสามารถช่วยกันไปต่อได้ มีอาชีพ มีรายได้ และมีเวลาในเรื่องของการศึกษา การฟื้นชีวิตเด็กกลุ่มนี้จึงมีความละเอียดอ่อน เป็นเรื่องของความเข้าใจ”

ศาสตราจารย์ ดร.สมพงษ์ กล่าวต่อไปว่า อีกสิ่งที่สำคัญเช่นกัน คือการทำความเข้าใจกับผู้ปกครองของคุณแม่วัยใส เพื่อให้คนที่เป็นปู่ย่าตายายได้กลับมาช่วยดูแลหลานได้ด้วย สำหรับแนวทางการให้ความช่วยเหลือคุณแม่วัยใส แนวโน้มต่อไปจากนี้ เรากำลังมองถึงการพัฒนาการศึกษาหลักสูตรระยะสั้นมากขึ้น

“พอฝึกอบรมเสร็จ กสศ.จะมีเงินกองทุนให้แต่ละครอบครัว หรือแต่ละกลุ่ม เพื่อไปเริ่มต้นประกอบอาชีพ กองทุนเริ่มต้นของเราอยู่ที่ 6,000 บาท คือถ้าเราทำแค่อบรม แต่ไม่มีเงินเริ่มต้นให้ เด็กจะไปต่อได้อย่างไร เพราะฉะนั้นพอชีวิตเริ่มมีอาชีพมีรายได้ ไม่เป็นภาระกับพ่อแม่ของเขา ทัศนคติมุมมองของคนรอบข้างก็จะดีขึ้น ว่าเด็กสามารถพึ่งพิงตัวเองได้ เลี้ยงลูกตัวเองรอด ตัวเองก็ไม่ได้เลวร้ายและยังคงมุ่งหน้าสู่การศึกษา มีการประสานร่วมกันของครอบครัวและภาคประชาสังคม เกิดอาชีพ เกิดรายได้ที่มั่นคง เมื่อมีกระบวนการเหล่านี้ประคับประคอง ก็จะตัดวงจรเรื่องของความยากจนข้ามรุ่น และการส่งต่อของปัญหาคุณแม่วัยใสได้”