จาก Learning Loss เร่งเครื่องสู่ Learning Gain หยุดระเบิดเวลา

จาก Learning Loss เร่งเครื่องสู่ Learning Gain หยุดระเบิดเวลา

เรื่องเร่งด่วนที่เกิดขึ้นหลังจากเปิดเรียนแบบออนไซต์อย่างเต็มรูปแบบ คือการเร่งประเมินวัดระดับทักษะการเรียนรู้ของนักเรียน เพื่อให้เห็นภาพว่าใน 2 ปีที่ผ่านมาเราสูญเสียไปมากแค่ไหน และข้อมูลที่ทยอยส่งมาจากครูผู้สอนอาจพบว่า “เด็กยกห้อง” มีภาวะการเรียนรู้ถดถอย หรือ Learning Loss แทบทั้งสิ้น โดยเฉพาะในเด็กเล็ก หรือนักเรียนในโรงเรียนชนบท 

แม้จะเป็นเหมือนกันทั่วโลกที่เด็กอย่างน้อย 1.6 พันล้านคนใน 188 ประเทศอยู่ในภาวะ ‘ต่อไม่ติด’ ‘เรียนไม่รู้เรื่อง’ พร้อมๆ กัน แต่สำหรับประเทศไทยที่มีรายละเอียดของปัญหาที่ทับซ้อนหลายชั้น เรื่องที่น่ากังวลคือถ้าการเปิดโรงเรียนครั้งนี้ไม่สามารถกู้คืนศักยภาพการเรียนรู้ให้กลับคืนมาให้มากที่สุด ก็จะยิ่งซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และเพิ่มความเสี่ยงของเด็กที่จะออกนอกระบบการศึกษาเพิ่มขึ้น 

เช่นเดียวกับ ศาสตราจารย์กิตติคุณสุมน อมรวิวัฒน์ – ราชบัณฑิต ที่มีประสบการณ์การทำงานในแวดวงการศึกษามากว่า 70 ปี ตอกย้ำให้เห็นภาพว่าไม่มีครั้งไหนที่ภาวะการเรียนรู้ถดถอยรุนแรงที่สุดเหมือนกับห้วงวิกฤตโควิด-19 อีกแล้ว

การเรียนรู้สู่จุดเปลี่ยนพลิกผัน

ศาสตราจารย์กิตติคุณสุมน สะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ในงานเสวนา “นวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อป้องกันการสูญเสียการเรียนรู้ (Learning Loss) และเพิ่มการเรียนรู้ (Learning Gain)” ที่จัดขึ้นโดย กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับสำนักธรรมศาสตร์และการเมือง ราชบัณฑิตยสภา ภายใต้โครงการราชบัณฑิตสัญจรสำนักธรรมศาสตร์และการเมือง ปีงบประมาณ 2565 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 2 มิถุนายน ที่ผ่านมา

อาจารย์เริ่มต้นจากการย้อนให้เห็นภาพในยุคที่อาจารย์เป็นเด็ก ที่แม้เครื่องมือการเรียนรู้จะมีอย่างจำกัด แต่ชีวิตของเด็กรุ่นนั้นเกิดมาท่ามกลางท้องฟ้ากว้าง อยู่ในบ้านเรือนที่พร้อมหน้าพ่อแม่พี่น้อง ได้คุยกันถกเถียงกันตลอดเวลา

“เราได้ยินเสียงนกร้อง จะได้ยินเสียงนกกาเหว่าเวลา 04:45น. ทุกวัน นกตัวใหญ่จะตื่นก่อน นกตัวเล็กกระจิบกระจอกจะตื่นสายที่สุด เป็นสิ่งที่เราเป็นเด็กได้สังเกตุ เป็นการเรียนรู้ เป็นการพัฒนาสมอง จนเกิดปฏิสัมพันธ์” 

การเรียนรู้จากการเกิดปฏิสัมพันธ์ ทั้งจากอวัยวะสัมผัส รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสทางกายและสัมผัสทางใจ ล้วนช่วยให้สมองเกิดการเรียนรู้ทั้งสิ้น แต่การเติบโตของเด็กในยุคปัจจุบันที่ต้องปรับตัวตลอดเวลาจนแทบทำให้เด็กไม่มีเวลาเตรียมตัว หรือเรียกได้ว่าพวกเขาเข้าสู่ยุค “การเรียนรู้สู่จุดเปลี่ยนพลิกผัน”

“ทำไมเราถึงเรียกว่ายุคปรับเปลี่ยนพลิกผัน เพราะเด็กจากโลกกว้างถูกส่งเข้ามาสู่รั้วที่เรียกว่าโรงเรียน และโรงเรียนได้จำกัดขอบเขตเด็กและเยาวชนไม่ให้ออกไปไกลเกินกว่านั้น ถูกเรียกเข้าไปอยู่ในห้องสี่เหลี่ยมแคบๆที่น่าสงสารเด็กมาก และจากห้องสี่เหลี่ยมเด็กได้ถูกนำเข้าไปสู่จอสี่เหลี่ยมเล็กๆ” ศาสตราจารย์กิตติคุณสุมนกล่าว

เพราะแม้อินเตอร์เน็ตจะย่อความรู้ของโลกทั้งโลกเข้ามาอยู่ในจอสี่เหลี่ยมนี้ แต่ทำให้สิ่งที่สำคัญที่สุดที่เด็กในยุคก่อนได้จากการเรียนรู้สูญเสียไป และยากที่จะสร้างให้เกิดขึ้นอีกครั้ง 
“เด็กเรียนออนไลน์ต้องห้ามเคลื่อนไหว ถ้าเคลื่อนไหวก็จะไม่เห็นจอ ดังนั้นจากโลกกว้าง เด็กและเยาวชนถูกเก็บเข้ามาจนกระทั่งต้องอยู่ในกรอบของจอสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ เท่านั้น เด็กจึงขาดปฏิสัมพันธ์ ขาดการพูด ขาดการโต้กลับจากสังคม ไม่ต้องตอบคำถาม ไม่ต้องสบตา ไม่จำเป็นต้องคบใคร ขาดการมีส่วนร่วม และยังขาดการเก็บความทรงจำต่างๆ ท้ายที่สุดอะไรก็ตามที่ขาดไปแล้วก็จะไม่ทำงานอีกต่อไป

จาก Learning Loss เร่งเครื่องสู่ Learning Gain

ศาสตราจารย์กิตติคุณสุมน อมรวิวัฒน์ – ราชบัณฑิต

สภาวะเช่นนี้ทำให้สมองของเด็กขาดการเติบโตอย่างปกติ ขาดโอกาสพัฒนาทักษะจนกลายเป็นภาวะการเรียนรู้ถดถอยหรือ Learning Loss เด็กในระดับชั้นประถมศึกษาสมองเติบโตช้าและทักษะในด้านการอ่านด้อยลง ส่วนเด็กในระดับมัธยมศึกษาจะขาดทักษะทางด้านวิทยาศาสตร์ และการแสดงออกในการปฏิบัติงาน จนตามมาด้วยความเครียดและภาวะทางอารมณ์

“เด็กทำงานตามอารมณ์ ภาวะทางอารมณ์รุนแรงมาก เครียด บางคนก็ซึมเศร้า จนเป็นปัญหาสุขภาพจิต ดังนั้นดิฉันจึงเห็นว่าถึงเวลาแล้ว ที่เราจะต้องมาช่วยกันฟื้นฟู เพิ่มภาวะภาวะการเรียนรู้ที่เรียกว่า Learning Gain ถ้าหากว่าเราไม่รีบทำในตอนนี้ เราไม่ช่วยกันฟื้นฟูในตอนนี้ ประเทศไทยจะสูญเสียกำลังคนที่มีความสามารถเป็นอย่างยิ่ง” ศาสตราจารย์กิตติคุณสุมน กล่าวทิ้งท้าย

นี่จึงเป็นยิ่งกว่าระเบิดเวลา ที่จะต้องระดมสรรพกำลังให้การฟื้นฟูสมรรถนะทางการเรียนรู้ของเด็กให้เกิดขึ้นจริง ตั้งแต่การวางแผนบนพื้นฐานของข้อมูลและงานวิจัยเพื่อให้ได้วิธีการที่ถูกจุด, การเร่งประเมินความรู้ของเด็ก, ตลอดจนนำข้อมูลเหล่านั้นมาปรับปรุงหลักสูตรและศาสตร์การสอน เพราะวิกฤตนี้เพียงแค่ทำให้เปิดเรียนตามปกติไม่เพียงพออีกต่อไป