ทบทวนเป้าหมายการศึกษาบนเส้นทางที่ฝันใฝ่ สู่ก้าวต่อไปของนักเรียนทุน ‘ก้าวเพื่อน้อง’ รุ่น 1

ทบทวนเป้าหมายการศึกษาบนเส้นทางที่ฝันใฝ่ สู่ก้าวต่อไปของนักเรียนทุน ‘ก้าวเพื่อน้อง’ รุ่น 1

โรงแรมแกรนริชมอนด์ นนทบุรี ยามบ่ายในห้องประชุมที่อุณหภูมิเย็นฉ่ำราว 23 องศา เป็นครั้งแรกที่น้อง ๆ ‘โครงการทุนก้าวเพื่อน้อง’ รุ่น 1-3 ได้มาพบและทำกิจกรรมร่วมกัน นับแต่ทุนก้าวเพื่อน้องเริ่มต้นขึ้นในปี 2563 โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับมูลนิธิก้าวคนละก้าว

3 ปีเต็มของยุคโควิด-19 ยาวนานพอที่นักเรียนทุน ‘ก้าวเพื่อน้อง’ รุ่น 1 จะเปลี่ยนผ่านสถานะจากน้อง ม.3 ที่เต็มไปด้วยความไม่แน่ใจเกี่ยวกับอนาคต และโอกาสในการเรียนต่อชั้นมัธยมปลาย หรือ ปวช. ให้กลายมาเป็นพี่ ม.6 หรือพี่ ปวช.3 ในวันนี้พวกเขาเตรียมจบการศึกษา และกำลังจะ ‘ก้าวข้าม’ ผ่านรอยต่อของการเลื่อนระดับชั้นอีกครั้ง

บนเวที พี่ ๆ ทุนก้าวเพื่อน้อง ขะมักเขม้นอยู่กับการแนะแนวขั้นตอนและเทคนิคการสอบ Admission และ TCAS ก่อนช่วงต่อไปจะเป็นเวิร์กช็อปให้คำปรึกษาเรื่องการวางแผนศึกษาต่อ รวมถึงชี้เป้าแหล่งทุนการศึกษาที่เหมาะสมกับเป้าหมายของน้อง ๆ แต่ละคน

ตัดภาพมาเบื้องล่าง บนโต๊ะยาวที่หันหน้าหาเวที สายตาของน้อง ๆ จดจ้องที่เอกสารในมือ สลับเงยหน้าเพ่งไปยังพี่ ๆ และจอภาพเบื้องบน เป็นแววตาที่เปี่ยมสมาธิ ปะทุด้วยเชื้อไฟแห่งความมุ่งมั่น ทว่าลึกลงไปในดวงตานับร้อยคู่นั้น ยังแฝงด้วยความกังวล ลังเลสงสัย และไม่แน่ใจ

ราวกับว่า คำถามเกี่ยวกับอนาคตของเส้นทางการศึกษาที่ยังคงค้างคาใจได้เวียนแวะกลับมาให้ครุ่นคิดอีกครั้ง

เพื่อไขข้อข้องใจ เราชวนคุยกับตัวแทนนักเรียนทุนก้าวเพื่อน้อง รุ่น 1 ว่าในวันนี้ที่กลับมายืนตรงทางแยก ซึ่งแต่ละคนมีเป้าหมายต่างกันไป ตามความฝัน ความพร้อม และตามความจำเป็นต่าง ๆ ของชีวิต การจะก้าวข้ามเส้นรอยต่อครั้งนี้ มีอะไรบ้างที่เป็นกำแพงอุปสรรค หรือยังมีข้อแม้ใดที่น้อง ๆ กังวล

หลังจากพาตัวเองผ่านช่วงเวลา 3 ปีอันเข้มข้น ทั้งในจังหวะชีวิตตัวเองก็ดี หรือการต้องปรับตัวกับการศึกษาในโลกยุค New Normal ก็ดี ถึงวันนี้น้อง ๆ มีอะไรในใจที่อยากจะฝากไปถึง ‘ตัวฉันเมื่อวันวาน’ บ้าง อย่างน้อยการมองย้อนกลับไปหาตัวเองในวันนั้น อาจช่วยให้บางความกังวลใจวันนี้คลี่คลายลง ก่อนที่ฤดูร้อนปี 2567 จะมาถึง

ก้าวข้ามบททดสอบ TCAS67
“แม้คะแนนถึง แต่ทุนก็ต้องถึงด้วย”

‘จิ’ จิราพร จันทิมาลย์ นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนยโสธรพิทยาคม เล่าว่า ถ้าให้เรียงลำดับความกังวลในการสอบเข้ามหาวิทยาลัย เรื่องแรกเลยคือคะแนนสอบ ที่เธอเองไม่ยังมั่นใจว่าจะทำได้ถึงเกณฑ์คณะที่เลือกหรือไม่ โดยแผนที่วางไว้คือจะทำให้ได้ตั้งแต่รอบโควตา หรือ Portfolio แต่ถ้าไม่ได้ ก็อาจต้องเปลี่ยนไปเลือกคณะในลำดับถัด ๆ ไป เพราะคิดว่าคงยากถ้าจะไปลุ้นต่อในรอบ Admission ซึ่งต้องใช้คะแนนสอบล้วน

‘จิ’ จิราพร จันทิมาลย์ นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนยโสธรพิทยาคม

“ความกังวลอีกอย่างคือเรื่องค่าใช้จ่ายค่ะ เพราะยิ่งเลือกอันดับเพิ่ม เราก็ต้องจ่ายเงินเพิ่ม สอบ TCAS เลือกได้ 10 อันดับ แต่หนูคิดว่าคงเลือกไม่เกิน 5 คือค่าใช้จ่ายเหล่านี้มองเผิน ๆ เหมือนไม่เยอะ แต่อย่าลืมว่าทุกขั้นตอนของการเรียนต่อ ทุกสิ่งอย่างมันมีค่าใช้จ่ายหมด เหมือนเราโดนคัดคุณสมบัติทุกด้าน ทั้งผลการเรียน ความประพฤติ ความสามารถพิเศษ และด่านสำคัญสุดคือ ฐานะการเงินเราดีพอจะเรียนแค่ไหน

“เพราะถึงสอบได้ แต่ถ้ามหาวิทยาลัยอยู่ไกลบ้าน สิ่งที่ตามมาจากนั้นคือค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ทั้งค่าเทอม เครื่องแบบ หนังสือเรียน อุปกรณ์ กิจกรรม ค่าเดินทาง หรือค่าที่พัก ตอนนี้เลยพยายามมองหาแหล่งทุนการศึกษาควบคู่กับการเตรียมสอบไปด้วยค่ะ การมาเจอกันครั้งนี้จึงเป็นโอกาสดีมาก ๆ ที่มีพี่ ๆ มาช่วยแนะนำทุนที่เหมาะกับศักยภาพและสถานการณ์ของเรา หวังมาก ๆ ค่ะว่าจะได้ทุนอีกครั้ง เพื่อให้มั่นใจว่าถ้าสอบเข้าไปได้ จะมีทุนพอสำหรับเรียนจบ”

“ขอบคุณตัวฉันในวันนั้น”

ในวาระที่นักศึกษาทุนก้าวเพื่อน้อง รุ่น 1 ต่อสู้ฝ่าฟันกันมา จากวันที่โอกาสในการเรียนต่อเหมือนอยู่ห่างไกลแสนไกล จนมาพบกันครั้งนี้ น้อง ๆ กำลังใกล้จะจบการศึกษาไปอีกขั้น เราขอให้น้องจิวันนี้ฝากอะไรถึงจิราพรในวันวาน หรือจิราพรคนที่เคยเขย่งยืนอยู่บนความไม่แน่นอนเมื่อครานั้น กับข้อแม้ที่ขวางหน้าว่า หลังจบ ม.3 แล้ว โชคชะตาจะพาไปทางไหน

จิบอกว่า “ขอบคุณตัวฉันในวันนั้น… จิราพร ฉันอยากบอกว่าเธอเก่งที่สุดเลย ที่ต่อสู้จนผ่านอะไรหลายอย่างมาได้

“ส่วนวันนี้ถึงฉันจะกังวล ถึงฉันจะยังไม่แน่ใจว่าจะทำต่อไปได้ดีแค่ไหน แต่เพื่อตอบแทนที่เธอพยายามจนมาถึงตรงนี้ ฉันจะอดทนกับทุกเรื่องราว ทุกสิ่งทุกอย่าง เพื่อที่จะผ่านมันไปให้ได้เช่นกัน”

“ถึงไม่มีทุน ก็จะทำงานและเรียนไปด้วย”

“ถ้ามีโอกาสได้เรียนและได้ทำในสิ่งที่เราสนใจ ผมว่าจะทำให้เราเริ่มต้นได้เร็ว และทำไปได้นานครับ”

‘น็อต’ ธนฤทธิ์ สุทธนะ ชั้น ปวช.3 แผนกช่างกลโรงงาน วิทยาลัยการอาชีพลอง จังหวัดแพร่ บอกเหตุผลที่เลือกเรียนสาขานี้ว่า เพราะเป็นแผนกที่สนใจและพอมีทักษะพื้นฐานอยู่บ้าง จึงตั้งใจว่าจะเติมความรู้ให้เพิ่มพูน แล้วเอาความสามารถไปใช้ทำงานต่อได้

‘น็อต’ ธนฤทธิ์ สุทธนะ ชั้น ปวช.3 แผนกช่างกลโรงงาน วิทยาลัยการอาชีพลอง

“ผมจำได้ว่าวันที่ได้ทุน ย่าดีใจมาก เหมือนเพิ่งผ่านไปไม่นาน แต่ก็ต้องเตือนตัวเองว่าเวลาของการวางแผน การตัดสินใจ และการพยายาม กำลังมาถึงอีกครั้งแล้ว

“ถ้าจบ ปวช. แล้ว ผมคิดว่าจะเรียนต่อ ปวส. ในสาขาเดิม ตั้งใจว่าจะเรียนที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เพราะอาจารย์แนะนำว่าที่นั่นมีหลักสูตรช่างกลโรงงานตั้งแต่ขั้นพื้นฐานจนถึงขั้นสูงที่มีมาตรฐานดีมาก ๆ ที่กังวลก็คือทุกการเลื่อนระดับชั้น ผมรู้ว่าต้องแลกกับค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น อย่างเรียน ปวส. ก็ต้องใช้เงินมากกว่าตอน ปวช. ซึ่งไม่รู้ว่าผมจะไหวแค่ไหน แต่ยังไงก็ต้องลองครับ ไม่ท้อแน่นอน ยิ่งการได้พบพี่ ๆ ทุนก้าวเพื่อน้องในวันนี้ ก็ทำให้พอมีหวังว่าจะเจอทางไปต่อได้ แต่ถึงไม่มีทุน ผมก็คิดว่าจะหางานพิเศษทำแล้วเรียนไปด้วย”

ขณะที่นัยน์ตายังลุกโชนด้วยความมุ่งมั่น เราขอให้น็อตลองย้อนมองกลับไปที่ตัวเองในวันวานที่เพิ่งจบชั้น ม.3 แล้วให้น็อตในวันนี้ฝากอะไรถึงน็อตในวันนั้น

เขาหลับตาครู่หนึ่ง พยายามนึกภาพวันคืนที่เคยต่อสู้กับความไม่แน่นอนเมื่อเกือบ 3 ปีก่อน

น็อตลืมตาขึ้น และบอกว่า…

“ขอแค่อย่าล้มเลิกความตั้งใจ ถึงจะมีช่วงเวลาที่ดูเหมือนว่าอะไรก็ยากไปหมด ก็ขอให้พยายามเดินต่อไป

“อย่าทิ้งความฝัน และอย่าทำตัวเป็นภาระของปู่กับย่ามากเกินไปล่ะ”

“จะทำให้ดีที่สุดในทุก ๆ เรื่อง แล้วรอดูสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไป”

ปิดท้ายกับเรื่องราวของ ‘นิล’ นิรชา สุริยะอาชา นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนยโสธรพิทยาคม ที่อาจเป็นกำลังใจให้กับเพื่อน ๆ หรือน้อง ๆ ที่ยังไม่แน่ใจตัวเองว่าสิ่งที่ทำอยู่นั้น ‘ใช่’ หรือ ‘ไม่’ สำหรับตัวเรา

นิลบอกว่า ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นเมื่อเข้ามหาวิทยาลัยอาจเป็นอุปสรรคหนึ่ง แต่คิดว่าหากถึงคราวฉุกเฉินจริง ๆ ก็ยังกู้ยืมจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ได้ หากเรื่องที่กังวลมากกว่า คือเส้นทางต่อจากนี้ เธอควรจะ ‘เป็น’ หรือควรจะ ‘ไป’ ที่ไหน อย่างไร เพราะถึงวันนี้ที่ใกล้จบชั้น ม.6 แล้ว ก็ยังไม่แน่ใจเลยกับทางที่เดินผ่านมา

‘นิล’ นิรชา สุริยะอาชา นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนยโสธรพิทยาคม

ตั้งแต่ประถมจนจบชั้นมัธยมต้น นิลมีผลการเรียนดีมาตลอด พอเข้ามัธยมปลายจึงเลือกเรียนต่อสายวิทย์-คณิต เพราะคิดว่าจะมีทางเลือกที่เปิดกว้างมากกว่าในการสอบเข้ามหาวิทยาลัย แต่เมื่อเรียน ม.4 เข้าเทอมที่ 2 กลับมีคำถามผุดขึ้นว่า ทางที่เธอเลือกเดินนั้นถูกหรือไม่ เพราะนิลรู้สึกไม่มีความสุขกับการเรียนเลย ผลการเรียนจึงตกลง จนนิลเริ่มสงสัยว่า บางทีแผนกวิทย์-คณิต อาจไม่ใช่สิ่งที่ชอบจริง ๆ

อย่างไรก็ตาม นิลยังคงเคี่ยวเข็ญตัวเอง โหมเรียนให้หนักยิ่งขึ้น เพื่อจะทำเกรดให้ดี แต่ผลที่สะท้อนกลับมากลายเป็นว่า ยิ่งกดดันตัวเองเท่าไร ความมั่นใจและกำลังใจที่เคยมีก็ยิ่งถดถอยลง

“ก่อนขึ้น ม.6 หนูมาเรียนพร้อมกับคำถามในใจทุกวัน ว่าจบแล้วจะเรียนต่อเลยดีไหม หรือควรพักไปทำงาน ไปค้นหาสิ่งที่อยากทำจริง ๆ ให้เจอก่อน เพราะถ้าตัดสินใจเรียนในสิ่งที่รู้อยู่แล้วว่าไม่ใช่ ก็จะยิ่งไม่มีความสุข

“แต่เหมือนเราเจอจุดเปลี่ยนเล็ก ๆ จากข้างในว่า ในเมื่อเราพยายามแล้วไม่ได้ผล ทำไมไม่ลองผ่อนคลายตัวเองลง แล้วเริ่มสำรวจตัวเองว่าอยากทำอะไร โดยโฟกัสไปที่เป้าหมาย พร้อมทบทวนถึงโอกาสที่ได้รับมาว่าเราเคยทำทุกอย่างได้ดี จนทุนก้าวเพื่อน้องเชื่อมั่นในตัวเรา เมื่อคิดถึงตรงนั้นก็ได้ทางออกกับตัวเอง ว่าหนูยังพอมีเวลาอยู่ ไม่ว่าจะเรื่องการเรียน หรือการวางเป้าหมายอนาคต ซึ่งตอนนี้ก็ตั้งใจว่าจะทำให้ดีที่สุดในทุก ๆ เรื่องก่อน แล้วรอดูสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปค่ะ”

นิลบอกว่าการได้มาพบพี่ ๆ และเพื่อน ๆ ทุนก้าวเพื่อน้อง พร้อมหน้าพร้อมตาครั้งนี้ ทำให้ปลดปล่อยความกังวลในใจไปได้มาก สิ่งที่ดีที่สุดคือ “ในเวลาแค่ 3 วัน เราได้ปลดความกดดันที่แบกไว้เกือบ 3 ปีออกไป จากกิจกรรมต่าง ๆ ที่มีทั้งข้อมูลและคำแนะนำเรื่องการเรียน เรื่องการปรับ เตรียมสภาพจิตใจ แล้วยังได้ยิ้ม ได้สนุกกับเพื่อน ๆ และน้อง ๆ เหมือนเรากลายเป็นอีกคนหนึ่งที่ต่างไป ไม่ใช่คนเดียวกับตอนอยู่ที่โรงเรียนเลย

“หนูคิดว่าอยากให้มีทุนก้าวเพื่อน้องต่อไปเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะอีกกี่ปีจากนี้ เพื่อเป็นที่พึ่ง เป็นมือช่วยประคอง และเป็นแสงสว่างให้น้อง ๆ รุ่นถัดไป เหมือนที่ตัวหนูเคยได้รับค่ะ”

เช่นเดียวกับจิและน็อต ก่อนจากกันไป ‘พี่นิล’ ชั้น ม.6 มีอะไรอยากฝากไปถึง ‘น้องนิล’ เมื่อครั้งอยู่ชั้น ม.3 เพื่อเป็นการทบทวนกับตัวเองอีกครั้ง 

นิลบอกว่า “ขอให้เธอเลือกในสิ่งที่ตัวเองชอบที่สุด อย่าให้ความคิดของคนอื่นมาชี้นำการตัดสินใจ

“ต่อจากนี้ ทุกทางแยกที่ต้องเจอ แม้ยังมองไม่เห็นทางไปต่อ ก็ขอให้เธอทำใจให้สงบ พูดคุยกับตัวเองและมองไปรอบ ๆ เชื่อสิว่าเธอจะค่อย ๆ มองเห็นเส้นทางและผู้คนมากมายที่พร้อมจะสนับสนุนให้เธอก้าวต่อไป

“สำหรับฉันตอนนี้ จะตั้งใจสอบเข้ามหาวิทยาลัยให้ได้ ฉันสัญญาว่าจะมุ่งไปในสิ่งที่ชอบ ด้วยความเข้าใจ และด้วยความเคารพตัวเองให้มากที่สุด”