‘ทุน’ พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ในพื้นที่ EEC

‘ทุน’ พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ในพื้นที่ EEC

“ในฐานะที่วิทยาลัยมีหน้าที่ผลิตบุคลากรป้อนเข้าสู่สายงานอุตสาหกรรม ที่ทำให้ประเทศไทยมีศักยภาพแข่งขันในระดับนานาชาติ สองปีที่ผ่านมาเราได้เห็นว่าทุนเข้ามาช่วยเติมความพร้อมรอบด้านให้นักศึกษา ไม่ได้เพียงช่วยให้เด็กเรียนจบ หรือมีงานทำเท่านั้น 

“แต่ผลที่งอกเงยไปไกลจากเป้าหมายตั้งต้น คือการสร้างแรงบันดาลใจให้นักศึกษาพัฒนาตัวเอง  เพราะเขาตระหนักว่าการได้รับทุนหมายถึงมีคนมองเห็นคุณค่าในตัวเขา ตรงนี้เองที่จะเป็นจุดเปลี่ยนให้ประเทศของเราได้มีบุคลากรคุณภาพสูงในตลาดแรงงานเพิ่มขึ้นทุกปี และจะช่วยในด้านการเปลี่ยนแปลงระบบการผลิตทรัพยากรบุคคลของสถาบันอาชีวศึกษาทั่วประเทศในอนาคต”

อาจารย์นิรมล วิริยวุฒิวงศ์
หัวหน้างานแนะแนวอาชีพและการจัดหางาน แผนกวิชาปิโตรเคมี
ผู้รับผิดชอบโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง วิทยาลัยเทคนิคระยอง

วิทยาลัยเทคนิคระยอง หนึ่งในสถาบันอาชีวศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ ‘ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง’ ร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เปิดรับนักศึกษาทุน 5 สาขาวิชา ได้แก่ เทคนิคการผลิต การบัญชี การจัดการโลจิสติกส์และซัพพลายเชน อาหารและโภชนาการ และเทคโนโลยีธุรกิจดิจิทัล ในหลักสูตร ปวส. 2 ปี นับเป็นนักศึกษาทุนรุ่น 2 ของ กสศ. 

อาจารย์ผู้รับผิดชอบโครงการกล่าวว่า นักศึกษาทุนกลุ่มนี้เป็นรุ่นพิเศษ ที่เป็นความร่วมมือของ กสศ. กับ 5 วิทยาลัยในพื้นที่ ‘โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศผ่านการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม’

“วิทยาลัยเทคนิคระยองเป็นสถานศึกษาขนาดใหญ่ รวบรวมเด็กในพื้นที่จำนวนมาก ที่มองว่าการเรียนสายอาชีพจะช่วยตอบโจทย์การศึกษาต่อ และรองรับการมีงานที่สอดรับกับภาคอุตสาหกรรมในภูมิภาค ดังนั้นนักศึกษาส่วนหนึ่งจึงมาจากกลุ่มที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ หลายคนต้องทำงานไปพร้อมกับเรียนหนังสือ หรือบางคนก็เข้ามาเรียนแล้วนำวิชาความรู้ไปหารายได้เสริมเลี้ยงดูตัวเอง  ที่ผ่านมาวิทยาลัยจึงพยายามช่วยจัดหาทุนส่งเสริมการศึกษา ทั้งจากสถานประกอบการ ชุมชน ศิษย์เก่า สมาคมต่างๆ กระทั่งทุนที่รวบรวมขึ้นจากครูอาจารย์ในวิทยาลัย แต่ก็พูดได้ว่าทุนที่มีนั้นยังไม่เพียงพอ และมักจะเป็นทุนที่ให้ครั้งเดียวจบ ไม่ได้ต่อเนื่องไปจนเด็กจบการศึกษา” 

ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงเป็นทุนที่สร้างความแตกต่าง เพราะนักศึกษาจะได้ทั้งค่าเทอม ค่าใช้จ่ายรายเดือน ค่าสนับสนุนการทำโครงงาน รวมถึงส่วนที่เข้ามาสนับสนุนวิทยาลัยในการจัดกิจกรรมเสริม เท่ากับว่าทุนไม่ได้พัฒนาแค่ตัวเด็ก แต่ยังช่วยให้สถาบันยกระดับหลักสูตร การดูแล การอบรมทักษะที่จำเป็นสำหรับนักศึกษาได้อีกด้วย

“เราต่อยอดทุนด้วยการจัดโครงการฝึกอบรมเสริมทักษะเพื่อการสอบพัฒนาฝีมือแรงงาน อบรมทักษะคอมพิวเตอร์ มีใบประกาศรองรับ ขณะที่เงินค่าใช้จ่ายต่อเดือน เด็กสามารถนำไปแบ่งเบาภาระครอบครัวเล็กๆ น้อยๆ จ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอาหาร  ทำให้คุณภาพชีวิตเขาดีขึ้น พร้อมที่จะเรียนอย่างเต็มที่”

ผลักดันหลักสูตร ‘ทวิภาคี’
“ไม่ใช่แค่ทำงานได้ แต่ต้องเป็นทรัพยากรบุคคลที่ทรงคุณค่า”

หลังร่วมโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง วิทยาลัยเทคนิคระยองได้ทำ MOU เพิ่มเติมกับสถานประกอบการหลายแห่งในพื้นที่ ขยายหลักสูตร ‘ทวิภาคี’ ให้นักศึกษาได้เรียนรู้เก็บเกี่ยวประสบการณ์จากหน้างานจริง  โดยในมุมมองของอาจารย์ผู้ดูแลนักศึกษาในพื้นที่ EEC แล้ว การส่งเสริมโอกาสให้เด็กมีทักษะการทำงานที่แข็งแรง ย่อมหมายถึงความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นกับตลาดแรงงานในอนาคต     

“ในฐานะที่วิทยาลัยมีหน้าที่ผลิตบุคลากรป้อนเข้าสู่สายงานอุตสาหกรรม ที่ทำให้ประเทศไทยมีศักยภาพแข่งขันในระดับนานาชาติ สองปีที่ผ่านมาเราได้เห็นว่าทุนที่เข้ามาช่วยเติมความพร้อมรอบด้านให้นักศึกษา ไม่ได้เพียงช่วยให้เด็กเรียนจบหรือมีงานทำเท่านั้น แต่ผลที่งอกเงยไปไกลจากเป้าหมายตั้งต้น คือการสร้างแรงบันดาลใจให้นักศึกษาพัฒนาตัวเอง เพราะเขาตระหนักว่าการได้รับทุนหมายถึงมีคนมองเห็นคุณค่าภายในตัวเขา  ตรงนี้เองที่จะเป็นจุดเปลี่ยนให้ประเทศของเรา มีบุคลากรคุณภาพสูงในตลาดแรงงานเพิ่มขึ้นทุกปี และจะช่วยเปลี่ยนแปลงระบบการผลิตทรัพยากรบุคคลของสถาบันอาชีวศึกษาทั่วประเทศในอนาคต”

คัดนักศึกษาทุนจากกลุ่ม ปวช. ประคองคนมีศักยภาพให้ได้ ‘ไปต่อ’

“อย่างที่บอกว่าวิทยาลัยเรามีขนาดใหญ่ และเป็นจุดหมายปลายทางของเด็กในพื้นที่ที่สนใจสายอาชีพ เราจึงมีเกณฑ์การคัดกรองเด็กทุนส่วนหนึ่งจากนักศึกษา ปวช. ที่ใกล้ชิดกันมาเป็นเวลาสามปี  ดังนั้นเรารู้พฤติกรรม  ภูมิหลัง สถานะครอบครัว ตลอดจนความสามารถที่เขามี หลายคนเห็นแล้วว่าถ้าไม่มีทุนนี้เข้าไปช่วย  เขาคงไม่ได้เรียนต่อแน่ๆ ทั้งที่หากมีโอกาสพัฒนาจะไปได้ไกลมาก” 

ทุกวันนี้นักศึกษาทุนรุ่นพิเศษ EEC ที่วิทยาลัยเทคนิคระยอง กำลังจะเดินทางเข้าสู่เทอมสุดท้ายก่อนจบการศึกษา เกือบสองปีผ่านมา พวกเขาได้ร่วมกิจกรรมต่างๆ ได้เรียนรู้ทักษะชีวิต ทักษะสังคม  สร้างความภาคภูมิใจในตนเอง  ซึ่งอาจารย์นิรมลย้ำว่าสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้านักศึกษายังต้องกังวลเรื่องค่าเทอม หรือค่าใช้จ่ายวันต่อวัน

“สิ่งสำคัญที่สุดคือเด็กกลุ่มนี้มีชีวิตชีวามากขึ้น  เรียนได้อย่างมีสมาธิ พัฒนาตัวเองได้เต็มประสิทธิภาพ จากเมื่อก่อนที่เขาต้องทำงานด้วยเรียนไปด้วย บางคนทำงานวันละสองที่ จนต้องมานอนหลับในห้องเรียน 

“ถ้าจะให้สรุปผลการดูแลนักศึกษาทุนกลุ่มนี้  เราไม่ได้แค่ให้โอกาสในการเรียนหรือโอกาสที่จะมีงานทำเท่านั้น แต่เรายังได้ช่วยให้เขามีประสบการณ์ชีวิตที่ตรงกับวัยของเขา ได้เล่น ได้สนุก ได้ใช้เวลาเข้าสังคมเหมือนวัยรุ่นคนอื่นๆ ทั่วไปอีกด้วย สิ่งนี้เองที่เราคิดว่าเด็กๆ ควรได้รับ เพื่อประทับไว้ในความทรงจำ  จนวันที่เขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ต่อไป”