กสศ.เปิดเวทีแลกเปลี่ยนความรู้กับจุฬาฯ และ Childhope Philippines เพื่อเข้าถึงและดูแลกลุ่ม “เด็กข้างถนน” ของสังคม

กสศ.เปิดเวทีแลกเปลี่ยนความรู้กับจุฬาฯ และ Childhope Philippines เพื่อเข้าถึงและดูแลกลุ่ม “เด็กข้างถนน” ของสังคม

หนึ่งในกลุ่มเด็กด้อยโอกาสและตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะกลายเป็นเด็กนอกระบบของสังคมก็คือกลุ่มเด็กข้างถนน ที่ซึ่งกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติให้นิยามไว้โดยกว้างๆ ไว้ว่า เด็กข้างถนน ก็คือเด็กที่มีเหตุบางอย่างให้ต้องออกมาใช้ชีวิตเร่ร่อนตามท้องถนนของเมืองใหญ่ทั่วโลก โดยหากรัฐบาลและสังคมเมินเฉยไม่ใส่ใจก็จะเป็นการสูญเสียทรัพยากรบุคคลที่มีค่าและจะมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาประเทศในองค์รวมต่อไปได้

ในฐานะหน่วยงานที่ริเริ่มด้วยเป้าหมายการทำงานเพื่อเด็กยากจนและเด็กด้อยโอกาสในสังคม กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จึงได้เปิดเวทีเสวนาภายใต้หัวข้อ “การจัดการศึกษาและคุ้มครองเด็กบนท้องถนนอย่างเป็นองค์รวมและบูรณาการ” (Addressing the needs of street children through holistic and integrated strategies) ขึ้นเมื่อวันที่ 7 เมษายนที่ผ่านมา โดยมีนายแพทย์เฮอร์เบิร์ต ควีลอน คาร์พิโอ (นพ.ฮาร์วีย์) ผู้อำนวยการบริหารของ Childhope Philippines Foundation, Inc. และ รศ.ดร.วีระเทพ ปทุมเจริญวัฒนา หัวหน้าภาควิชาการศึกษาตลอดชีวิต คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาร่วมแลกเปลี่ยนแนวทางการทำงานเพื่อเด็กข้างถนนของฟิลิปปินส์กับไทย ให้หน่วยงานที่สนใจและภาคีเครือข่ายได้ใช้เป็นแนวทางในการเข้าถึงและให้ความช่วยเหลือเด็กเร่ร่อนข้างถนนในสังคมต่อไป

สำหรับหัวใจสำคัญของการให้ความช่วยเหลือที่ทั้ง นายแพทย์เฮอร์เบิร์ต และ ดร.วีระเทพ เห็นพ้องตรงกันก็คือการให้ความช่วยเหลือที่เป็นองค์รวมและเป็นบูรณาการ (Holistic and Integrated Strategy) กล่าวคือ ต้องให้ความช่วยเหลืออย่างรอบด้าน ทั้งด้านการศึกษา จิตใจ สังคมแวดล้อม และการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆ ในฐานะพลเมืองของประเทศที่ควรได้รับ

ทั้งนี้ นายแพทย์ เฮอร์เบิร์ต ได้กล่าวถึงภาพรวมของสถานการณ์เด็กข้างถนนในฟิลิปปินส์ และเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักที่ Childhope ให้ความสำคัญ ว่าเด็กข้างถนนของฟิลิปปินส์จะมี 3 กลุ่มหลัก กลุ่มใหญ่สุด 70% ก็คือเด็กข้างถนน คือเป็นเด็กมีบ้าน แต่ออกมาเร่ร่อนทำงานตอนกลางวัน และมีโอกาสได้เรียนหนังสือที่โรงเรียน ส่วนกลุ่มที่สอง 25% คือ เด็กของถนน คือครอบครัวอาศัยอยู่ข้างถนน พักตามอาคารร้าง ไปโรงเรียนบ้างแต่มีโอกาสเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษาสูงก่อนถึงอายุ 7 ปี และกลุ่มสุดท้าย มีอยู่ 5% เป็นเด็กที่ถูกทอดทิ้งอย่างแท้จริง ซึ่งกลุ่มหลังสุดนี้คือกลุ่มเสี่ยงสุดที่จะถูกใช้ทำงานผิดกฎหมายหรือเอารัดเอาเปรียบเพราะขาดการปกป้องเอาใจใส่ดูแลจากพ่อแม่หรือแม้แต่ชุมชนสังคม

ส่วนเหตุผลที่ว่าทำไมถึงมีเด็กออกมาเร่ร่อนตามข้างถนน ส่วนใหญ่คือในเขตเมืองของกรุงมะนิลา สาเหตุหลักมี 3 ประการด้วยกันคือ 1) ความยากจน 2) ครอบครัวแตกแยก และ 3) อยากเป็นอิสระ ไม่อยากถูกกดขี่บังคับหรือถูกทำร้าย ซึ่งเมื่อออกมาอยู่ข้างถนนแล้ว เด็กเหล่านี้จะร่วมกันเป็นกลุ่ม กระจายกันออกไป และอาศัยการขอทานเป็นการหาเลี้ยงชีพ

ในมุมมองของ Childhope เด็กเร่ร่อนกลุ่มนี้เป็นเด็กที่มีความสามารถและศักยภาพไม่ต่างจากเด็กทั่วไปในสังคมหากได้รับโอกาสในการเอาใจใส่ เป็นที่ยอมรับ และได้รับการอบรมการศึกษาอย่างเหมาะสมตามสมควร โดยกว่า 30 ปีที่ Childhope ทำงานเพื่อช่วยเหลือเด็กข้างถนนเหล่านี้พบว่าเกือบทั้งหมดสามารถเรียนจบการศึกษา มีงานที่ดีทำ สามารถเลี้ยงดูตนเองและครอบครัวและเป็นพลเมืองที่ดีมีคุณภาพของประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม ในการให้ความช่วยเหลือเด็กข้างถนน Childhope จะยึดหลักการทำงานเพื่อสนับสนุนเด็กๆ ใน 4 ด้านด้วยกันคือ 1) การศึกษา Education 2) สุขภาพ Health 3) การดูแลทางด้านจิตสังคม Psychosocial Interventions และ 4) การพัฒนาทักษะ Skills Development

แน่นอนว่า สิ่งสำคัญแรกสุดในการให้ความช่วยเหลือเด็กข้างถนนเหล่านี้ก็คือการให้การศึกษา โดยนอกจากจะเป็นการเรียนรู้ความรู้ขั้นพื้นฐานให้คิดคำนวณและอ่านออกเขียนได้แล้ว ยังเป็นการให้ความรู้ในเรื่องของสิทธิ การดูแลตนเอง รวมถึงทักษะในการหาเลี้ยงดูตนเองและครอบครัว

ขณะเดียวกัน ก็จัดบริการด้านสุขภาพ และให้คำปรึกษา เพื่อระบุความช่วยเหลือที่เด็กต้องการ ในส่วนของกิจกรรมพัฒนาทักษะ ก็คือกิจกรรมอย่างดนตรี กีฬา และศิลปะ เพื่อให้เด็กมีพื้นที่ที่จะได้มีความสุขกับการใช้ชีวิตในสังคม เป็นการเสริมสร้างภูมิที่แข็งแกร่ง ทั้งพฤติกรรมการทำงานกลุ่ม การอยู่ร่วมกับสังคม การมองโลกในแง่บวก และการเพิ่มความภาคภูมิใจในตนเอง ผ่านกิจกรรมเหล่านี้

นอกจากนี้ ทาง Childhope ยังมุ่งไปที่ต้นตอของหนึ่งในปัญหาที่ทำให้มีเด็กข้างถนน ด้วยการให้บริการคำปรึกษากับพ่อแม่ผู้ปกครอง ให้ความช่วยเหลือครอบครัวของเด็กให้มีอาชีพการทำงานที่เหมาะสมต่อไปได้ เป็นการตัดวงจรของเด็กข้างถนน โดยการให้คำปรึกษานี้รวมถึงการให้ความรู้ในเรื่องของการคุมกำเนิด สุขอนามัยและโภชนาการต่างๆ

แม้จะมีงานหลายอย่างให้ต้องดำเนินการ แต่ นายแพทย์เฮอร์เบิร์ตกล่าวว่า งานหลักก็คือการให้ความรู้ทางเลือก (Alternative Education) แก่เด็กข้างถนนเหล่านี้เป็นหลัก โดยแต่ละภาคการศึกษาจะมี ครู (Street Educator) เข้าไปรวบรวบเด็กให้ได้กลุ่มละ 20-25 คน มาประเมิน แล้วครูจะเป็นผู้ออกแบบวางแผนการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับตัวเด็กและบริบทแวดล้อมของเด็กเป็นหลัก และมีการใช้ Kalyeskwela (mobile education van – รถตู้เพื่อการศึกษาเคลื่อนที่) และ Mobile School Cart  ตลอดจน อุปกรณ์ด้านโสตและวีดีทัศน์ (audiovisual) และเครื่องมือเข้าช่วย

ยิ่งไปกว่านั้น สิ่งที่ Childhope ให้ความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ก็คือการสร้างเครือข่ายภาคีและการทำงานร่วมกับภาครัฐฯ ทำให้เด็กข้างถนนเหล่านี้เข้าไปในระบบอย่างถูกต้อง โดยที่ Childhope รับบทผู้สนับสนุน เช่น ให้ทุนการที่ครอบคลุมค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าอุปกรณ์ และค่าชุดยูนิฟอร์ม นอกเหนือจากค่าเล่าเรียนที่รัฐเป็นผู้ออกในกรณีที่เด็กเหล่านี้ได้เรียนหนังสือที่โรงเรียนรัฐ ซึ่งจะช่วยป้องกันความเสี่ยงไม่ให้เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา

นายแพทย์เฮอร์เบิร์ต ยังได้ใช้โอกาสนี้แบ่งปันประสบการณ์การทำงานในช่วงวิกฤตการระบาดของไวรัสโควิด-19 ตลอด 1 ปีที่ผ่านมาว่า ถือเป็นความท้าทาย เพราะหลายกิจกรรมต้องหยุดชะงักไป แต่ก็เป็นโอกาสที่จะใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการประยุกต์กิจกรรมที่อยู่ในการให้ความช่วยเหลือเด็กข้างถนน ทั้งการแจกจ่ายปัจจัย 4, การจัดหารอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ การให้คำปรึกษาออนไลน์ ไปจนถึงการเรียนออนไลน์

ขณะที่ในส่วนของประเทศไทย รศ.ดร.วีระเทพ ปทุมเจริญวัฒนา หัวหน้าภาควิชาการศึกษาตลอดชีวิต คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า มีหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา และภาคประชาสังคมที่ทำงานเพื่อพัฒนาครูและแก้ปัญหาเด็กนอกระบบการศึกษา ซึ่งรวมถึง เด็กข้างถนนในไทยมาอย่างต่อเนื่องหลายสิบปี

โดยเด็กข้างถนนถือเป็นกลุ่มเปราะบางและส่วนใหญ่ถูกบีบให้ออกมาอยู่ตามท้องถนนเพราะความยากจนบังคับ หรือต้องเผชิญกับความรุนแรงในครอบครัว ส่งผลให้เด็กเหล่านี้เข้าไม่ถึงการศึกษา สวัสดิการพื้นฐาน และอัตลักษณ์ทางกฎหมาย จนตกเป็นเหยื่อถูกล่อลวงจากบรรดามิจฉาชีพในสังคม โดยมีการประมาณการณ์ว่า ขณะนี้ ไทยมีเด็กเร่ร่อนข้างถนนทั่วประเทศอยู่ราว 30,000 คน เฉพาะในกรุงเทพฯ มีอยู่ราว 5,000 คน

ทั้งนี้ จากการศึกษาโครงการพัฒนาองค์ความรู้เพื่อการดูแลการศึกษาและพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กข้างถนน ดร.วีระเทพกล่าวว่า สามารถแบ่งแนวทางการให้ความความช่วยเหลือเด็กออกเป็น 4 รูปแบบด้วยกันคือ 1) แนวทางเชิงป้องกัน (Preventive) 2) แนวทางเชิงรุก (Outreach) 3) แนวทางเชิงฟื้นฟู (Rehabilitation) และ 4) แนวทางเชิงลงโทษ (Correction)

สำหรับประเทศไทยที่มีการดำเนินการอยู่ในขณะนี้จะเน้นไปที่ 3 แนวทางหลัก โดยละเว้นแนวทางลงโทษไว้ เพราะแม้จะมีข้อดีที่ให้ความคุ้มครองเด็กได้ทันที และนำเด็กออกจากถนนได้เร็ว แต่ก็มีข้อเสียตรงที่เมื่อไม่มีมาตรการรองรับ เด็กเหล่านี้ก็จะกลับไปที่ท้องถนนเหมือนเดิม เพิ่มเติมก็คือมีประวัติที่ไม่น่าพิสมัยติดตัว เป็นการทำร้ายทำลายเด็กในทางอ้อม

ดร.วีระเทพ กล่าวว่า ทั้งการป้องกัน การรุก และการฟื้นฟู ล้วนเป็นแนวทางที่มีทั้งข้อดีและข้อเสียทั้งสิ้น อย่างการป้องกัน ข้อดีคือ เป็นการพยายามแก้ไขต้นตอของปัญหาก่อนที่เด็กจะก้าวเข้าสู่ท้องถนน หรือออกนอกระบบการศึกษา แต่ข้อเสียก็คือเป็นการตีตราบทบาทของครอบครัว ที่ต้องเข้าใจว่า ไม่ใช่ทุกครอบครัวที่จะมีความพร้อมในการดูแลเด็กในปกครองของตนได้อย่างดี

ขณะที่การรุก ข้อดีคือช่วยให้เด็กตระหนักถึงสิทธิของตนในการเลือกที่จะใช้ชีวิตบนท้องถนน ให้ความรู้ในแบบที่เหมาะสมกับการใช้ชีวิตของเด็ก แต่ข้อเสียก็คือเป็นวิธีที่อุดมคติ ไม่มีแนวทางปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมชัดเจน และเสี่ยงทำให้เด็กกลายเป็นเด็กข้างถนนจนถึงคนข้างถนนอย่างเต็มตัว

ส่วนแนวทางเชิงฟื้นฟูนี้ ข้อดีคือ ให้สิ่งอำนวยความสะดวก ทำให้เด็กแต่ละคนมีทักษะในการดำรงชีวิตอย่างเหมาะสมกับตัวเด็กเอง แต่ข้อเสียก็คือ มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง จึงให้ความช่วยเหลือจำนวนมากไม่ได้ และการให้ที่พักให้เด็กเข้ามาฟื้นฟู เด็กบางรายอาจประสบปัญหาในการปรับตัว และทำให้เด็กกลับไปอยู่ตามท้องถนนเหมือนเดิม

ทั้งนี้ การให้ความช่วยเหลือเด็กบนท้องถนนในไทย ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างภาครัฐ กับภาคีประชาสังคม และสถานศึกษาในพื้นที่ โดยภาครัฐมีทรัพยากรและบทบาทสนับสนุนในการประสานส่งต่อเด็กสู่การเยียวยาและเข้าถึงระบบการศึกษา รวมถึงสนับสนุนงบประมาณการดำเนินการ ขณะที่ภาคประชาสังคมถือเป็นตัวขับเคลื่อนหลักเพราะมีความใกล้ชิดพื้นที่ มีประสบการณ์การทำงานในเชิงรุก ประสานงานร่วมมือกับชุมชนเพื่อติดตามผลได้

นอกจากนี้ หากเป็นไปได้ ก็น่าจะมีการสนับสนุนให้มีการทำ Case management เพื่อให้ความช่วยเหลือที่เหมาะสมกับเด็กเป็นกรณีๆ ไป

ดร.วีระเทพยังทิ้งท้ายด้วยการเน้นย้ำถึงบทบาทของกองทุนเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ที่มีความยืนหยุ่นในการให้ทุนสนับสนุนการศึกษาและการเรียนรู้ของเด็กผ่านภาครัฐ และภาคประชาสังคม มีการสนับสนุนการทำงานประสานงานกับเครือข่ายในพื้นที่ โดยนำร่องทำงานกับเด็กนอกระบบใน 20 จังหวัดทั่วไทยแล้ว และ กสศ.ยังมีบทบาทสำคัญในการจัดทำฐานข้อมูลเพื่อสร้างระบบป้องกันไม่ให้เด็กหลุดออกจากระบบการศึกต่อไป

การเสวนาครั้งนี้ได้รับความสนใจจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะมูลนิธิภาคีเครือข่ายที่ทำงานเพื่อให้ความช่วยเหลือเด็กข้างถนนไทย ซึ่งในกรณีของไทยอาจจะแตกต่างจากฟิลิปปินส์ตรงที่ ในขณะที่เด็กเร่ร่อนของไทยมีเด็กอพยพจากเพื่อนบ้านเข้ามา ฟิลิปปินส์ส่วนใหญ่จะเป็นเด็กจากชนบทอพยพเข้าเมืองใหญ่มากกว่า กระนั้น วิธีการทำงานและความท้าทายในการให้ความช่วยเหลือยังคล้ายคลึงกัน นั่นคือ ต้องช่วยเหลือเด็กให้ได้รับการศึกษา ขณะเดียวกันก็ได้รับการดูแลเอาใจใส่ ทั้งร่างกาย จิตใจ ไปจนถึงครอบครัวของตัวเด็กเอง

ด้าน นางสาวธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมและทุนการศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้กล่าวถึงความสำคัญของการจัดเวทีเสวนาในครั้งนี้ว่า เป็นการรวบรวมองค์ความรู้ แนวทางปฎิบัติและตัวอย่างกรณีศึกษาทั้งในและต่างประเทศ นำมาแลกเปลี่ยน สอบถามเพื่อจะเป็นประโยชน์ในการนำมาประยุกต์ทำงานเพื่อช่วยเหลือเด็กเร่ร่อนข้างถนนของไทยต่อไป เพราะเด็กเร่ร่อนข้างถนนเหล่านี้ เป็นอีกกลุ่มเด็กเปราะบางพิเศษที่ ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญในการเข้ามาดูแลจัดการเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด