เรื่องเล่าครูแนะแนว ‘สร้างพื้นที่แห่งโอกาสสำหรับลูกศิษย์ทุกคน’ ป้องกันเด็กไม่ให้หลุดจากระบบการศึกษา

เรื่องเล่าครูแนะแนว ‘สร้างพื้นที่แห่งโอกาสสำหรับลูกศิษย์ทุกคน’ ป้องกันเด็กไม่ให้หลุดจากระบบการศึกษา

“ปัญหาของเด็กมักมีจุดกำเนิดจาก ‘ความไม่รู้’ ดังนั้นถ้าจะป้องกันเราต้องให้ความรู้เขา สอนเขาว่าในขั้นตอนของการเติบโตต้องเจอกับอะไรบ้าง นี่คือการให้โอกาสเขาเรียนรู้ และต้องมีพื้นที่ปลอดภัยไว้รองรับพวกเขา

“เมื่อไหร่ก็ตามที่เด็กถูกผลักออกจากโรงเรียน ย่อมหมายถึงประตูแห่งความเสี่ยงทุกบานพร้อมเปิดต้อนรับเขาแล้ว”

จุฑาทิพย์ ยงพาณิชย์ ครูโรงเรียนพุทธชินราชพิทยา หนึ่งในเครือข่ายคณะทำงานโครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา จังหวัดพิษณุโลก ผู้แนะนำตนเองว่า เป็นคนที่มุ่งทำงานป้องกันและแก้ไขปัญหาเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษา ผ่านการทำงานในระบบในฐานะครูแนะแนวมายาวนานเกือบสองทศวรรษ กล่าวถึงผลของการที่เด็กคนหนึ่งต้องหลุดออกจากโรงเรียน และแพสชั่นการทำงานที่ ‘พร้อมทำทุกวิถีทางให้เด็กจบการศึกษามีทักษะชีวิตที่แข็งแรงพอสำหรับการต่อยอดชีวิต หรือเอาตัวรอดในสังคมต่อไป’

จุฑาทิพย์ ยงพาณิชย์ ครูโรงเรียนพุทธชินราชพิทยา

ครูจุฑาทิพย์ หรือที่เด็กๆ เรียกกันว่า ‘แม่เป้า’ เล่าว่า งานแนะแนวได้หล่อหลอมให้ตนมีทักษะที่มากกว่าการสอนหรือให้คำปรึกษา แต่ยังมีสายตาของคนเป็นครูที่มองเห็นลึกซึ้งไปถึงเค้าลางของปัญหา ซึ่งอาจมาในรูปของความโศกเศร้า เก็บตัว พูดน้อย หรืออาจแสดงออกในทางตรงข้าม คือก้าวร้าวเกเร

“เราได้ใกล้ชิดเด็กในโรงเรียนทุกวัน เห็นความเปลี่ยนผ่านของแต่ละคนตั้งแต่ชั้น ม.1 ซึ่งยิ่งตอกย้ำความเชื่อในใจเราว่า ไม่มีใครหรอกที่อยากทำผิดพลาด ย้อนไป ณ จุดเริ่มต้นทุกคนล้วนอยากเป็นคนดี อยากประสบความสำเร็จ อยากเป็นที่ยอมรับ แต่บนเส้นทางที่เขาเดิน เรื่องราวที่ต้องเจอในแต่ละขั้นตอนของชีวิต มันมีเหตุปัจจัยนับไม่ถ้วนที่ผลักดันให้เขา ‘เป็น’ หรือ ‘ทำ’ สิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งในวัยนั้น การไม่มีคนให้ปรึกษารับฟัง หรือไม่มีพื้นที่ปลอดภัยให้พึ่งพิง ก็มักจะนำพาไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาด

“ก่อนจะลงโทษเขา ทำไมเราไม่ฟังเขาก่อน ยิ่งในฐานะสถานศึกษาที่มีหน้าที่ฟูมฟักขัดเกลาเมล็ดพันธุ์ซึ่งยังไม่พร้อมเติบโต ก่อนจะออกไปหยั่งรากงอกงามในสังคม เราควรต้องคิดว่าทำอย่างไรจึงจะเก็บเขาไว้ในโรงเรียนให้ได้นานที่สุด จนกว่าจะถึงวันที่พึ่งพาตนเองได้ ด้วยทักษะ ด้วยพลัง ด้วยทัศนคติที่เข้มแข็งพอจะยืนหยัดรับมือกับปัญหาและทำในสิ่งที่ถูกต้องได้”

องศางานที่กว้างขึ้น กับ ‘ศูนย์วัยใสเพื่อนใจวัยเรียน’

ครูจุฑาทิพย์กล่าวถึงบทบาทของงานว่า การส่งเสริมพัฒนาการของเด็กคนหนึ่งให้เรียนดีเรียนเก่งนั้น ไม่เพียงพอสำหรับการเป็นครูแนะแนว แต่ต้องครอบคลุมสุขภาพกาย สุขภาพจิตที่ดี ชี้ทางให้ศิษย์ค้นพบตนเอง และประคับประคองให้ปลอดภัยจากภยันตรายในสังคม

“เราต้องปกป้องเขาจากภัยรอบตัวให้ได้มากที่สุด เพราะมันอยู่ใกล้ตัวเขามาก ไม่ว่าจะยาเสพติด การพนัน การล่วงละเมิด ตั้งครรภ์ไม่พร้อม แรงงานเด็ก หรือความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ สิ่งเหล่านี้พร้อมจะเข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิตเด็กได้จากทั้งชีวิตข้างนอก หรือภายในรั้วโรงเรียนเองก็ตาม แล้วเราต้องไม่ลืมว่าทักษะการรับมือกับปัญหาคือสิ่งที่ต้องสั่งสมตามประสบการณ์ ดังนั้นเด็กวัยมัธยมเขาจึงมีโอกาสที่จะก้าวพลาดในทุกๆ เรื่อง”

ขณะที่ด้วยเนื้องานของครูแนะแนวส่วนใหญ่จะเป็นการตั้งรับปัญหาเพียงอย่างเดียว หลายครั้งกว่าเรื่องจะมาถึงก็กลายเป็นปลายเหตุ แก้ไขอะไรไม่ทันเสียแล้ว ครูจุฑาทิพย์จึงปรับกระบวนการทำงานเป็น ‘เชิงรุก’ ผ่าน ‘ศูนย์วัยใสเพื่อนใจวัยเรียน’ ที่มีเป้าหมายเริ่มต้นคือรับมือกับปัญหาตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยเรียน

“16 ปีก่อนเราตั้งใจแก้ปัญหาเรื่องเด็กตั้งครรภ์ ซึ่งมันมีความซับซ้อนทั้งการรณรงค์ให้ความรู้เพื่อป้องกัน จนถึงการดูแลร่างกาย จิตใจ และสิทธิในการเรียนของเด็กกลุ่มนี้ ว่าเมื่อปัญหาเกิดขึ้นแล้ว เราจะทำอย่างไรให้เขาผ่านช่วงชีวิตที่ยากลำบากไปได้ ก็ตั้งขึ้นมาเป็นศูนย์ให้คำปรึกษาดูแลเด็ก เบื้องต้นเราจะทำทุกทางให้เด็กจบการศึกษา และต้องเป็นการศึกษาที่มีคุณภาพ

“จากปัญหาตั้งครรภ์ไม่พร้อม เราปรับพื้นที่ให้เด็กเข้ามาแบ่งปันได้ทุกเรื่อง ทุกเวลา พร้อมทำงานเชิงรุก จัดเวทีให้ความรู้ สื่อสารเชิงบวกสร้างความเข้าใจไปถึงผู้ปกครอง ผู้บริหารและบุคลากรในโรงเรียน และชุมชน ให้ทุกฝ่ายเข้าใจ หันหน้ามาพูดคุยกันว่าเราจะช่วยเด็กคนหนึ่งให้เขาผ่านแต่ละปัญหาไปได้อย่างไร

“ถ้าเราที่เป็นผู้ใหญ่ให้ความปลอดภัยกับเขาไม่ได้ รับฟังและให้อภัยไม่ได้ เขาจะไปหาทางออกด้วยตัวเอง แล้วผลที่ตามมาก็มักจะกลายเป็นความเลวร้ายที่โถมทับยิ่งขึ้นไปอีก”

เด็กมักทำเรื่องไม่เข้าท่า หรือครูเองที่ให้ความรู้เขาไม่พอ

สิบหกปีของศูนย์วัยใสฯ ทำให้ครูจุฑาทิพย์ตระหนักว่า ‘โอกาส’ สำหรับคนที่เคยก้าวพลาดผิดไปนั้นมีคุณค่ามากสักแค่ไหน เพราะในอีกด้านหนึ่งเมื่อเด็กถูกผลักให้พ้นไปจากรั้วโรงเรียน ก็จะยิ่งมีแต่ปัญหาที่ตามมา

“ลองคิดดูว่าเด็ก ม.2-ม.3 ออกจากโรงเรียนไป เขายังไม่พร้อมเผชิญชีวิต ยังทำมาหากินไม่เป็น กระทั่งตัวเองยังรับผิดชอบได้ไม่ดีเลย ไม่ต้องพูดถึงว่าถ้าไปมีครอบครัวของตัวเอง มันแทบไม่มีทางเป็นไปได้ที่จะพากันไปรอด ครูมองว่าปัญหานี้มันสะท้อนกลับมาที่โรงเรียนโดยตรง ว่าคนเป็นครูสอนอย่างไร ช่วยให้เขารู้ผิดรู้ถูกได้แค่ไหน

“ในฐานะครูแนะแนว เราเชื่อในเรื่องการปรับหลักสูตรแกนกลางให้พลิ้วไหว ยืดหยุ่นเนื้อหาข้างในให้ตรงกับสถานการณ์ปัจจุบันและบริบทชีวิตเด็ก เราต้องนำความรุนแรงที่เห็นจากในข่าวมาปรับสอนให้เขารู้จักป้องกันตัวเอง สามารถสร้างคุณค่าให้ตัวเอง สอดแทรกวิธีคิดให้เขาเข้าใจได้ว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะอะไร และจะรับมือ หลีกเลี่ยง หรือปฏิเสธไม่ให้สิ่งนั้นเกิดขึ้นกับตนเองและครอบครัวได้อย่างไร”

วัฒนธรรม ‘พี่ถึงน้อง’ และ ‘เพื่อนสู่เพื่อน’ จะช่วยให้พวกเขาปกป้องกันและกัน

วันนี้ ‘ศูนย์วัยใสเพื่อนใจวัยเรียน’ เป็นศูนย์ให้คำปรึกษาดูแลเด็กที่ครอบคลุมทุกปัญหา ตั้งมั่นในเจตนารมณ์ว่าจะป้องกันเด็กไม่ให้หลุดจากระบบ พิทักษ์สิทธิ์ และเป็นปราการอันแข็งแกร่งให้น้องๆ ที่ประสบปัญหาได้มีหลักพักพิง มีเครือข่ายให้เด็กช่วยดูแลกันในโรงเรียน โดยจะไม่มีใครที่สู้กับปัญหาเพียงลำพัง เพราะนอกจากครูแล้ว ยังมีเพื่อนนักเรียนที่เข้ามาเป็นแกนนำ แทรกตัวในทุกระดับชั้น พร้อมช่วยเคลื่อนงานไปด้วยกัน

“เรามีแกนนำเป็นเด็กทุกกลุ่ม ทั้งเด็กที่เรียนเก่งและเรียนอ่อน ใครถนัดเรื่องไหนก็ช่วยกันไป คนเก่งวิชาอะไรก็ช่วยสอนคนตามไม่ทัน บางคนเป็นเด็กหลังห้อง ไม่ถนัดวิชาการ แต่เขามีความเข้มแข็งในด้านอื่นก็เอามาแบ่งปัน เช่น พาเพื่อนๆ ทำงานจิตอาสาสร้างชื่อเสียงให้โรงเรียน เราเน้นวางรากวัฒนธรรมเพื่อนช่วยเพื่อนและพี่สอนน้องไว้ให้เขา จนพวกเขาซึมซับและส่งต่อรุ่นต่อรุ่นได้

“ศูนย์ฯ เราไม่ได้ดูแลแค่เฉพาะในรั้วโรงเรียน แต่เผื่อแผ่ไปถึงเด็กทุกคนในสังคม เพราะบทเรียนสอนเราว่า แม้จะทำงานเต็มที่แค่ไหน บางครั้งผลลัพธ์ก็อาจไม่เป็นอย่างใจคิด มีเด็กที่หลุดไปบ้าง หรือห่างจากความช่วยเหลือดูแลของเราไปบ้าง แต่เราจะทำให้เขารู้ว่าวันหนึ่งที่อยากกลับมา เรายังคงมีทาง มีพื้นที่ไว้ให้เขา

“ลำพังครูแนะแนวในโรงเรียนเราไม่ได้รู้ทุกเรื่อง จึงต้องมีเครือข่ายขนาดใหญ่ครอบคลุมทั้งจังหวัด หลายครั้งเราพาเด็กผ่านปัญหาไปได้ก็เพราะรู้ว่าต้องปรึกษาใคร ส่งต่อให้หน่วยงานไหนมาช่วยดูแล เหล่านี้คือกำลังใจและพลังที่คอยสนับสนุนให้การทำงานสำเร็จได้”

สำหรับ ‘ครูแนะแนว’ ห้องน้ำก็เป็นที่ทำงานได้

ครูจุฑาทิพย์ เจ้าของ Facebook ‘ครูผมยาว ชาวเมืองพรหมฯ’ ที่เป็นอีกหนึ่งช่องทางให้ทั้งลูกศิษย์และเด็กเยาวชนทั่วไปได้เข้ามาปรึกษาปัญหาได้ตลอด 24 ชั่วโมง กล่าวว่า การทำงานเป็นครูแนะแนวสำหรับตนนั้น ไม่ได้จำกัดอยู่ในสถานที่หรือช่วงเวลาใดหนึ่ง เพราะ ‘แม่เป้า’ ของน้องๆ โรงเรียนพุทธชินราชพิทยา สามารถเป็นที่ปรึกษาได้ในทุกสถานที่และทุกเวลาที่ศิษย์ต้องการ

“ครูภูมิใจที่ได้เป็นครูและรักในอาชีพมาก เรามีโอกาสอยู่กับเด็ก ได้ช่วยเหลือเขา ไม่ใช่แค่สอนและให้คำปรึกษา แต่มีสิ่งที่ลึกซึ่งยิ่งกว่านั้น เหมือนประโยคที่ว่า ‘ครูบางคนสอนเสร็จออกจากห้อง เขาอยู่ในบทบาทอื่นแล้ว แต่ครูแนะแนวต้องทำงานได้ตลอดเวลา’  

“บางครั้งมีโทรศัพท์มาแต่เช้ามืดเราก็พร้อมรับ หลายครั้งสองทุ่มถึงสี่ทุ่มต้องเข้าไปคุยโทรศัพท์ในห้องน้ำที่บ้าน เพราะไม่อยากรบกวนคนอื่น เราก็เต็มใจที่จะทำ บางคนเข้ามาทางเฟซบุ๊ก มีปัญหาความรุนแรงในครอบครัว พ่อติดเหล้า ตีแม่ตีน้อง เด็กไม่อยากให้แจ้ง พม. เพราะกลัวพ่อติดคุก เราก็เข้าไปเลย ไปพาพ่อเขาให้เลิกเหล้า จนเด็กคนนั้นทุกวันนี้เรียนจบแพทย์ไปแล้ว ที่ทำทั้งหมดบางทีเราไม่ได้นึกถึงตำแหน่งหัวโขนความเป็นครูแล้ว แต่ทำเพราะเราเป็นมนุษย์…มนุษย์คนหนึ่งที่มีหัวใจ อยากให้ความรักความช่วยเหลือเด็ก แล้วด้วยอาชีพก็เปิดโอกาสให้เราได้ทำ ได้แบ่งปัน ได้ทำให้เราภูมิใจในตัวเอง

“งานของเราจึงไม่มีเวลาเฉพาะ ไม่มีสถานที่ตายตัว เราลดเวลา ลดความตั้งใจลงไม่ได้ ทุกวันเรานั่งอยู่ที่ศูนย์ฯ คุยกับเด็ก ดูแลช่วยเหลือเขา เพราะเรามองว่าทุกชีวิตนั้นสำคัญเท่ากัน แม้แต่ในห้องทำงานเราก็มีทั้งหม้อหุงข้าว มีไมโครเวฟ มีอาหารพร้อม เราขอเด็กแค่ว่าไม่มีเงินอย่างไรก็ขอให้มาโรงเรียน ครูจะดูแลเอง ไม่สำคัญว่าเขาเป็นใคร เรียนเก่งเรียนไม่เก่ง จะก้าวเดินผิดพลาดบอบช้ำจากเรื่องอะไรมา ยังไงเขาก็คือลูกศิษย์คนสำคัญของเรา”