มากกว่าแบ่งปันสิ่งของ คือส่งมอบ ‘กำลังใจ’ ถึงเพื่อน ๆ ที่ขาดแคลน บ่มเพาะ ‘Empathy’ ผ่านบทเรียนภาคปฏิบัติ

มากกว่าแบ่งปันสิ่งของ คือส่งมอบ ‘กำลังใจ’ ถึงเพื่อน ๆ ที่ขาดแคลน บ่มเพาะ ‘Empathy’ ผ่านบทเรียนภาคปฏิบัติ

“พวกเราชั้น ป.5 ทำสเปรย์แอลกอฮอล์ ปกติเราใช้กันอยู่ก็ไม่ได้คิดว่าจะยากเท่าไหร่ พอต้องมาทำกันเองจริง ๆ กว่าจะผ่านแต่ละขั้นตอนได้ก็ไม่ง่ายเลย แต่ตอนทำก็คิดไปว่าของที่เราตั้งใจทำจะได้ส่งไปถึงคนที่จำเป็นต้องใช้ ก็ยิ่งอยากทำให้ดีค่ะ”

“ตอนที่เราทำของขึ้นเองกับมือก็สนุกอยู่แล้ว ยิ่งพอนึกว่าจะมีคนที่ได้เอาไปใช้ประโยชน์ ได้มีความสุขเมื่อเขาได้รับ เราก็ยิ่งมีความสุขตามไปด้วย ช่วงโควิด-19 หนูรู้ว่ามีคนที่เขาลำบากมากขึ้น ถ้าสิ่งที่พวกเราทำจะช่วยให้เพื่อน ๆ มีความสุขขึ้นมาได้บ้าง เราก็ดีใจค่ะ”

‘น้องมะตูม’ ปารมิตา สุขทรามร ชั้น ป.5
โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

‘น้องมะตูม’ ปารมิตา สุขทรามร ตัวแทนเพื่อนนักเรียน ชั้น ป.5 โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (Satit Kaset IP) เผยความสุขของการเป็นผู้ให้ ในวันส่งมอบสิ่งของที่เด็ก ๆ ช่วยกันจะหา จัดเตรียม และทำขึ้นเองกับมือ พร้อมบรรจุลงถุงกระดาษสีสันสวยงาม และส่งต่อให้กับ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เพื่อนำไปส่งมอบให้กับโรงเรียนในท้องถิ่นทุรกันดารห่างไกล อันเป็นกิจกรรมที่ทางโรงเรียนจัดขึ้น เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของบทเรียนแห่งการ ‘แบ่งปัน’ (Sharing) และ บ่มเพาะ ‘ความเห็นอกเห็นใจ’ (Empathy) ให้กับน้อง ๆ ชั้น ป.4-ป.6

วิภาวี สุวิมลวรรณ อาจารย์ชั้นประถมศึกษา สาธิตเกษตร ไอพี เล่าว่า ทางโรงเรียนมีโครงการในรายวิชาเรื่องการช่วยเหลือสังคม ซึ่งทำต่อเนื่องทุกปี โดยนักเรียนต้องทำกิจกรรมร่วมกัน ในการรวบรวมสิ่งของจำเป็น หรือสิ่งของที่เป็นประโยชน์ แล้วนำไปส่งมอบของให้กับผู้ยากไร้ขาดแคลน

จนมาถึงช่วงเวลาสองปีที่เกิดวิกฤตโควิด-19 รูปแบบการเรียนรู้ปรับเป็นออนไลน์มากขึ้น นักเรียนมีเวลามาโรงเรียนน้อยลง แต่กิจกรรมยังคงไว้ โดยตั้งโจทย์ใหม่ว่าจะส่งต่อสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นให้กับโรงเรียนยากไร้ในพื้นที่ห่างไกลโดยเฉพาะ จนนำมาสู่ความร่วมมือกับ กสศ. ในฐานะองค์กรที่ทำงานด้านการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำ รวมถึงมีฐานข้อมูลของโรงเรียนเป้าหมายที่ตรงกับเจตนารมย์ของโครงการโดยตรง

“เราจึงให้น้อง ๆ ชั้นประถมปลายช่วยกันจัดเตรียมของขึ้นมา และยินดีที่จะมอบให้ กสศ. เป็นตัวแทนส่งต่อสิ่งของไปยังโรงเรียนที่ขาดแคลน”

“ที่น่าสนใจคือ พอเด็ก ๆ รู้ว่าสิ่งของที่เขาเตรียมไว้หรือทำขึ้นมาเองกับมือ จะถูกส่งไปให้โรงเรียนที่อยู่ห่างไกล ซึ่งเขาได้รับรู้ข้อมูลจาก กสศ. ว่ายังมีเพื่อน ๆ อีกมากมายที่ขาดอุปกรณ์การเรียน หรือยังมีสิ่งป้องกันตัวเองจากโควิด-19 ไม่พอ เขาก็กระตือรือร้นช่วยกันหาช่วยกันเตรียม อย่างที่บอกว่าแม้จะเรียนจากที่บ้านเป็นส่วนใหญ่ แต่เขาก็ตั้งใจมาก พับถุงเอง เลือกของกันเอง ทั้งออกแบบสติ๊กเกอร์ ช่วยกันประดับตกแต่งจนสวยงาม แล้วส่งมารวมกันที่โรงเรียน”

“ส่วนของข้างในก็อย่างเช่น ป.4 เป็นเครื่องเขียน ป.5 เขาก็ทำสเปรย์แอลกอฮอล์กันเอง ป.6 ก็มีขนม หน้ากากอนามัย สายคล้องแมสก์ที่ร้อยกันเอง แล้วเขาจะเน้นกันมากว่าถุงต้องทำจากกระดาษสีสดใส เพราะอยากให้ผู้รับเห็นแล้วมีกำลังใจ ยิ้มได้”

ด้าน อนัญญา พรหมชนะ อาจารย์ผู้ดูแลน้อง ๆ ทำกิจกรรม ระบุถึงใจความสำคัญของบทเรียนนี้ว่า “เราอยากให้น้อง ๆ นักเรียนกลุ่มนี้ ที่เขาค่อนข้างคุ้นเคยกับความพร้อมสมบูรณ์ในทุกด้าน ได้มองเห็นสังคมที่กว้างไกลกว่าเพียงมิติเดียว ได้ซึมซับการให้ การแบ่งปัน จากข้อเท็จจริงที่ว่ายังมีเพื่อน ๆ ที่ยังขาดแคลนโอกาสทางการศึกษา หรือยังมีความยากลำบากในการดำรงชีวิตอยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ ซึ่งบทเรียนเหล่านี้คือการตระหนักถึงความจริงในสังคม ที่จะทำให้หัวใจแห่งการแบ่งปันของเขาเปิดกว้าง โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์ที่เป็นอยู่ สังคมเปลี่ยนแปลงไปมากหลังโควิด-19 เข้ามา มีคนลำบากขาดแคลนรอความช่วยเหลือเพิ่มขึ้น”     

“เชื่อไหมว่ามีน้องบางคนที่ตอนเรียนเราต้องตามแล้วตามอีกให้ส่งงาน แต่พอมาทำกิจกรรมนี้เขาเอาใจใส่มาก หลายคนไปเลือกของด้วยตัวเองอย่างใส่ใจ แล้วไม่ใช่แค่ของชิ้นสองชิ้น ดินสอไม่กี่แท่ง แต่แต่ละคนส่งกันมาทีละหลายกล่อง ผู้ปกครองเขาก็สนับสนุนอยากให้ลูกได้ทำ” อาจารย์อนัญญา กล่าว

เสียงจากตัวแทนเพื่อน ๆ พูดถึงความสุขจากการ ‘ให้’

‘น้องของขวัญ’ นภัทร ธนพันธ์ ตัวแทนเพื่อนชั้น ป.4 กล่าวว่า “ดีใจที่ได้รวบรวมเครื่องเขียนอุปกรณ์การเรียนมาให้เพื่อน ๆ ให้เขาได้มีโอกาสมากขึ้น สะดวกขึ้น มีกำลังใจในการเรียนหนังสือมากขึ้น หนูเองก็สุขใจ พอคิดว่าของพวกนี้จะได้เอาไปใช้เขียนหนังสือและทำการบ้านได้อย่างเพียงพอ”

‘น้องของขวัญ’ นภัทร ธนพันธ์ ชั้น ป.4
โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

‘น้องแองจี้’ ปวีณ์พร ปกปักษ์ขาม ตัวแทนเพื่อนชั้น ชั้น ป.6 กล่าวว่า “ทุกปีเราได้ทำของขวัญให้กับเพื่อนโรงเรียนอื่น เรามีความสุขที่ได้ทำของแต่ละชิ้นด้วยมือของเรา ปีนี้หนูได้พับถุงกระดาษ ร้อยสายคล้องแมสก์เป็นสร้อย อยากให้คนที่รับได้รู้ว่าพวกเราตั้งใจทำ และอยากให้เขามีความสุขมากขึ้นด้วยค่ะ”

‘น้องแองจี้’ ปวีณ์พร ปกปักษ์ขาม ชั้น ป.6
โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

‘การแบ่งปัน’ เริ่มได้ที่ตัวเรา

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ในฐานะคนกลางผู้รับมอบความสุข กำลังใจ ที่จะนำไปส่งต่อให้กับน้อง ๆ ในพื้นที่ห่างไกล กล่าวว่า ความ ‘เห็นอกเห็นใจ’ และ ‘เข้าใจ’ ผู้อื่น เป็นทักษะสำคัญที่เด็กเยาวชนต้องได้เรียนรู้ ผ่านประสบการณ์การลงมือทำจริง เพราะพวกเขากำลังเติบโตขึ้น พร้อมกับปัญหาความเหลื่อมล้ำ หรือความขัดแย้งในสังคมที่กินเวลายาวนาน อันเนื่องมาจากความไม่เข้าใจ และความคิดมุมมองที่ต่างกัน โดยเฉพาะหลายคนที่ไม่ได้รับการพัฒนาเรื่อง Empathy หรือ Social-Emotional Skill (ทักษะอารมณ์และสังคม)

“เราจึงต้องบ่มเพาะพื้นฐานความเข้าใจคนอื่น ให้กับเด็ก ๆ ตั้งแต่เมื่อเขาอายุยังน้อย แล้วต้องไม่ใช่การสอนผ่านกระดานหรือเป็นเพียงบทเรียนในหนังสือ แต่ต้องเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติ สอนให้เขาลงมือทำ ได้เขียนบรรยายความคิด ความรู้สึกที่เขามีต่อผู้อื่น แล้วเขาจะพบรายละเอียดเล็กน้อยที่กลั่นกรองเป็นความเข้าใจ เช่นความยากลำบากที่คนอื่นต้องพบเจอในขณะที่เราไม่เจอ ทีนี้เราจะทำอย่างไรเพื่อแบ่งปันโอกาสให้คนอื่นได้บ้าง เหล่านี้คืออีกหนึ่งภารกิจที่ กสศ. ต้องการส่งเสริมให้เกิดขึ้น เพราะสุดท้ายแล้ว ความเสมอภาคทางการศึกษาหรือในสังคมของเรา มันจะเริ่มได้จากการที่คนเรารับรู้ความแตกต่างระหว่างกันได้ ซึมซับความสุขทุกข์ของเพื่อนมนุษย์ได้ แล้วจากนั้นก็จะไปสู่ขั้นตอนลงมือทำ เพื่อให้ปัญหาในสังคมลดทอนลง โดยไม่จำเป็นต้องรอให้รัฐ เอกชน ภาคประชาสังคมใด ๆ หรือใครคนหนึ่งเป็นคนทำอยู่ฝ่ายเดียว เพราะเราทุกคนทำได้ แค่เริ่มที่ตัวเราแล้วฝึกให้เป็นนิสัย แล้วการเผื่อแผ่แบ่งปันจะทำให้สังคมของเราดีขึ้น”