คำถามชวนคิด ‘จำเป็นแค่ไหน’ ที่ทุกโรงเรียนทั่วประเทศควรเข้าถึง ‘เน็ตฟรีมีคุณภาพ’

คำถามชวนคิด ‘จำเป็นแค่ไหน’ ที่ทุกโรงเรียนทั่วประเทศควรเข้าถึง ‘เน็ตฟรีมีคุณภาพ’

ผลจากการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัส ทำให้เปิดเทอมครั้งนี้โรงเรียนในหลายพื้นที่ยังไม่สามารถจัดการเรียนการสอนได้ตามปกติ โดยเฉพาะในพื้นที่ 4 จังหวัดที่มีการระบาดรุนแรง ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี นนทบุรี และสมุทรปราการ ซึ่งยังถูกจำกัดให้เป็น ‘พื้นที่สีแดงเข้ม’ โรงเรียนในพื้นที่เสี่ยงเหล่านี้จึงจำเป็นต้องใช้วิธีการจัดการศึกษาออนไลน์เข้ามาช่วย ทั้งมีแนวโน้มต้องเรียนด้วยวิธีดังกล่าวต่อไปจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น

หากกล่าวถึงการจัดการศึกษาที่นำมาใช้ในช่วงวิกฤตโควิด-19 ทุกครั้ง การเรียนออนไลน์จะได้รับการพูดถึงเป็นลำดับแรก ๆ ทั้งในด้านที่ช่วยทำให้การศึกษาสามารถดำเนินต่อไปได้  แต่ในขณะเดียวกันการเรียนออนไลน์ได้เผยให้เห็นถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่เด่นชัดเพราะเด็กและเยาวชนบางกลุ่มไม่สามารถเข้าถึงการเรียนออนไลน์ที่มีคุณภาพได้ ทั้งในเรื่องความขาดแคลนอุปกรณ์เครื่องมือ เพราะความยากจนด้อยโอกาส หรือเรื่องของสัญญาณอินเทอร์เน็ต ที่ไม่ครอบคลุมทั่วถึงในหลายพื้นที่

กลายเป็นคำถามชวนคิดว่า มีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหน ที่รัฐจะต้องดำเนินนโยบายจัดสรร ‘สัญญาณอินเทอร์เน็ต’ ที่ดีมีคุณภาพให้กระจายไปสู่โรงเรียนทุกแห่งทั่วประเทศ โดยร่วมมือกับบริษัทเอกชน อาทิ ค่ายโทรศัพท์มือถือต่าง ๆ เพื่อให้เด็กและเยาวชนทุกคน ไม่ว่าจะอาศัยอยู่ในพื้นที่ชุมชนเมือง หรือเรียนรู้อยู่ในพื้นที่ชนบทห่างไกล ได้เข้าถึงการศึกษาออนไลน์ที่ดียิ่งขึ้น

‘อินเทอร์เน็ตคือถนนที่เชื่อมโยงความรู้จากทั่วโลก ซึ่งจะช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่’

อาจารย์วิริยะ ฤาชัยพาณิชย์ นักวิชาการอิสระ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า ‘เทคโนโลยี’ จะช่วยพัฒนาการศึกษาได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ดังนั้นการทำให้โรงเรียนในทุกพื้นที่เข้าถึงสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่มีคุณภาพได้ ย่อมหมายถึงการ ‘สร้างถนน’ ที่จะนำความรู้และการเข้าถึงสิทธิทุกด้านมาสู่เด็ก ๆ

โดยอาจารย์วิริยะกล่าวว่า รัฐมีการจัดสรรงบประมาณในส่วนหนังสือเรียนหรือชุดนักเรียนให้เด็กทุกปี ตนมองว่าการสนับสนุนด้วยวิธีดังกล่าวแสดงถึงการจัดสรรงบฯ ที่ไม่ทันยุคสมัย เพราะหากนำเงินทุนส่วนนี้ไปพัฒนาเรื่องเครือข่ายอินเทอร์เน็ต แล้วเชิญชวนองค์กรและบริษัทที่จัดทำหนังสือประเภทต่าง ๆ ให้นำหนังสือเข้าไปช่วยแบ่งปันให้เด็กทั่วประเทศได้เข้าถึง วิธีการนี้เท่ากับเราสร้างเครื่องมือเชื่อมโยงให้เขาเข้าถึงแหล่งความรู้ที่ใหญ่ที่สุดได้

“ไม่เพียงหนังสือ แต่สัญญาณอินเทอร์เน็ตที่มีคุณภาพจะช่วยให้เด็กเข้าถึงแอปพลิเคชันทางการศึกษาที่หลากหลายและทันสมัย ขณะที่ครูเองก็จะมีแหล่งความรู้ที่กว้างขวางเพื่อสร้างคอนเทนต์การสอนที่เหมาะสมกับเด็กในแต่ละพื้นที่ ไม่ใช่ว่าบทเรียนเดียวจะต้องเรียนเหมือนกันทั้งประเทศ นี่คือความสำคัญของการเรียนรู้ผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งทุกวันนี้ไม่ได้เป็นแค่การศึกษาทางเลือกอีกแล้ว”

อาจารย์วิริยะกล่าวถึงหนทางที่เป็นไปได้ในการกระจายสัญญาณอินเทอร์เน็ตคุณภาพให้ไปถึงพื้นที่ต่าง ๆ ว่า ด้วยงบประมาณที่มี รัฐสามารถร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงไปถึงธุรกิจเอกชนที่มีทรัพยากรในมือ ที่สำคัญคือต้องตั้งงบประมาณในส่วนนี้ไว้เพื่อการศึกษาของเด็กโดยเฉพาะ 

หากแผนการดังกล่าวเกิดขึ้นจริง สิ่งที่นักเรียนได้รับจะไม่ใช่แค่การเข้าถึงแหล่งข้อมูลจากทั่วโลก แต่ยังเป็นการพัฒนาด้านอื่นไปด้วยพร้อมกัน  เช่น การตรวจสอบเรื่องความโปร่งใส หรือช่วยลดอัตราการถูกละเมิด หรือลดความรุนแรงภายในโรงเรียนได้อีกด้วย

อินเทอร์เน็ตที่ดีจะทำให้เด็กสามารถสื่อสารสิ่งที่เขาประสบไปสู่สังคมภายนอกได้ อาทิ ข้อมูลเกี่ยวกับอาหารกลางวันหรือสาธารณูปโภคภายในโรงเรียนว่ามีความพร้อมมากน้อยแค่ไหน หรือการติดตั้งเครื่องมือที่จะทำให้ช่วยสอดส่องกรณีเช่น ครูทำร้ายเด็ก หรือเด็กกลั่นแกล้งกันเอง ทั้งหมดนี้สามารถทำได้ ถ้ามีการมอบอำนาจในการเข้าถึงข้อมูลและการสื่อสารไปให้ถึงมือเด็ก

“บางโรงเรียนมีกล้องวงจรปิดที่ผู้ปกครองสามารถเห็นเด็กได้แทบจะเรียลไทม์ ซึ่งช่วยให้เขาสอดส่องความปลอดภัยของบุตรหลานได้ ขณะที่เด็กด้อยโอกาสในโรงเรียนที่ไม่มีความพร้อมมากนัก ต้องเสี่ยงกับการถูกล่วงละเมิดในรูปแบบต่าง ๆ นี่คือความเหลื่อมล้ำที่ไม่ใช่เพียงเรื่องการศึกษา แต่หมายถึงความเสี่ยงด้านคุณภาพชีวิต และการเข้าไม่ถึงสิทธิพื้นฐานที่เขาควรได้รับ “ลองนึกภาพว่าจะเกิดอะไรขึ้นถ้าโรงเรียนตั้งอยู่ลำพังโดยไม่มีถนนตัดเข้าไปถึง เด็ก ๆ และบุคลากรทางการศึกษาจะต้องลำบากสักแค่ไหน ตรงนี้คือการเปรียบเทียบว่าอินเทอร์เน็ตก็เหมือนกับถนนของความรู้  เราได้เห็นตัวอย่างการจัดการศึกษาต่าง ๆ จากทั่วโลก ที่ส่งต่อความเปลี่ยนแปลงไปถึงเรื่องอื่น ๆ อีกมาก หากเราทำสำเร็จ จะช่วยยกระดับประเทศของเรา ไม่ใช่แค่เรื่องคุณภาพการศึกษา แต่ยังเป็นการกระจายความเสมอภาคของการมีชีวิตไปให้กับเด็กทุกคน” อาจารย์วิริยะกล่าว

เด็กทุกคนควรเข้าถึงเครื่องมือการเรียนรู้ เพื่อไม่ให้ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษายิ่งถ่างกว้างออกไป

คุณวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า การกระจายโอกาสในการเข้าถึงการเรียนรู้เป็นเรื่องสำคัญที่รัฐต้องเร่งทำ เพราะแม้ว่าการศึกษาจะมีความเหลื่อมล้ำในตัวเองอยู่แล้ว แต่เมื่อมีเรื่องบทบาทของเทคโนโลยีอันเป็นสิ่งที่มีราคาเข้ามา แน่นอนว่าช่องว่างของความเหลื่อมล้ำจะยิ่งถ่างกว้างขึ้น ดังนั้นหากรัฐไม่มีการจัดสรรนโยบายหรืองบประมาณเข้ามาช่วยลดช่องว่างตรงนี้ คุณภาพการศึกษาของเด็กที่แตกต่างด้วยฐานะ สภาพสังคม หรือความห่างไกลของพื้นที่ก็จะยิ่งถ่างกว้างยิ่งขึ้น

“ผมมองว่าไม่ใช่แค่อินเทอร์เน็ต แต่เราต้องมองไปถึงเรื่องฮาร์ดแวร์ เช่น แท็บเล็ต และการส่งเสริมให้มีครูอาสาสมัครเข้าไปให้ความรู้กับเด็กในแต่ละพื้นที่ ถ้าเราจำเป็นต้องสู้ศึกในระยะยาว สิ่งที่รัฐต้องเตรียมในช่วง 120 วันที่ตั้งใจว่าเราจะเปิดประเทศได้ คืองบประมาณด้านการศึกษาและเวลาให้เด็กได้เรียนเสริมในรายวิชาสำคัญ โดยเฉพาะในส่วนของพื้นฐานที่เขาอาจจะสูญเสียโอกาสการเรียนรู้ไปในช่วงวิกฤตโควิด-19

“สำหรับเด็กจากครอบครัวที่มีโอกาส เขาสามารถซื้อคอร์สออนไลน์ดี ๆ มาเรียนเสริม เพื่อให้ได้องค์ความรู้ตามวัยที่ควรได้รับ แต่เด็กจากครอบครัวที่ไม่พร้อม เขาไม่มีแม้กระทั่งอุปกรณ์สำหรับการเรียน บางบ้านสามคนพี่น้องมีโทรทัศน์เครื่องเดียว แค่ต้องเรียน DLTV พร้อมกันเขายังไม่สามารถทำได้”

คุณวิโรจน์กล่าวว่า รัฐจำเป็นต้องตระหนักว่าเป็นช่วงแห่ง ‘ความสูญเปล่าทางการเรียนรู้’ ของเด็กจำนวนหนึ่ง ที่เขาจะถูกทิ้งห่างทางการเรียนรู้จากเด็กวัยเดียวกันออกไป และในท้ายที่สุดเมื่อเปรียบเทียบความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาระหว่างเด็กสองกลุ่มนี้ อาจพบว่าระดับความรู้ห่างกันมากถึง 2 หรือ 3 ปีการศึกษา นั่นคือเรื่องที่เราต้องช่วยกันในสถานการณ์เช่นนี้ เพื่อไม่ให้ระดับความรู้ของเด็กห่างไกลจากกันไปมากกว่าเดิม

“เริ่มที่ระยะสั้นคือ การส่งเสริมความรู้ ถ้าสถานการณ์ยังยืดเยื้อต่อไปต้องมีการเตรียมเรื่องระบบสัญญาณอินเทอร์เน็ต ทีวี หรือเตรียมงบสำหรับแท็บเล็ตให้โรงเรียนทั่วประเทศที่ยังไม่มีความพร้อม การจัดวางระบบไม่ใช่เรื่องยาก เราสามารถจัดสรรงบประมาณให้ กสทช. ดำเนินการ แล้วเชิญเครือข่ายมือถือต่าง ๆ เข้าร่วมหารือ

“สำคัญที่สุดคือ ต้องไม่ลืมว่าเมื่อมีอุปกรณ์สื่อสารและอินเทอร์เน็ตพร้อมแล้ว เราต้องคำนึงถึงการจัดสรรงบประมาณให้มีครูอาสาสมัคร เพื่อเข้าไปช่วยพัฒนาทักษะการเรียนออนไลน์ เก็บตกในสิ่งที่เด็กยังเรียนไม่เข้าใจด้วย ครูคนหนึ่งต่อเด็ก 30 – 50 คนอาจจะน้อยเกินไป เราต้องเพิ่มครูผู้ช่วยให้มากขึ้นแล้วแบ่งเด็กเป็นกลุ่มย่อย หรือมีการอบรมอภิปรายเกี่ยวกับการเรียนออนไลน์ให้ทุกโรงเรียนมีคุณภาพเท่าเทียมกัน นี่คือแผนที่ควรเตรียมไว้สำหรับการต่อสู้กับปัญหาโควิด-19 ในระยะยาว” คุณวิโรจน์กล่าว

จำเป็นต้องยกระดับคุณภาพเรียนออนไลน์ทั่วประเทศ แต่ไม่ควรยึดว่าทางออกของการแก้ไขปัญหาด้านการศึกษามีเพียงแบบเดียว

คุณพริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้สร้าง ‘StartDee’ แอปพลิเคชันด้านการศึกษา แพลตฟอร์มทางเลือกให้นักเรียนทั่วประเทศเข้าถึงการศึกษาที่เหมาะสมกับตนเอง กล่าวว่าวิกฤตโควิด-19 ทำให้บาดแผลของการศึกษาไทยเปิดกว้างขึ้นใน 2 มิติ

หนึ่ง เรื่องคุณภาพ เพราะการสอนออนไลน์ไม่สามารถทดแทนการเรียนในห้องเรียนได้ทั้งหมด สอง ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ที่โดยปกติแต่ละโรงเรียนก็มีความแตกต่างกันมากอยู่แล้ว ยิ่งเมื่อต้องเข้ามาสู่ระบบออนไลน์ ก็ยิ่งเห็นชัดว่ามีเด็กที่ไม่สามารถเข้าถึง ประกอบกับการถูกซ้ำเติมด้วยวิกฤตเศรษฐกิจ ทำให้นอกจากขาดโอกาสในการเรียนรู้แล้ว ยังมีความเสี่ยงที่จะหลุดจากระบบการศึกษาอีกด้วย

คุณพริษฐ์เสนอว่า ทางออกที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาแบ่งออกได้เป็น 3 ทางหลัก ๆ

  • ประเด็นแรก : ต้องไม่ใช้นโยบายแบบ ‘One Size Fit All’ หรือวิธีการเดียวใช้กับทุกโรงเรียนทั่วประเทศ เพราะแต่ละพื้นที่มีข้อจำกัด รวมถึงความเสี่ยงที่ต่างกันไป เราเห็นแล้วจากการแก้ปัญหาโควิด-19 ระลอกแรก ที่ทุกโรงเรียนต้องจัดการสอนออนไลน์ทั้งหมดทันที ทั้งที่บางแห่งไม่ได้มีความเสี่ยงสูงมากกับการจัดการศึกษาปกติ ซึ่งทำให้หลายโรงเรียนที่ไม่มีความพร้อม ต้องประสบปัญหาทั้งในเรื่องสัญญาณอินเทอร์เน็ตและการขาดแคลนอุปกรณ์
  • ประเด็นที่สอง : สำหรับโรงเรียนที่จำเป็นต้องสอนออนไลน์จริง ๆ สิ่งที่ต้องคำนึงถึงไม่ใช่เรื่องอินเทอร์เน็ตหรืออุปกรณ์เพียงอย่างเดียว แน่นอนว่าเราต้องสนับสนุนเรื่องสัญญาณให้มีคุณภาพครอบคลุมทุกพื้นที่ แต่ที่ต้องมองไปให้ไกลกว่านั้นคือ โรงเรียนหรือบ้านจะต้องมีพื้นที่ที่เด็กสามารถมีสมาธิเรียนได้ มีเวลาเรียนที่เหมาะสม เนื่องจากนักเรียนบางคนอาจจำเป็นต้องช่วยครอบครัวทำงานหารายได้ในช่วงที่โรงเรียนปิด ดังนั้นจึงต้องมองไปที่ความช่วยเหลือครอบครัว ให้เขาได้รับการเยียวยาปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งจะช่วยให้นักเรียนมีสมาธิกับการเรียนมากขึ้น
  • ประเด็นที่สาม : เมื่อทุกคนเข้าถึงการเรียนออนไลน์ได้หมดแล้ว สิ่งที่ต้องทำควบคู่ไปด้วยคือการจัดการศึกษาออนไลน์ ที่ไม่ใช่การนำเอากรอบความคิดเดียวกันกับการสอนที่โรงเรียนมาใช้ เช่น การยึดกับตารางสอนหรือการแบ่งคาบเรียนที่ตายตัว ทั้งที่ลักษณะของการเรียนออนไลน์ควรมีความยืดหยุ่น เปิดโอกาสให้นักเรียนเลือกเวลาเรียนที่สะดวก หรือมีคลิปหรือสื่อการสอนที่น่าสนใจที่ครูเลือกมาให้ “เราต้องจัดรูปแบบการเรียนการสอนที่เหมาะกับพฤติกรรมของเด็ก อาจมีการจัดทำวิดีโอสั้นให้นักเรียนเลือกเรียนย้อนหลังได้ในหัวข้อที่ตนยังไม่เข้าใจ นี่คือเรื่องที่เราต้องรณรงค์ให้แต่ละโรงเรียนลองปรับวิธีการ เพื่อให้การเรียนออนไลน์ทำได้เต็มประสิทธิภาพ

“เราต้องจัดรูปแบบการเรียนการสอนที่เหมาะกับพฤติกรรมของเด็ก อาจมีการจัดทำวิดีโอสั้นให้นักเรียนเลือกเรียนย้อนหลังได้ในหัวข้อที่ตนยังไม่เข้าใจ นี่คือเรื่องที่เราต้องรณรงค์ให้แต่ละโรงเรียนลองปรับวิธีการ เพื่อให้การเรียนออนไลน์ทำได้เต็มประสิทธิภาพ”

ทั้งสามประเด็นที่กล่าวมาเป็นแค่มาตรการชั่วคราวเพื่อซื้อเวลาในช่วงวิกฤต เพราะท้ายที่สุดแล้วการเรียนออนไลน์ก็ยังไม่สามารถทดแทนการเรียนที่โรงเรียนได้ทั้งหมด

ทางออกประการสุดท้ายจึงหมายถึงการเร่งทำให้ประเทศปลดล็อกได้เร็วที่สุด โดยจัดสรรวัคซีนและกระจายไปให้ประชากรทั่วประเทศ เพื่อให้โรงเรียนกลับมาเปิดได้เต็มรูปแบบอีกครั้ง

ขยายสัญญาณเน็ตทั่วประเทศสามารถทำได้ แต่การศึกษาควรมุ่งไปที่วิธีการซึ่งเหมาะสมกับพื้นที่และผู้เรียน

คุณตวง อันทะไชย ประธานคณะกรรมาธิการคณะกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา กล่าวว่า สถานการณ์ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา โรงเรียนขนาดเล็กทั่วประเทศที่มีจำนวนนักเรียน 10 – 120 คน ในพื้นที่ห่างไกลราว 29, 000 โรงเรียน สามารถเปิดสอนที่โรงเรียนได้หมดแล้ว เนื่องจากโรงเรียนกลุ่มนี้มีพื้นที่ไม่หนาแน่น นักเรียนน้อย รวมถึงได้รับความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นในการควบคุมโรคระบาด

ส่วนโรงเรียนในเมืองที่มีขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ยังต้องอาศัยการจัดการศึกษาที่ผสมผสานทั้งออนไลน์และออนไซต์ แต่สำหรับโรงเรียนใน 4 จังหวัดพื้นที่สีแดงเข้ม ตอนนี้ต้องนำวิธีการที่หลากหลายเข้ามาใช้ ทั้งออนไลน์ ออนแอร์ หรือออนไซต์ ที่มีการจัดการสอนเป็นกลุ่มเล็ก ๆ

“การเรียนออนไลน์เพียงอย่างเดียวจะได้เฉพาะความรู้ความจำ แต่พัฒนาการด้านอื่นจะไม่ได้รับการเรียนรู้ไปด้วย เรามีวิธีที่การจัดกลุ่มนักเรียน 5 – 10 คนต่อครู 1 คน ในพื้นที่ที่สามารถทำได้ ซึ่งอยากให้เป็นโมเดลที่ขยายออกไปในพื้นที่ต่าง ๆ เนื่องจากการเรียนแบบพบปะทั้งครูและเพื่อนนักเรียน จะช่วยเรื่องการพัฒนาผู้เรียนได้ครบ 4 มิติ คือ สติปัญญา ร่างกาย อารมณ์ และสังคม”

วิธีการนี้เราต้องมีครูเพิ่มขึ้น แต่เด็กจะเรียนได้อย่างปกติ มีการพัฒนาทางอารมณ์จากการได้พบปะเพื่อนฝูง ชุมชน

คุณตวงกล่าวว่า การเรียนออนไลน์อย่างเดียวยังมีข้อจำกัดเรื่องผลการเรียรู้ ที่เด็กอาจไม่ได้เรียนรู้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ในส่วนของความร่วมมือเพื่อสร้างระบบการเรียนรู้ออนไลน์ด้วยสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่ทั่วถึงและมีคุณภาพ ตนมองว่าเป็นเรื่องสำคัญ “ถ้าเราจะลงทุนด้านการศึกษา ก็ไม่ต้องมีคำถามว่าคุ้มค่าแค่ไหน แต่สิ่งที่ควรทำจริง ๆ คือ มองความสำคัญเป็นลำดับ ถ้าเรามองไปที่การจัดการศึกษาขนาดเล็กหรือสร้างสรรค์กระบวนการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ที่เหมาะกับพื้นที่ ผมคิดว่าจะแก้ปัญหาได้ยั่งยืน แม้ว่าเราจะต้องเจอวิกฤตอีกกี่ครั้งก็ตาม

“เรื่องอินเทอร์เน็ตเป็นเพียงแค่ส่วนย่อย มาเสริมให้เด็กได้หาความรู้ที่ไม่มีในห้องเรียน อย่างไรก็ดี การพัฒนาครูให้เป็นผู้จัดการเรียนรู้ หรือช่วยเสริมเติมผู้เรียนในด้านอื่น ๆ ที่เขาขาดไป ก็ยังเป็นสิ่งที่ต้องเร่งทำให้ได้ก่อน”