สุดยอดอาหารอาเซียน (Fabulous ASEAN Breakfast) โครงการเพิ่มพูนทักษะการเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ 21

สุดยอดอาหารอาเซียน (Fabulous ASEAN Breakfast) โครงการเพิ่มพูนทักษะการเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ 21

มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีจัดโครงการ Fabulous ASEAN Breakfast เพื่อส่งผ่านทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ผ่านช่องทางการสื่อสารออนไลน์ในช่วงแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 

Fabulous ASEAN Breakfast คือการเรียนรู้แบบ Project-based learning โดยมีนักเรียนจาก 23 โรงเรียน 10 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้าร่วม นักเรียนกว่าร้อยคนจะได้แลกเปลี่ยนสูตรและวิธีทำอาหารเช้าของตนเองกับเพื่อนต่างชาติ ซึ่งเป็นโครงการที่ให้เด็กลองทำอาหารและนำเสนอผลงานของตนเองผ่านการสื่อสารออนไลน์  

โครงการนี้เกิดขึ้นภายใต้โครงการห้องเรียนไร้พรมแดนอาเซียน (Borderless Classroom Program) โดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้

  1. เพื่อฝึกทักษะการเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ 21
  2. เพื่อสร้างเสริมประสบการณ์และแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ในห้องเรียนเสมือน 
  3. เพื่อทำงานร่วมกับนักเรียนจากหลากหลายประเทศ
  4. เพื่อแสดงให้เห็นถึงความสามารถของนักเรียนในการทำงานด้วยตนเองอย่างอิสระ 
  5. เพื่อพัฒนาศักยภาพของนักเรียนในการทำงานร่วมกับผู้อื่น 

ทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 มีอะไรบ้าง?

  1. ทักษะการร่วมมือ (Collaboration)
  2. ทักษะการสร้างความรู้ (Knowledge Construction)
  3. ทักษะการกำกับตนเอง (Self-Regulation)
  4. ทักษะการแก้ไขปัญหาในชีวิตจริงและนวัตนกรรม (Real world problem-solving and Innovation)
  5. ทักษะการใช้เทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้ (Use of ICT for learning)
  6. ทักษะการสื่อสาร (Skillful Communication)

ครูไซนุดดิน ซาคาเรีย (Mr. Zainuddin Zakaria)
PMCA 2015 ประเทศมาเลเซีย หัวหน้าโครงการ Fabulous ASEAN Breakfast ที่ปรึกษาห้องเรียนไร้พรมแดนอาเซียน 

แม้ Fabulous ASEAN Breakfast จะเป็นกิจกรรมทำอาหาร แต่จุดประสงค์ของโครงการไม่ใช่การสอนทำอาหาร เราต้องการให้เด็กฝึกทักษะอันสอดคล้องกับการเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ 21 ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสาร การใช้เทคโนโลยี การรู้จักแก้ปัญหา และการฝึกคิดนอกกรอบ ซึ่งกิจกรรมนี้จะเป็นตัวส่งผ่านการเรียนไปยังเด็ก

บทเรียนจากโครงการ 3 ข้อ คือ

1. กิจกรรม Project-based learning จะช่วยให้เด็กพัฒนาทักษะศตวรรษที่ 21 ได้ ทำให้เด็กมีความคิดสร้างสรรค์ คิดนอกกรอบ และฝึกฝนการใช้เทคโนโลยี 
2. ทั้งครูและนักเรียนจะได้ฝึก Netiquette หรือมารยาทในการใช้อินเทอร์เน็ต และฝึก Soft Skill ในการสื่อสาร 
3. การออกแบบการสอนวางล่วงหน้าเป็นเรื่องสำคัญ 

ไทย ฟิลิปปินส์ และกัมพูชา ร่วมแชร์ประสบการณ์หลังเข้าร่วมโครงการ Fabulous ASEAN Breakfast
ดร.เฮซุส อินซิลาดา (Dr. Jesus Catigan Insilad) PMCA 2017 
ครูโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งชาติอัลคาเด กูสทีโล 
(Alcarde Gustilo Memorial National High School) ประเทศฟิลิปปินส์ 

เนื่องจากมีมาตรการรักษาระยะห่าง เราจึงเลือกนักเรียนสองคนที่บ้านอยู่ใกล้ครูเข้าร่วมโครงการ ทำให้ครูสามารถดูแลให้คำปรึกษานักเรียนได้อย่างใกล้ชิด สิ่งที่ครูต้องช่วยกำชับคือ บอกให้เด็กมีมารยาทในการสื่อสาร รู้จักความเกรงใจผู้อื่น ตรงต่อเวลา และทำกิจกรรมด้วยความตั้งใจ 

การทำเมนูต่างประเทศทำให้มีปัญหาเรื่องวัตถุดิบที่ไม่มีในท้องถิ่น แต่เด็กๆ ก็ได้ลองแก้ปัญหาด้วยการคิดนอกกรอบ ลองใช้วัตถุดิบที่มี และรู้จักสอบถามข้อมูลผู้อื่น 

หลังจากเข้าร่วมโครงการ ดร.เฮซุสพบว่าเด็กมีความมั่นใจมากขึ้น โดยเฉพาะการสื่อสารกับเพื่อนใหม่ ส่วนครูเองก็ได้ฝึกการใช้เทคโนโลยีและสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการสอนอื่นๆ ได้ 

ครูดี โซ พอน (Mrs. Dy Sophorn) PMCA 2017 
ครูโรงเรียนประถมศึกษามาคุมร็อกร่อง (Kumrou Krong Primary School) 
ประเทศกัมพูชา 

ก่อนหน้านี้ไม่รู้วิธีเชื่อมโยงหรือสอนอย่างไรให้สื่อสารกันได้อย่างไร้พรมแดน และปัญหาทั่วไปที่เราพบคือ กัมพูชาไม่ใช่ประเทศใหญ่ บุคคลากรไม่ค่อยมีทักษะทางเทคโนโลยี แต่เมื่อได้เข้าร่วมโครงการ Fabulous ASEAN Breakfast ก็ได้ไอเดียใหม่ๆ ในการสอน เช่น การสอนผ่านโครงการที่มีขั้นตอนการเรียนรู้อย่างเป็นระบบ ซึ่งจะเป็นพื้นฐานของนักเรียนต่อไปในอนาคต ทั้งนี้ยังเป็นโครงการที่กระตุ้นให้ทั้งครูและนักเรียนตื่นตัวที่จะพัฒนาตนเองอยู่เสมอ 

ครูสุเทพ เท่งประกิจ (Mr. Suthep Tengprakit) PMCA 2019 
ครูโรงเรียนบ้านคลองน้ำใส (Klong Nam Sai School) ประเทศไทย 

เนื่องจากอาหารเช้าพ่วงมาด้วยวัตถุดิบและวัฒนธรรมท้องถิ่น กิจกรรมนี้จึงช่วยส่งเสริมให้ผู้เรียนมีทักษะการเรียนรู้ที่หลากหลายและครอบคลุม ตั้งแต่ฝึกทำอาหาร ฝึกการสื่อสาร ตลอดจนการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการกินอาหารเช้ากับเพื่อนต่างชาติ 

เนื้อหาของโครงการไม่ซับซ้อน แต่เน้นกระบวนการเรียรรู้ แก้ปัญหา และวางแผนล่วงหน้า ไม่ได้เน้นว่าเด็กต้องทำเก่ง แต่ต้องการฝึกให้เด็กแก้ปัญหา เช่นการใช้วัตถุดิบที่มีในท้องถิ่นแทนวัตถุดิบหายาก 

ด้านเด็กๆ ที่เข้าร่วมโครงการต่างกล่าวว่า โครงการนี้ช่วยเพิ่มประสบการณ์ ฝึกทักษะในการสื่อสารภาษาอังกฤษและเทคโนโลยี สร้างความมั่นใจในตนเอง และมีความกล้าพูดคุยกับเพื่อนใหม่ 

เมื่อครูมีความกล้า เด็กจะมีโอกาสก้าว 

ครูไซนุดินกล่าวว่า ทั้งสามประเทศพบปัญหาร่วมกันคือ ความช้าของอินเทอร์เน็ต ส่งผลให้บางครั้งไม่สามารถสื่อสารผ่านวิดีโอได้ นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องการสื่อสารภาษาอังกฤษ ครูจึงช่วยแก้ปัญหาด้วยการส่งรูปหรือข้อความแทน โดยใช้แอปพลิเคชันแปลภาษาร่วมด้วยเพื่อให้การสื่อสารประสบผลสำเร็จมากที่สุด ดังนั้นครูจึงเป็นกลไกที่สำคัญอย่างมากในการเปิดโอกาสให้เด็กได้ร่วมทำกิจกรรมอย่างมีประสิทธิภาพและครบถ้วน 

นอกจากนี้ครูยังได้ฝากคำแนะนำถึงครูท่านอื่นอีกว่า จงทำงานเอกสารให้น้อยลงและเตรียมสิ่งที่จะสอนให้มากขึ้น ที่สำคัญคือ ‘ต้องแพลนแล้วไม่นิ่ง’ หากคิดแล้วต้องลงมือทำเลย เพราะหากครูไม่กล้าเริ่มลงมือทำ เด็กก็จะไม่มีโอกาสก้าวเข้าไปเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ 

ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี กล่าวขอบคุณครูทุกท่านที่เข้าร่วมโครงการและมาเล่าประสบการณ์ให้ฟัง วิกฤตโควิด-19 ก็ถือเป็นโอกาสให้เราค้นพบศักยภาพตนเอง ทำให้มีมุมมองใหม่ๆ ที่เปิดกว้างมากขึ้น ทั้งนี้ทางมูลนิธิจะบันทึกวีดิโอการเสวนา จัดทำคู่มือ และสรุปบทเรียนจากโครงการเพื่อเผยแพร่ต่อไป 

บทสรุปของโครงการ

โครงการนี้ทำให้นักเรียน

  • สื่อสารอย่างมีความมั่นใจ กล้าแสดงออก
  • กล้าใช้ภาษาอังกฤษ
  • คุ้นชินกับเทคโนโลยี 
  • เรียนรู้วัฒนธรรมต่างประเทศ 

โครงการนี้ทำให้ครู

  • มีความมั่นใจในการใช้เทคโนโลยี
  • เห็นความสำคัญของการสอนอย่างเป็นระบบ
  • นำรูปแบบโครงการไปปรับใช้ต่อได้ 

ฝาก ‘แพลนแล้วไม่นิ่ง’ ถึงคุณครู

  • ครูต้องกล้าคิด กล้าลงมือทำ
  • อย่าปิดโอกาสตนเอง อย่าคิดว่าตนเองทำไม่ได้
  • ทำงานเอกสารน้อยลง เตรียมการสอนล่วงหน้าให้มากขึ้น 
  • เมื่อครูมีความกล้า เด็กจะมีโอกาสก้าว 

เรียบเรียงจาก เสวนาออนไลน์ “สุดยอดอาหารอาเซียน” กระบวนการเรียนรู้จากครูและนักเรียนในประเทศอาเซียนและติมอร์-เลสเต 

วันที่ 15 กรกฎาคม 2564 ผ่านช่องทาง ZOOM และ YouTube Live 

ร่วมเสวนาโดย 

ครูไซนุดดิน ซาคาเรีย (Mr. Zainuddin Zakaria)  
PMCA 2015 ประเทศมาเลเซีย หัวหน้าโครงการ FabulouS ASEAN Breakfast ที่ปรึกษาห้องเรียนไร้พรมแดนอาเซียน

ดร.เฮซุส อินซิลาดา (Dr. Jesus Catigan Insilad) 
PMCA 2017 และนักเรียนโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งชาติอัลคาเด กูสทีโล (Alcarde Gustilo Memorial National High School) ประเทศฟิลิปปินส์

ครูดี โซ พอน (Mrs. Dy Sophorn)
PMCA 2017 และนักเรียน โรงเรียนประถมศึกษามาคุมร็อกร่อง (Kumrou Krong Primary School) ประเทศกัมพูชา

ครูสุเทพ เท่งประกิจ (Mr. Suthep Tengprakit) 
PMCA 2019 และนักเรียนโรงเรียนบ้านคลองน้ำใส (Klong Nam Sai School) ประเทศไทย

ดำเนินรายการโดย ดร.ทินสิริ ศิริโพธิ์ (Dr. Tinsiri Siribodhi)

มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี