Empathy-Compassion เอาใจเขามาใส่ใจเราและเอาใจเรามาทำความเข้าใจหัวใจของเรา
ความสำคัญของทักษะทางอารมณ์และสังคมต่อกระบวนการเรียนรู้ "กรณีศึกษาเมืองเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์" โดย ครูจุ๊ย กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ

Empathy-Compassion เอาใจเขามาใส่ใจเราและเอาใจเรามาทำความเข้าใจหัวใจของเรา

Empathy เป็นความจำเป็นที่จะต้องมี ยิ่งในสถานการณ์ที่ทุกคนเผชิญความยากลำบากหลากหลายประการในชีวิต มวลความเครียดที่ต้องพบเจอทุกวันเรียกร้องให้เราอยากได้ empathy จากผู้อื่น แต่อันที่จริง empathy ทำงานเป็นระบบนิเวศทั้งกับตัวเรา ผู้อื่น และสังคมรอบข้าง เราจะใช้มันอย่างไร

เรามาไล่เรียงคำศัพท์ก่อน ความเข้าใจว่าเรากำลังทำอะไรอยู่กับตัวเองและผู้อื่น และสามารถถ่ายทอดออกมาเป็นคำๆ ได้ จะทำให้เราเรียกพฤติกรรมที่นักเรียนทำได้ เขาจะรับรู้ว่าพฤติกรรมเชิงบวกที่ทำอยู่มีชื่อเรียกว่าอะไร และมันคืออะไร ในครั้งต่อไปที่ทำ เขาจะสามารถทำมันได้ด้วยความเข้าใจที่ดีขึ้น

  1. Empathy หมายถึง การเอาใจเขามาใส่ในเรา ซึ่งทิศทางจะเป็นการพยายามทำความเข้าใจผู้อื่นจากมุมมอง บริบทที่พวกเขาอยู่ และแสดงมันออกมาในรูปแบบต่างๆ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นการช่วยเหลือผู้อื่น แต่เป็นมุมมองที่ใช้มองผู้อื่นและสถานการณ์ที่เขาอยู่
  1. Compassion มีพื้นฐานมาจาก empathy หมายถึง การที่เราสามารถสังเกตอารมณ์และ sensitive หรือละเอียด (อ่อน) กับความรู้สึกของอีกฝ่าย ทำความเข้าใจจากมุมมองของเขาได้ และแสดงออกถึง empathy ที่มีออกมา เช่น การไปช่วยเหลือผู้อื่นที่อยู่ในสถานการณ์ลำบาก ซึ่งถ้าจะลองเรียกเป็นภาษาไทยอาจใช้คำว่าความเห็นใจก็ได้ แต่ compassion จะแสดงออกมาเป็นการกระทำที่สามารถฝึกฝนกันได้ และทำให้เกิดความรู้สึกอบอุ่น ความสุข หรือการแสดงออกถึงความชื่นชมต่อผู้อื่น
  1. Self-compassion หมายถึง การที่เราดูแลหัวใจของเราเอง ทั้งในแง่การมองโลกแง่บวก การชื่นชมกับสิ่งต่างๆ รอบตัว การไม่โบยตีตัวเองจนหนักหน่วงเกินไปเมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่ท้าทายหรือยากลำบาก หรือเราได้ทำผิดพลาดไป เช่น การยอมรับความผิดพลาดโดยการมองว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ และจะทำให้ดีขึ้นในคราวต่อไปได้อย่างไรดี

สามคำนี้สำคัญอย่างไรต่อสถานการณ์ที่เรากำลังเผชิญอยู่

ลองมองห้องเรียนให้เป็นสังคมขนาดเล็กดู การที่เราต้องอยู่ในสังคมร่วมกัน เราควรมีทักษะอะไรบ้าง แน่นอนว่าเราต้องใช้ทักษะการสื่อสาร การทำงานร่วมกัน เหล่านี้หล่อหลอมเป็นสมรรถนะเมื่อฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอและจริงจัง 

ยกตัวอย่างหลักสูตรแกนกลางฉบับ Transversal competence จากประเทศฟินแลนด์ที่ระบุถึงสมรรถนะ 

T2 Cultural competence, interaction and expression โดยมี 3 ธีมหลักเป็นส่วนประกอบ ได้แก่

  1. การได้มีปฏิสัมพันธ์กับวัฒนธรรมต่างๆ 
  2. ทักษะด้านอารมณ์
  3. ชุมชนแห่งการเรียนรู้

ซึ่งประกอบไปด้วยปฏิสัมพันธ์ต่างๆ การทำงานร่วมกันเป็นทีม ด้วยการฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง ผ่านการทำงานที่นักเรียนได้ทดลองทำบทบาทอันหลากหลาย การวิเคราะห์เหตุการณ์ หรือสถานการณ์หนึ่งๆ จากมุมมองของคนที่แตกต่างกัน หรือจากวิธีคิดที่แตกต่างกัน และที่สุดคือการสร้างห้องเรียนและโรงเรียนให้เป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้

นอกจากนั้นโรงเรียนยังต้องเป็นพื้นที่ในการส่งเสริมสุขภาวะใจของเด็กๆ และทุกคนที่อยู่ในโรงเรียน สุขภาวะใจนี้ไม่ใช่เรื่องของปัจเจกเป็นแน่แท้ หากแต่เป็นเรื่องที่ต้องสร้างร่วมกันด้วยความเข้าใจเดียวกัน และทำให้เป็นกิจวัตรจนกลายเป็นความปกติธรรมดาในโรงเรียนไป ปัจจัยพื้นฐานหนึ่งของการอยู่ร่วมกันคือ ความเข้าใจเรื่อง empathy และ compassion

เมื่อนักเรียนกลับมาที่โรงเรียน คุณครูสามารถใช้เช็กลิสต์ง่ายๆ นี้สำรวจเบื้องต้นว่าชุมชนโรงเรียน ห้องเรียนของครูมีความเข้าอกเข้าใจผู้อื่นมากน้อยแค่ไหน และเราจะตั้งเป้าหมายเพื่อพัฒนาห้องเรียนของเราได้อย่างไรบ้าง

ระดับศูนย์ – ยังไม่ได้เริ่ม

คุณครูส่วนใหญ่ยังไม่ได้ให้ความสำคัญของทักษะด้านอารมณ์และสังคมของนักเรียน ไม่มีการพูดถึงเรื่องสุขภาวะ ไม่พูดถึงเรื่องมุมมองอันหลากหลาย การช่วยเหลือผู้อื่น และการแสดงออกเชิงบวกต่อกัน และมองว่าเรื่องจิตใจเป็นเรื่องไม่จำเป็นต่อการเรียนรู้

ระดับเริ่มต้น – เป็นรูปเป็นร่างบ้างแล้ว

โรงเรียนมีนโยบายดูแลด้านจิตใจให้กับนักเรียนบ้าง เช่น การให้เวลากับกิจกรรมที่นักเรียนทำตามความสนใจได้ และสามารถแสดงออกสิ่งที่ตัวเองสนใจได้ และครูเริ่มจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ให้ความสำคัญกับอารมณ์และความรู้สึกของนักเรียน เช่น ในห้องเรียนเริ่มมีการให้นักเรียนบอกว่าตัวเองชอบ หรือไม่ชอบกิจกรรม ทำแล้วรู้สึกอย่างไรบ้าง มีการฟังนักเรียนมากขึ้น สัดส่วนที่ครูพูดในชั้นเรียนน้อยลง 

ระดับกลาง – พร้อมเดินหน้าต่อที่สุด

เริ่มมีการวิเคราะห์ทิศทางการพัฒนาด้านอารมณ์และสังคมของนักเรียนในโรงเรียน ระดมสมองร่วมกันในการหาวิธีดูและจิตใจของทุกคนในโรงเรียน เช่น บนโต๊ะอาหารกลางวัน คุณครูเริ่มพูดคุยกันเป็นปกติว่าจะดูแลนักเรียนที่มีปัญหาการจัดการอารมณ์ไม่ได้ สื่อสารไม่ได้อย่างไรดี จนกลายเป็นแนวทางที่ปฏิบัติร่วมกัน นักเรียนได้ทำกิจกรรมในห้องเรียนที่ส่งเสริมความรู้จักอารมณ์ตนเอง และการแสดงออกเชิงบวกต่อผู้อื่นอย่างสม่ำเสมอ ผ่านกิจกรรมอย่าง บทบาทสมมติ การทำงานเป็นกลุ่ม วงแลกเปลี่ยนกลุ่มย่อย

ระดับสูงสุด – ร่วมออกแบบนโยบาย

นักเรียนได้ร่วมออกแบบกฎ ข้อตกลงของห้องเรียน หรือแม้กระทั่งนโยบายโรงเรียนที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพใจและกาย รวมถึงการมีส่วนร่วมกับชุมชนมากขึ้นในการสื่อสารเรื่องนี้ ทั้งกับครอบครัวและกับชุมชนที่ตัวเองอยู่ ผลักดันจนกลายเป็นเป้าหมายที่ชุมชนอยากพัฒนาร่วมกัน

ไม่ว่าคุณครูจะพบว่าโรงเรียนอยู่ในขั้นใดก็ตาม ขอให้ลองพยายามตั้งเป้าหมายที่ทำได้ ทำไปทีละขั้นละตอน เริ่มจากระดับภายในห้องเรียน ชั้นเรียน ระดับ และโรงเรียน ขอเพียงพยายามทำอย่างต่อเนื่อง

คุณครูทำได้
ดิฉันเชื่อเช่นนั้นเสมอ