เดินหน้าออกแบบนโยบาย “หลักประกันโอกาสทางการศึกษา” กับ พรทิพย์ กองชุน COO แห่ง Jitta สตาร์ตอัพด้านการลงทุน

เดินหน้าออกแบบนโยบาย “หลักประกันโอกาสทางการศึกษา” กับ พรทิพย์ กองชุน COO แห่ง Jitta สตาร์ตอัพด้านการลงทุน

รัฐควรส่งเสริมให้เกิดสภาพแวดล้อม หรือ ecosystem ทางการศึกษาที่ดี ครูผู้สอนก็ต้องมีบทบาทสำคัญในการช่วยกระตุ้นและส่งเสริมเด็กเช่นกัน เพื่อให้เด็กมั่นใจ กล้าคิด กล้าลงมือทำในสิ่งใหม่ และกล้าสร้างสรรค์อะไรที่ไม่เหมือนเดิมออกมา

ปัจจุบันเราได้เห็นสถาบันศึกษาหลายแห่งเริ่มปรับตัวกันแล้ว ตัวอย่างเช่น บางแห่งเริ่มให้ความสำคัญกับการสร้างทักษะมากกว่าใบปริญญา ซึ่งในมุมนี้อ้อค่อนข้างเห็นด้วย เพราะบริษัทอย่าง Jitta (จิตตะ) ก็เป็นสตาร์ตอัพที่ไม่ได้เน้นใบปริญญาเป็นสำคัญ แต่เรามองหาคนที่มีทักษะจำเป็นสำหรับโลกยุคใหม่มากกว่า

จากการสร้างสตาร์ตอัพเอง บวกกับประสบการณ์ตอนทำงานอยู่ Google ทำให้เราได้มีโอกาสสัมภาษณ์คนเข้าทำงานหลากหลายตำแหน่ง ซึ่งส่วนหนึ่งที่พบเวลาสัมภาษณ์คัดเลือกคนคือ ผู้สมัครจากไทยมีอัตราผ่านน้อยกว่าคนต่างชาติ แม้ว่าเทียบเคียงกันแล้วผู้สมัครคนไทยอาจจะมีระดับการศึกษาที่สูงกว่า เช่น อาจจบวุฒิปริญญาโท แต่ส่วนมากผู้สมัครคนไทยจะด้อยเรื่องมุมมองและทักษะวิธีคิดในการแก้ปัญหา ซึ่งนี่อาจเป็นผลจากหลักสูตรการศึกษาของเราก็เป็นได้

คนในระบบต้องส่งเสริมให้เด็กคิดนอกกรอบและกล้าลงมือทำ

ทักษะและวิธีคิดที่ระบบการศึกษาไทยควรเพิ่มให้เด็กนั้น อันดับแรกคือ เราต้องคิดแบบ innovative ต้องกล้าคิดอะไรใหม่ๆ ไม่ยึดติดอยู่ในกรอบเดิม การศึกษาไทยควรส่งเสริมและปล่อยให้เด็กคิด เริ่มจากเรื่องใกล้ตัวก็ได้ เช่น เราอาจเคยบอกเด็กว่า ตื่นนอนแล้วเขาต้องทำกิจวัตร 1-5 อย่างนี้นะ ต้องทำตามลำดับเป๊ะๆ ห้ามเปลี่ยนแปลงด้วยนะ แต่ถ้าวันหนึ่งเด็กเขาไม่อยากทำตามลำดับนี้แล้ว เพราะเขาไปคิดมาใหม่ว่า การปรับเปลี่ยนลำดับกิจวัตรอาจจะเหมาะกับเขามากกว่า เขาอยากจะขอออกแบบกิจกรรมใหม่ สร้างสิ่งประดิษฐ์ที่มาช่วยให้อาบน้ำได้เร็วขึ้น เป็นต้น หากเขาเกิดไอเดียแบบนี้ขึ้น เหล่าผู้ใหญ่และระบบการศึกษาก็ควรส่งเสริม เพราะนี่คือการคิดแบบสร้างสรรค์ นอกกรอบ ซึ่งในอนาคตนี่ เด็กเหล่านี้อาจสามารถสร้างนวัตกรรมขึ้นมาจากกระบวนการคิดนอกกรอบนี้ก็ได้

ลำดับที่สอง การศึกษาควรส่งเสริมให้เด็กคิดแล้วต้องลงมือทำ หากมีไอเดียสร้างสรรค์แล้วก็ต้องริเริ่มทำด้วย ลองทำดูก่อน กล้าคิดกล้าทำ แม้จะไม่สำเร็จ ไม่ได้รับคำชม แต่ไม่เป็นไร อย่างน้อยเราได้ลองดู และจะได้ฝึกปรับปรุงไปเรื่อยๆ ด้วย ซึ่งสิ่งนี้ไม่ใช่แค่เด็กเล็กหรอกนะคะที่ต้องฝึก แต่อาจรวมถึงผู้ใหญ่อย่างเราๆ ด้วย ที่ต้องกล้าคิดกล้าลงมือทำ

ต้องทบทวนด้วยว่าการเรียนออนไลน์อาจไม่เหมาะกับทุกระดับชั้น

ตลอด 2 ปีมานี้ เราอาจเห็นข่าวเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาบ่อยขึ้น โดยเฉพาะช่วงที่เด็กทั้งประเทศต้องเรียนออนไลน์ สังคมไทยได้พบว่า มีเด็กในชนบทจำนวนมากที่ไม่มีมือถือ แท็บเล็ต หรือเข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ต แน่นอนว่าในระยะสั้น หากปัญหาคือเด็กไม่มีอุปกรณ์การเรียน และเข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ต ก็ต้องมอบสิ่งเหล่านี้ให้เขา เพื่อให้เด็กได้ใช้ในการเรียน แต่ขณะเดียวกันเราก็ต้องทบทวนถึงประเด็นสำคัญอีกหนึ่งอย่างด้วยเช่นกัน นั่นคือ การเรียนออนไลน์นั้นเหมาะสมกับเด็กทุกระดับชั้นหรือเปล่า และจำเป็นไหมที่ต้องให้เด็กระดับอนุบาลและประถมต้นเรียนผ่านออนไลน์

ส่วนตัวแล้ว อ้อก็มีลูกคนโตในวัยอนุบาล คือเขาอายุ 5 ขวบ ที่ผ่านมาลูกก็มีปัญหากับการเรียนออนไลน์เหมือนกัน คือเด็กจะจดจ่อกับการเรียนผ่านหน้าจอได้ไม่นาน ดังนั้น เราอาจจะต้องกลับมาพิจารณาธรรมชาติการเรียนรู้ของเด็กแต่ละระดับ เด็กเล็กอาจจะไม่เหมาะกับการเรียนออนไลน์ ขณะที่ระดับประถมปลายและมัธยมอาจจะควบคุมตัวเองให้จดจ่อกับการเรียนหน้าจอได้ดีกว่า แต่โรงเรียนและคุณครูควรออกแบบการเรียนให้เด็กได้มีส่วนร่วม ให้เด็กได้แสดงความคิดเห็น อย่าให้เขาแค่นั่งนิ่งแล้วจ้องจอเพื่อฟังครูสอนเท่านั้น นอกจากนี้ต้องมีช่วงพักที่ให้เด็กออกไปทำกิจกรรมอื่นนอกเหนือจากจ้องจอด้วย เช่น ให้เขาไปอ่านหนังสือ หรือศึกษาเนื้อหาในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับบทเรียนมา เป็นต้น

รูปแบบการเรียนรู้ที่เราได้เห็นและสัมผัสจากต่างประเทศคือ ครูจะให้เด็กไปอ่านหรือศึกษาประเด็นนั้นๆ มาก่อน แล้วในชั้นเรียนก็มาพูดคุย แสดงความคิดเห็น แลกเปลี่ยนกัน โดยมีครูคอยเสริมหรือช่วยดูแล รูปแบบนี้จะทำให้เด็กมีส่วนร่วม คลาสในต่างประเทศจะเป็นแบบนี้หมดเลย ดังนั้นชั้นเรียนออนไลน์ของไทยก็ต้องปรับตัว เพื่อให้เหมาะกับธรรมชาติการเรียนรู้ของเด็กด้วย

โอกาสทางการศึกษาต้องแก้ไขจากทั้งต้นน้ำและปลายน้ำ

ในแง่ข้อเสนอเสนอแนะเรื่องหลักประกันโอกาสทางการศึกษา ส่วนตัวมองว่า ต้องทำทั้งส่วนต้นน้ำและปลายน้ำ

ต้นน้ำคือ เปิดโอกาสให้ทุกคนเข้าถึงการศึกษาให้ได้มากที่สุด ซึ่งการที่ กสศ.​กำลังพยายามนำดาต้าหรือฐานข้อมูลมา matching หรือทำงานร่วมกับกองทุนและมูลนิธิอื่นๆ นั้น ถือเป็นกระบวนการสำคัญ ซึ่งเห็นด้วยอย่างยิ่ง แต่ขณะเดียวกันก็คิดว่าอาจจะลองขยายโอกาสตรงนี้ให้มากกว่าแค่การศึกษา คืออาจรวมไปถึงการเทรนนิ่งทักษะให้เด็ก หรือเปิดโอกาสให้เด็กได้ลองฝึกงานกับบริษัทต่างๆ เพื่อเป็นการเพิ่มพูนทักษะที่จำเป็นต่อโลกอนาคตด้วย

ปลายน้ำคือ การปรับคุณภาพการศึกษา อันนี้ต้องทำทั้งโครงสร้าง ซึ่งอาจจะแก้ได้ยาก แต่ถ้าไม่แก้ก็ยิ่งไม่ได้อะไรเลย ดังนั้นต้องปรับหลักสูตร ปรับโครงสร้างการเรียนรู้ รวมถึงปรับมุมมองด้วย เช่น ระดับอุดมศึกษา อาจต้องเลิกมองว่า ปีหนึ่งรับเด็กเข้าเรียนกี่คน แล้วจบออกไปกี่คน แต่เปลี่ยนมาวัดว่า เราสร้างคนที่จบออกไปอย่างมีคุณภาพและเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศได้กี่มากน้อย เพราะหากคนที่จบไปจากสถาบันของเรา เขาไปเป็นแรงงานคุณภาพต่ำ มีรายได้น้อย ก็จะทำให้เกิดวงจรซ้ำเดิมอยู่ดี ดังนั้นต้องปรับคุณภาพการศึกษา

หากเราสามารถสร้างคนให้มีคุณภาพได้ เมื่อเขาได้รับโอกาสที่ดีในชีวิต อ้อเชื่อว่าคนกลุ่มนี้จะกลับมาช่วยเหลือเด็กในกลุ่มต้นน้ำอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการช่วยให้ทุนการศึกษา ช่วยบริจาค หรือช่วยสร้างสรรค์นโยบายที่ดีอื่นๆ ให้เกิดขึ้น