เดินหน้าออกแบบนโยบาย “หลักประกันโอกาสทางการศึกษา” กับ เนตรดาว ยั่งยุบล ผู้ประสานงานเครือข่ายการทำงานเด็กนอกระบบการศึกษา 41 เครือข่าย

เดินหน้าออกแบบนโยบาย “หลักประกันโอกาสทางการศึกษา” กับ เนตรดาว ยั่งยุบล ผู้ประสานงานเครือข่ายการทำงานเด็กนอกระบบการศึกษา 41 เครือข่าย

ถ้าจะมีหลักประกันโอกาสทางการศึกษา ก็ควรมีหลักประกันสร้างความเสมอภาค

-โรงเรียนในพื้นที่สีแดงที่ได้คะแนนต่ำติดดิน ไม่เคยมีคุณภาพการศึกษาที่ดีขึ้น แต่โรงเรียนพื้นที่สีเขียวซึ่งมีแค่กระจุกหนึ่ง เช่น กระจุกอยู่ในเมือง แต่ถ้าถามถึงเงินรายหัว พื้นที่สีแดงควรได้รับการสนับสนุนที่มากกว่า เพราะจะได้เพิ่มคุณภาพขึ้นมา แต่กลับได้รับทรัพยากรสนับสนุนที่น้อยลงและถูกยุบโรงเรียน ถูกจัดการเชิงเดี่ยวครอบทั้งหมดโดยศูนย์รวม คือตัดเสื้อตัวเดียวสำหรับทุกพื้นที่ เป็นแบบนั้นไม่ได้ เหนือ กลาง อีสาน ใต้ บริบทของพื้นที่ชายแดน กับบริบทของเด็กที่มีคุณภาพนั้นต่างกัน นโยบายเดียวไม่สามารถจัดการได้ นี่เป็นเรื่องจัดสรรทรัพยากรที่ไม่มีความเสมอภาค 

-โรงเรียนที่ได้รับการสนับสนุน มีคุณภาพดี จะเข้าถึงโอกาส นโยบาย งบประมาณการสนับสนุน มีเด็กช้างเผือก งบรายหัวก็เพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้นจะทำอย่างไรให้เด็กกลุ่มต่างๆ หรือโรงเรียนห่างไกลเข้าถึงความเสมอภาค เพราะความเสมอภาคนี่ละ เป็นหลักประกันที่ดีสุดสำหรับการศึกษา 

-การมีหลักประกันโอกาสทางการศึกษา จะช่วยทำให้คุณภาพการศึกษาไม่ตกต่ำกว่านี้ โดยเด็กที่มีปัญหาอาจแบ่งเป็นสามกลุ่ม คือ เด็กปัจจุบันที่อยู่ในโรงเรียน เด็กที่ drop out และเด็กที่ไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาได้เลย คำถามคือ เราจะทำอย่างไรให้เด็กสามกลุ่มนี้เข้าถึงได้การศึกษาได้

-เด็กแต่ละกลุ่มมีลักษณะที่แตกต่างกันคือ  เด็กปัจจุบันที่อยู่ในโรงเรียน ปัจจุบันดูตามพื้นที่ที่เราทำงาน มีเด็กเสี่ยงหลุดประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ คือ เด็กที่ติด ร ติด 0 ติด มส อยู่จำนวนมาก กับอีกส่วนคือเด็กที่ไม่สามารถมาเรียนตามปกติหรือไม่สามารถเรียนบนฐานออนไลน์ได้ เด็กกลุ่มนี้หลุดแน่นอน ยังมีเด็กแขวนลอยคือเด็กมีชื่อในโรงเรียนแต่ไม่มีตัวตน ไม่รู้ไปอยู่ไหน 

เด็กที่ drop out  มีอย่างน้อย 15 ประเด็นปัญหาที่เด็กเผชิญอยู่ เป็นปัญหาที่มีความซับซ้อนและเปราะบาง เช่น ความยากจน ไม่มีความสามารถทางการศึกษา และที่ซับซ้อนมากกว่านั้นคือ เด็กกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ห่างไกล ขาดการเรียนรู้เรื่องภาษา มีวัฒนธรรมเฉพาะ  เด็กบางคนอยู่ในพื้นที่ป่า ต้องมีการอพยพเวลาทำไร่หมุนเวียน หรืออยู่ในพื้นที่ยาเสพติด 

เด็กที่ไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาได้เลย คือกลุ่มเปราะบาง เด็กแก๊งบนท้องถนน เด็กพิการ เด็กถูก abuse เด็กมีปัญหาความรุนแรงในครอบครัว หมดโอกาสแม้แต่สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน อีกกลุ่มคือเด็กแรงงานข้ามชาติและเด็กแรงงานในบริบทสังคมไทย เป็นแรงงานเด็กที่เคลื่อนย้ายตามพ่อแม่ อีกส่วนเป็นเด็กที่เกี่ยวข้องเรื่องยาเสพติดและเข้าสู่สถานพินิจหรือเรือนจำ เด็กส่วนนี้ต้องอ้างคำพูดของป้ามล ทิชา ณ นคร บ้านกาญจนาภิเษก ที่ว่า “เมื่อประตูโรงเรียนปิด ประตูคุกก็เปิดรับทันที”

ระหว่างอยู่ในสถานพินิจ มี กศน.เข้าไป แต่เด็กอาจไม่พร้อมจะเรียน กศน.ให้จบ เรียกว่า การศึกษายังไม่สอดคล้องกับการเรียนรู้และสภาวการณ์ที่เด็กเจอจริงๆ พอเขาถูกปล่อยตัวออกมา ส่วนใหญ่จะกลับเข้าไปอีกเนื่องจากไม่มีกระบวนการรองรับ ถ้าเด็กจะกลับมาเรียนหนังสือ เด็กจะถูกบูลลี่ว่าเป็นคนขี้คุก หรือมีเด็กเรียนจบ กศน. ม.3 ออกมาอยากเรียนต่อ ม.4 แต่ทางโรงเรียนไม่ยอมรับวุฒิ กศน. ก็เป็นปัญหารอยต่อ เขาก็หลุดจากระบบการศึกษา สุดท้ายไม่ได้มีชีวิตที่ดีขึ้นกว่าเดิม กลับเข้าสู่วงจรเดิม เมื่อไม่ได้มีการเปลี่ยนกระบวนการหรือเปลี่ยนนิเวศของเด็ก

ในความด้อยโอกาสจะมีปัญหาที่ซับซ้อนอยู่ คำถามคือมีกลไกอะไรที่ทำให้เด็กเข้าถึงการศึกษาได้

-โรงเรียนมีกลไกอะไรในการคัดกรอง ช่วยเหลือ และมีระบบดูแลเด็กที่เสี่ยงหลุดเหล่านี้ ปกติคุณครูก็มีภารกิจหนักอยู่แล้ว มีโครงการที่ต้องทำสนองนโยบายกระทรวงศึกษา ทำให้คุณภาพก็ลดลงด้วย ถ้าเราถามครูว่าทำไมเด็กถึงเสี่ยงหลุด เท่ากับเราบอกว่าครูไม่มีคุณภาพหรือประสิทธิภาพทางการศึกษาเลย ลำพังครูและโรงเรียนไม่สามารถแก้ปัญหาหรือมีกลไกที่ช่วยได้ 

-ฉะนั้นการทำ “หลักประกันโอกาสทางการศึกษา” ต้องคำนึงถึงประเด็นต่างๆ ต่อไปนี้ 

ประเด็นที่หนึ่ง กลุ่มเด็กมีความหลากหลาย มีสภาพปัญหาที่มีความซับซ้อนมากขึ้น เด็กมีหลากหลายรูปแบบ มีวิธีการเรียนรู้หลายรูปแบบ 

ประเด็นที่สอง ปัญหาของเด็กสามกลุ่มนี้ มีระบบและกลไกอะไรที่ทำให้เด็กเข้าถึงการศึกษา

ประเด็นที่สาม วิธีการเรียนรู้หรือรูปแบบการศึกษาตอบโจทย์ชีวิตเด็กไหม 

ประเด็นที่สี่ ถ้าจะมีหลักประกันโอกาสทางการศึกษา ควรมีหลักประกันที่สร้างความเสมอภาค

ประเด็นที่ห้า ต้องมีความร่วมมือในเชิงพื้นที่ จะรอการกระจายอำนาจทางการศึกษาคงต้องใช้เวลาอีกนาน

 

-ที่จังหวัดนครพนม ทุกหน่วยงานไม่ว่าจะเป็นศึกษาธิการเขต โรงเรียน ผอ.โรงเรียน สถานพินิจ ศาล หัวหน้าศาลที่เกี่ยวข้องกับเด็ก ศูนย์ฝึก ผู้ว่าราชการจังหวัด สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน สถาบันอุดมศึกษามหาวิทยาลัย กระทรวง พม. สาธารณสุข มาร่วมมือกัน 

-สิ่งที่เราทำอันดับแรกคือ สำรวจว่าเด็กสามกลุ่มตอนนี้มีอยู่เท่าไหร่ เราทำฐานข้อมูลเพื่อให้ทุกฝ่ายยอมรับว่ามีจริง เดินสำรวจโดยใช้ อสม. อปท. ผู้ปกครองก็ร่วมมือกับเรา ข้อมูลตรงนี้เรียกว่าเอาความจริงมาเจอกัน ที่สำคัญทุกฝ่ายยอมรับ 

-เริ่มต้นจากโรงเรียน 5 แห่งร่วมมือกัน การเรียนออนไลน์ที่มีประสิทธิภาพ มีการนิเทศเด็กหรือตั้งห้องเรียนพิเศษขึ้นมา อีกส่วนคือสร้างกระบวนการเรียนรู้ ตั้งแต่ค้นหาตัวตน สร้างเป้าหมาย มีแผนชีวิตร่วมกัน ทำให้เขาสะสมความสำเร็จ ได้มีอาชีพ ทำให้คุณภาพชีวิตยกระดับ จากนั้นก็เลือกเส้นทางการศึกษาของตน บางคนอยากต่ออาชีวะ บางคนต้องพัฒนาตั้งแต่ ม.1-3  บางคนอยากเป็นผู้ประกอบการ นี่คือเส้นทางที่ออกแบบโดยเด็ก