เดินหน้าออกแบบนโยบาย “หลักประกันโอกาสทางการศึกษา” กับ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล

เดินหน้าออกแบบนโยบาย “หลักประกันโอกาสทางการศึกษา” กับ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล

หยุดการศึกษาแบบ “กรงขัง” และสร้างการศึกษาที่ทำให้เด็กไทยรู้สึกทะเยอทะยาน

-ถึงเวลาที่เราต้องตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมความทะเยอทะยานทางการศึกษาของเด็กไทยถึงค่อนข้างจำกัด ภารกิจที่ กสศ. กำลังทำ เช่น มอบทุนเสมอภาคให้แก่เด็กจากครอบครัวยากจนและยากจนพิเศษนั้น ผมเห็นด้วย แต่ขณะเดียวกันผมมองว่า ความทะเยอทะยานทางการศึกษาไม่ได้เกี่ยวกับเงินเพียงอย่างเดียว เราต้องถามก่อนว่าการศึกษาในระบบตั้งแต่ประถมศึกษาจนถึงมัธยมศึกษานั้น เราสามารถสร้างแรงบันดาลใจและทำให้เด็กเห็นคุณค่าในการเรียนรู้ จนทำให้เขาอยากเรียนรู้อย่างต่อเนื่องหรือเปล่า หรือว่าแท้จริงแล้วโรงเรียนเป็นเพียงแค่กรงขัง พยายามสั่งให้เขารู้ บอกให้เขาเชื่อ จนเขาเบื่อหน่าย รู้สึกว่า “ไม่เอาแล้ว”

-เมื่อนิยามการศึกษาที่เขาเคยวาดฝันไว้ กับนิยามที่ผู้มีอำนาจยัดเยียดให้เขาไม่เหมือนกัน ไม่ได้เอาความทะเยอทะยานและความฝันของเด็กเป็นตัวตั้ง มันเลยทำให้เขาไม่อยากเรียนต่อ เราต้องไม่ลืมว่าการเรียนคือการเสริมศักยภาพเพื่อทำให้เด็กสามารถวิ่งตามความฝันได้เร็วขึ้น พาพวกเขาไปเจอกับชุมชนวิชาชีพที่มีความฝันเหมือนกัน แล้วเขาก็ได้พัฒนาคุณค่าจากการเรียนรู้นั้น 

-แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในการศึกษาไทยตอนนี้ เราต้องตั้งคำถามว่าการศึกษาได้ให้สิ่งนั้นกับเด็กหรือเปล่า ต้องทบทวนว่ากลไกทางการศึกษาของไทย เช่น ระบบการศึกษา ครู หลักสูตร การจัดตารางเรียน รูปแบบการสอบ รูปแบบการประเมินผล และค่านิยมภายในโรงเรียน  เอื้อให้เด็กหาตัวเองเจอหรือเปล่า ทำให้เด็กอยากเรียนต่อไหม

หลักประกันโอกาสทางการศึกษาต้องมาพร้อมคุณภาพชีวิตที่ดี

-ผมดีใจที่ กสศ.ให้ทุนเสมอภาคแก่เด็กยากจนและยากจนพิเศษ เพราะถึงเด็กไทยจะได้เรียนฟรีในการศึกษาภาคบังคับอยู่แล้ว แต่การศึกษาก็ไม่ใช่แค่เรื่องเรียนอย่างเดียว แต่ต้องทำคู่กับการพัฒนาคุณภาพชีวิตไปด้วย

-ถึงจะมีอาจารย์จากสถาบันชั้นนำของโลกมาสอน พร้อมมีสื่อการเรียนระดับโลกประกอบการเรียนรู้ แต่ถ้าท้องคุณหิวเพราะความจน สภาพจิตใจย่ำแย่เพราะถูกอำนาจนิยมในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยบีบคั้นกดดัน คุณคิดว่าตัวเองจะเรียนรู้เรื่องไหม และจะมีความรู้สึกอยากเรียนหรือเปล่า เรื่องนี้คือส่วนหนึ่งของคุณภาพชีวิตที่ดีที่ผมพูดถึง

-การศึกษาควรต้องมาพร้อมคุณภาพชีวิตที่ดี นอกจากการเรียนฟรีในการศึกษาภาคบังคับแล้ว รัฐอาจต้องจัดงบประมาณอาหารเช้า และอาจต้องคิดเผื่อไปถึงช่วงปิดเทอมด้วยซ้ำว่าจะให้เด็กๆ เข้าถึงอาหารเช้าอย่างไร ส่วนงบประมาณอาหารกลางวันก็อาจต้องจัดสรรงบให้ดีกว่านี้ รวมถึงควรสร้างความปลอดภัยในโรงเรียน อย่าปล่อยให้มีเด็กถูกไฟฟ้าดูดจนเสียชีวิตในโรงเรียนอีกเลย เรื่องพวกนี้น่าเศร้าเกินไป

สร้างหลักประกันทางเครือข่ายสังคมให้เด็ก

-การสร้างสมาคมและเครือข่ายทางสังคมให้เด็กเป็นอีกข้อเสนอหนึ่งที่ผมอยากพูดถึง ในสังคมไทยนอกจากความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงข้อมูลแล้ว เด็กจำนวนไม่น้อยยังเจอความไม่เท่าเทียมในการสมาคมด้วย

– “ความไม่เท่าเทียมในการสมาคม” คืออะไร ยกตัวอย่างเช่น เด็กยากจนพิเศษอาจจะได้เรียน แต่เวลาที่เขาสงสัยหรือไม่เข้าใจการบ้านที่ครูสั่ง เขาไม่รู้จะหันหน้าไปสอบถามใคร เพราะด้วยปัจจัยสังคมเศรษฐกิจของครอบครัว สมาชิกในบ้านก็ไม่สามารถช่วยตอบข้อสงสัยเขาได้  แตกต่างจากเด็กในเมืองหรือเด็กที่มีเครือข่ายสังคม เด็กกลุ่มหลังนี้ถ้าเขาเกิดสงสัย อาจจะใช้มือถือถ่ายรูปโจทย์หรือเนื้อหา แล้วโพสต์ผ่านอินเตอร์เน็ตเพื่อสอบถามเพื่อนๆ หรือถามคนในครอบครัวได้  นี่คือ “ความไม่เท่าเทียมในการสมาคม”

-ผมคิดว่าเราต้องมองเรื่องของการสร้างสมาคมและเครือข่ายในการช่วยให้เด็กเข้าถึงการศึกษา เข้าถึงความรู้ แล้วควรมีที่ปรึกษาทางการศึกษาให้แก่เด็กด้วย เด็กจำนวนมากโดยเฉพาะในต่างจังหวัด เป็นครอบครัว “แหว่งกลาง” หมายถึงพ่อแม่โยกย้ายไปทำงานต่างถิ่น แล้วเด็กต้องอยู่กับปู่ย่าตายาย ซึ่งท่านอาจไม่สามารถแนะแนวหรือสอนการบ้านเด็กได้ ดังนั้นผมจึงอยากเสนอให้มีงบประมาณการศึกษาส่วนหนึ่ง เพื่อจัดตั้งสมาคมเครือข่ายในการเป็นพี่เลี้ยง เป็นที่ปรึกษาให้กับเด็กๆ อย่างน้อยเวลาเขาถูกรังแกในโรงเรียน หรือเจอเรื่องที่ทำให้จิตใจย่ำแย่ จะได้มีพี่เลี้ยงคอยเป็นแบ็กอัพให้ เพื่อให้เขามีความมั่นคงในความฝันต่อไป  เครือข่ายนี้ยังสามารถเป็นตัวกลางในการช่วยเหลือเด็ก เป็นสะพานเชื่อมไปยังความช่วยเหลือของภาครัฐได้ เช่น ช่วยติดต่อกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อให้กระทรวงยื่นมือมาช่วยเด็ก เป็นต้น

-สร้างคุณภาพชีวิตที่ดี สร้างความรักในการเรียนรู้ และสร้างให้เด็กๆ มีสมาคมเครือข่ายที่ดี นี่เป็นสิ่งพื้นฐานก่อนที่เราจะไปถึงหลักสูตรการศึกษาอีกนะ นอกจากนี้เรายังควรยึดนักเรียนเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง คือ เราควรต้องให้อธิปไตยเด็กในการตัดสินใจ โดยที่เราเป็นส่วนสนับสนุนเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของเขา เพื่อให้เขารักในการเรียนรู้ สร้างให้เขามีสมาคมเครือข่ายแวดล้อมที่ดี เพื่อช่วยให้เขาเข้าถึงข้อมูลที่เขาสนใจ ได้รับความความปลอดภัยในโรงเรียน รวมถึงมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก

ใครอยากเรียนต้องได้เรียน โดยไม่จำเป็นต้องกำหนดว่าเมื่อไหร่

-ประเทศจะพัฒนาได้ เราต้องสร้างให้คนอยากเรียน  ถ้าใครมีความรู้สึกว่าอยากเรียนแล้ว เขาก็ต้องได้เรียน ซึ่งคำว่า “อยากเรียน” ก็ไม่จำเป็นต้องกำหนดว่าเมื่อไหร่ สมมติมีเด็กสักคนจบมัธยมปลายแล้วอยากมี Gap Year เลือกออกไปทำงาน 1 ปี จนรู้ตัวว่าอยากเรียนอะไรแล้ว เขาก็ควรได้สิทธิในการกลับมาเรียน หรือแม้กระทั่งคนอายุ 30 กว่าปี หากอยากพัฒนาตนเอง พัฒนาอาชีพ อัพสกิล รีสกิล เขาก็ควรต้องได้เรียน รัฐควรต้องสนับสนุน อาจจะไม่ต้องสนับสนุนทั้งหมดก็ได้ แต่ควรให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี หรือเงื่อนไขสนับสนุน นี่คือสิทธิเลยนะ รัฐควรสนับสนุนเพื่อให้เขามี productivity มากขึ้น 

การลงทุนในเด็กไม่ถือว่าแพง

-เคยมีงานวิจัยที่ทำเรื่อง Income Mobility แม้งานวิจัยนี้ไม่ได้สำรวจไทยด้วย แต่มีประเทศที่มี GDP และดัชนีความยากจนใกล้เคียงกับไทยอยู่ในการสำรวจเช่นกัน ซึ่งนักวิจัยพบว่าต้องใช้เวลาถึง 6-7 รุ่นอายุคน  ถึงจะทำให้เด็กคนหนึ่งหลุดพ้นความยากจนได้ พูดง่ายๆ คือ ต้องตายแล้วเกิด 7 ครั้ง เด็กถึงจะหลุดพ้นความยากจน

-แต่ผมตั้งคำถามว่า ถ้ารัฐไทยลงทุนกับเด็กตั้งแต่เขากำเนิดจนถึงวัยแรงงานอายุ 22 ปี มันก็แค่ระยะ 22 ปีเอง แต่ในช่วงเวลาราว 2 ทศวรรษนี้ เราจะสามารถเปลี่ยนชีวิตของเด็กๆ ไปได้เลย ไม่ต้องรอจนถึง 6-7 รุ่น สมมติว่ารัฐอุดหนุนดูแลเด็กเกิดใหม่ในปีหน้า คือปี 2565 อย่างเต็มที่ตลอด 22 ปี รวมถึงอุดหนุนเด็กที่เกิดก่อน 2565 เช่นกัน (แต่อาจจะอุดหนุนด้วยรูปแบบแตกต่างไป) เมื่อลองคำนวณคร่าวๆ จะพบว่ารัฐจะต้องอุดหนุนด้านการศึกษาและด้านอื่นๆ กับกลุ่มนี้เป็นจำนวนรวมประมาณ 12 ล้านคน 

-การอุดหนุนนี้จะทำให้คุณภาพชีวิตคนดีขึ้น คนจำนวนมากหลุดพ้นความยากจน คุณภาพชีวิตคนในประเทศดีขึ้น เราจะมีนักคิด นักพัฒนา นักปฏิวัติ ที่จะเปลี่ยนโฉมหน้าประเทศเราให้เจริญรุดหน้าอีกมากมาย จากการลงทุนเพียง 22 ปี…และผมอยากย้ำอีกครั้งว่าการลงทุนในเด็กมันไม่แพงหรอก