เดินหน้าออกแบบนโยบาย “หลักประกันโอกาสทางการศึกษา” กับ ดร.ณัฐวุฒิ เผ่าทวี ศาสตราจารย์ทางด้านพฤติกรรมศาสตร์ ที่ Warwick Business School สหราชอาณาจักร

เดินหน้าออกแบบนโยบาย “หลักประกันโอกาสทางการศึกษา” กับ ดร.ณัฐวุฒิ เผ่าทวี ศาสตราจารย์ทางด้านพฤติกรรมศาสตร์ ที่ Warwick Business School สหราชอาณาจักร

การศึกษาคือสิทธิมนุษยชน
-โดยส่วนตัวผมคิดว่า การศึกษาคือสิทธิมนุษยชน มนุษย์ทุกคนควรมีสิทธิได้รับการศึกษา รวมถึงเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาอย่างเท่าเทียม (Equitable Access to Education) ไม่ว่าจะยากดีมีจนก็ตามที ดังนั้นในแง่นี้ผมจึงมองว่านโยบาย Conditional Cash Transfer หรือที่ กสศ. เรียกว่า โครงการจัดสรรเงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไข (ทุนเสมอภาค) นั้น เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เพราะนั่นคือการส่งต่อโอกาสทางการศึกษาให้แก่คนที่ขาดโอกาส 

การให้ทุนเพื่อสร้างแรงจูงใจให้เด็กอยากเรียนนั้นดี แต่ต้องมีระบบตรวจสอบที่ดีด้วย
-อย่างไรก็ตาม ผมมีข้อคิดเห็นบางส่วนต่อ Conditional Cash Transfer (CCT) หรือโครงการจัดสรรเงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไข (ทุนเสมอภาค) ว่า การมอบเงินอุดหนุนให้เด็กกลุ่มยากจนและยากจนพิเศษโดยกำหนดเงื่อนไขให้เด็กต้องเข้าเรียนสม่ำเสมอ และมีสุขภาพดีตามเกณฑ์กำหนดนั้น ถือเป็นการกำหนดแรงจูงใจที่ดี แต่กระนั้นแรงจูงใจอย่างเดียวอาจจะ

1) ไม่มีประสิทธิภาพมากพอ
2) อาจเกิดสถานการณ์เช่น ครูและคนในชุมชนเห็นใจและอยากช่วยเหลือเด็ก โดยถึงแม้ว่าเด็กจะไม่ได้มาเรียนตามเกณฑ์เงื่อนไข แต่ครูและคนในชุมชนอาจกรอกข้อมูลไม่ตรงตามจริงเพื่อช่วยเหลือเด็กก็เป็นได้ 

ดังนั้น Conditional Cash Transfer (CCT) น่าจะต้องมาพร้อมระบบที่ซัพพอร์ตคุณครูและชุมชนด้วย ขณะเดียวกันก็ตรวจสอบได้ ทั้งยังควรเป็นระบบที่ลดแรงจูงใจที่ผู้เกี่ยวข้องจะโกงระบบ เช่น กรอกข้อมูลไม่ตรงความจริง เป็นต้น เพราะหากไม่มีระบบตรวจสอบที่ดี โอกาสที่เราจะตำน้ำพริกละลายแม่น้ำก็มีเยอะ อันนี้คือมุมที่ผมมองในฐานะที่เป็นนักเศรษฐศาสตร์นะครับ

-ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดคืออินเดีย เขามีการสร้างแรงจูงใจทางการศึกษาโดยไม่ได้ติดตามอย่างถี่ถ้วนจริงจัง ไม่ได้เช็กว่าเด็กได้รับการสนับสนุนจริงไหม ซึ่งพอให้เงินอย่างเดียว แล้วไม่ได้ตามดู ไม่ได้ตรวจสอบ มันก็ส่งผลให้เกิดปัญหาเยอะเหมือนกัน

ทางออกการศึกษาอาจต้องเริ่มที่การหา pain point ให้เจอก่อน
-ต้องออกตัวว่าครั้งสุดท้ายที่ผมเรียนที่เมืองไทยคือเมื่อ 30 ปีก่อน ซึ่งนานมากแล้ว เลยไม่แน่ใจว่าตอนนี้การศึกษาไทยเจอความท้าทายตรงไหนบ้าง แต่เท่าที่รู้คือมีความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาที่ค่อนข้างสูง โดยนอกจากเรื่องรายได้ครอบครัวของเด็กในเมืองและเด็กในชนบทจะแตกต่างกันแล้ว แม้กระทั่งเรื่องคุณภาพทางการศึกษาก็ยังแตกต่างกันค่อนข้างเยอะ ยังไม่นับรวมความแตกต่างระหว่างโรงเรียนรัฐ เอกชน และโรงเรียนอินเตอร์ ที่แตกต่างกันชัดเจน ปัจจุบันใครมีอำนาจเงินก็เข้าถึงการศึกษาคุณภาพได้มากกว่า การศึกษากลายเป็นสินค้า แทนที่จะเป็นสิ่งที่ทุกคนควรได้รับอย่างเท่าเทียมกัน

-จากที่ได้ยินมา เรื่องมีเด็กจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้เรียนในระบบ เราอาจต้องกลับมาดูก่อนว่า pain point ที่ทำให้เด็กที่อยากเรียนแล้วไม่ได้เรียนนี่คืออะไร ถ้า pain point เกิดจากปัจจัยคือฐานะครอบครัว ตรงนี้อาจจะแก้ตรงจุดได้โดยการใช้เม็ดเงินเข้าช่วย ถ้าครอบครัวเด็กขาดแคลนตรงไหน รัฐก็ควรช่วยสนับสนุนตรงนั้นเพื่อให้เด็กได้เรียนต่อ 

-แต่ถ้า pain point มันเกิดจากอย่างอื่น ไม่ได้อยู่ที่ปัจจัยฐานะ แต่เป็นเรื่องของค่านิยมและความคิดบางอย่าง เช่น ในบางพื้นที่ ครอบครัวอาจจะมีความคิดว่าเรียนไปทำไม จบมาก็หางานทำยาก นั่นเพราะเขาเจอความยากจนซ้ำซากมาก่อน เขาไม่มีโรลโมเดลให้เห็นว่าการศึกษาช่วยชีวิตได้ ซึ่งความคิดและค่านิยมตรงนี้ถือเป็น pain point อย่างหนึ่ง ไม่ได้เกี่ยวกับฐานะอย่างเดียวแล้ว แต่เกี่ยวกับ “aspiration” หรือความมุ่งมาดปรารถนาของครอบครัว 

-ดังนั้นหาก pain point เป็นอย่างนี้ เราต้องมาคิดไตร่ตรองว่าจะเปลี่ยนความคิดเขายังไง จะทำให้เขาเห็นได้ยังไงว่าการศึกษาคือการลงทุนระยะยาวอย่างหนึ่งของทั้งตัวเด็ก ครอบครัว และชุมชนด้วย ทำยังไงให้เขามองการณ์ไกล ไม่มองระยะสั้นอย่างเดียว และจะทำยังไงให้ชุมชนเองก็มีบทบาทช่วยเหลือด้วย

-ถ้าให้ผมมอง หน้าที่ของชุมชนสำคัญมาก โดยเฉพาะชุมชนในชนบท หากเราสามารถสร้างระบบหรือเกณฑ์บางอย่าง ให้ชุมชนมีบทบาทในการส่งเสริมการศึกษาของเด็ก คิดว่าแนวทางนี้ก็น่าสนใจ 

-แต่กระนั้นต้องกลับไปยังจุดเริ่มต้น  เราต้องหาให้เจอว่า pain point ทางการศึกษาไทยคืออะไร อยู่ตรงไหน เพราะถ้าเราเข้าใจตรงนั้นได้ เราจะสามารถกำหนดได้ว่าควรแก้ไขยังไงให้ตรงจุด เพราะการหว่านเงินอย่างเดียวอาจจะไม่ได้ผลนัก

โควิด-19 กับโจทย์ทางการศึกษาระยะสั้นและระยะยาวที่รัฐต้องเตรียมรับมือ 
-การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้เด็กไทยหลายคนต้องหลุดออกจากระบบ ที่เหลืออยู่จำนวนไม่น้อยก็เรียนไม่ทันเพื่อน เนื่องจากเด็กกลุ่มนี้เข้าไม่ถึงอุปกรณ์อย่างสมาร์ตโฟนหรือแท็บเล็ต หรือบางครั้งเด็กไม่มีอินเทอร์เน็ตใช้ด้วยซ้ำ ซึ่งการแก้ปัญหานี้ในระยะสั้น ผมว่าทำได้ค่อนข้างยาก ทั้งนี้ผมมีข้อเสนอแนะอยู่บ้าง แต่ไม่แน่ใจว่าจะเหมาะกับสถานการณ์ในไทยขณะนี้มากน้อยเพียงใด

-ข้อเสนอแนะคือ การทำ “Bubble โรงเรียน” โดยให้นักเรียนมาอยู่ในบับเบิล กินนอนในโรงเรียนเป็นเทอม แล้วให้คุณครูก็มาอยู่ในนี้ด้วย ซึ่งการทำอย่างนี้อาจจะต้องใช้เม็ดเงินเยอะเหมือนกัน แต่จะทำให้เด็กได้เรียนในชั้นเรียนจริงๆ ขณะเดียวกันก็ช่วยลดการแพร่กระจายเชื้อ อย่างไรก็ตาม เท่าที่ติดตามข่าว ทางเลือกนี้อาจจะไม่สอดคล้องกับนโยบายภาครัฐ เพราะเหมือนรัฐบาลไม่ได้สนใจหรือให้ความสำคัญว่าจะต้องทำเป็นบับเบิลให้เด็กนักเรียนแต่อย่างใด 

-ข้อเสนอแนะสำหรับมาตรการระยะยาว คือ ช่วงที่โควิด-19 ระบาด น่าจะมีหลายครอบครัวที่เจอปัญหาเศรษฐกิจ ทำให้เด็กนักเรียนจำนวนหนึ่งต้องออกจากระบบไปทำงานหรือช่วยเลี้ยงดูครอบครัว ซึ่งหากระยะเวลาผ่านไป เมื่อเศรษฐกิจกลับมาดีแล้ว คำถามสำคัญคือ เราจะทำอย่างไรกับเด็กกลุ่มที่ตัดสินใจออกจากการศึกษาในช่วงที่โควิด-19 ระบาด เราจะ re-educate เขาหรือเปล่า? จะมีโครงการที่ช่วยให้เขาได้กลับเข้าเรียนและได้ reskill ไหม? อันนี้เป็นโจทย์ที่ต้องคิดเผื่อไว้เช่นกัน