พงศกร อาสาพิทักษ์ไพร : จากสนามหลังบ้านสู่นักฟุตบอลทีมชาติ ความฝันที่ขยายขนาดเมื่อได้รับโอกาสทางการศึกษา

พงศกร อาสาพิทักษ์ไพร : จากสนามหลังบ้านสู่นักฟุตบอลทีมชาติ ความฝันที่ขยายขนาดเมื่อได้รับโอกาสทางการศึกษา

หากนึกย้อนกลับไปตอนที่ยังเป็นนักเรียน คุณเคยเขียนใบลาด้วยเหตุผลอะไรกันบ้าง บางคนอาจจะเคย ‘ลาป่วย’ ด้วยเหตุผลทางสุขภาพ หรือบางคนคนอาจเคย ‘ลากิจ’ เพราะผู้ปกครองติดธุระสำคัญและจำเป็นต้องเดินทางไปกับครอบครัว บางคนอาจจะใช้วันหยุดเพียง 2-3 วันและกลับมาเรียนอีกครั้ง เพราะการที่ต้องกลับมาตามส่งงานในแต่ละวิชาคงไม่ใช่เรื่องน่าสนุกสักเท่าไหร่

แต่สำหรับ แดง พงศกร อาสาพิทักษ์ไพร อดีตนักเรียนชั้น ม.2 โรงเรียนบ้านนาเกียน อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ เจ้าของ ‘จดหมายลาครู’ ที่เขียนบอกเล่าเหตุผลที่ตนเองจำเป็นต้องลาหยุดไปช่วยแม่เก็บลำไย เขาไม่ได้ใช้เวลาเพียง 2-3 วัน เนื่องจากภาระทางการเงินที่ครอบครัวต้องแบกรับทำให้คาดการณ์ไม่ได้ว่าจะได้กลับเข้ามาเรียนอีกครั้งเมื่อไหร่ ที่มาของเรื่องราวทุนการศึกษาของน้องแดงจึงเริ่มมาจากการที่ ครูบอย นพรัตน์ เจริญผล คุณครูประจำชั้นของแดงในขณะนั้นออกเดินทางไปหาลูกศิษย์ที่บ้าน และพาเขากลับเข้ามาสู่ห้องเรียนอีกครั้ง

แดงไม่ใช่นักเรียนเพียงคนเดียวที่ต้องตกอยู่ในสภาวะดังกล่าว สถิติจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เผยให้เห็นว่าในช่วงเวลา 3-4 ปีที่ผ่านมา มีเด็กนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษที่หลุดหายไปจากระบบการศึกษาไปมากกว่า 85,000 คน การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และวิกฤตเงินเฟ้อ ผลักให้หลายครอบครัวต้องอยู่ในภาวะยากจนเฉียบพลัน ‘เงินอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจน’ และ ‘เงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไข (ทุนเสมอภาค)’ จึงเข้ามามีบทบาทสำคัญในการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน

แต่คำถามที่สำคัญคือ เมื่อเงินอุดหนุนถูกจัดสรรให้กับเด็กแล้ว โอกาสที่เขาจะได้เรียนรู้ เป็นตัวของตัวเอง และสร้างโอกาสขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง จะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน

จากวันนั้นถึงวันนี้ ระยะเวลาผ่านมา 3 ปี แดงกำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 เป็นทั้งนักเรียนและกัปตันทีมฟุตบอลที่โรงเรียนอมก๋อยวิทยาคม จังหวัดเชียงใหม่

แดง พงศกร อาสาพิทักษ์ไพร เจ้าของ ‘จดหมายลาครู

“ถ้าความฝันก็อยากไปเตะบอลทีมชาติ ถ้าไปไม่ถึงก็น่าจะเล่นบอลเดินสายกับเพื่อน ๆ ครับ” 

นี่เป็นเพียงท่อนหนึ่งในบทสนทนา เด็กชายบอกเราด้วยรอยยิ้มสบายๆ ได้แบบนั้น เพราะเขาปลดภาระเรื่องค่าใช้จ่ายลงจากบ่าไปมากแล้ว 

เรานั่งคุยกันที่ร้านกาแฟในทำเนียบรัฐบาล หลังจากที่ได้เข้าพบ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอาชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะตัวแทนนักเรียนทุนเสมอภาคที่ได้รับการศึกษาอย่างต่อเนื่อง  เราพูดคุยแบ่งปันเรื่องทุนการศึกษาและโอกาสที่เขาได้รับ ชีวิตในห้องเรียนเป็นอย่างไร คาบเรียนหรือคุณครูคนไหนที่เขาชื่นชอบ รวมถึงเส้นทางการเรียนในอนาคต พร้อมกับครูบอย อดีตคุณครูประจำชั้นที่มีส่วนสำคัญในการพาเขากลับมาอยู่ในเส้นทางการศึกษา

บทสนทนาส่วนใหญ่ที่เราได้คุยกันมักวนเวียนเกี่ยวกับกีฬาฟุตบอลที่แดงคลั่งไคล้ มิตรภาพที่ได้รับจากการตระเวนออกไปแข่งขันกับเพื่อน ๆ และความฝันที่ตนเองอยากจะเล่นให้กับฟุตบอลทีมชาติ อะไรที่ทำให้สายตาของเด็กคนหนึ่งเปล่งประกายเพราะฟุตบอลได้ขนาดนั้น แล้วทุนการศึกษาที่เขาได้รับไปส่งผลอย่างไรต่อชีวิตของเขาบ้าง ไม่ใช่เพียงการได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างเดียวหรอกหรือ

ปฐมบทของจดหมายลาครู “ผมไม่รู้ว่าจะได้กลับมาโรงเรียนอีกเมื่อไหร่”

รายงานการติดตามผลการศึกษาทั่วโลก องค์การยูเนสโก (UNESCO Global Education Monitoring Report: GEM) รายงานว่า เด็กและเยาวชน 244 ล้านคนทั่วโลกที่อายุระหว่าง 6-18 ปีหลุดออกจากระบบการศึกษาในปี 2021 ในระดับโลก วาระเรื่องเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาจึงถือว่าเป็นวาระระดับชาติที่อยู่ยั้งยืนยงที่หลายประเทศกำลังวางแผนลงมือแก้ไข

ตัดภาพแคบลงมาที่ทวีปเอเชีย แคบลงมาอีกที่เมืองไทย ไปจนถึงพื้นที่เล็ก ๆ บนดอยแถวโรงเรียนบ้านนาเกียน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ เมื่อสองถึงสามปีก่อน แดงอาจจะกำลังเตะบอลอย่างสนุกสนานกับเพื่อน ๆ ขนาดพื้นที่และความแตกต่างของสนาม ยังวนอยู่แค่พื้นที่จิ๋วแถวบ้าน และสนามกับเพื่อน ๆ ที่โรงเรียน 

และท่ามกลางกิจกรรมในชีวิตประจำวันเหล่านั้น เด็กชายแดงก็เกือบจะเป็นเด็กอีกหนึ่งคนในสถิติของยูเนสโกที่หลุดออกจากระบบการศึกษา

“ถ้าจะต้องไปโรงเรียนก็ต้องเดินเท้าไปประมาณ 10 กิโลฯ ไป-กลับก็ประมาณ 20 กิโลฯ พอเห็นว่าแม่ไปเก็บลำไยอยู่คนเดียว ไม่มีใครช่วยแม่ทำงานเลย ผมก็เลยเขียนจดหมายบอกครู ว่าขอไปช่วยแม่ดีกว่า แล้วก็ตัดสินใจติดรถมากับน้าเพื่อลงมาข้างล่างดอย”

หากย้อนกลับไป 3 ปีก่อน ในขณะนั้นแดงเรียนอยู่ในระดับชั้น ม.2 โรงเรียนบ้านนาเกียน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ตัดสินใจเขียนจดหมายลาถึงคุณครูประจำชั้นและบอกเล่าเหตุผลที่ตนเองไม่สามารถไปโรงเรียนได้ เนื่องจากตัดสินใจแล้วว่าจะต้องไปช่วยแม่รับจ้างเก็บลำไย และไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ที่จะได้มีโอกาสกลับเข้ามาเรียนอีกครั้ง การขาดเรียนติดต่อกันหลายสัปดาห์ทำให้ครูบอยที่อยู่ในฐานะครูประจำชั้นในขณะนั้นสังเกตเห็น และออกเดินทางไปหาที่บ้าน เพื่อพูดคุยและขอให้กลับไปเรียนต่อ

“ตอนนั้นคือแดงเขาหยุดไป ได้รู้มาว่าพ่อก็เพิ่งเสียไป แล้วพี่ก็ไปทำงานในเมืองหมด แดงก็อยู่กับแม่สองคน ตอนนั้นแม่ก็ไม่ค่อยสบาย พอดีว่าบ้านเขาอยู่ใกล้ ๆ โรงเรียนก็เลยไปตาม ก็เห็นว่าไปเก็บลำไย ไปหาเงิน ดูแล้วค่อนข้างลำบาก ก็มาเขียนจดหมายลาครู

ต้องเข้าใจว่าโรงเรียนผมเป็นโรงเรียนขยายโอกาส เป็นจุดศูนย์กลางของชุมชนตรงนั้น ครอบครัวของเด็ก ๆ บนดอยส่วนมากมีฐานะยากจน ส่วนใหญ่ผู้ปกครองจะไม่ค่อยมีเงินส่งให้เรียน พ่อแม่อยากให้รีบไปช่วยทำสวนทำไร่ให้เร็วที่สุด พอเรื่องการศึกษาไม่ใช่เป้าหมายที่สำคัญ ทำให้เด็ก ๆ ในละแวกนั้นส่วนมากจบแค่ ป.6 สูงสุดก็แค่ ม.3 แล้วก็ไปทำการทำงานหารายได้เป็นหลักเป็นแหล่ง บางคนก็เลือกลงไปทำงานในเมืองเพื่อส่งเงินกลับมาให้ที่บ้าน”

สถานการณ์จำเป็นหลายอย่างบีบให้เด็กบนดอยจำนวนมากไม่ได้เข้าถึงการศึกษาได้อย่างทั่วถึง  อย่างในกรณีของแดง พี่ชายของเขาเองก็ต้องตัดสินใจลงจากดอยเพื่อไปทำงานที่ร้านอาหารเพื่อเลี้ยงชีพและจุนเจือครอบครัว ส่วนพี่สาวก็ทำงานรับจ้างถ่ายรูปที่ดอยสุเทพ นาน ๆ ครั้งถึงจะได้กลับบ้านเพื่อมาเยี่ยมครอบครัว ครูบอยเห็นรอยต่อและรอยแยกของสถานการณ์นี้ดี เขาจึงพยายามที่จะช่วยเด็กรายคน ให้กำลังใจ และหาทุนการศึกษาที่จะสนับสนุนค่าใช้จ่ายให้กับเด็ก ๆ 

หลังจากขับมอเตอร์ไซค์ไปหาแดงที่บ้านเพื่อเจรจาและขอให้กลับไปเรียนต่อ ครูบอยเขียนบอกเล่าเรื่องราวที่ตนเองพบเจอลงในโซเชียลมีเดียจนนำไปสู่แนวทางการให้ความช่วยเหลือ

ครูบอย นพรัตน์ เจริญผล คุณครูประจำชั้นของแดง

‘ครู’ จึงนับว่าเป็นเป็นตัวละครที่สำคัญในการทำหน้าที่ ‘ตัวกลาง’ ในการทำให้นักเรียนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายได้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งทุนจากหน่วยงานที่ต้องการสนับสนุน โดยมีขั้นตอนตั้งแต่การลงพื้นที่เยี่ยมบ้านนักเรียน ตรวจสอบข้อมูลพื้นฐานที่ต้องนำมาใช้พิจารณาการให้ทุน ประชุมกับคณะกรรมการสถานศึกษา และส่งข้อมูลให้กับต้นสังกัดเพื่อรับรองความถูกต้อง หากขาดตัวกลางในการเชื่อมโยงอาจจะส่งผลให้มีนักเรียนจำนวนมากเสียสิทธิที่ตนเองควรจะได้รับ

“สำหรับผม ครูนี่เป็นจุดศูนย์กลางในการเชื่อมข้อมูลเลยครับ ไปเยี่ยมบ้าน ดูว่ามีปัญหาอะไร แล้วประสานกับทาง กสศ.” ครูบอยเน้นย้ำความสำคัญของบทบาทดังกล่าว

ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้จัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษหรือ ‘ทุนเสมอภาค’ ให้กับนักเรียนยากจนพิเศษมากกว่า 1.2 ล้านคน โดยใช้วิธีการคัดกรองผ่านข้อมูล 2 ประเภท ได้แก่ รายได้เฉลี่ยสมาชิกครัวเรือน (ไม่เกิน 3,000 บาท/คน/เดือน) และสถานะทางครัวเรือน 8 ด้าน เช่น ภาวะพึ่งพิงในครอบครัว ความมั่นคงและวัสดุที่ใช้ทำที่อยู่อาศัย หรือการเข้าถึงสาธารนูปโภคขั้นพื้นฐานอย่างน้ำประปาและไฟฟ้า หากมีความขาดแคลนทางทุนทรัพย์ (PMT) มากกว่า 50 คะแนน จะจัดอยู่ในกลุ่ม ‘ยากจนพิเศษ (Extremely poor)’ และแดงคือหนึ่งในนักเรียนเหล่านั้นที่ได้รับทุน

“ผมสนใจฟุตบอลมากกว่าการเรียน สนใจในกีฬา บางทีเพื่อนก็เตือนครับ เพื่อนผมนี่คอยเตือนตลอด ให้กลับมาเรียนบ้าง “แค่ไปแข่งวันเดียวจะเป็นไรไป!” ผมก็ตอบไป ไม่ต้องห่วง (หัวเราะ) เพื่อนเลยบอกว่าจะไปก็ไปนะ เดี๋ยวลาให้ พอกลับมาตอนเย็น เพื่อนก็ส่งงานมาให้ลอก ผมก็เลยทำครับ”

เด็กชายที่เราพูดคุยอยู่ตรงหน้ามีความมั่นใจเต็มเปี่ยม พูดจาฉะฉานและมีรอยยิ้มมากเป็นพิเศษเมื่อเขาเล่าถึงเรื่องฟุตบอล โรงเรียน การศึกษา ณ ปัจจุบัน กิจวัตรปกติ อารมณ์สุข เศร้า เหงา เซ็ง ที่เกิดขึ้นทั่วๆ ไปตามประสาเด็ก ซึ่งก่อนหน้านี้หลายปี ตอนที่เขายังต้องคิดหนักเรื่องภาระค่าใช้จ่าย ทั้งค่าเล่าเรียนและค่าใช้จ่ายทางบ้าน เราก็จินตนาการไม่ออกว่าเขาจะยังคงเป็นเด็กที่เล่นมุกเรื่องการเรียน หรือยิ้มง่าย หัวเราะง่ายเหมือนตอนนี้หรือเปล่า

และหลังจากนั้นแดงจึงเปลี่ยนพื้นที่ในการเล่นฟุตบอลและฝึกฝนชีวิตของเขาไปเรื่อย ๆ จากพื้นสนามแถว ๆ บ้านบนดอย  พื้นสนามที่โรงเรียนบ้านนาเกียน ไปสู่พื้นสนามที่โรงเรียนอมก๋อย และสนามแข่งที่โรงเรียนอื่น ๆ ตามโอกาส

จากสนามหลังบ้านสู่นักฟุตบอลทีมชาติ ความฝันที่ขยายขนาดเมื่อได้รับโอกาสทางการศึกษา

“เวลาอยู่ในห้องเรียน ผมก็อยู่กับเพื่อน ๆ แต่พอเลิกเรียนแล้ว พวกผู้ชายจะชวนผมไปเล่นวอลเลย์ฯ กัน และเมื่อมีงานแข่งบอล ผมก็จะชวนเพื่อน ๆ ไปสมัคร หยุดเรียนไปแข่งบอลเลยครับ! เรารวมกันออกค่าใช้จ่าย ออกค่าเสื้อ ไปหาประสบการณ์”

แดงในเวอร์ชันปัจจุบันเล่าให้เราฟังอย่างสนุกสนานเมื่อถามถึงกิจกรรมที่มีฟุตบอลเป็นส่วนประกอบในการศึกษา ถูกต้องแล้ว พูดได้เต็มปากว่าฟุตบอลเป็นส่วนประกอบของการศึกษาที่เขากำลังสนุกอยู่ ซึ่งที่ดูสนุกก็เพราะว่า ทุนการศึกษาที่แดงได้มาทำให้กีฬาชนิดนี้กลายเป็นชิ้นส่วนของความฝันที่ชัดเจนขึ้น การเรียนก็สนใจ แต่ชีวิตเองก็ต้องใช้ เขาเลยมีความมั่นใจที่จะคิดได้เองว่า การศึกษาเล่าเรียนเชิงวิชาการเป็นส่วนผสมที่เขารู้จักเล่นแร่แปรธาตุไปกับมัน อยากเป็นเลิศในการค้าแข้งเพื่อเลี้ยงชีพมากกว่า

“ก่อนหน้านั้นมีความคิดอย่างเดียวว่าถ้าไม่มีทุน ก็จะไม่เรียนต่อแล้วครับ ค่าใช้จ่ายมันเยอะไป”

ค่าใช้จ่ายแฝงทางการศึกษาเป็นหนึ่งปัจจัยทำให้มีนักเรียนยากจนพิเศษต้องหลุดออกจากระบบการศึกษาเป็นจำนวนมาก เพราะค่าใช้จ่ายทางการศึกษานั้นไม่ได้มีแค่ค่าเล่าเรียน แต่ยังแฝงไปด้วยค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง เช่น ค่าเดินทาง ค่าอาหาร หรือค่าอุปกรณ์การเรียนเพิ่มเติมที่นอกเหนือจากงบประมาณอุดหนุนรายหัวของรัฐบาล

ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผ่านมา ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งขึ้นสูงเนื่องจากมาตรการทางการคลังที่อัดฉีดเม็ดเงินจำนวนมากเพื่อพยุงระบบเศรษฐกิจ มูลค่าที่แท้จริงของเงินในกระเป๋าลดลงอย่างไม่ทันตั้งตัว รายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในภาคการศึกษาที่ 1/2565 พบว่าครอบครัวของนักเรียนยากจนพิเศษมีรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนเพียง 1,044 บาทต่อเดือน หรือคิดเป็น 34 บาทต่อวันเท่านั้น

ปรากฏการณ์เช่นนี้นอกจากจะส่งผลต่อความยากลำบากในการใช้ชีวิตแล้ว ยังส่งผลต่อวิธีคิดและความรู้สึกที่เกิดขึ้นในแต่ละวันอีกด้วย ความเครียด ความกังวล และความกดดันในการเอาตัวรอดจากสภาวะเศรษฐกิจดังกล่าว

“ตอนที่ยังไม่ได้ทุน ไม่มีความสุขเลยครับ มันกังวล จำได้ว่ามีช่วงที่ต้องจ่ายค่าเทอมของโรงเรียนแล้วเพื่อนเขาจ่ายกันหมดแล้ว เหลือผมที่ยังไม่ได้จ่าย เป็นคนเดียวในห้องเรียน นี่คือจุดกังวลเลย คิดตลอดเลยว่าจะเอายังไงดี จะหาเงินจากไหน สัปดาห์นี้จะมีเงินพอไหม ไหนจะต้องซื้อเสื้อ ชุดนักเรียน เสื้อพละ รองเท้า ชุดกีฬา ค่าอาหารกลางวัน บางวันก็ไม่พอ

แต่พอได้ทุนแล้วก็วางเรื่องพวกนั้นไปเลยครับ มันหายห่วง พอรู้ว่าไม่ต้องหาเงินด้วยตัวเองแล้ว ทำให้ตอนเรียนรู้สึกว่ามีความสุขขึ้นมามาก ๆ ได้ใช้ชีวิตอยู่กับเพื่อน ๆ อย่างเต็มที่”

นอกจากเรื่องฟุตบอล ดวงตาของเขาฉายแววสนุกสนานเมื่อเอ่ยถึง “เพื่อน ๆ” ด้วยเช่นกัน เพราะสังคมเพื่อนก็เป็นองค์ประกอบที่ขาดแล้วก็เหมือนขาดน้ำหล่อเลี้ยงจิตใจตั้งแต่ไหนแต่ไรมา ตอนที่แดงไม่ได้ไปโรงเรียนอย่างสม่ำเสมอ เขาก็ขาดสังคมแวดล้อมที่ทำให้ชีวิตมีความสุขตามประสาเด็กไปด้วย 

แต่ดูเหมือนว่าบริบทรายล้อมในการบ่มเพาะความสุขได้กลับมาหาเขาอีกครั้งเรียบร้อยแล้ว

“ผมชอบเรียนกับเพื่อนมาก ๆ ช่วยกันทำงานกลุ่ม ทำกิจกรรมด้วยกัน เวลาที่ผมไม่เข้าใจในวิชาไหนก็จะไปนั่งข้าง ๆ เพื่อนที่เข้าใจในวิชานั้น แต่บางครั้งเพื่อนก็มานั่งข้างผมเหมือนกัน (หัวเราะ) ผมถามเพื่อนบ้าง เพื่อนถามผมก็มี รู้สึกว่าช่วยกันได้ก็ช่วย ช่วยเท่าที่ช่วยได้ รู้สึกอยู่กับเพื่อนแล้วมีความสุขครับ”

นอกจากความสุขในห้องเรียนแล้ว เมื่อถามถึงความสุขในมิติอื่น ๆ ที่ได้พบเจอในโรงเรียนอีก แดงก็อดที่จะเล่ากิจกรรมโปรดของตนเองให้ฟังไม่ได้

“เวลาอยู่ในห้องเรียน ความสุขของผมคือการได้อยู่กับเพื่อน แต่เวลาหลังเลิกเรียน ความสุขของผมคือการได้เตะฟุตบอลกับเพื่อน ๆ ไปลงสมัครตามงานแข่ง ช่วยกันออกค่าใช้จ่าย พวกค่าเสื้อ ออกไปหาประสบการณ์ข้างนอก เรียนรู้จากฝีเท้าของคนอื่น แพ้ชนะไม่ได้สนใจ แม้ว่าจะยังไม่เคยได้เงินรางวัล แต่ก็ถือว่าได้ประสบการณ์”

ผมชอบฟุตบอลมาก เอาจริง ๆ ชอบมาตั้งแต่เด็กแล้วครับ เป็นความชอบส่วนตัวของผมเอง ผมเห็นพี่ในหมู่บ้านเขาเล่นกัน ตอนนั้นทำได้แค่ไปช่วยเขาเก็บบอล แต่ตอนนี้ไม่กลัวแล้วครับ”

และเมื่อถามถึงเหตุผลในเหตุผลที่ชอบฟุตบอล แดงเล่าให้ฟังอย่างไม่ลังเล
ผู้คนครับ ผมชอบผู้คน ตอนแรกที่ลงสนามแข่งผมไม่รู้จักเขาใช่ไหม แต่พอได้เล่นฟุตบอลด้วยกันแล้ว จบเกมก็ได้จับไม้จับมือ ทำความรู้จักกัน มีน้ำใจนักกีฬา แม้ว่าในสนามฟุตบอลเราจะเป็นคู่แข่ง นอกสนามเราคือเพื่อนกัน เราได้เพื่อนเยอะขึ้น ยิ่งตอนที่เราทำประตูได้แล้วมีเพื่อนวิ่งมาดีใจด้วย มันทำให้ผมเล่นฟุตบอลไม่มีเบื่อเลย เวลาไปแข่ง ก็ไปหลายที่เลยครับ รู้จักฝีเท้าของคนอื่น รู้จักคนอื่นที่แกร่งกว่าเรา แพ้ชนะก็ไม่ได้สนใจ ก็ถือว่าประสบการณ์ของตัวเองดีกว่า เก็บเกี่ยวจากเขาครับ

ยิ่งฟังเขาเล่าเรื่องประสบการณ์ที่ได้เล่นฟุตบอลกับเพื่อน ๆ หรือมุมมองชีวิตที่สะท้อนออกมาอย่างชัดเจนผ่านกีฬา ความขี้เล่น และการปรับตัวให้เข้ากับเลขอายุที่มากขึ้นแต่ยังอยู่ในวัยเดียงสา ก็ยิ่งไม่น่าเป็นห่วง แม้แต่ครูบอยที่นั่งอยู่ข้าง ๆ ก็ยังยิ้มขำและแสดงท่าทีปลงออกมาเป็นบางครั้ง เวลาแดงบอกว่าตัวเองก็ไม่ได้ตั้งใจเรียนอะไรเท่าไหร่หรอก

“ผมสนใจฟุตบอลมากกว่าการเรียนในห้องอีกนะ สนใจจนเพื่อนในห้องต้องมาเตือนตลอดว่าให้กลับมาเรียนบ้าง อาจารย์ก็ชอบแซวว่า เรียนไม่ค่อยมา แต่กีฬาไม่เคยขาดเลยนะ (หัวเราะ)”

แม้แดงจะชอบย้ำว่าเขาชอบฟุตบอลมากกว่า ไม่ได้ตั้งใจเรียนมากจนเพื่อนต้องช่วยกันเข็น ครูช่วยกันแซวและตักเตือนให้เพลา ๆ เรื่องฟุตบอล แต่ผลการเรียนของเขาถือว่าอยู่ในระดับเป็นเลิศ นั่นคือแดงมีผลการเรียนที่ติดอันดับ 5 ของชั้นเรียน จนเราต้องแซวเขาเพิ่มว่า เราอาจจะกำลังคุยอยู่กับเด็กที่เรียนเด่นกีฬาดัง แต่เด็กคนนั้นถ่อมตัวเอาเสียมาก ๆ 

นอกจากการรับบทบาทกัปตันทีมบนสนามแล้ว แดงยังรับบทบาทข้างสนามอย่าง ‘ช่างซ่อมรองเท้าสตั๊ด’ เพราะมองเห็นลู่ทางอาชีพที่อาจจะต่อยอดได้ เขาฝึกฝนทักษะจากการดูคลิปวิดีโอบน YouTube และนำฝีมือดังกล่าวมาใช้หารายได้ในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ จากคำแนะนำของรุ่นพี่แถวบ้าน

“ผมเริ่มซ่อมสตั๊ดตั้งแต่อยู่ ม.4 แล้วครับ เห็นพี่แถวบ้านโพสต์ลงเฟซบุ๊กว่าหารายได้เสริม ผมก็ไปเรียนรู้จาก YouTube ได้มาคู่ละร้อย แต่คู่หนึ่งก็ใช้เวลานานอยู่ พวกปุ่มพัง รองเท้าเปิด บางคนซื้อสตั๊ดมาใหม่แล้วอยากใช้ให้ได้นาน ๆ ก็เอามาเย็บไว้”

ตอนนี้ผมก็เรียน ปวช. ด้วย ถ้าไม่ได้เรียนต่อในด้านกีฬา ก็คงจะไปซ่อมรถที่บ้านครับ แม้ว่าตอนนี้จะซ่อมยังไม่ค่อยเก่ง แต่เปลี่ยนยางรถยนต์นี่ได้อยู่”

“ความฝันสูงสุดของผมคือการได้ไปเล่นให้กับทีมชาติครับ แต่ไม่รู้จะยังไหวไหม อายุเท่านี้แล้ว”

เราต่างยิ้มให้กัน เพราะต่างรู้ว่าคำตอบนั้นเป็นเรื่องของอนาคตและความพยายามของเจ้าตัว

แต่ในวันนี้ สิ่งที่ชัดเจนมาก ๆ คือเขามีทัศนคติที่เติบโตจากการได้รับโอกาสทางการศึกษา ทำให้มีเวลามากพอที่จะคิดแก้ไขปัญหาระหว่างเดินทาง ทำความเข้าใจว่าชีวิตอยากจะทำอะไรต่อ ติดอาวุธทักษะคิดวิเคราะห์ที่สามารถเอาตัวรอดได้ จนหัวเราะและมั่นใจไม่ว่าโลกจะผันผวนอีกสักเท่าไหร่ก็พร้อมลุย

ไม่ใช่แค่แรงจูงใจระดับบุคคล แต่เป็นแรงจูงใจของคนทั้งชุมชน

เงื่อนไขของทุนเสมอภาคที่ต้องการให้ผู้ที่ได้รับทุนนั้นจะต้องเข้าเรียนมากกว่าร้อยละ 80 ของเวลาเรียนทั้งหมดเพื่อรักษาสถานะการได้รับสิทธิเอาไว้นั้น เป็นแรงจูงใจที่ทำให้นักเรียนพยายามเข้าเรียนอย่างสม่ำเสมอ แต่แรงจูงใจทางการศึกษาดังกล่าวนั้นไม่ได้เกิดขึ้นกับนักเรียนที่ได้รับทุนเท่านั้น แต่ยังเป็นแรงจูงใจให้กับคนในชุมชนรอบๆ ให้กลับมาสนใจในการเรียนอีกครั้ง ครูบอยเล่าให้ฟังถึงความเปลี่ยนแปลงที่สัมผัสได้ เมื่อชุมชนได้รับรู้ข่าวสารเกี่ยวกับทุนการศึกษา

“เมื่อก่อนตอนที่ข่าวสารเรื่องทุนยังเข้ามาไม่ถึงชุมชน ผมก็เห็นว่าเด็กเขาไม่อยากเรียนกันนะ พอเด็ก ๆ เห็นเพื่อนตัวเองออกจากโรงเรียนไปทำงานข้างล่างดอย มีเงินมาซื้อเสื้อ ซื้อโทรศัพท์มือถือ หลายคนก็เลยพากันไม่เรียนไปด้วยเลย หายไปกันพักใหญ่ พอกลับมาเรียนต่อเราก็ไม่รู้จะทำยังไง ต่อไม่ติด เลยต้องให้เรียนซ้ำชั้นไปก่อน”

“หลังจากมีเรื่องทุนเข้ามา ผู้ปกครองก็เริ่มเห็นความสำคัญ เริ่มคิดกันว่า ลูกเราสามารถไปได้ไกลกว่านี้นะ พอเห็นเด็กได้รับทุน ‘ครูรักษ์ถิ่น’ แล้วจะได้กลับมาบรรจุที่บ้านของตัวเอง ได้เป็นข้าราชการ ด้วยความที่หมู่บ้านมันเล็ก ทุกคนก็เห็นความเป็นไปได้ ก็เลยมีแรงจูงใจไปกระตุ้นให้ลูก ๆ เรียนสูงเข้าไว้ ส่วนเด็กเองก็เริ่มมีกำลังใจเรียนมากขึ้น ครูเองก็มีกำลังใจสอน อยากให้เขาได้เรียนต่อไปเรื่อย ๆ”

ครูรัก(ษ์)ถิ่น เป็นอีกหนึ่งโครงการที่สร้างโอกาสให้กับนักเรียนในพื้นที่ห่างไกลที่มีใจรักในวิชาชีพครู ได้มีโอกาสเรียนจบจนสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรี และกลับไปเป็นครูในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกล เพื่อพัฒนาชุมชนท้องถิ่นของตนเอง เริ่มต้นโครงการตั้งแต่ปี 2562 และในปัจจุบันกำลังจะมีครูรุ่นแรกเข้าไปบรรจุในโรงเรียนในพื้นที่ของตนเอง

การมีอยู่ของทุนจึงไม่ได้มีความหมายเพียงแค่เม็ดเงินที่ช่วยสนับสนุนให้นักเรียนมีโอกาสเข้าสู่ระบบการศึกษา แต่ยังดำรงอยู่ในฐานะ ‘แรงจูงใจ’ ที่ทำให้ผู้คนในชุมชนหันกลับมาสนใจและผลักดันให้นักเรียนได้รับการศึกษาที่สูงขึ้นอีกด้วย

ทุนจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เด็กคนหนึ่งสามารถใช้ชีวิตในแบบที่เขาต้องการ สร้างทางเลือกของอนาคตที่หลากหลายจากความสามารถที่เพิ่มขึ้น และมีสิทธิที่จะเลือกว่าต้องการเดินไปในเส้นทางไหน 

จากเด็กที่ต้องเขียนจดหมายลาครูเพื่อไปช่วยแม่เก็บลำไย ตอนนี้เด็กนักเรียนม.ปลายที่กำลังนั่งยิ้มอยู่ตรงหน้านั้นเปี่ยมไปด้วยความมั่นใจในการใช้ชีวิต ราวกับเข็มทิศที่อยู่ข้างในตัวเริ่มทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพ เมื่อรู้ว่าตัวเองหลงใหลในเรื่องใด และอยากเดินหน้าไปสู่อนาคตแบบใด