ทางเลือกที่แตกต่างของ ‘อาจารย์แดน’ ส่งวิญญาณ “เกียรติของผมคือการได้ไปส่งพวกเขา ณ พื้นที่สุดท้ายในการเดินทางครั้งสุดท้าย”

ทางเลือกที่แตกต่างของ ‘อาจารย์แดน’ ส่งวิญญาณ “เกียรติของผมคือการได้ไปส่งพวกเขา ณ พื้นที่สุดท้ายในการเดินทางครั้งสุดท้าย”

“ผมรู้สึกมีเกียรติมากที่ได้ปฏิบัติหน้าที่สำคัญในการส่งพวกเขาตรงพื้นที่สุดท้าย ได้ช่วยเหลือเขา ทำให้ทุกสิ่งผ่านไปได้ ตรงจุดสิ้นสุดของมนุษย์คนหนึ่ง ก่อนที่แต่ละคนจะออกเดินทางอีกครั้ง ทุกครั้งที่ทำงาน ผมจะย้ำเตือนตัวเองว่าเป็นช่วงเวลาสำคัญ ต้องทำด้วยความเคารพ และตั้งใจทำให้ดีที่สุด”

เรื่องราวของ ‘แดน’ สุพจน์ โพนรัมย์ อายุ 18 ปี เยาวชนนอกระบบการศึกษา อำเภอกระสังข์ จังหวัดบุรีรัมย์ กับการประกอบอาชีพ ‘สัปเหร่อ’ หนึ่งในเยาวชนจากโครงการสนับสนุนการพัฒนาครูและเด็กนอกระบบการศึกษา โดย กสศ. เครือข่ายเชิงพื้นที่ภาคอีสาน: สุรินทร์ จังหวัดบุรีรัมย์ นครราชสีมา 

ผู้เลือกทางเดินชีวิตที่แตกต่าง แต่ด้วยศรัทธามั่นว่างานที่เขาทำคือความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่ต่อเพื่อนมนุษย์ ณ ช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญที่เขาจะได้รับ ‘เกียรติ’ ให้ได้ ‘ส่ง’ ทุกคนออกเดินทางครั้งสุดท้ายด้วยความเคารพอันสูงสุด

แดนเล่าว่าเขาเคยเรียนในระบบ แต่รู้ตัวว่าหัวไม่แล่น ตามบทเรียนไม่ค่อยทัน วันหนึ่งจึงพ้นออกมาจาก ‘ห้องเรียน’ ในความหมายของระบบการศึกษา ขณะที่ชีวิตจับพลัดจับผลูเข้ามาในโลกการศึกษาผ่านวัดและพุทธธรรม ได้มองเห็นวัฏจักรของชีวิตจากการเป็นผู้ช่วยสัปเหร่อ 

แดนบอกว่า ‘ผมได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของชีวิต ในความเปลี่ยนผ่านที่ชวนให้ใคร่รู้ถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อจากนั้น ว่าเมื่อถึงวันที่ผู้คนจากไป เขาต้องไปทางไหน แล้วระหว่างเส้นทางนั้นจะเป็นอย่างไรบ้าง’

“ผมเริ่มบวชเณรตั้งแต่อายุ 12-13 เรียนรู้วิชาต่างๆ จากวัด ได้ช่วยงานสัปเหร่อที่ผมนับถือเป็นอาจารย์ จนเขาถามว่าเราสนใจอยากทำงานตรงนี้ไหม ผมตอบทันทีว่า ‘อยากทำ’ ตอนนั้นคนมองว่าผมแปลกบ้าง หรือเป็นบ้าหรือเปล่า ทำไมถึงมาสนใจในสิ่งที่คนอื่นไม่สนใจกัน แต่ผมไม่ได้เก็บมาคิด ที่บ้านที่มีพ่อกับตายายก็ไม่ได้ส่งเสริม เขาไม่อยากให้ผมทำด้วยซ้ำ แต่ผมแน่ใจมากว่าผมจะอยู่กับงานนี้ได้ และสิ่งที่ผมทำจะมีเรื่องราวให้เรียนรู้มากมายในวิธีที่ผมจะปลดความอยากรู้อยากเรียนจากภายในได้จริงๆ พอได้เข้ามาทำผมจึงยิ่งตั้งใจเรียนรู้ เพราะนอกจากตัวเองแล้ว ก็อยากให้ตากับยายภูมิใจในตัวผมด้วย”

เมื่อเขาค้นพบเส้นทาง เรามีหน้าที่ส่งเสริมให้เขาเชื่อมั่นและไปต่อได้

แดนกล่าวถึงการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในโครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ว่า จากวันที่ศึกษาเส้นทางอาชีพด้วยตนเองอยู่ลำพัง แม้ภายนอกเขาจะบอกคนอื่นว่า ‘เดี่ยวผมจะทำให้ดู’ เสมอ หากลึกลงภายในนั้นยังมีความรู้สึกไม่แน่ใจหรือคำถามเกิดขึ้นกับตัวเองอยู่เรื่อยมา 

จนวันที่แดนได้พบครูและเพื่อนๆ กลุ่มเยาวชนนอกระบบ ได้ทำกิจกรรมแลกเปลี่ยนความสนใจและประสบการณ์ชีวิต ความคิดเขาก็เปลี่ยนไป จากนั้นก็ไม่มีสิ่งใดเข้ามารบกวนจิตใจของแดนอีก เขากลับมามุ่งมั่นทำงานด้วยสมาธิ ด้วยความเชื่อในสิ่งที่ตนทำอย่างบริสุทธิ์ใจ

“การร่วมโครงการทำให้ผมมีโอกาสเรียนรู้เรื่องราวอื่นๆ เพิ่มเติม ได้พบเพื่อนหลายคนที่เขามีเส้นทางที่ไม่เหมือนคนอื่น ทำงานต่างๆ กันไป มีวิธีพัฒนาตัวเองต่างกันไป มันทำให้ผมแน่ใจว่าเส้นทางของชีวิตนั้นหลากหลาย และมีอาชีพมากมายที่คนเราจะใฝ่ฝันได้ แล้วสิ่งนั้นจะอยู่กับเราไปได้อีกนานโดยไม่ต้องคำนึงถึงค่านิยมหรือทัศนคติที่สังคมกำหนดตัดสิน”

เกษณี ซื่อรัมย์ ผู้รับผิดชอบโครงการการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ จังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า เมื่อเราลงพื้นที่ค้นหาเด็กและพบตัวเขาแล้ว เราจะสำรวจความต้องการที่แท้จริงภายในตัวเขาเป็นอย่างแรก ซึ่งสำหรับแดน เขาเป็นเยาวชนคนหนึ่งที่แน่วแน่ในสิ่งที่ตนทำ แต่แน่นอนว่าในวัยของเขาหรือเส้นทางที่เขาเลือกค่อนข้างแตกต่าง จึงมีบ้างที่บางครั้งจะเกิดความลังเลหวั่นไหว

“ที่เราทำคือสร้างความมั่นใจให้เขา ให้เขารู้ว่าความสนใจ ความตั้งใจในการประกอบอาชีพมันไม่มีกรอบจำกัด ดังนั้นเขาต้องต่อสู้กับคำตัดสินจากคนรอบข้าง หรือจากสังคมที่มองเขาว่าแตกต่างจากเด็กคนอื่น การที่เขาเข้ามาในโครงการ ได้พบกับเพื่อนๆ เยาวชนนอกระบบด้วยกัน ได้แชร์เรื่องราวชีวิต สิ่งที่ทำ ความฝันความตั้งใจที่ออกมาจากภายใน มันเหมือนเขาได้รับการต่อเติมและถ่ายเทความภูมิใจและคุณค่าในตัวเองไปสู่กัน”

“เด็กๆ คุยกันเขาก็จะแบบว่า ‘โอ้โห งานที่ทำมันเจ๋งมากๆ เท่มาก’ คือด้วยความที่พวกเขาแตกต่างจากคนที่อยู่ในระบบ ถ้าทัศนคติที่ว่าความแปลกแยกไม่เหมือนใครคือความดีงามเป็นแบบฉบับได้ถูกปลุกขึ้นแล้ว ความเชื่อมั่นในเส้นทางที่พวกเขาอยากจะเดินไปก็จะค่อยๆ ก่อร่างจนแข็งแรง แล้วเขาจะกล้าที่จะตัดสินใจมุ่งไปตามเสียงในหัวใจ จากความไม่แน่ใจก็จะกลายเป็นภูมิใจในตัวเอง ว่างานที่เขาทำนั้นคือคุณค่า” 

ผู้รับผิดชอบโครงการกล่าวสรุปถึงขั้นตอนการทำงาน ซึ่งช่วยเหลือให้เยาวชนหลายคนในพื้นที่ได้ยืนหยัดในสิ่งที่ตนเป็น ผ่านการค้นหา ค้นพบ สร้างความมั่นใจ เชิดชูอาชีพและเส้นทางที่เลือก แล้วสนับสนุนเยาวชนกลุ่มเป้าหมายให้ทำสิ่งที่เชื่อมั่นได้ดีขึ้นในทุกๆ วัน

“ครูเขามาช่วยส่งเสริมให้ผมเรียนรู้เพิ่มเติม เข้าถึงพิธีกรรมวิธีการต่างๆ ได้มากขึ้น มีงบสนับสนุนให้ซื้อชุด ธูป เทียน ผ้าขาว สายสิญจน์ และของจำเป็นอื่นๆ ในอาชีพที่ต้องนำมาใช้ประกอบพิธี ทั้งหมดนี้ทำให้ทำงานได้เต็มที่และดียิ่งขึ้น”

นิยม อะพรรัมย์ ครูนอกระบบการศึกษา กล่าวว่า แดนคือหนึ่งในเยาวชนที่แสดงให้เห็นถึงความชัดเจนในความคิด ว่าการประกอบอาชีพที่สนใจและถนัดจะทำให้เขาได้รับการเติมเต็ม เป็นขั้นตอนหนึ่งของการเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งจะทำให้เขาอยู่ในสังคมได้อย่างเป็นสุข รู้คุณค่าในตนเอง 

ขณะที่เขาได้พิสูจน์ให้ผู้ปกครองได้มั่นใจกับเส้นทางที่เลือก ว่าอาชีพที่เขาทำมีความสำคัญ มีรายได้พอเลี้ยงดูตนเอง และพร้อมจะเติบโตต่อไปเป็นผู้ใหญ่ที่ดีคนหนึ่งในสังคมที่เขาอยู่

‘อาจารย์แดน’ ผู้ให้เกียรติทุกคนเสมอ

“ความรู้สึกหนึ่งที่ติดตัวมาตลอดคือ งานของผมเป็นสิ่งที่คนอื่นทำไม่ได้ แต่ผมทำได้ เป็นความภูมิใจและความเคารพ ว่าที่จุดสิ้นสุดของคนคนหนึ่ง ผมได้มีโอกาสช่วยเหลือเขา ไปส่งเขายังพื้นที่สุดท้ายจริงๆ ก่อนที่จะเดินทางไปจากโลกนี้

“วันนี้ไม่มีใครที่คิดว่าผมบ้าหรือเรียกผมว่าไอ้แดนอีกแล้ว กระทั่งคนที่เคยว่าหรือมองผมไม่ดีมาก่อนก็ยังเรียกว่าอาจารย์แดน มีคนนับถือผมมากขึ้น ปฏิบัติกับผมด้วยการให้เกียรติ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมได้รับจากหน้าที่ที่ทำ จากการที่ผมให้เกียรติกับงานและคนทุกคน ไม่ว่าเขาจะยังมีชีวิตอยู่หรือจากไปแล้ว เสมอมา”

เรียบเรียงจาก : ‘แดน ส่งวิญญาณ อำเภอกระสังข์ จังหวัดบุรีรัมย์’