ความซึมเศร้าของเด็กอาชีวะ : “ถอดเสื้อช็อปออกไป เราก็เด็กวัยรุ่นคนหนึ่ง”

ความซึมเศร้าของเด็กอาชีวะ : “ถอดเสื้อช็อปออกไป เราก็เด็กวัยรุ่นคนหนึ่ง”

“มีรุ่นน้องผมโดดตึกตาย” พงศ์ (นามสมมติ) อดีตเด็กอาชีวะ ตอบคำถามว่า “มีเด็กช่างเป็นซึมเศร้าบ้างไหม” 

พงศ์เคยเดินเข้า-ออกโรงพยาบาลเพื่อรักษาโรคซึมเศร้ารุนแรง (Major Depressive Disorder) อยู่เกือบ 4 ปี จึงพอจะสังเกตได้ว่าใครมีอาการในกลุ่มเดียวกับตัวเองบ้าง 

“เรื่องเศรษฐกิจ ฐานะครอบครัว เขารู้สึกไม่มีค่า เป็นภาระที่บ้าน เป็นตัวถ่วง เราคนนอก ไม่รู้หรอกว่ามันเป็นอย่างนั้นจริง ๆ หรือคิดไปเอง” 

เรื่องปากท้อง ครอบครัว และครู เป็นความเครียดอันดับต้น ๆ ของ ‘เด็กช่าง’ ในมุมรุ่นพี่อย่าง พงศ์ และยุทธ (นามสมมติ) ที่ตอนนี้ก็กำลังเรียนอยู่ในสถาบันอาชีวศึกษาแห่งหนึ่ง 

ผลการสำรวจสถานการณ์สุขภาพจิตในปี 2565 จากกรมสุขภาพจิตพบว่า วัยรุ่นและเยาวชน ในช่วงอายุ 15-24 ปีมีคะแนนสุขภาพจิตเฉลี่ยต่ำที่สุด เด็กในกลุ่มที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปีก็มีความเครียดสูง เสี่ยงที่จะมีภาวะซึมเศร้าและเสี่ยงฆ่าตัวตายสูงกว่ากลุ่มประชาชนวัยทำงานและวัยสูงอายุ 

ส่วนนักเรียนนักศึกษาเป็นกลุ่มเปราะบาง ซึ่งในที่นี้อาจจะหมายรวมถึงเพื่อนที่พงศ์พูดถึง ข้อมูลก็เผยว่าเป็นกลุ่มที่มีโอกาสเกิดปัญหาสุขภาพจิต เช่น ภาวะซึมเศร้า เครียด วิตกกังวลเพิ่มขึ้นตลอดช่วงอายุที่เป็นวัยรุ่น และสูงสุดในวัยผู้ใหญ่ตอนต้น

ภาวะซึมเศร้าจึงกลายเป็นประเด็นที่ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ในระดับโลก องค์การอนามัยโลก (WHO) มีรายงานว่า ก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ร้อยละ 10-20 ของเด็กและวัยรุ่นทั่วโลกเคยประสบกับภาวะสุขภาพจิตที่ไม่ดี โดยโรคทางจิตเวชกว่าครึ่งเริ่มต้นตั้งแต่อายุ 14 ปีด้วยซ้ำ 

“ส่วนใหญ่เรื่องฐานะ ครึ่งหนึ่งของเด็กอาชีวะฐานะไม่ดี พ่อแม่ไม่ได้ร่ำรวย บางคนทำงานถึงดึก เช้าก็ต้องรีบมาเรียนต่อ บางทีก็มาสาย อาจารย์บางคนไม่เข้าใจก็จะมองว่ามันอ้าง หลายคนไม่มีค่าเทอม  สอบตกไม่มีค่าลงทะเบียนสอบซ่อม” ยุทธเล่าสาเหตุ 

อย่างที่กล่าวว่า ปัญหายอดนิยมคือเรื่องปากท้อง ดังนั้นวิธีแก้ปัญหายอดนิยมของเด็ก ๆ คือการยืม 

“ยืมตังค์ครูจ่ายค่าเทอม บางทีเพื่อนก็รวมตังค์คนละร้อยสองร้อยจ่ายค่าเทอมให้เพื่อน ปกติรวมกันกินเหล้า (หัวเราะ) หรือเพื่อนมีลูกไว ก็ต้องรวมเงินกันจ่ายค่านมลูก ชีวิตมันเร่งรัดให้โตอะพี่” 

“การเปลี่ยนจากสังคมเด็กช่างมาเรียนมหา’ลัย เพื่อนไม่เข้าใจวิธีคิดแบบเรา (เด็กช่าง) เท่าไหร่ อาจารย์ด้วย บีบเราหลายอย่าง เริ่มสะสม เศรษฐกิจที่บ้านตอนนั้นหนัก เลยเข้าโรงพยาบาล ตอนนั้นรู้สึกว่าตัวเองไม่มีอะไรเลย ไม่มีค่า” พงศ์บอก 

สาเหตุต่อมาคือครอบครัว 

“ตอนผมลาออกจากโรงเรียนตอน ม.5 มาเรียน ปวช. ที่บ้านด่าฉิบหายวายป่วงเลย พ่อเคยเรียนช่างมาก่อนแต่เขาเรียนไม่จบ เขารู้ว่าสังคมมันเป็นยังไง เขาไม่คุยด้วยเลย ค่าเทอมก็ไม่จ่าย” พงษ์เลยต้องทำงานหาเงินจ่ายเอง 

สำหรับพงศ์ สาเหตุหลักของโรคซึมเศร้ามาจากฐานะการเงินของครอบครัวที่มีปัญหา รุมด้วยปัญหาอื่น ๆ อาการจึงแสดงออกหนักขึ้นเรื่อย ๆ

ปัญหาของภาพจำ : เด็กช่างตีกัน แข็งแกร่ง เต็มไปด้วยความเป็นชาย แต่ก็ซึมเศร้า

ความเปราะบางเรื่องเศรษฐฐสถานะ เรื่องปากท้อง การทำมาหากิน เป็นปัจจัยหลักที่มีผลต่อการใช้ชีวิตของมนุษย์โดยพื้นฐาน เด็กอาชีวะก็ไม่ต่างกัน ปัญหาปากท้องเป็นประเด็นหลักที่ส่งผลกระทบต่อการศึกษา การใช้ชีวิต และมีผลต่อสุขภาพจิตในท้ายที่สุด ดังนั้นในประเด็นแรก เราอาจจะแยกไม่ได้ว่าปัญหาความยากจนของเด็กอาชีวะและเด็กที่เรียนสายสามัญแตกต่างกันอย่างไร

“ปัญหานี้เป็นเรื่องของเด็กทั่วไป ไม่ได้เฉพาะเด็กอาชีวะค่ะ  ความยากจนเป็นปัจจัยที่มีผลต่อปัญหาสุขภาพจิตโดยภาพรวมอยู่แล้ว ไม่ว่าเด็กคนนั้นจะเรียนอาชีวะหรือจบแค่ ป.6 แล้วก็อาจจะหลุดออกจากระบบการศึกษาไปเลยก็ได้ แต่จะเกิดขึ้นในกลุ่มเปราะบางที่มีความยากจนเป็นพื้นฐาน และมันจะส่งผลต่อสุขภาพจิต แต่มันอาจจะไม่ตรงไปตรงมา เช่น ไม่ใช่ว่าคนที่จนจะมีปัญหาสุขภาพจิตทุกคน แต่จะเป็นปัจจัยที่สร้างปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย เช่น พ่อแม่ที่ติดสารเสพติด หรือว่าติดคุกก่ออาชญากรรม หรือครอบครัวยากจนที่อยู่ในชุมชนแออัด

นอกจากนั้นความยากจนจะทำให้คนเครียดจนเกิดความเครียดแบบสะสมแล้วก็เรื้อรัง การจะดิ้นรนเอาตัวรอดจากความยากจนไม่ง่าย  รวมทั้งอาจจะทำให้เกิดความรู้สึกเหลื่อมล้ำแล้วก็ไม่ยุติธรรม เช่น เขาจะไปเทียบกับคนที่อยู่ดีกินดีมากกว่า อาจจะเทียบกับแค่เพื่อนของตัวเอง อยากได้ในสิ่งที่เคยขาด เพราะฉะนั้นเรื่องความยากจน มักจะมีทั้งความเครียดที่สูง ปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ และความเหลื่อมล้ำที่ทำให้เขารู้สึกว่าตัวเองด้อย ขาดแรงจูงใจเชิงบวก ก็จะเหนี่ยวนำให้ไปทำพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมได้ง่าย”

คุณหมอฝน–แพทย์หญิงศุทรา เอื้ออภิสิทธิ์วงศ์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นของสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ และรับผิดชอบโครงการพัฒนาระบบเสริมสร้างทักษะชีวิตและการดูแลช่วยเหลือนักเรียนอาชีวศึกษา สำหรับนักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ผู้คลุกคลีและรับรู้สถานการณ์ของเด็กอาชีวะมาตั้งแต่ปี 2559 ให้ข้อมูล

(ขวา) หมอฝน-แพทย์หญิงศุทรา เอื้ออภิสิทธิ์วงศ์

พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมที่ว่า อาจจะรวมถึงเรื่องการทะเลาะวิวาทที่เป็นภาพจำมาหลายสิบปีด้วย ซึ่งทั้งพงศ์และยุทธก็ยอมรับว่าจนถึงทุกวันนี้ก็ยังมี 

“รุ่นผมเข้ามา 15 คน เรียนจบ 4 คน เหตุผลมีสองอย่าง ไม่มีตังค์ กับติดคุกเพราะตีกัน”  เขากล่าว

“ถามถึงว่ามุมมองของสังคมในเรื่องของการทะเลาะกันของเด็กอาชีวะ ส่วนใหญ่จะจำกัดในวิทยาลัยที่อยู่ในกรุงเทพฯ หรือว่าปริมณฑล ไม่ได้เป็นปัญหากับวิทยาลัยอาชีวะที่อยู่ต่างจังหวัดไกล ๆ เท่าไหร่ ดังนั้นปัญหาสถานการณ์ที่เราเห็นว่าทะเลาะกันแล้วออกข่าว จริง ๆ แล้วมันเป็นกลุ่มย่อยที่อยู่ในเฉพาะตัวเมืองเป็นหลัก 

แต่ก่อนอาจจะมีการชกต่อยหรือว่าการใช้อาวุธที่ไม่ถึงชีวิต แต่ว่าในช่วง 4-5 ปีหลังที่ผ่านมา เช่น ปี 2559 ไล่มาจนถึงปี 2560-2561 พบว่าเด็กใช้อาวุธที่ทำให้ถึงแก่ชีวิตมากขึ้น มีการใช้อาวุธปืนเข้ามามากขึ้น จึงทำให้คู่กรณีมีการเสียชีวิต 

นี่เป็นการติดตามสถานการณ์มาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าจะไม่ได้เป็นกลุ่มใหญ่ แต่ก็เป็นปัจจัยที่น่ากังวลนะคะ เนื่องจากเริ่มมีความรุนแรงมากขึ้น แต่จริง ๆ แล้วความรุนแรงและการทะเลาะวิวาทเกิดกับเด็กทุกสังกัดนั่นแหละ แต่ว่าสายอาชีพเป็นสายที่อาจจะมีการรวมกันของเด็กที่มีความเปราะบางได้เยอะ เลยทำให้ปัจจัยเสี่ยงที่มันผสมผสานกันเกิดขึ้นกับเด็กกลุ่มนี้”

หมอฝนเสริมว่าส่วนหนึ่งของปัญหามาจากครอบครัว 

“พ่อแม่ของเด็กอาชีวะเขามีการใช้ความรุนแรง เช่น พ่อแม่อาจจะมีคดีความ ก่ออาชญากรรมหรืออาจจะใช้ความรุนแรงในครอบครัว เด็กกลุ่มนี้เติบโตมาและอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีความเสี่ยง พอมาอยู่ในสถานศึกษา  และสถานศึกษาเองก็อาจจะมีต้นแบบหรือการถ่ายทอดความรุนแรงในบางแบบ เช่น บางทีมีเหตุการณ์ตีกัน ครูก็จะจัดการด้วยความรุนแรงเหมือนกัน ไล่เด็กออก หรือพูดแต่คำที่รุนแรง ประจาน”

ไม่มากก็น้อย ครูจึงมีอิทธิพลต่อการใช้ชีวิตและสุขภาพจิตของเด็กอาชีวะ

“เวลาเครียด อันดับแรกจะปรึกษาเพื่อน ไม่ก็รุ่นพี่รุ่นน้อง แต่ถ้าเป็นเรื่องทะเลาะวิวาท ไม่มีใครกล้าปรึกษาอาจารย์ กลัวทัณฑ์บน กลัวผลกระทบเรื่องเรียนตามมา จะถูกมองว่าเป็นเด็กโดดเรียน เป็นหัวโจก” ยุทธตอบคำถามว่า เวลากลุ้มหรือเครียดปรึกษาใคร

ในอีกด้าน ภาพลักษณ์ความเป็นเด็กช่างที่ต้องอดทน กล้าหาญ แข็งแกร่ง จัดการปัญหาแบบเด็ดขาด ก็เป็น ‘พิษ’ ไหลย้อนกลับเข้าตัว 

“ความที่มีความเป็นชาย (masculine) เยอะ ต้องแข็งแกร่ง อดทน แต่มันไม่ได้ช่วยอะไรเลย เวลาเอาไปปรึกษาอาจารย์บางคน เขาก็จะบอกว่า ไอ้เหี้ย คิดอะไรโง่ ๆ เรื่องของมึง ไปไหนก็ไป ควาย …ส่วนมากใช้คำแบบนี้ จริงๆ เขาไม่ได้คิดอะไรหรอก เขาอาจจะคิดว่าเด็กผู้ชายเจออะไรมาเยอะ หนีตายมาได้จนจะจบอยู่แล้ว มาท้อแท้กับเรื่องแบบนี้ได้ยังไง”  

วาทกรรมความเป็นชาย หรือความฆ่าได้หยามไม่ได้ที่ตีตราตามตัวเด็กอาชีวะมา จึงมีที่มาที่ไปจากหลากหลายสาเหตุ ส่วนสำคัญเลยคือสภาพแวดล้อมที่มีส่วนบ่มเพาะพฤติกรรมที่อาจจะนำไปสู่ความรุนแรง

และอีกปัจจัยที่ทรงอิทธิพลคือสื่อ

“เด็กกลุ่มนี้พอออกจากวิทยาลัยนึงเขาก็ไปเข้าอีกวิทยาลัยนึง ซึ่งก็อาจจะไปเจอครูที่ไม่ได้ดูแลด้วยการประนีประนอมเหมือนกัน อีกอย่างคือสื่ออาจจะมีรูปแบบการนำเสนอที่ไฮไลต์เรื่องความรุนแรงที่มันมากเกินไป จนเขารู้สึกว่าโดดเด่นขึ้นมาชั่วข้ามคืนเลย นี่ก็เป็นหนึ่งในปัจจัยที่มีการวิเคราะห์ว่าไม่ได้เป็นผลดีกับเรื่องความรุนแรง แต่กลับทำให้ความรุนแรงได้รับการมองเห็นมากขึ้นจนเกินความเป็นจริงด้วยซ้ำ” หมอฝนกล่าว

ความเครียดไม่แบ่งสายสามัญ-อาชีพ

ถ้ามีหนังสักเรื่องถ่ายทอดชีวิตจริงของเด็ก ๆ อาชีวะออกมา อยากให้เป็นเรื่องราวแบบไหน?

“อยากให้เล่าปัญหาครู อาจารย์ ปัญหาชีวิต ครอบครัว ซึ่งส่งผลถึงการเรียนด้วย ประเด็นนี้มันมีมา 40-50 ปีแล้ว  ไม่ได้รับการแก้ไขอะไรเลย ไม่มีรัฐบาลไหนเลยพูดถึงเด็กอาชีวะ พวกผมก็น้อยใจเหมือนกันนะพี่ อยากให้ภาครัฐจัดกิจกรรมให้เด็ก ๆ ต่างสถาบันทำอะไรร่วมกันบ้าง อย่างกีฬาต่างสถาบัน ผมเชื่อว่าถ้าได้เล่นกัน รู้จักกันตั้งแต่ ปวช.ปี 1 มันจะตีกันน้อยลง” 

ยุทธยังย้ำคำตอบว่า ทั้งหมดนี้ไม่ได้พูดเพื่อเอาดีเข้าตัว แต่ตีกันมันไม่ได้ประโยชน์อะไรจริง ๆ 

“อยากให้สังคมเข้าใจพวกผมมากกว่านี้ ไม่ใช่อะไรก็ใช้ความรุนแรง อย่างผมคุยกับพี่ ผมก็ใช้เหตุผลคุยได้ เด็กช่างมันก็มีคนที่คิดได้ คิดไม่ได้ เด็กสามัญ เด็กวัยรุ่นคนอื่น ๆ ก็ไม่ต่างกันหรอก” 

“เอาจริง ๆ เด็กอาชีวะก็คือเด็กทั่วไปนะพี่ เรื่องใช้ความรุนแรงยอมรับว่ามี แต่ไม่ใช่ทุกคน บางทีก็น้อยใจ ไปฝึกงานในโรงงาน เขาก็มองเกรง ๆ ว่าเด็กพวกนี้มันจะมาตีเราไหม” ยุทธเล่าให้ฟัง

รายงาน “การสร้างความเข้มแข็งให้ระบบและบริการสนับสนุนทางจิตใจและจิตสังคมสำหรับเด็กและวัยรุ่นในเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ฉบับประเทศไทย”  โดยองค์การยูนิเซฟประเทศไทย กรมสุขภาพจิต สถาบันวิจัยประชากรและสังคม และสถาบันเบอร์เน็ต ประเทศออสเตรเลีย เผยข้อมูลว่า วัยรุ่นไทยอายุ 10-19 ปี ประมาณ 1 ใน 7 คน มีความผิดปกติทางจิตประสาทและอารมณ์ และการฆ่าตัวตายคือสาเหตุการเสียชีวิตอันดับสามของวัยรุ่นไทย 

รายงานฉบับนี้ไม่ได้แบ่งหมวดว่าวัยรุ่นคนไหนเรียนสายสามัญ คนไหนเรียนสายอาชีพ หรือคนไหนอยู่นอกระบบ สอดคล้องกับคุณหมอฝนที่บอกว่า ความเครียด ความซึมเศร้าของเด็กอาชีวะก็เหมือนเด็กวัยรุ่นทั่วไป เพิ่มเติมเข้ามาที่หนักกว่าคือเรื่องปากท้อง 

“หลายคนมาเรียนสายอาชีพเพื่อจะทำงานหาเงิน เด็กมัธยมหลายคนก็ไม่เคยรู้เลยว่า ฉันจะต้องทำงานหาเงินด้วยเหรอ เด็กอาชีวะหลายคนเลิกเรียนไปทำงานต่อก็เจอการจ้างงานที่ถูกเอาเปรียบ ใช้แรงงานเกินเวลาหรือกดค่าแรง เพราะฉะนั้นเด็กสายอาชีพน่าจะมีความเครียดสองเด้งเมื่อเทียบกับเด็กทั่วไป คือเครียดด้านการศึกษา แล้วก็เครียดกับระบบการจ้างงานที่เจอ” หมอฝนกล่าว

จึงมีเด็กจำนวนไม่น้อยที่เลือกเรียนสายอาชีพด้วยเหตุผลที่ชัดเจน คืออยากทำงานและมีรายได้โดยเร็ว ฉะนั้นความคิดที่ว่า เพราะเรียนไม่เก่ง หัวไม่ดี เลยสอบไม่ติดสายสามัญก็อาจเป็นเพียงมายาคติเดิม ๆ 

“หมอได้ไปคุยและทดลองกิจกรรมกับเด็กหลายคนแล้วพบว่า ทัศนคติที่ว่าเด็กสายอาชีพเป็นเด็กที่เรียนไม่เก่งอาจจะไม่ถูกต้องเสมอไป เพราะเคยสัมภาษณ์เด็กหลายคนที่มาเรียนสายอาชีพ สายช่าง และเป็นเด็กผู้หญิง เขาบอกออกมาด้วยความภูมิใจเลยว่า เขาตั้งใจเลือกเรียนสายช่างเพราะเขาอยากจะเป็นช่างจริงๆ  เขาเป็นเด็กที่เรียนเก่งและสามารถไปสอบแข่งขันกับเด็ก ม. 4 ได้ แต่มาเรียนที่นี่เพราะขึ้นชื่อเรื่องการปั้นคนออกไปเป็นอาชีพนี้ได้ และเขาก็อยากเรียนแค่ 3 ปีแล้วออกไปประกอบอาชีพได้เลย

เพราะฉะนั้น เด็กกลุ่มนี้ไม่น้อยเขาเลือกที่จะเรียนสายอาชีพด้วยเหตุผลที่ชัดเจน และมีเป้าหมาย แต่เสียงเหล่านี้อาจจะไม่ค่อยได้ถูกสะท้อนออกมามากกว่า 

ตัวครูเองก็เช่นกันค่ะ มีเด็กจำนวนหนึ่งที่เขามั่นใจและภูมิใจในตัวเองว่าเขาอยากจะเรียนสายอาชีพ เขาค้นหาตัวเองเจอ แล้วเขาก็มีความเก่ง ฉลาด หัวดีมาก สามารถเรียนได้เกรดที่สูง แต่ขณะเดียวกัน กลายเป็นว่าครูที่สอนเขาเนี่ยก็มองเหมือนที่สังคมมอง ในเชิงเหมารวม ครูไปพูดกับเด็กว่า โอ๊ย ทำไมเรียนเก่งขนาดนี้ มาเรียนสายอาชีพทำไม ทำให้คนเก่ง ๆ ไม่อยากจะมาเรียนเท่าที่ควร  เพราะฉะนั้นสังคมก็มีส่วนทำให้เกิดการแบ่งแยกกลุ่มผู้เรียนไปในตัว ทำให้พ่อแม่และครอบครัวก็รู้สึกไม่ได้รับความสำคัญ เด็กก็หลุดออกจากระบบการศึกษา แสดงศักยภาพที่แท้จริงออกมาได้ไม่เต็มที่ค่ะ”

และการเรียนสายอาชีพก็ไม่ได้ง่ายอย่างที่ใครคิด

“เด็กอาชีวะส่วนหนึ่งที่บอกว่าเรียนยาก เรียนไม่เข้าใจ ไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร ไม่มีเป้าหมายในชีวิตที่ชัดเจนมากพอ  เป็นความเครียดจากการที่ไม่เคยได้ค้นหาตัวเอง ทำให้มันติดขัดไปต่อไม่ได้ ไม่รู้จะไปในสายนี้ต่อจนจบไหม หรือว่าลาออกไปเลยดี คล้าย ๆ กับเด็ก ม.6 เตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัย แต่เด็กอาชีวะเจอเร็วกว่าเท่านั้นเอง” คุณหมอฝนอธิบาย 

เด็ก ม.ปลาย มีครูแนะแนว แล้วเด็กช่างมีใคร

ข้อมูลจากยูนิเซฟยังระบุว่า ประเทศไทยมีระบบการส่งต่อเพื่อรับการบำบัดรักษาทั้งภายในและระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ อยู่ก่อนแล้ว แต่ระบบเหล่านี้ยังต้องอาศัยกลไกไม่เป็นทางการเพื่อแก้ไขเรื่องปัญหาสุขภาพจิต แทนที่จะมีขั้นตอนและกระบวนการส่งต่อที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน  หากหน่วยงานด้านการศึกษาค้นพบนักเรียนที่มีปัญหาทางสุขภาพจิต ผู้ให้คำปรึกษา นักจิตวิทยาโรงเรียน หรือคุณครู จะส่งเคสต่อให้ครูประจำชั้นก่อนเป็นอันดับแรก เพื่อแจ้งพ่อแม่ผู้ปกครองว่าเด็กต้องการการบำบัดรักษา 

แต่ก็ยังมีข้อท้าทายสำคัญ นั่นคือการส่งเสริมให้พ่อแม่ผู้ปกครองตระหนักถึงความสำคัญ ครูแนะแนวจึงเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการประสานงานกับแผนกจิตเวชของโรงพยาบาลในพื้นที่หรือศูนย์ส่งเสริมสุขภาพของโรงพยาบาลในระดับชุมชน แต่สถานการณ์ของประเทศในตอนนี้ก็ยังถือว่าขาดแคลนครูแนะแนวในโรงเรียนต่าง ๆ คุณครูที่ยังไม่ได้ผ่านการฝึกอบรมจึงต้องรับผิดชอบในส่วนนี้ไป ระบบการส่งต่อเด็กที่มีในโรงเรียนก็ยังต้องอาศัยกลไกอย่างไม่เป็นทางการ 

ข้อมูลที่ไม่เป็นทางการ ซึ่งสำรวจโดยโครงการพัฒนาระบบเสริมสร้างทักษะชีวิตและการดูแลช่วยเหลือนักเรียนอาชีวศึกษา สำหรับนักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง กสศ.​ พบว่า มีนักเรียนอาชีวศึกษาออกจากการศึกษากลางทางราว 20-30%

ที่กล่าวมาตั้งแต่ต้นอาจจะไม่ใช่เรื่องเครียดและความกลุ้มทั้งหมดที่นักเรียนสายอาชีวะแบกเอาไว้ เช่นเดียวกัน ตัวเลขของเด็กที่ต้องลาออกกลางคันก็อาจจะมีมากกว่า 20-30% นั่นเพราะว่าไม่เคยมีฐานข้อมูลหรือการเก็บสถิติใด ๆ เกี่ยวกับการลาออก หรือแม้กระทั่งสุขภาพกาย สุขภาพจิตของนักเรียนกลุ่มนี้เลย 

“ถ้าไม่มีฐานข้อมูล คุณก็จะทำอะไรอย่างไม่ตรงเป้า สมมติอยากจะป้องกันโควิดให้นักเรียนอาชีวะ แต่คุณไม่รู้ว่าเด็กคนไหนเสี่ยงมากเสี่ยงน้อย ครอบครัวมีคนติดโควิดไหม คุณจะไปป้องกันโควิดให้เขาได้ยังไง ปัญหาสุขภาพจิตก็เหมือนกัน ถ้าคุณไม่มีฐานข้อมูลว่าเด็กเครียดเรื่องอะไร จะแก้ยังไงเพื่อไม่ให้เด็กใช้ความรุนแรง หรือเลิกเรียนกลางคัน คุณก็จะแก้ปัญหาไม่ได้ สุดท้ายผู้ที่จะให้งบประมาณสนับสนุนก็ไม่ให้งบมา เพราะไม่มีฐานข้อมูลเพียงพอ ลงงบประมาณไปก็ไม่สามารถวัดผลได้” คุณหมอฝนเล่าว่านี่คือปัญหาแบบโดมิโน

เปรียบเทียบกับโรงเรียนก็น่าจะคล้ายกับวิชาแนะแนว ถึงผลที่ได้อาจจะลดหลั่นแตกต่างกันไป ตามความเข้าใจและความใส่ใจของผู้บริหารและอาจารย์ แต่ก็ยังได้ชื่อว่ามี

“ก็อยากให้มีคล้าย ๆ ครูแนะแนว อย่างน้อยแค่คอยรับฟัง” ยุทธบอก 

ถ้ามีระบบรับฟังจริง ๆ มันควรจะเป็นอย่างไร เราถาม 

“ระบบมันไม่น่าจะออกแบบยาก เด็กวัยรุ่นเหมือนกัน ก็เหมือนเด็ก ม.ปลาย นั่นแหละ ไม่ได้ซับซ้อนอะไร ต้องการแค่คนฟัง แค่นั้นเลย ที่ผมรักษาซึมเศร้าหายได้เพราะมีคนฟัง โรงเรียนช่างไม่มีพื้นที่ตรงนี้ สังคมไม่ได้มีพื้นที่ให้เรา” พงษ์ตอบ 

สถาบันอาชีวะบางแห่งก็มีระบบดูแลสุขภาพจิตผ่านโครงการพัฒนาระบบเสริมสร้างทักษะชีวิตและการดูแลช่วยเหลือนักเรียนอาชีวศึกษา สำหรับนักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา จากคำบอกเล่าของ ครูเปีย–ปรียานุช คำเย็น ครูประจำแผนกวิชาช่างเชื่อมโลหะ วิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่ และ หัวหน้าทีมคัดกรองเด็กทุนนวัตกรรมฯ ที่ดูแลโดยหมอฝน 

“พอเด็กเริ่มไม่เรียน ไม่มาเรียน เราก็จะบอกนักจิตวิทยาเด็กฯ ของโครงการฯ ว่าเด็กคนนี้เป็นยังไง ทำไมถึงไม่เรียน แล้วนักจิตวิทยาเด็กจะเข้ามาคุยกับเด็ก เพราะบางทีครูอาจจะไม่ค่อยเข้าใจบริบทเขา เขามีปัญหาฝังใจอะไร ถ้าคุยแล้วนักจิตวิทยาเห็นว่าควรบำบัด ก็จะส่งต่อ” 

ครูเปียเล่าต่ออีกว่า ถ้าเทียบสัดส่วน เด็กที่มีปัญหาด้านสุขภาพจิตถือว่ายังมีไม่มาก แต่สาเหตุมักมาจากสภาพแวดล้อมรอบตัว 

“เด็กที่ไม่เคยเข้ามาอยู่ในเมืองจะไม่มาเรียน หลงไปกับสิ่งแวดล้อมตื่นตาตื่นใจรอบนอก ตอนแรก ๆ อาจารย์เปียไม่เข้าใจ แต่จากการได้ไปอบรมกับจิตแพทย์และนักจิตวิทยาของโครงการฯ ทำให้​เรามีวิธีการพูดคุยกับเด็กเวลาเขามีปัญหา เช่น ทำไมเธอไม่มาเรียน อย่าพูดแบบนี้กับเด็ก ต้องพูดว่า ครูเป็นห่วงเราเหลือเกิน เป็นห่วงว่าวิชานี้เราจะได้ไหม ติดปัญหาตรงไหนหรือเปล่า ครูช่วยอะไรเราได้ไหม อันนี้คือวิธีการคุยกับเด็ก เพราะการเอาแต่ถามว่าทำไม ๆ เหมือนเราไปด่าเด็ก เด็กก็จะไม่อยู่ เราก็จะต้องสูดหายใจ คุยใหม่ ห้ามคุยแบบนี้นะ”

ครูจึงมักจะเป็นด่านหน้าชั้นแรกที่สังเกตเห็นเด็กที่มีความเสี่ยงที่จะมีปัญหาด้านสุขภาพจิต หลังจากนั้นครูก็จะทำหน้าที่เป็นจุดเชื่อมต่อกับครอบครัวและหน่วยงานด้านสุขภาพจิตอื่น ๆ  

เราจึงเห็นได้ชัดเจนว่าโรงเรียนมีบทบาทสำคัญในการดูแลช่วยเหลือเด็กเบื้องต้น เพราะสามารถให้คำปรึกษาและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเด็กได้ ครูในโรงเรียนหรือสถานศึกษาทุกรูปแบบจึงควรได้รับการฝึกอบรมและการสนับสนุนในด้านต่าง ๆ ทั้งด้านการเสริมสร้างทัศนคติและความมั่นใจ รวมถึงรัฐต้องพัฒนาระบบการส่งต่อและการประสานงานกับหน่วยงานด้านสาธารณสุข เพื่อสนับสนุนให้โรงเรียนมีบทบาทมากขึ้นเพื่อที่จะดูแลเด็กเพื่อเข้ารับการบำบัดรักษาได้

จนถึงวันนี้ ด้วยความที่ระบบการปรับปรุงสุขภาพจิตพื้นฐานยังคงกระจายตัวไม่ค่อยถึง และสมควรได้รับการออกแบบให้มีการดูแลที่แตกต่างกันไปในสถานศึกษาแต่ละรูปแบบ เราจึงอาจคาดคะเนได้ว่ายังไม่มีพื้นที่ปลอดภัยหรือการรับฟังอย่างเป็นระบบหรือโยนคำสั่งมาจากส่วนกลาง ภาวะซึมเศร้า หรือแม้กระทั่งความเครียดในระดับอ่อน ๆ พงษ์บอกว่า รุ่นน้องหลายคนก็ยังไม่กล้าพูด ขนาดยอมรับว่าตัวเองเป็นยังไม่กล้า นั่นเพราะยังขาดข้อมูลความรู้และผู้ใหญ่ที่เข้าใจและไม่ตัดสิน

“รุ่นน้องบางคนไม่กล้าพูด เขาไม่รู้อาการ แต่ถ้าคนรอบข้างเข้าใจ มีความรู้ มันจะช่วยได้เยอะ โดยเฉพาะครู” 

มากกว่านั้น การได้ทุนมาสนับสนุนตลอดการศึกษา นอกจากจะลดสัดส่วนการลาออกกลางทางแล้ว สำหรับพงษ์ มันคือการบอกว่ามีคนห่วงใย ความเครียดต่าง ๆ ก็เบาบางลงเยอะ

“แค่ซัพพอร์ตค่าใช้จ่ายระหว่างเรียนก็ออกน้อยแล้วครับ ตอนโควิดรุ่นน้องออกกันเยอะ ออกไปเป็นไรเดอร์ เขาต้องหาเงิน”

คลี่คลายและจุดประกายด้วย ‘ทักษะชีวิต’

ความเปราะบางทั้งเรื่องเงิน ความรุนแรง และสุขภาพใจ เป็นจุดเริ่มต้นและเจตนาหลักของโครงการพัฒนาระบบเสริมสร้างทักษะชีวิตและการดูแลช่วยเหลือนักเรียนอาชีวศึกษา สำหรับนักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง โดย กสศ. และสถาบันสุขภาพจิตเด็กและเยาวชนราชนครินทร์ ที่ตั้งขึ้นในปี 2562 เพื่อให้นักศึกษาทุนฯ ได้รับการดูแลจิตใจที่ถูกวิธี มีการช่วยเหลือที่เหมาะสมอย่างทันท่วงทีก่อนที่ปัญหาจะลุกลามจากเรื่องเล็ก ๆ กลายเป็นเรื่องใหญ่ ให้นักศึกษาได้เรียนรู้และพัฒนาสุขภาพใจ จะได้พร้อมรับมือกับปัญหาต่าง ๆ ตามช่วงวัย

โดยใช้เครื่องมือสำคัญอย่าง ‘ทักษะชีวิต’ (life skills) เข้ามาคลี่คลายปัญหาและจุดประกายให้นักเรียนอาชีวะหันมารู้จัก รัก และดูแลมากขึ้น เช่น การส่งเสริมทักษะด้านความคิด อารมณ์ หรือสังคม โดยครอบคลุมทักษะชีวิตทั้ง 10 ด้านของ WHO รวมไปถึงทักษะที่เหมาะสมกับบริบทในประเทศไทย นั่นคือ ทักษะในการสร้างเครือข่ายและการทำงานเป็นทีม

รวมไปถึงการวางแผนเป้าหมายชีวิต

“เรารีวิวมาแล้วว่าความยากจนเป็นต้นเหตุ และมันก็เป็นตัวบีบคั้น ทำให้เด็กคนหนึ่งได้รับความเครียด เพราะฉะนั้นเด็กยิ่งเปราะบาง เขายิ่งต้องได้รับการเสริมสร้างทักษะชีวิตที่เหมาะสม เพื่อทำให้เขามีความเท่าเทียมกับเด็กคนอื่น เพราะเขาจะมีความเครียดสูงกว่า 

คุณหมอฝนอธิบายว่า ช่วงเริ่มโครงการฯ ครูจะต้องเข้ารับการอบรมเรื่องการดูแลสุขภาพจิตของนักศึกษา 1 ครั้ง แล้วกลับไปดูแลเด็กผ่านคำแนะนำของ ‘โค้ช’ (ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต) ที่ครูจะสามารถขอคำปรึกษาหรือความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตได้อย่างใกล้ชิดและตลอดเวลา

“ครูและโค้ชจะพูดคุยกันถึงความคืบหน้าและปัญหาตลอด เมื่อครูเห็นว่าเด็กคนไหนมีแววของความไม่ปกติเกิดขึ้น เช่น มีพฤติกรรมแปลกไป หรือมีการพาตัวเข้าไปใกล้ชิดกับเรื่องสุ่มเสี่ยง ครูจะปรึกษากับโค้ชทันที” 

ผ่านมา 4 ปี กับสถาบันอาชีวศึกษา 66 แห่งทั่วประเทศ คุณหมอฝนเล่าถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นว่า จากการติดตามนักศึกษาทุนนวัตกรรมรุ่น 1 ตลอด 1 ปีเต็ม เด็กอาชีวะที่เคยเข้ากิจกรรมทักษะชีวิตมีสุขภาวะที่ดีสูงกว่าเด็กที่ไม่ได้เข้ากิจกรรม อย่างมีนัยสำคัญ 

“ระดับต่อมาคือ ครูที่ได้รับการพัฒนาศักยภาพปีละ 100 คน มีทักษะการทำความเข้าใจเด็กมากขึ้นจากเดิม จากเดิมครูที่แข็ง ๆ ไม่พูด ไม่ถามเด็ก แต่พอผ่านการอบรมครูพร้อมที่จะฟังเด็กมากขึ้น สังเกตเห็นอารมณ์  เห็นเด็กร้องไห้แล้วไม่รู้สึกตื่นตกใจเหมือนแต่ก่อน” 

ระดับสุดท้ายคือ ผู้บริหาร ที่ใส่ใจเรื่องการดูแลสุขภาพจิตเด็ก ๆ มากขึ้น 

“สัมผัสได้ถึงการสนับสนุน ให้ความรู้ หรือขอคำปรึกษาว่าพัฒนาเด็กเพิ่มเติมหน่อย มันเป็นการสร้างเครือข่ายที่นำไปสู่ทิศทางที่ดี” คุณหมอฝนทิ้งท้าย 

ต้นทุนสุขภาพจิตในตัวปัจเจกเป็นต้นทุนที่สำคัญมาก และไม่ใช่เพียงสถานศึกษาเท่านั้นที่จะดูแลเรื่องนี้ให้ครอบคลุม แต่เป็นระบบนิเวศทั้งหมดของสังคม ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ผู้ปกครอง เพื่อน หน่วยงานด้านสวัสดิการสังคม หน่วยงานด้านความยุติธรรม หรือแม้กระทั่งองค์กรที่ไม่ใช่รัฐและภาคธุรกิจ

ข้อมูลจากรายงานของยูนิเซฟเผยว่า  ประเทศไทยยังมีช่องว่างที่รัฐต้องให้การบริการสนับสนุนทางจิตใจและจิตสังคมในแบบสหวิชาชีพที่เป็นมิตรต่อเด็ก  โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริการนอกสถานพยาบาลเฉพาะทางระดับตติยภูมิ ยังขาดแนวทางการส่งเสริมสุขภาพจิตแบบครบวงจรที่หน่วยงานทั้งระบบการศึกษามีส่วนร่วม และแนวทางระดับประเทศเพื่อสนับสนุนการดูแลและบำบัดรักษาโดยพ่อแม่ผู้ปกครองและผู้ให้การดูแลการส่งเสริมความสัมพันธ์ที่มีคุณภาพและการแก้ไขปัญหาการรังแกกันในกลุ่มเพื่อน และการเข้าถึงเด็กและวัยรุ่นด้อยโอกาส เด็กที่ไม่ได้เรียนในโรงเรียนและเด็กข้ามชาติ

ความพยายามในการให้บริการสนับสนุนทางจิตใจกับเด็กไทย หรือจากในบทความนี้คือเราพยายามที่จะสื่อสารให้เห็นภาพของสถานการณ์ ความคิดความอ่านของเด็กอาชีวะที่ยังต้องการ ‘ระบบที่ดี’ และการทะนุถนอมจิตใจไม่ต่างจากคนอื่น ๆ