ปลดล็อกการสอนแบบรายวิชา สู่ “ความรู้” นอกกรอบที่ต้องลงมือค้นหาด้วยตัวเอง

ปลดล็อกการสอนแบบรายวิชา สู่ “ความรู้” นอกกรอบที่ต้องลงมือค้นหาด้วยตัวเอง

จากก้าวแรกที่ปรับเปลี่ยนการสอนแบบเดิม ๆ มาสู่ Active Learning เน้นให้เด็กได้ลงมือปฏิบัติกระตุ้นการคิดวิเคราะห์ เพื่อค้นหาคำตอบอย่างเป็นเหตุเป็นผล กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นกับเด็ก ๆ โดยเฉพาะการบ่มเพาะทักษะ “การเรียนรู้ด้วยตัวเอง” ทำให้ความรู้ไม่ได้มาจากแค่ใน “ห้องเรียน” อีกต่อไป 

ก้าวต่อมาที่ถือเป็นก้าวสำคัญคือ การบูรณาการเรียนรู้แบบ Active Learning เข้ากับทุกกลุ่มสาระวิชา ซึ่งเปรียบเหมือนเป็นการ “ปลดล็อก” เปิดโลกการเรียนรู้ไม่ให้ถูกตีกรอบจำกัดอยู่แค่วิชาใดวิชาหนึ่ง แต่สามารถต่อยอดความรู้จากสิ่งที่อยู่ตรงหน้า เชื่อมโยงกระบวนการคิดแตกแขนงออกไปในหลายมิติ 

ความสำเร็จที่เกิดขึ้น ไม่เพียงแค่สะท้อนผ่านแบบทดสอบก่อนเรียนและหลังเรียนที่พบว่าเด็ก ๆ มีพัฒนาการดีขึ้นในทุกกลุ่มสาระวิชา แต่สิ่งที่ได้มากกว่านั้นคือ เด็ก ๆ รู้จักตั้งคำถามกับสิ่งรอบตัว และเริ่มลงมือค้นหาคำตอบด้วยตัวเอง ซึ่งถือเป็นทักษะสำคัญสำหรับศตรวรรษที่ 21 ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่มาจากความร่วมมือร่วมใจของทั้งคุณครูและผู้บริหารโรงเรียนบ้านเชิงทะเล (ตันติวิท) จังหวัดภูเก็ต ที่มีเป้าหมายร่วมกันที่ต้องการเห็นเด็กเกิดการเรียนรู้ที่ดีขึ้น

หน่วยการเรียนรู้ปรากฏการณ์เรือนกระจก
เชื่อมทุกสาระวิชาเข้าด้วยกัน

ครูทราย-กมลรัตน์ ประทีป ณ ถลาง ครูโรงเรียนบ้านเชิงทะเล (ตันติวิท) เล่าให้ฟังว่า ก่อนหน้านี้ทางโรงเรียนเคยปรับรูปแบบการเรียนการสอนมาเน้น Active Learning และเห็นว่าได้ผลดีกับเด็ก ๆ ทำให้เขาสนุกกับการเรียนมากกว่าแบบเดิม แต่ก็ยังคิดว่าน่าจะพัฒนาต่อไปได้อีก จนนำมาสู่การบูรณาการการเรียนรู้แบบ Active Learning เข้ากับทุกกลุ่มสาระวิชา เพื่อทำให้กระบวนการคิดของเด็กหลุดออกมานอกกรอบเดิม ๆ ได้

เริ่มต้นจากชั้น ป.6  คุณครูนั่งคุยกันว่าจะออกแบบหน่วยการการเรียนรู้อย่างไร เริ่มจากโจทย์ที่เด็ก ๆ สนใจคือเรื่อง “ปรากฏการณ์เรือนกระจก” ในวิชาวิทยาศาสตร์  นำไปสู่การทดลองนำโซดากับน้ำเปล่ามาตากแดดและวัดอุณหภูมิเปรียบเทียบกันทุก 5 นาที  น้ำโซดาที่มีคาร์บอนไดออกไซด์จะมีอุณหภูมิสูงกว่าน้ำเปล่าในช่วงแรก จนกระทั่งคาร์บอนไดออกไซด์ระเหยหมดไป อุณหภูมิจะกลับมาใกล้เคียงกับน้ำเปล่า ทำให้สรุปเชื่อมโยงกับปรากฏการเรือนกระจกที่เกิดขึ้นในธรรมชาติ

  • วิชาการงานจะเชื่อมโยงการเรียนการสอนกับการทำอาหาร  เรียนเรื่องวัตถุดิบที่ช่วยลดภาวะเรือนกระจก โดยพิจารณาจากคาร์บอนฟุตพริ้นต์ ให้เด็กคิดว่าวัตถุดิบไหนที่นำมาทำเมนูอาหาร แล้วทำให้เกิดภาวะเรือนกระจกน้อยกว่ากัน
  • วิชาสังคมจะเชื่อมโยงกับเรื่องสภาพภูมิอากาศ ผลกระทบจากสภาวะเรือนกระจก
  • วิชาภาษาอังกฤษเรียนเรื่องคำศัพท์ที่เกี่ยวข้อง
  • วิชาภาษาไทยเรียนเรื่องการแสดงความคิดเห็น
  • วิชาสุขศึกษาเรียนเรื่องของโทษและผลกระทบที่จะเกิดกับร่างกายของเรา
  • วิชาเทคโนโลยีจะเน้นไปที่เรื่องการให้เด็กได้รู้จักการสืบค้นข้อมูล

ความรู้ไม่ได้มีแค่ในตำราหรือที่ครูบอก
ต้องฝึกค้นหาและวิเคราะห์ด้วยตัวเอง

การเรียนก็จะเรียนตามตารางสอนเดิม เมื่อถึงคาบเรียนวิชานั้นก็จะเชื่อมโยงเนื้อหาจากปรากฏการณ์เรือนกระจกแทรกเข้าไป ซึ่งจะทำให้เด็กเห็นความเชื่อมโยงในประเด็นต่าง ๆ

“ที่สัมผัสได้คือเด็กชอบกว่าเรียนแบบเดิม  เหมือนเขาได้แอคทีฟ ภูมิใจในสิ่งที่ทำ เขาจะเต็มที่มาก ตั้งแต่การไปค้นหาข้อมูลล่วงหน้า ทุกกลุ่มจะมีข้อมูลมาหมดเลย ข้อมูลที่ไม่เหมือนกัน ก็ไม่มีผิด มีถูก แต่จะมาใช้สำหรับการเรียนรู้ไปด้วยกัน คิดไปด้วยกัน ครูจะมาสรุปให้หลังจากที่ปล่อยให้ช่วยกันคิด บางทีก็ช่วยอธิบายเพิ่มว่าข้อมูลที่แตกต่างกันมามาจากอะไร เขาก็จะอ๋อ เข้าใจแล้ว

“ความรู้ปัจจุบันไม่ได้มาจากแค่ในหนังสือหรือครูบอกเท่านั้น แต่มาจากหลากหลายแหล่ง การที่เขาได้ข้อมูลที่แตกต่างกัน ยิ่งเป็นเรื่องดีที่ทำให้เขาได้คิดนอกกรอบ แล้วเอามาพูดคุยกัน หาข้อสรุปจากข้อมูลที่ทุกคนหามา ครูทรายว่าเป็นเรื่องดีที่ต่อไปเขาก็จะมีทักษะทั้งการหาข้อมูล การคิด พิจารณาข้อมูลจากหลายแหล่งที่แตกต่างกัน ต่อไปก็จะนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน”

การเรียนรู้ที่ไม่จบแค่ในห้องเรียน
อีกตัวอย่างความสำเร็จของ TSQP

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับโรงเรียนบ้านเชิงทะเล (ตันติวิท) นับเป็นอีกหนึ่งในตัวอย่างความสำเร็จที่เกิดขึ้นในโครงการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง​ (TSQP) ของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)​ ที่มีเป้าหมายเพื่อสร้างต้นแบบช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในมิติของคุณภาพการศึกษาให้กับโรงเรียนทั่วประเทศ

ครูทรายอธิบายให้ฟังว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ตในฐานะพี่เลี้ยงของโครงการ ได้เข้ามาช่วยวางแผน ติดตาม และให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด  ตั้งแต่เริ่มการออกแบบแผนการสอน เช่น กิจกรรมที่เป็น Active Learning จะทำอย่างไรให้มีความน่าสนใจเพิ่มขึ้น หรือพอลงมือสอนแล้วจุดไหนดี จุดไหนยังมีปัญหา ติดขัดตรงไหนที่ควรจะปรับเพิ่ม  ก็จะคอยบอก​​

ครูพร้อมใจกันเปลี่ยนเพื่อเป้าหมาย
การเรียนรู้ที่นำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้จริง

การเริ่มต้นเปลี่ยนอาจจะต้องใช้เวลาแต่ก็ไม่ใช่เรื่องยาก ยิ่งโรงเรียนมีครูน้อยอยู่แล้ว ครู 4-5 คน ต่อ นักเรียน 200 กว่าคน ทำให้ครูคนหนึ่งต้องสอนมากกว่าหนึ่งวิชา อย่างครูทรายก็สอนวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ การเชื่อมโยงการสอนข้ามวิชาจึงง่ายขึ้น และพอลงมือปฏิบัติเสร็จก็จะกลับมา PLC ร่วมกันว่าแต่ละคนพบปัญหาตรงไหน เพื่อช่วยกันแก้ไขให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

เคล็ดลับความสำเร็จส่วนหนึ่งมาจากครูทุกคนพร้อมใจที่จะเปลี่ยน พอเริ่มเห็นเพื่อนครูเปลี่ยนการสอนมาเป็นแบบแอคทีฟแล้วเด็กสนุกขึ้น ครูคนอื่นก็อยากเปลี่ยนตาม เพราะการเรียนแบบใหม่ไม่น่าเบื่อ จากเด็กที่เคยนั่งนิ่งๆ เปลี่ยนมาเดินไปเดินมา ดูเหมือนวุ่นวาย แต่ขากำลังหาความรู้ ผลที่ตามมาก็ดีขึ้น เด็กได้เรียนรู้จริง ต่อยอดได้ ครูคนอื่นก็อยากเปลี่ยนบ้า งเพื่อเป้าหมายคือการเรียนรู้ที่นำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้จริง”​ ครูทรายกล่าวทิ้งท้าย