‘พื้นที่เรียนรู้ชุมชน’ ช่วยลดความเสี่ยงเด็กหลุดจากระบบการศึกษาอย่างไร

‘พื้นที่เรียนรู้ชุมชน’ ช่วยลดความเสี่ยงเด็กหลุดจากระบบการศึกษาอย่างไร

เปิดตัวแล้วกับงาน ‘บางกอกกำลังดี …ที่ฝั่งธน’ ด้วยแนวคิดในการผลักดันให้เกิดพื้นที่เรียนรู้เพื่อเด็กและเยาวชนทั่ว กทม. โดยมีกำหนดจัดกิจกรรมทุกวันอาทิตย์ ใน 12 เขตนำร่อง เป็นความร่วมมือระหว่างเครือข่ายบางกอกกำลังดี กสศ. สสส. ที่จับมือกับ กรุงเทพมหานคร เปลี่ยนพื้นที่สาธารณะให้เป็น ‘พื้นที่เรียนรู้ที่มีชีวิต’ ผ่านกิจกรรมศิลปะ ดนตรี ตลาด เวิร์คช็อป การละเล่นสร้างสรรค์ ที่เด็กเยาวชนทุกคนจะได้เข้ามาพบปะแลกเปลี่ยน เรียน เล่น แสดงความสามารถ มาค้นพบกิจกรรมที่สนใจ ที่จะช่วยเติมเต็มต่อยอดพัฒนาการทุกด้าน ที่สำคัญคือน้องๆ ทุกคนจะได้มีส่วนร่วมออกแบบพื้นที่ของตัวเอง เพื่อให้กิจกรรมและประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น รองรับความต้องการที่หลากหลายของเด็กเยาวชนทุกกลุ่มได้จริง

จากสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งทำให้เด็กเยาวชนต้องเรียนรู้จากบ้านมากกว่าไปโรงเรียน จนเกิดภาวะถดถอยทั้งการเรียนรู้และทักษะสังคม ทั้งยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักให้เด็กเยาวชนจำนวนมากอยู่บนความเสี่ยงต่อการหลุดออกจากระบบการศึกษา มาดูกันว่าการเกิดขึ้นของ ‘พื้นที่เรียนรู้สาธารณะชุมชน’ มีความสำคัญแค่ไหน และจะมีส่วนช่วยป้องกันน้องๆ ไม่ให้หลุดจากระบบการศึกษาได้อย่างไร

ประสบการณ์นอกห้องเรียน หนุนให้เกิดความพร้อมในการเรียนรู้

สุรนาถ แป้นประเสริฐ คณะทำงานโครงการ ‘บางกอกนี้ดีจัง’

สุรนาถ แป้นประเสริฐ คณะทำงานโครงการ ‘บางกอกนี้ดีจัง’ กล่าวว่า ชุมชนต่างๆ ที่กระจายตัวอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีปัญหาในลักษณะเดียวกันคือนับวันยิ่งมีจำนวนผู้อยู่อาศัยมากขึ้น ขณะที่พื้นที่ไม่สามารถขยายตาม ทำให้สภาพแวดล้อมไม่เอื้อต่อการใช้ชีวิต โดยเฉพาะเมื่อมองที่ประเด็นเรื่อง ‘พัฒนาการตามช่วงวัยของเด็กๆ’ ก็แทบเป็นไปไม่ได้เลย ที่แต่ละครอบครัวจะมองหา ‘พื้นที่’ ในการสร้างสรรค์กิจกรรมให้กับลูกหลานได้ เด็กเยาวชนหลายคนจึงเติบโตขึ้นด้วยความเครียดกังวล ความกดดัน จากการอยู่ในห้องแคบเล็ก ขาดปฏิสัมพันธ์กับเด็กวัยเดียวกัน และไม่มีพื้นที่สำหรับการสร้างสรรค์ ทดลอง หรือค้นพบกิจกรรมที่ตนสนใจ

“เรารอให้เด็กถึงเกณฑ์เข้าโรงเรียนแล้วค่อยพัฒนาเขาไม่ได้ เพราะทักษะพื้นฐานและคุณภาพชีวิต คือสิ่งที่ต้องส่งเสริมดูแลกันตั้งแต่แรกเกิด โดยครอบครัวและชุมชน ทุกชุมชนจำเป็นต้องมีพื้นที่ที่เด็กเข้าไปทำกิจกรรมได้ มีความปลอดภัย มีการจัดสรรกิจกรรมสร้างสรรค์ และเป็นไปตามความต้องการของลักษณะชุมชนนั้นๆ ความสำคัญของพื้นที่เรียนรู้สาธารณะ จึงหมายถึงสถานที่ที่ใครก็เข้าถึงได้ ใช้งานได้ สร้างการเรียนรู้ได้ มีการหมุนเวียนเปลี่ยนไปของกิจกรรม ที่ตอบโจทย์ทั้งเด็กเล็กก่อนวัยเรียน เด็กชั้นประถมมัธยม จนถึงคนทำงานและผู้สูงอายุ ในลักษณะของการเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้สำหรับคนทุกเพศทุกวัย และต้องทำให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมออกแบบกิจกรรมได้

“พื้นที่ตรงนี้จะเป็นมุมสร้างสรรค์แสดงออกของเด็กเยาวชน ให้เขาได้พัฒนาศักยภาพตัวเอง ได้รวมกลุ่มทำในสิ่งที่สนใจ ซึ่งมันคือการส่งเสริมความมั่นใจและคุณค่าในตัวเอง ที่สำคัญคือประสบการณ์นอกห้องเรียนเหล่านี้เอง ที่จะช่วยสนับสนุนให้เด็กมีความพร้อมในการเรียนรู้ ค้นพบเป้าหมาย หรืออาจพัฒนาไปถึงการสร้างอาชีพ ทำให้เด็กมีรายได้เสริม ทั้งหมดนี้คือปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยประคองเด็กไว้ให้อยู่ในระบบการศึกษา เพราะเขาเข้าใจด้วยตัวเองแล้วว่า การเรียนรู้นั้นมีพลังที่จะนำพาชีวิตให้ไปต่อบนทางข้างหน้าได้”

แหล่งเรียนรู้สาธารณะที่ใครก็เข้ามาพัฒนาตัวเองได้

เชษฐา มั่นคง ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก

เชษฐา มั่นคง ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก กล่าวว่า การมีพื้นที่สาธารณะในชุมชน หมายถึงเราสร้างแหล่งเรียนรู้ที่เด็กเข้าถึงง่าย ครอบคลุมตั้งแต่พัฒนาการทางร่างกาย จากการเล่นกีฬา ปีนป่าย เล่นของเล่น ถึงพัฒนาการทางสังคม ได้มาพบเจอเพื่อน เจอคนต่างรุ่น ทำศิลปะสร้างสรรค์ต่างๆ และแน่นอนว่าในทางกลับกัน พื้นที่เรียนรู้ที่เพิ่มขึ้นจะสวนทางกับโอกาสในการเกิดมุมอับที่มองไม่เห็นในชุมชน ลดความเสี่ยงการมั่วสุม เพราะพื้นที่กิจกรรมของชุมชนเราสามารถออกแบบให้อยู่กลางแจ้ง ปลอดภัย และอยู่ในสายตาผู้ใหญ่ได้

“ผมคิดว่าพื้นที่เรียนรู้ไม่ได้หมายถึงขนาด และไม่จำเป็นต้องกำหนดว่าเป็นอย่างไร เช่นทุกชุมชนมีปราชญ์ มีองค์ความรู้ มีกิจกรรมชุมชนที่ทำสืบต่อกันมาอยู่แล้ว แต่มันขาดช่วงไปเพราะขาดการเชื่อมต่อ อย่างหลายชุมชนในฝั่งธน มีการทำบ๊ะจ่าง น้ำใบบัวบก น้ำดอกอัญชัน ขนมโบราณ ทำเป็นกิจกรรมชุมชนที่เปิดให้เด็กรุ่นใหม่เข้าไปเรียนรู้ ทดลองทำ หลายคนทำแล้วชอบ เอาไปแปรรูป เอาไปต่อยอดหารายได้ หรือบางคนแค่เข้ามาเรียนรู้ ได้ใกล้ชิดคนเฒ่าคนแก่ ทำความรู้จักกัน ช่องว่างระยะห่างที่เคยมีก็ลดลง กิจกรรมชุมชนเหล่านี้มันคือห้องเรียนทางเลือกนอกโรงเรียน สำหรับคนทุกเพศทุกวัยทุกรุ่น คือแหล่งเรียนรู้สาธารณะที่ใครก็เข้ามาพัฒนาตัวเองได้

“วันนี้เราได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 เด็กหยุดเรียนไปนาน เกิดภาวะถดถอยทางความรู้ ผมคิดว่าถ้ามีแหล่งเรียนรู้ใกล้บ้าน มีหนังสือ มีของเล่น มีพื้นที่ที่เด็กเข้ามาอยู่แล้วสบายใจ โดยเฉพาะเด็กจากชุมชนแออัด เขาจะได้มีพื้นที่พักใจจากปัญหาต่างๆ ในครอบครัว ได้พบเพื่อน มีสถานที่ปลดปล่อยจินตนาการ เรียนรู้สิ่งที่สนใจสิ่งที่ชอบ แล้วใจของเขาจะเปิด พร้อมพาตนเองพ้นจากมุมอับของชีวิต”

พื้นที่แลกเปลี่ยนความคิดระหว่างคนหลากรุ่น พัฒนาการศึกษาให้ตอบโจทย์ผู้เรียน

สิบเอกดุษฎี ถิรธนกุล ประธานสภาเด็กและเยาวชนกรุงเทพมหานคร

สิบเอกดุษฎี ถิรธนกุล ประธานสภาเด็กและเยาวชนกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า พื้นที่เรียนรู้สาธารณะที่เกิดขึ้นตามชุมชนเล็กๆ จะช่วยดึงเด็กเยาวชนออกมาทำกิจกรรมที่เสริมสร้างตัวตนของเขา อย่างไรก็ตามพื้นที่นั้นๆ ต้องมีระบบจัดการที่ดีตอบโจทย์ 4 ด้านหลักๆ อย่างแรกคือพื้นที่ทางกายภาพ เช่นการทำกิจกรรม หรือเล่นกีฬา สองคือเป็นพื้นที่ทางความคิด แลกเปลี่ยนเรียนรู้แสดงความเห็น สามคือพื้นที่ทางสังคม เป็นคอมมูนิตี้ขับเคลื่อนตัวตนและชุมชนให้ไปต่อได้ และสี่คือพื้นที่ทางสื่อที่เด็กได้แสดงความเป็นตัวตนจริงๆ ของเขา ถ้าเราทำให้พื้นที่นำร่องแบบนี้เกิดขึ้น ก็จะเป็นต้นแบบขยายไปสู่ชุมชนอื่นๆ ซึ่งหมายถึงการพัฒนา ‘คน’ และ ‘เมือง’ ในภาพรวม

“ผมมองว่าสำคัญที่สุดคือการสร้างพื้นที่เรียนรู้สาธารณะ เด็กเยาวชนต้องมีส่วนร่วมออกแบบทั้งพื้นที่และกิจกรรม ให้หลากหลายเข้าถึงทุกกลุ่ม มันถึงจะตอบสนองการใช้งาน และดึงดูดให้คนออกมาทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง ภาพของสังคมที่เกิดขึ้นตอนนี้ ผมคิดว่ามันมีช่องว่างขนาดใหญ่ของคนต่างรุ่น เราจึงต้องมีพื้นที่ที่เด็กกับผู้ใหญ่ได้มาเจอกัน แลกเปลี่ยนกัน เพื่อละลายความต่าง ทำลายกรอบที่ปิดกั้น ซึ่งผมคิดว่าการพูดคุยถ่ายทอดความคิดเห็นในพื้นที่ปลอดภัยระหว่างกัน มันจะทำให้เกิดความเข้าใจและปรับตัวเข้าหากันได้ ในเรื่องการศึกษาเองก็ตาม ถ้าผู้กำหนดนโยบายได้ทำความเข้าใจว่าเด็กเยาวชนต้องการอะไร การปฏิรูปหรือการพัฒนาการศึกษาก็จะตอบสนองผู้เรียนมากขึ้น แล้วจำนวนของเด็กที่หันหลังให้ระบบการศึกษาเพราะเขาคิดว่าโรงเรียนไม่ตอบโจทย์ก็จะลดลง”

ถ้ามีที่ให้เด็กค้นพบเป้าหมาย ขับแรงบันดาลใจ เขาจะใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือนำพาสู่ความสำเร็จ

เมฆ สายะเสวี สถาปนิกชุมชน คณะทำงานเครือข่าย ‘ยังธน’

เมฆ สายะเสวี สถาปนิกชุมชน คณะทำงานเครือข่าย ‘ยังธน’ กล่าวว่า ถ้าถามว่าพื้นที่สาธารณะของชุมชนสำคัญยังไง ต้องบอกว่ามันคือ ‘ห้องรับแขก’ ของบ้าน เป็นเหมือนสถานที่ตรงกลาง ที่เติมเต็มความสมบูรณ์ให้ทุกคนมาเจอกัน โดยหากมองย้อนไปในอดีต จะเห็นว่าทุกชุมชนจะมี ‘ข่วง’ เป็นลานพบปะสาธารณะที่ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ส่งต่อภูมิปัญญา และรักษาความเข้มแข็งของชุมชนเอาไว้

“กทม. เป็นเมืองที่ยังขาดแคลนพื้นที่สาธารณะ ไม่ค่อยมีที่ที่เด็กจะได้ออกมาเรียนรู้นอกห้องเรียน เพื่อค้นพบความสนใจความถนัดของตัวเอง หรือคนที่มีความสามารถและต้องการการพัฒนาต่อยอดก็ไม่มีพื้นที่รองรับ ทั้งที่กิจกรรมเหล่านี้เองที่จะทำให้เด็กคนหนึ่งได้พบเป้าหมายของเขา รู้สึกถึงคุณค่าในตัวเขา แล้วผมคิดว่ามันเชื่อมโยงกับการศึกษาโดยตรง เพราะเมื่อเขาพบเป้าหมายในใจแล้ว ก็จะเกิดแรงบันดาลใจ รู้ว่าต้องพาตัวเองไปทางไหน เรียนอะไรเพิ่มเติม หรือจะไปให้ถึงปลายทางที่ตั้งไว้ด้วยวิธีใด เมื่อนั้นการศึกษาจึงจะเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เขาประสบความสำเร็จได้

“พื้นที่เรียนรู้ที่ดี มีชีวิต เด็กต้องได้ออกแบบ ได้เสนอในสิ่งที่เขาอยากได้ ผมว่าถ้าทุกคนย้อนนึกภาพว่าเราเป็นเด็ก แล้วมีผู้ใหญ่ที่ให้โอกาสเราตั้งคำถาม ได้ออกความเห็นที่บริสุทธิ์ ว่าจะสร้างพื้นที่เมืองให้เหมาะกับเด็กอย่างไร คงเป็นความรู้สึกที่ประทับใจ แล้วเมื่อโตขึ้น พวกเขาก็จะส่งโอกาสให้คนรุ่นต่อไปได้มาออกแบบเมืองกันต่อ นั่นเองที่เราจะได้เมืองที่เหมาะสมกับการเรียนรู้จริงๆ”

มล.จิรทิพย์ เทวกุล นักวิจัยศูนย์บริการนักวิจัย และออกแบบ มจธ. คณะทำงานเครือข่าย ‘ยังธน’

มล.จิรทิพย์ เทวกุล นักวิจัยศูนย์บริการนักวิจัย และออกแบบ มจธ. คณะทำงานเครือข่าย ‘ยังธน’ กล่าวว่า ประสบการณ์ของกลุ่มยังธน ในการทำงานสร้างเครือข่ายพัฒนาชุมชนและพื้นที่สาธารณะให้เป็นพื้นที่เรียนรู้ของทุกคน เน้นไปที่การมีส่วนร่วมของเด็กเยาวชน โดยเข้าไปเปิดพื้นที่ความคิดให้น้องๆ ในพื้นที่ที่แอบซ่อนในชุมชน จัดกิจกรรมกันในพื้นที่สาธารณะที่ทรุดโทรม เนื่องจากทางกลุ่มต้องการสื่อสารว่าเด็กๆ ควรมีที่เรียนรู้หรือทำกิจกรรมที่ดีกว่าใต้สะพาน หรือในตรอกซอกซอยเล็กแคบ ซึ่งจะยิ่งพาเด็กเข้าใกล้ความเสี่ยงในทุกรูปแบบ ดังนั้นการเกิดขึ้นของพื้นที่เรียนรู้สร้างสรรค์ ย่อมหมายถึงการเพิ่มคุณค่าให้สถานที่ ให้ชุมชน และให้กับตัวเด็กๆ และจะช่วยลดโอกาสที่เขาจะเลือกเดินไปอีกเส้นทางหนึ่ง จนหลุดจากระบบการศึกษาไปในที่สุด