อภิศักดิ์ ทัศนี : หน้าที่พลเมืองบนหาดทราย และวิทยาศาสตร์ที่ห้องเรียนไม่ได้สอน

อภิศักดิ์ ทัศนี : หน้าที่พลเมืองบนหาดทราย และวิทยาศาสตร์ที่ห้องเรียนไม่ได้สอน

โต๊ะกลางห้องวิทยาศาสตร์ของโรงเรียนในจังหวัดสงขลา เป็นที่สุมหัวระดมไอเดียของเด็ก ม.5 ที่สนใจการทำวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ทว่าวันหนึ่งเมื่อพวกเขาได้เรียนรู้ถึงสภาพแวดล้อมบางอย่างที่เปลี่ยนไปในพื้นที่บ้านเกิด โต๊ะเรียนของเด็กกลุ่มนี้จึงได้เปลี่ยนจากโครงไม้ 4 ขา เป็นชายหาดยาวสุดลูกหูลูกตาที่ชื่อว่า ‘หาดชลาทัศน์’

‘Beach for life’ ถือกำเนิดขึ้นเมื่อปี 2555 จากความตั้งใจของเยาวชนที่เรียกร้องและขับเคลื่อนให้เกิดการแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในจังหวัดสงขลา เริ่มจากหาดสมิหลา-ชลาทัศน์ อำเภอเมืองสงขลา ขยับขยายต่อยอดไปสู่หาดทรายในต่างอำเภอที่เผชิญกับโครงการกำแพงกันคลื่น โดยเป้าหมายสูงสุดของ Beach for life คือยุติการสร้างกำแพงกันคลื่นและฟื้นฟูชายหาดให้กลับมาเป็นดังเดิม

หากให้นิยามความหมายของชื่อ Beach for life น้ำนิ่ง-อภิศักดิ์ ทัศนี ผู้ประสานงานกลุ่มและหนึ่งในทีมจัดตั้ง ตอบอย่างเรียบง่ายว่า หาดทรายคือชีวิตของผู้คน และหาดทรายคือผู้ขีดเขียนตัวตนของเขาในทุกวันนี้เช่นกัน

ในวันธรรมดาๆ วันหนึ่งที่น้ำนิ่งเลือกหนีไปพักใจที่ชายหาดใกล้โรงเรียนเพราะสอบตกวิชาฟิสิกส์ คือวันที่เขาได้เห็นโครงสร้างแข็งของกำแพงกันคลื่นวางเรียงรายริมทะเล นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาตัดสินใจว่าควรทำอะไรสักอย่างเพื่อไม่ให้หาดทรายต้องกลายเป็นหาดปูน

น้ำนิ่ง-อภิศักดิ์ ทัศนี

อดีตนักเรียน ม.ปลาย สายวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ หันหลังให้ความฝันที่จะเป็นนักจุลชีววิทยา มุ่งหน้าสู่การทำงานเพื่อสังคมมาเป็นเวลากว่า 10 ปี ในระยะเวลาหนึ่งทศวรรษ น้ำนิ่งยังกระโดดเข้าสู่ขบวนการต่อสู้เพื่อสิ่งแวดล้อมอีกหลายประเด็น ภายใต้บทบาทแกนนำกลุ่ม Beach for life ที่เชื่อมั่นในการทำงานผ่านความจริงของสังคมและข้อเท็จจริงเชิงวิทยาศาสตร์

ถึงตัวจะไม่ได้ยืนอยู่ริมทะเล แต่เราอยากชวนคุณเปลือยเท้าก้าวเหยียบหาดทราย ปูเสื่อนั่งคุยกับชายหนุ่มผู้เติบโตผ่านการทำงานกับธรรมชาติและชุมชน

Beach for life คือใคร ทำงานเกี่ยวกับอะไร

Beach for life คือกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่สนใจประเด็นเรื่องชายหาด ทำงานแบบอาสาสมัคร เพื่อบอกความจริงกับสังคมว่าปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งคืออะไร สาเหตุมาจากไหน มีวิธีจัดการยังไง

คอนเซปต์ของ Beach for life คือการสะท้อนความจริง ตั้งคำถามเชิงลึกกับสิ่งที่เกิดขึ้น และแบ่งปันข้อมูลให้กับสังคม เริ่มต้นจากแก๊งเด็กมัธยมในพื้นที่ รวมตัวกันทำสิ่งต่างๆ เพื่ออนุรักษ์ชายหาด เมื่อก่อนก็เป็นประเด็นแค่การกัดเซาะที่หาดสมิหลาและหาดชลาทัศน์ จังหวัดสงขลา ตอนนี้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งกลายเป็นวาระแห่งชาติไปแล้ว Beach for life จึงได้ติดตามเรื่องนี้ในพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ

คนรุ่นใหม่หมายถึงใครบ้าง

คนรุ่นใหม่ไม่ได้หมายถึงแค่เด็กหรือเยาวชน แต่คือคนที่สนใจสิ่งแวดล้อมและพร้อมเข้ามาทำงานร่วมกัน สมาชิก Beach for life มีตั้งแต่น้องมัธยมไปจนถึงลุงอายุ 60-70 ปี เรานับเขาเป็นคนรุ่นใหม่หมดเลย เพราะเรารู้สึกว่าคนรุ่นใหม่ไม่ได้ถูกนิยามแค่ตัวเลขเชิงอายุ แต่คือความใส่ใจในเรื่องทางสังคมเพื่อการเข้าใจมิติสังคมที่หลากหลาย 

จุดเริ่มต้น Beach for life เป็นมายังไง

แรกเริ่มคือกลุ่มสงขลาฟอรั่มมีโปรเจกต์ community based learning เป็นโปรเจกต์เพื่อการเรียนรู้ของเยาวชน ซึ่งตอนนั้นเราเรียนอยู่ ม.5 และอยู่ชมรมวิจัยของโรงเรียน ก็สนใจจะเข้าร่วมโปรเจกต์นี้เหมือนกัน เลยมาคิดว่าจะออกแบบการเรียนรู้เรื่องอะไรดี ประกอบกับการที่ได้รับรู้เรื่องการกัดเซาะชายหาดที่เกิดขึ้นในปี 2554 ซึ่งเป็นช่วงพีคของการทำโครงการกำแพงกันคลื่น เพราะโครงการนี้เริ่มดำเนินงานมาก่อนหน้านั้นแล้ว มีการวางกระสอบทรายที่หาดชลาทัศน์มาตั้งแต่ปี 2550 จนมาถึงช่วงรอยต่อระหว่างปี 2554-2555 เป็นช่วงที่ต้องวางกระสอบทรายบริเวณตั้งแต่โซนมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ไปจนถึงรูปปั้นนางเงือกทอง เราเลยคิดว่าจะทำเรื่องนี้แหละ แล้ว Beach for life ก็เลยถือกำเนิดขึ้นในปี 2555

ช่วงแรกของการทำงาน พวกเราเคลื่อนไหวด้วยการเดินขบวนรณรงค์บริเวณชายหาด ตอนนั้นเราเองไม่ได้เข้าใจปัญหาการกัดเซาะมากขนาดนั้น พอทำงานไป เราจึงได้เรียนรู้ว่า การกัดเซาะมันเกิดจากการสร้างโครงสร้างแข็งริมหาด ตอนนั้นก็มีอาจารย์สมบูรณ์ พรพิเนตพงศ์ (ภาควิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์) และอาจารย์สมปรารถนา ฤทธิ์พริ้ง (ภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์) ให้ข้อมูลเรื่องการกัดเซาะชายฝั่ง ทั้งสถานการณ์ที่กำลังเกิดและผลกระทบที่จะตามมา

หลังจากนั้นเลยเกิดแคมเปญว่าให้หยุดวางโครงสร้างที่หาดสมิหลาและชลาทัศน์ โดยมีทีมผู้ใหญ่ในสงขลาอย่างสงขลาฟอรั่มและคุณพีระ ตันติเศรณี (นายกเทศมนตรีนครสงขลาในขณะนั้น) ที่เคลื่อนไหวเรื่องนี้มาตั้งแต่แรก พอมีเราซึ่งเป็นประชาชนและเยาวชนเติมเข้าไป ภาคีรณรงค์มันก็เลยสมบูรณ์ แรงกดดันก็มากขึ้น จนสามารถหยุดการวางโครงสร้างกำแพงกันคลื่นได้

ช่วงแรกที่ทำเรื่องนี้มันเปิดโลกเรามาก เพราะขนาดว่าโรงเรียนมัธยมที่เราเรียน อยู่ห่างจากชายหาดแค่ไม่กี่ร้อยเมตร แต่เรากลับไม่มีความรู้เรื่องพวกนี้เลย หนังสือเรียนสอนเราว่า วิธีการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งคือต้องวางโครงสร้างแข็ง ทั้งที่ตำราสอนอย่างหนึ่ง แต่ข้อมูลเชิงวิชาการกลับบอกอีกอย่าง ความจริงเชิงประจักษ์ที่เราเห็นก็อีกอย่างหนึ่ง มันตรงข้ามกันหมดเลย แล้วเราก็รู้สึกว่า ถ้าหลักสูตรการศึกษาสอนแบบนี้ แล้วเพื่อนเราไม่รู้ข้อมูลในหลายๆ มิติ ในอนาคตหาดทรายต้องพังแน่นอน 

ข้อเท็จจริงคือโครงสร้างแข็งยิ่งทำให้หาดทรายพังมากขึ้น พังไวขึ้น กลายเป็นปัญหาก่อตัวเพิ่มกว่าเดิม เราเลยคิดว่าจะทำยังไงเพื่อให้ความรู้เรื่องนี้กับเพื่อนในโรงเรียน กับคนในสังคม ตอนนั้นเราคิดแค่นั้น ก็เลยเปิดเพจเฟซบุ๊กเพื่อจะให้ความรู้ในวงกว้าง ให้ความรู้เรื่องโครงสร้างแข็ง แล้วเราก็ไปทำกิจกรรมในโรงเรียน จัดเสียงตามสายให้ความรู้ พาเด็กๆ ไปเรียนรู้ผ่านการจัดค่าย ทำหนังสือเล่มเล็ก จัดนิทรรศการที่ถนนคนเดินสงขลา ให้เด็กได้ไปดูชายหาด ได้เห็นความจริงของชายหาด เพื่อให้เขารู้สึกรักในพื้นที่ชายหาด

โจทย์สำคัญของเราคือ ถ้าเขารู้สึกรักในพื้นที่และมีหัวใจที่อยากทำความเข้าใจกับปัญหา มันจะอินกับปัญหามากกว่าการเอาความรู้ไปป้อนให้ 

ทำงานร่วมกับสงขลาฟอรั่มยังไงบ้าง

สงขลาฟอรั่มเป็นโค้ชให้เรา โดยให้เรากำหนดเป้าหมายงานที่เราจะทำเอง เราออกแบบเอง เขามีหน้าที่ให้คำปรึกษาโดยที่ไม่ได้โฟกัส output แต่ให้ความสำคัญกับกระบวนการเรียนรู้ เพราะโปรเจกต์นี้ให้ความสำคัญกับ active citizen เช่น ถ้ามีเด็กอยากปลูกผัก สงขลาฟอรั่มไม่ได้สนใจว่าผักจะโตไหม แต่สนใจว่าเด็กเรียนรู้อะไรระหว่างทำให้ผักโต เปรียบเทียบกัน สงขลาฟอรั่มไม่ได้โฟกัสว่าปลายทางของ Beach for life จะดูแลชายหาดได้สำเร็จหรือเปล่า แต่สนใจว่าเด็กที่อยู่ในโครงการจะเติบโตไปด้วยความรู้สึกของการเป็นพลเมืองได้ยังไงจากการทำงานเรื่องนี้

ความเป็นพลเมืองมันเริ่มจากเรื่องง่ายๆ อย่างความรับผิดชอบ การมีความตระหนักต่อประเด็นบางอย่างในสังคม ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือทักษะความเป็นพลเมือง (citizen skills) ที่เกิดขึ้นจากการลงมือทำอะไรบางอย่าง 

ตอนเราทำงานในช่วงแรก เราในฐานะคนทำก็จะมุ่งตรงไปที่ผลลัพธ์เลยว่าโครงการนี้จะต้องประสบความสำเร็จให้ได้ แต่สงขลาฟอรั่มพาเราไปโฟกัสเรื่องการออกแบบกระบวนการ การรับผิดชอบต่อกระบวนการ เรียนรู้วิธีจัดการกับกลุ่มเพื่อน วิธีแก้ปัญหาเรื่องข้อขัดแย้งกับชุมชน ช่วงแรกที่ทำบีช เลยเป็นการเรียนรู้ที่ไม่ได้มีแรงกดดันเยอะ ไม่ได้มีกรอบเวลาที่จะต้องทำมันให้สำเร็จ แต่มันเป็นการวัดผลในลักษณะที่ว่า ถ้าวันนี้ไปลงพื้นที่แล้วทำงานสำเร็จ ได้เรียนรู้อะไร หรือถ้าทำไม่สำเร็จ เราเรียนรู้อะไรจากมันบ้าง

Beach for life ออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้เองไหม

เราทำกันเองตั้งแต่ต้นเลย เริ่มจากตั้งชื่อ Beach for life โดยไอเดียของเพื่อนในห้อง แล้วเอาโปรเจกต์นี้เข้ามาสู่ชมรมวิจัย เราเป็นตัวกลางเชื่อมเพื่อนในห้องกับเด็กๆ ในชมรมวิจัย ช่วงแรกก็เป็นการทำงานระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้อง และนักกิจกรรมในโรงเรียนที่รู้จักกับเรา หลังจากนั้นก็ประกาศรับสมัครคนมาร่วมโปรเจกต์ผ่านการติดแผ่นป้ายตามที่ต่างๆ แล้วก็เข้ามาร่วมกับเรา

ปีแรกที่จัดตั้งกลุ่ม มีสมาชิกประมาณกี่คน แบ่งการทำงานกันยังไง

วงในจัดตั้งมีประมาณ 10 คน แต่คนที่ทำงานทั้งหมดน่าจะเกือบ 30 คน ประชุมระดมไอเดียทุกวันอังคารเพื่อแบ่งหน้าที่การทำงาน ซึ่งก็จะมีภารกิจที่ออกแบบไว้สำหรับดำเนินงานรายปีอยู่แล้ว เพราะเราได้งบจากสงขลาฟอรั่มปีละประมาณ 20,000 บาท งบตรงนี้เราก็เอาไปจัดค่ายเเกนนำ Beach for life ทำงานมาจนถึงปี 2558 ด้วยกระบวนการลักษณะนี้ ระหว่างนั้นก็มีการผลัดเปลี่ยนรุ่น ก็จะมีบางคนที่ออกไปบ้าง เราก็ยังมีคนที่ยังอยู่เพื่อผลักดันประเด็นกันต่อ

ความตั้งใจตอนนั้นคือ หาดชลาทัศน์ต้องไม่มีการวางโครงสร้างแข็งอีก และต้องฟื้นฟูชายหาดให้กลับมาเป็นเหมือนเดิม คำว่าเหมือนเดิมในที่นี้คือ หาดชลาทัศน์ต้องเป็นแบบที่เราเคยเห็นตอนมาสงขลาครั้งแรกเมื่อปี 2548 ตอนนั้นหาดกว้างมาก สวยมาก เราอยากเห็นภาพนั้นอีกครั้ง ซึ่งตอนนั้นเราไม่รู้หรอกว่าวิธีการที่จะเกิดผลสำเร็จจริงมันเป็นยังไง จะต้องใช้เวลานานแค่ไหน แต่เราก็อยากจะทำให้ได้ แล้วเราก็ลงมือทำมาเรื่อยๆ

หลังจากมีการเปลี่ยนรุ่น การทำงานของกลุ่มเป็นยังไงต่อ

เรามองว่าเราให้ความรู้เพื่อนในโรงเรียนแล้ว แต่เขาอาจไม่ใช่คนที่อยู่ในชุมชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับชายหาด เราเลยคิดต่อว่า จะทำยังไงดีให้เรื่องนี้ไปถึงชุมชน เลยไปลงพื้นที่ชุมชนเก้าเส้งซึ่งอยู่บริเวณหาดชลาทัศน์

เราในตอนนั้นก็ไม่ได้มีความรู้หรือประสบการณ์ในการลงพื้นที่ชุมชนเลย สิ่งที่เกิดขึ้นคือโดนชาวบ้านเขาไล่กลับมา เขาให้เหตุผลว่าต้องการให้มีกำแพงกันคลื่นเพื่อป้องกันบ้านเขาจากการกัดเซาะของน้ำทะเล

ปัญหาคือเราไม่รู้วิธีคุยที่มันจะสร้างความรู้สึกที่ดีระหว่างกัน มุมมองและวิธีการคุยของเราในตอนนั้นมันยังขาดความเห็นอกเห็นใจเขา เพราะเรามีเป้าหมายของเราว่าโครงการกำแพงกันคลื่นจะต้องยุติ พอไปคุยมันเลยเกิดแรงปะทะและความขัดแย้ง การลงพื้นที่เลยเป็นเรื่องที่ยากมาก

แก้ปัญหานั้นยังไง

เราก็ถอยไปตั้งหลักกันสักพัก อาทิตย์ถัดมาก็ไปลงพื้นที่อีก เพราะเราเชื่อว่าไปคุยเรื่อยๆ เดี๋ยวเขาก็เปลี่ยนใจ ใช้เวลาเกือบ 2 ปี ในที่สุดก็ชวนชาวบ้านที่เก้าเส้งมาฟ้องคดีได้ในปี 2558

ทักษะหรือแนวคิดอะไรบ้างที่เกิดขึ้นกับตัวเองระหว่างที่ทำ Beach for life

สิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนเราไปเลยคือ เราเคยอยากเป็นนักวิทยาศาสตร์จุลชีวะ อยากอยู่ในสายวิทยาศาสตร์ ก่อนเราจะมาทำกับสงขลาฟอรั่ม เราเคยทำวิจัยชิ้นหนึ่งสำเร็จตอนยังเรียนอยู่ ม.4 แล้วเราก็มาทำบีชตอนอยู่ ม.5 มันทำให้เราได้เห็นความจริงอีกมิติหนึ่ง เราทำงานสายวิทยาศาสตร์เยอะ ทำวิจัยก็เยอะ แต่มันไม่ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในสังคมได้มากนัก แต่พอมาทำ Beach for life มันสร้างการเปลี่ยนแปลงได้เยอะมาก อย่างน้อยมันทำให้เพื่อน 30 กว่าคนเข้าใจได้ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นกับชายหาดคืออะไร ให้เขาได้ลงพื้นที่ไปดูความจริง ให้ชุมชนได้เข้าใจอะไรบางอย่างมากขึ้น 

จากเด็กที่เรียนสายวิทย์ เราค่อนข้างอ่อนวิชาเคมีกับฟิสิกส์ ถนัดแค่ชีววิทยากับพวกวิชาสายสังคม ตอน ม.4 เราเลยขึ้นมาเรียนเสริมที่กรุงเทพฯ เพราะอยากสอบเข้ามหา’ลัยให้ได้ แต่พอมาทำ Beach for life เราก็รู้สึกว่า การลงทุนเรียนเสริมมันไม่ได้มีประโยชน์อะไรสำหรับเรา คือเราไม่ได้เรียนดีขึ้นมากนัก เพราะเราแค่จำ เราไม่ได้มีทักษะการคิดแล้วไปต่อ หรือแม้กระทั่งการเชื่อมโยงสิ่งที่เรียนเข้ากับเรื่องจริง 

การคิดเชิงวิพากษ์มันไม่เกิดขึ้นจากการไปนั่งเรียนในห้องเรียน นี่คือสิ่งที่เรารู้สึกในตอนนั้น ก็เลยตัดสินใจว่าจะเรียนสายไหนก็ได้ที่ทำให้เราได้ลงชุมชน มีเวลาว่าง แล้วก็ยังได้เรียนอยู่ในสงขลาเพื่อจะได้ทำบีชต่อ เราก็เลือกเรียนพัฒนาชุมชน ที่ ม.ราชภัฏสงขลา เพราะใกล้สุด ไม่ต้องสอบเอนทรานซ์ ทำให้เรามีเวลาเยอะ ได้ลงชุมชน แล้วก็ได้ใช้สกิลจากการเรียนไปทำงาน Beach for life ด้วย

ส่วนเรื่องความเป็น citizen มันอยู่ในตัวอยู่แล้ว เรื่องชายหาดกับเรามันคือเรื่องเดียวกัน ความรู้สึกที่ต้องรับผิดชอบทั้งต่อตัวเองต่อสังคม เรารู้สึกว่ามันเกิดและโตขึ้นภายในระยะเวลาการทำงานแค่ปีกว่าๆ และมันทำให้วิธีคิดต่อการมองชีวิตในอนาคตมันเปลี่ยนไปเลย

การทำ Beach for life ทำให้เราเข้าใจชีวิต การเมือง และเรื่องส่วนรวม ว่ามันเป็นเรื่องเดียวกัน แยกออกจากกันไม่ได้ ชีวิตฉันจะดีขึ้นไม่ได้ถ้าการเมืองยังแย่ เรื่องส่วนรวมยังแย่ และถ้าเรื่องชายหาดมันยังแย่ เรื่องอื่นมันก็จะแย่เหมือนกัน เพราะทุกอย่างคือเรื่องเดียวกันที่ซ้อนกันอยู่

Beach for life ขยายการทำงานไปสู่พื้นที่ไหนบ้าง

เราเริ่มจากพื้นที่ที่มีโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ที่มีปัญหาก่อนเลย เพราะอยากให้ความรู้ของเราไปเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวของคนในพื้นที่ มันน่าจะเป็นประโยชน์ในการคัดค้าน เช่น โครงการท่าเรือน้ำลึกที่หาดสวนกง อำเภอจะนะ ซึ่งพื้นที่ตรงนั้นมีสันทรายอายุ 6,000 ปี การหายไปของสันทรายมันคือการทำลายระบบนิเวศบริเวณนั้น เราเอาความรู้เรื่องชายหาดที่เรามีไปจับกับเรื่องสันทรายในพื้นที่ เพื่อให้ชาวบ้านเข้าใจและอธิบายเรื่องนี้ได้ โดยที่ความรู้เรื่องสันทราย 6,000 ปีนี่ก็มาจากการค้นข้อมูลของ Beach for life ทำข้อมูลกับน้องๆ ในพื้นที่สวนกง

เราเชื่อในพลังการเปลี่ยนแปลงของเยาวชน เลยสร้างกลุ่มเด็กรักหาดสวนกงขึ้นมาเพื่อทำงานผลักดันเรื่องนี้ ตอนนั้นยะห์ (ไครียะห์ ระหมันยะ) ยังเป็นเด็กน้อยอยู่เลยนะ เราก็ชวนน้องมาทำงาน จนตอนนี้กลายเป็น ‘ลูกสาวแห่งทะเลจะนะ’ ไปแล้ว 

เรารู้สึกว่าเด็กคนหนึ่งมีพัฒนาการ มีเรื่องราว พลังของคนรุ่นใหม่หรือของเยาวชนมันมีความสำคัญต่อขบวนการเคลื่อนไหวเรื่องใหญ่ๆ การใช้ความรู้น่าจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ทำให้คนที่ได้รับผลประโยชน์แฝงในเรื่องเหล่านั้นสยบยอมต่อข้อเท็จจริงตรงนี้ นี่เป็นแนวทางการเคลื่อนไหวการของเรามาตลอดเลยนะ 

ความตั้งใจที่เราทำมาตลอดคือจะต้องต่อสู้กันบนความรู้และความจริง จะทำยังไงให้ชาวบ้านมีความจริงและความรู้อยู่ในมือเขา จะทำยังไงให้ชาวบ้านพูดข้อเท็จจริงได้อย่างเดียวกับที่นักวิชาการพูด แล้วมันจะนำมาซึ่งแนวทางการแก้ปัญหาที่สอดคล้องกับพื้นที่

หาข้อมูลของแต่ละพื้นที่ด้วยวิธีการไหน

ข้อมูลเดิมมันเป็นข้อมูลทางวิชาการที่มีเอกสารรับรองอยู่แล้ว ซึ่งตรงนี้ อ.สมบูรณ์ และ อ.สมปรารถนา จะคอยเข้ามาช่วย ส่วนข้อมูลเชิงพื้นที่เราก็อาศัยการสร้างมันขึ้นมา โดยให้อาจารย์ช่วยกันออกแบบวิธีเก็บข้อมูล อย่างการวัดระยะชายหาด มันก็คือเครื่องมือที่จะบอกว่าสภาพหาดบ้านเราเป็นยังไง

ใช้เครื่องมือเหล่านั้นทำงานร่วมกับคนในพื้นที่ยังไงบ้าง

ยกตัวอย่างการทำงานเมื่อปี 2557 เกิดเหตุการณ์เรืออรพิน 4 ซึ่งเป็นเรือเปล่าขนส่งก๊าซธรรมชาติ มาเกยที่หาดบริเวณแหลมสนอ่อนสงขลา มันเหมือนกับเคสเรือปานามา (เรือจีน่าร์-2) ที่มาเกยที่หาดชลาทัศน์เมื่อปี 2537 ซึ่งส่งผลให้ตะกอนทรายโดนกั้น ฝั่งหนึ่งถูกกัดเซาะ ส่วนอีกฝั่งโดนทับถม แต่ตอนนั้นเราไม่มีข้อมูลอะไรเลยที่บอกว่าชายหาดเปลี่ยนแปลงไปยังไงบ้างนอกจากภาพถ่ายทางอากาศ

พอเกิดเหตุการณ์เรืออรพิน 4 กลุ่ม The sand ที่แตกออกจาก Beach for life เพื่อทำเรื่องนี้โดยเฉพาะ เลยปรึกษากับ อ.สมบูรณ์ และ อ.สมปรารถนา ว่าจะเก็บข้อมูลการเปลี่ยนแปลงของชายหาดที่เรือมาเกยได้ยังไง ก็เลยเกิดการพัฒนาข้อมูลโดยใช้เครื่องมือ water level วัดระยะชายหาด ทำข้อมูลเก็บความลาดชัน เส้นแนวชายฝั่ง ใช้ GPS ที่เป็น handheld เอาวิธีการที่นักวิจัยเขาสำรวจกันนี่แหละมาสอนเด็ก โดยทำเครื่องมือให้มันง่ายขึ้น

หลังจากเคสอรพิน เราเลยเกิดไอเดียว่า ทำไมไม่ลองเก็บข้อมูลที่หาดชลาทัศน์แบบนี้บ้าง ก็เลยไปลองทำหลังจากนั้น ออกแบบ ทำ beach profile หรือรูปร่างของชายหาดว่ามันเปลี่ยนแปลงไปยังไงบ้าง ก็จะได้รูปร่างของชายหาดที่บอกความเปลี่ยนแปลงในแต่ละเดือน ทำให้เราเห็นความจริงของพื้นที่มากขึ้น แล้วก็ใช้ข้อมูลแบบนี้ไปยืนยันกับรัฐว่าหาดไม่ได้โดนกัดเซาะ

พอทำแบบนี้แล้วเรารู้สึกว่าคนสงขลาเองก็เก็บข้อมูลตรงนี้ได้ ไม่ว่าจะเป็นลุงที่อายุ 60 หรือเด็กอนุบาลที่ไปช่วยพ่อแม่วัดหาด ทั้งนี้ เราทำงานกันบนระบบอาสาสมัครนะ คนในพื้นที่ชลาทัศน์ทำได้ คนในต่างอำเภอหรือต่างหวัดก็ทำได้เหมือนกัน

ตอนนั้นเราก็ได้รับอิทธิพลมาจากวิทยาศาสตร์พลเมือง (citizen science) ถ้าสิ่งนี้มันสามารถขยายไปถึงชุมชนได้ ชุมชนก็จะมีข้อมูลที่ชายหาดหน้าบ้านตัวเอง เพื่อยืนยันว่าหาดบ้านเขาไม่ได้กัดเซาะ ไม่มีความจำเป็นจะต้องทำโรงไฟฟ้า ไม่จำเป็นจะต้องมีท่าเรือน้ำลึก

จากการทำงานมากว่า 10 ปี ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างในแง่การรับรู้ของชุมชนและสังคม

เราพูดถึงเรื่องโครงสร้างแข็งมาตลอด 10 ปี แต่วันนี้มันไปไกลกว่านั้นแล้ว ไปสู่เรื่องงบประมาณ ไปสู่ประเด็นที่ใหญ่ขึ้น 10 ปีก่อน คนไลก์เพจแค่ 3,000 กว่าคน ตอนนี้มันถึง 30,000 แล้ว สะท้อนว่าความสนใจของสังคมมันกว้างขึ้นมาก สังคมมีความรู้มากขึ้น วิพากษ์วิจารณ์มากขึ้น แล้ว Beach for life กลายเป็นพื้นที่ในการวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นนี้ นี่คือความก้าวหน้าของสังคม

กลุ่ม Beach for life เดินทางมาไกลมาก แต่จะถามว่าสำเร็จหรือยัง เรามองว่ายังไม่สำเร็จ เพราะท้ายที่สุดเราก็ยังสู้อยู่กับเรื่องเดิมๆ ภายใต้โครงสร้างแบบเดิม แต่มีความเปลี่ยนแปลงคืออย่างน้อยความรับรู้ของสาธารณะมันก็กว้างขึ้น และทุกวันนี้ไม่ว่ากำแพงกันคลื่นจะไปลงที่ไหน มันจะมีแรงต้านขึ้นมาเสมอ ซึ่งเสียงสะท้อนส่วนใหญ่พวกนี้ก็มาจากคนในพื้นที่นั่นแหละ เราคือว่านี่คือสิ่งที่ทำสำเร็จ

แผนในอนาคตของ Beach for life เป็นยังไง

อยากให้ Beach for life เป็นคลังความรู้ให้กับสังคม อยากรู้เรื่องอะไรเกี่ยวกับชายหาดเข้ามาที่เว็บ Beach for life จะต้องเรียนรู้ทั้งหมด แล้วก็จะเป็นผู้ที่ชี้นำสังคมว่าปัญหาของชายฝั่งควรจะมีวิธีการจัดการแบบไหนถึงจะถูกต้องเหมาะสม

ในฐานะเยาวชนที่ขับเคลื่อนประเด็นสิ่งแวดล้อม คิดว่าความรู้การพื้นฐานเกี่ยวกับการกัดเซาะชายฝั่งในหลักสูตรการศึกษาสอดคล้องกับความเป็นจริงไหม

เราว่ามันถูกบิดไป มันถูกให้ข้อมูลที่ไม่ครบ ถ้าพูดถึงการแก้ปัญหาการกัดเซาะหาดในตำราเรียนวิชาภูมิศาสตร์และการจัดการทรัพยากร วิธีแก้ก็ต้องสร้างกำแพงกันคลื่น ซึ่งมันก็ใช่ แต่หนังสือเรียนไม่ได้บอกถึงผลกระทบของมัน ไม่ได้บอกวิธีการอื่นๆ ที่อาจจะทำได้ ซึ่งทำให้ความเข้าใจของสังคมผิดเพี้ยนไป

ณ วันนี้ ความจริงในประเด็นต่างๆ ของสังคมมันมีหลายชุดมาก แต่ระบบการศึกษาจับแค่ความจริงแค่ชุดเดียวออกมาบอกกับเด็ก แล้วเด็กก็เชื่ออย่างนั้น ปัญหาคือพอให้ข้อมูลไปแบบชุดเดียว สิ่งเหล่านี้ก็จะฝังอยู่ในความเชื่อและความรู้ของคน

การไม่สอนให้เด็กเห็นพื้นที่ และไม่ได้สอนให้เชื่อมโยงความรู้นั้นสู่ความจริงของชีวิตเป็นปัญหาของการเรียนรู้มากๆ ถ้าเราไม่พาเด็กๆ Beach for life ไปลงพื้นที่ หรือถ้าสงขลาฟอรั่มไม่พาเราลงไปเจอพื้นที่ ไปเจออาจารย์ ไปเจอความจริง เราไม่มีทางเห็นสิ่งเหล่านี้ได้เลย เพราะเราก็ถูกสอนมาด้วยวิธีการเดียวเหมือนกัน แล้วเราก็คงจะกอดยึดความรู้ในตำรานั้นไปตลอด

เพราะฉะนั้น สิ่งที่ Beach for life ทำได้ดีที่สุดคือทำให้คนเห็นความจริง แล้วบอกว่า นี่คือสิ่งที่การศึกษาไม่ได้บอกคุณ

พอแนวคิดแบบนี้มันไปสู่สังคมที่ใหญ่ขึ้น สิ่งที่เห็นได้ชัดคือสังคมเราไม่เคยเปิดพื้นที่ให้คนถกเถียงกัน และคนก็ไม่ชอบที่จะถกเถียงกันด้วย เพราะเขารู้สึกว่ามันคือการใส่ร้าย ทั้งที่ความเป็นจริงมันไม่ใช่ นี่คือพื้นที่แห่งปัญญาและมันคือพื้นฐานของประชาธิปไตย แต่เรากลับเกลียดกลัวมัน เพราะระบบการศึกษาไม่ได้สอนให้เราเคยชินกับการถกเถียง

ในวงของ Beach for life เราพยายามให้ทุกคนได้แลกเปลี่ยนกันมากขึ้นว่าเราจะทำอะไรบ้าง ดีไซน์เรื่องบางอย่างออกมาผ่านองค์ความรู้ที่เอามาแชร์กัน นี่มันคือเรื่องปกติของสังคมโลกสมัยใหม่ แต่ระบบการศึกษาไม่ยอมรับวิธีแบบนี้ ไม่มีพื้นที่และไม่มีเวลามากพอที่จะทำแบบนี้ 

การไม่มีพื้นที่ ไม่มีเวลาเพียงพอ มันทำให้เด็กไม่มีโอกาสสะท้อนข้อเท็จจริงจากสิ่งที่เข้าใจในการเรียน เด็กควรได้แสวงหาคำตอบว่า สิ่งที่กำลังเรียนอยู่ สิ่งที่กำลังถูกสอน มันถูกต้องและเป็นความจริงหรือเปล่า

สิ่งที่น่าดีใจอย่างหนึ่งก็คือ เด็กสมัยใหม่เขาอาจไม่เป็นอย่างรุ่นเรา มันเห็นได้ชัดมากเมื่อเทียบกับตัวเราเองในสมัยก่อน เพราะว่าองค์ความรู้มันขยายกว้างขึ้นแล้ว เด็กๆ เขามีการถกเถียงกันเองในธรรมชาติของเขาซึ่งก็มักจะเป็นพื้นที่ข้างนอก อย่างในเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ หรือบนโต๊ะกาแฟ

ทำไมทุกวันนี้เด็กถึงรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องต่างๆ ในประเทศแม้จะเป็นเรื่องที่ยังไกลตัวล่ะ อย่างเรื่องภาษี เรื่องงบประมาณประเทศ ก็เพราะข้อมูลมันมากขึ้น และมีพื้นที่นอกห้องเรียนให้ตั้งคำถามและแสวงหาคำตอบมากขึ้น 

เด็กสมัยนี้เขาไปไกลแล้ว แค่เปิดโทรศัพท์มือถือเขาก็รู้เรื่องราวได้มากมาย มันเลยไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่เราจะเห็นเด็กกรุงเทพฯ อินกับเรื่องการกัดเซาะชายฝั่ง หรือเรื่องโรงไฟฟ้าจะนะ

อยากฝากอะไรถึงองค์กรการศึกษาในประเทศนี้ไหม

เรารู้สึกว่า เด็กสมัยนี้เขาเลือกที่จะไม่เรียนก็ได้ มันมีวิธีการอีกมากมายที่จะทำให้ได้มาซึ่งความรู้และได้ทำในสิ่งที่ตัวเองรัก แต่เราไม่ได้อยากเห็นภาพแบบนี้ มหาวิทยาลัยและโรงเรียนควรจะทำให้การเรียน ปัญหาสังคม และชีวิตในโลกความจริงมันเดินไปด้วยกันได้ เราไม่อยากเห็นใครที่ต้องมาทิ้งความฝันเพื่อมาทำบางอย่างแบบเรา เพราะตัวเราเองก็ยังเคยคิดเลยว่า ถ้าได้เป็นนักวิทยาศาสตร์แล้วมาทำเรื่องแบบนี้มันก็คงจะดีนะ ถ้ามันบรรจบกันได้หมดล่ะ มันพอจะมีความเป็นไปได้ไหม

เด็กเขารู้ปัญหา แต่เขาไม่รู้ว่าจะเริ่มแก้ไขมันได้ยังไงบ้าง นี่คือความท้าทายของคนที่จะต้องทำงานด้านเด็กและเยาวชน คุณต้องใจกว้างพอที่จะให้เด็กๆ เริ่มทำงานแล้วทะลุทะลวงไปถึงรากฐานของปัญหา คุณต้องมีพื้นที่ให้เขาได้ทดลองทำ และต้องซัพพอร์ตการลงมือทำของเด็กๆ ด้วย