นราธิวาส ต้นแบบ “มื้อเช้า” เพื่อเด็กไทยอิ่มท้อง

นราธิวาส ต้นแบบ “มื้อเช้า” เพื่อเด็กไทยอิ่มท้อง

ความมั่นคงทางอาหาร หมายถึง การที่นักเรียนยากจนด้อยโอกาสมีอาหารเพื่อการบริโภคอย่างพอเพียง มีคุณค่าทางโภชนาการ และอาหารมีความสะอาดปลอดภัย ตลอดจนความสามารถของโรงเรียนในการหาวัตถุดิบทำอาหารที่มีคุณภาพด้วย

นำมาสู่ความพยายามในการสร้าง “ต้นแบบ” อาหารเช้าสำหรับนักเรียน  และนี่คือที่มาของ “โครงการวิจัยและพัฒนาต้นแบบของการจัดการเชิงระบบในสถานศึกษา เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารของนักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์” 

วันนี้เรามาสำรวจที่จังหวัดนราธิวาส  ซึ่งมีโรงเรียน 5 แห่งที่เข้าร่วมโครงการ คือ โรงเรียนบ้านตะโละบาลอ โรงเรียนบ้านไอปาเซ โรงเรียนบือเล็งใต้ โรงเรียนบ้านปูตะ และโรงเรียนบ้านโต๊ะนอ โดยมีพี่เลี้ยงคือ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา 

 ปกติเด็กนักเรียนของที่นี่มีฐานะยากจน มีภาวะโภชนาการที่ไม่ดี เพราะไม่ค่อยได้กินอาหารเช้า พอมาเจอสถานการณ์โรคระบาดโควิด ทำให้ซ้ำเติมปัญหานี้หนักมากขึ้น 

โครงการนี้จึงเป็นทางออกที่ช่วยแบ่งเบาภาระของผู้ปกครองและเด็กนักเรียน โดยปรับรูปแบบเป็นการส่งมอบวัตถุดิบให้ผู้ปกครองไปทำอาหารเช้าให้เด็กกินที่บ้าน แทนการกินอาหารเช้าที่โรงเรียน

นางสาวอาดีละห์ อาแว
เจ้าหน้าที่ประสานงานโครงการ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา

“โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการมีเด็กยากจนและยากจนพิเศษ เงินที่ได้จำนวนต่อคนอาจไม่เพียงพอ แต่เราก็พยายามจัดสรรให้ครบทุกคน มีหนึ่งโรงเรียนที่ยังไม่ได้ดำเนินการ ตอนนี้ดำเนินการไปแล้วสี่โรงเรียน ส่วนใหญ่แต่ละโรงเรียนจะแจกถุงยังชีพ เนื่องจากสถานการณ์ตอนนี้ไม่สามารถเปิดออนไซต์ได้ ข้างในจะมีข้าวสาร ไข่ น้ำมัน บางโรงเรียนมีผักที่ปลูกไว้ มีเลี้ยงปลาก็แจกให้นักเรียนไปด้วย บางครั้งเราไปแจกถึงบ้าน เพราะนักเรียนไม่สามารถออกจากบ้านได้ โดยเราแจกให้นักเรียนสองสัปดาห์ครั้ง เด็กก็ชอบมาก มีการถ่ายรูปส่งในกลุ่ม มีการอัปเดตกันแต่ละโรงเรียน ผู้ปกครองก็ส่งรูปมาว่าวันนี้ทำอะไรเป็นเมนูอาหารเช้า”

ครูดาวเรือง เจ๊ะมะ
ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านตะโละบาลอ

บังเอิญรอบโรงเรียนเป็นชุมชนที่โควิดแพร่ระบาดค่อนข้างหนัก ชาวบ้านก็ค่อนข้างลำบาก พอมีโครงการช่วยเรื่องอาหารเช้า บางคนก็ตื้นตัน ร้องไห้เลยว่าเขามีกิน ก็ได้ช่วยแบ่งเบาภาระผู้ปกครองได้มากๆ เลยค่ะ ทุกเช้าผู้ปกครองจะถ่ายรูปมื้อเช้าของเด็กๆ ส่งมาในไลน์ของห้องเรียน ช่วงแรกๆ เมนูอาหารแต่ละวันอาจไม่เหมาะกับเด็ก พอเขาส่งรูปมา ครูก็คอมเมนต์กลับไป แล้วผู้ปกครองก็ให้ความสนใจปรับเปลี่ยนตามข้อเสนอแนะ

คำว่ามื้อเช้าสำหรับคนที่มีความพร้อม อาจไม่ใช่เรื่องใหญ่โต แต่คนที่อยู่ท่ามกลางความขาดแคลน มันเป็นอะไรที่ทำให้เขาอิ่มท้อง ก็ช่วยได้เยอะ  โดยปกติที่โรงเรียนจัดมื้อเช้าให้เด็กอยู่แล้ว แต่ว่าเราไม่ได้มีงบประมาณมาก พอมีโครงการนี้เข้ามาก็ช่วยได้เยอะมากๆ 

ที่โรงเรียนจะแจกไข่เป็นส่วนใหญ่ อาทิตย์ละครั้ง มื้อเช้าเป็นไข่ มื้อกลางวันเป็นเงิน เขาจะใช้ไปซื้อพวกเครื่องปรุง พวกผักผลไม้ต่างหาก 

คุณครูมีความสุขกับโครงการนี้มากๆ ตอนแรกมีข้อเสนอแนะเชิงความรู้ที่แจกไปพร้อมมื้อเช้าว่าควรทำอะไร แต่ด้วยข้อจำกัดของแต่ละครอบครัวที่แตกต่าง รอบหลังๆ เราจะให้เป็นคำถามไปว่า วัตถุดิบที่แจกจะทำอย่างไรให้ได้รับสารอาหารครบห้าหมู่ กลายเป็นว่าเราได้รับคำตอบที่หลากหลายมาก เขาเอาผักพื้นบ้านนั่นนี่มาผสมกัน

ถ้าเป็นไปได้อยากให้โครงการนี้ได้รับการดูแลต่อ โรงเรียนก็ทำเต็มที่ พยายามทำให้ดีที่สุด ให้เงินทุกบาททุกสตางค์ตกที่เด็กจริงๆ เราแจกเด็กเฉลี่ยวันละมากกว่ายี่สิบบาท ต้องขอขอบคุณสำหรับทุกๆ เหตุผล อย่างน้อยโครงการนี้เป็นการต่อชีวิตของนักเรียนในช่วงนี้จริงๆ

ครูวรินภรณ์​ ทอง​ประยูร
ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านไอปาเซ​

จังหวัดนราธิวาสสถานการณ์โควิดยังรุนแรงอยู่ บางครอบครัวมีรายได้น้อยช่วงนี้ เพราะอาชีพบางอย่างก็ไม่ได้ทำและโดนกักตัว เด็กส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้กินอาหารเช้า เพราะพ่อแม่มีอาชีพกรีดยาง ต้องทำงานนอกบ้าน และเพราะความเร่งรีบด้วย ถ้าอยู่โรงเรียนเด็กจะได้กินเต็มที่ ตอนช่วงเช้าครูก็จะได้เดินดู  สอบถามเด็กบางคนพบว่าไม่ได้กินอาหารเช้า ด้วยสภาพร่างกายที่ท้องยังไม่อิ่ม ความตั้งใจเรียนก็จะน้อยลง 

ตอนนี้เราจัดเป็นถุงยังชีพให้ค่ะ แจกสองสัปดาห์ครั้ง เริ่มมาตั้งแต่ช่วงสิงหา วัตถุดิบที่แจกมีข้าวสาร ไข่ไก่  สภาวะช่วงนี้เราก็เน้นไข่เยอะๆ ปลากระป๋องบ้าง ครั้งหนึ่งมีอาหารพื้นถิ่นแจก พวกเครื่องปรุงข้าวยำ ปลาป่นเป็นชุดๆ ให้ เขาก็ไปหุงข้าว สามารถใช้เครื่องปรุงนั้นปรุงได้เลย หาผักมาเพิ่มเติม เราก็พยายามบอกว่า ถ้าจะให้ได้สารอาหารครบ ก็เอาผักพื้นถิ่นใส่ปรุงไปด้วย

ผลตอบรับก็ดีมาก ได้รับคำขอบคุณจากผู้ปกครอง โดยผู้ปกครองจะส่งภาพมาว่าทำเมนูอะไรบ้าง แต่เราอยากทำมากกว่านี้ อยากลงพื้นที่ ถ้าหากเปิดเรียนได้ตามปกติ โรงเรียนสามารถจัดสรรเมนูที่ครบห้าหมู่ แต่ด้วยสภาวะแบบนี้ก็ต้องปรับแบบนี้ก่อน อยากให้มีโครงการนี้ตลอดไปเลย 

ครูรอตีกะห์ สาเล็ง
โรงเรียนบือเล็งใต้

เราแจกวัตถุดิบให้ไปทำที่บ้าน วัตถุดิบที่แจกจะเป็นข้าวสา รอาหารแห้ง น้ำมัน ไข่ เราแจกสิบวันครั้งค่ะ หรือสองสัปดาห์ครั้ง เนื่องจากเรียนออนแฮนด์ เราก็แจกใบงานพร้อมรับอาหาร 

เด็กๆ จะชอบข้าวมันไก่ ข้าวผัด และเด็กๆ ก็ชอบโครงการนี้  ผู้ปกครองก็มีความสุขดี คุณครูก็มีความสุขกับโครงการนี้ค่ะ ก็อยากให้มีโครงการแบบนี้อีกนานๆ เพราะมีเด็กมาสมัครเพิ่มขึ้นเยอะเลย ผู้ปกครองก็สนใจ จากที่ไม่เคยมาโรงเรียนก็มา ถ้าเทอมหน้าเปิดได้ ก็จะมีแม่ครัวมารับทำอาหารเช้าให้กับเด็กค่ะ

ครูจีรวิชญ์ การสมเกตุ
ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านปูตะ

โรงเรียนตอนนี้ปิดเนื่องจากสถานการณ์โควิด และโรงเรียนเป็นสถานที่กักตัวของผู้เสี่ยงโควิดด้วย  เราจึงทำเป็นถุงยังชีพ  วัตถุดิบที่ให้ก็เน้นความหลากหลาย มีประโยชน์ เช่น ถั่ว ไข่ เครื่องดื่มไมโล สับเปลี่ยนหมุนเวียน บางช่วงก็เป็นข้าวสารอาหารแห้ง เราแจกสองอาทิตย์ครั้ง ทั้งเด็กและผู้ปกครองมีความพึงพอใจมาก 

เราก็ทำให้ครบเท่าจำนวนเด็ก ประชุมชี้แจงผู้ปกครองตลอด พูดคุยกันว่าวัตถุดิบที่แจกไปทำเมนูอะไรได้บ้าง ส่วนใหญ่เก้าสิบเปอร์เซ็นต์ผู้ปกครองจะมารับวัตถุดิบเอง เพราะเราไม่อยากให้เด็กมาเสี่ยงที่โรงเรียน ก่อนเริ่มโครงการ เราให้ครูประจำชั้นชั่งน้ำหนักและวัดส่วนสูง ผ่านมาประมาณเดือนหนึ่ง ก็ให้ติดตาม โดยเฉลี่ยความสูงเด็กขึ้นมาประมาณ 1 เซนติเมตร

ผู้ปกครองก็ขอบคุณคณะเจ้าหน้าที่และผู้เกี่ยวข้องกับโครงการอาหารเช้าของ กสศ. เพราะเขาโชคดีที่ได้อาหารเช้าในสถานการณ์แบบนี้ เขาบอกว่าช่วยบรรเทาได้เยอะมากๆ เลยครับ