ระดมสมองหยุดปัญหา “เด็กหลุดจากระบบการศึกษา”

ระดมสมองหยุดปัญหา “เด็กหลุดจากระบบการศึกษา”

ข้อมูลระบุว่าก่อนประเทศไทยเผชิญกับวิกฤตโควิด-19 เรามีจำนวนเด็กและเยาวชนที่หลุดจากระบบการศึกษาราว 500,000 คน โดยหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดดำเนินมาเป็นเวลาเกือบ 2 ปี ผลกระทบที่เกิดขึ้นรอบด้านทำให้มีแนวโน้มว่าเมื่อสิ้นสุดปีการศึกษา 2564 จะมีจำนวนเด็กเยาวชนที่หลุดจากระบบการศึกษาเพิ่มขึ้นอีกราว 50,000 คน และหากยังไม่มีมาตรการหรือกลวิธีในการรับมือกับปัญหาดังกล่าว จำนวนของเด็กที่จะทยอยหลุดพ้นจากระบบก็จะยิ่งเพิ่มขึ้นในทุกๆ เทอมการศึกษา

นำสู่การระดมสมอง ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมขยายผล เพื่อการศึกษาไทย ในหัวข้อ  ‘เด็กหลุดจากระบบ และผลกระทบจากโควิด’ กับ Thailand Social Development Forum-Education โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายตำแหน่งหน้าที่ในแวดวงการศึกษา 

…เพราะปัญหาการศึกษาเป็น ‘โจทย์ร่วม’ ของทุกคน

‘โอกาส’ ที่เสมอภาคเท่าเทียมทางการศึกษา ในทุกพื้นที่ของประเทศ

รศ.​ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ ประธานคณะกรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา กล่าวว่า​ ปัญหาการ Drop out หรือเด็กหลุดจากระบบ จำเป็นต้องจำแนกประเด็นสำคัญออกเป็น 3 มิติ

มิติแรก คือ​การทำงานบนหลักคุณธรรม หมายถึงเราต้องสร้างพื้นที่ที่เด็กและเยาวชนสามารถเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ ไม่ว่าจะเกิดหรือใช้ชีวิตอยู่ตรงส่วนใดก็ตามของประเทศไทย 

มิติที่สอง คือระดับ ‘มหภาค’ หมายถึงการที่เด็กหลุดจากระบบการศึกษา เท่ากับประเทศจะสูญเสียโอกาสในการผลิตบุคลากรคุณภาพในอนาคต 

มิติที่สาม คือ​ระดับ ‘จุลภาค’ หมายถึงในส่วนของตัวบุคคล ครอบครัว หรือชุมชนหนึ่ง สูญเสียโอกาสที่จะมีรายได้และการพัฒนาคุณภาพชีวิต เพราะเด็กคนนั้นจำเป็นต้องปิดฉากทางการศึกษาก่อนวัยอันควร

“เมื่อเราเจอผลกระทบจากโรคระบาดเข้ามาซ้ำเติม เด็กกลุ่มนี้ยิ่งเพิ่มจำนวนขึ้น กลายเป็นว่าความเสี่ยงของความสูญเสียจะยิ่งมากขึ้นอีกหลายเท่าตัว วันนี้เราจึงต้องร่วมกันคิดว่า จะช่วยเด็กในระบบที่สูญเสียโอกาสการเรียนรู้ไปเป็นเวลาเกือบสองปีได้อย่างไร แล้วคนที่หลุดจากระบบการศึกษาไปแล้ว เราจะพาเขากลับเข้ามา หรือหาวิธีการพัฒนาตนเองที่เหมาะสมอย่างไร ให้สอดคล้องกับโลกที่เปลี่ยนโฉมหน้าไปหลังวิกฤตโควิด-19 ครั้งนี้”

เทอม 1 ปีการศึกษา 64 พบเด็กเยาวชนหลุดจากระบบช่วงรอยต่อ 4.3 หมื่นคน

ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา​(กสศ.) เผยว่า​ เด็กเยาวชนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงแบ่งได้เป็น วัยการศึกษาภาคบังคับ 2 กลุ่ม คือ​ กลุ่มเสี่ยงอายุ 3-15 ปีที่ยังอยู่ในระบบราว 1 ล้านคน และเด็กเยาวชนที่ถึงวัยเรียนแล้วยังไม่ได้เข้าเรียน รวมถึงเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษามาแล้วรวม 5 แสนคน กับกลุ่มเด็กเยาวชนที่พ้นจากวัยการศึกษาภาคบังคับ 2 กลุ่ม คือกลุ่มอายุ 15-20 ปีที่อยู่ในระบบแต่มีความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับการศึกษาต่อ 1.53 แสนคน และกลุ่มเยาวชนอายุ 15-20 ปีที่ออกจากการศึกษาภาคบังคับมาแล้ว 9.7 แสนคน  

สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ขีดเส้นความยากจนในกลุ่มเด็กในระบบการศึกษาอายุ 3-14 ปี กำหนดให้เด็กเยาวชนจากครอบครัวที่มีรายได้เฉลี่ยครัวเรือน/คน/เดือน ต่ำกว่า 2,700 บาท เป็นกลุ่มเด็กยากจน และกำหนดให้เด็กเยาวชนจากครอบครัวที่มีรายได้เฉลี่ยครัวเรือน/คน/เดือน ต่ำกว่า 1,021 บาท เป็นเด็กนักเรียนยากจนพิเศษ ที่มีความเสี่ยงสูงที่จะหลุดจากระบบการศึกษา ซึ่งมีราว 1.17 ล้านคน จากจำนวนเด็กเยาวชนกลุ่มเป้าหมายรวม 9 ล้านคน ทั้งนี้เด็กยากจนและเด็กยากจนพิเศษจะมีเงินอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานโดย กสศ. สพฐ. และ อปท. ช่วยประคับประคอง

อย่างไรก็ตาม ยังมีเด็กกลุ่มเสี่ยงอีกราว 4 แสนคนที่ขาดงบประมาณในการดูแล และทำให้มีแนวโน้มสูงที่จะหลุดจากระบบการศึกษา โดยเฉพาะหลังจากเกิดสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งเป็นความท้าทายครั้งสำคัญของการแก้ปัญหาเด็กนอกระบบการศึกษา เมื่อผลกระทบจากโรคระบาดยิ่งทำให้รายได้ครัวเรือนลดลง ภาวะว่างงานสูงขึ้น ขับให้ตัวเลขเด็กนักเรียนยากจนพิเศษเพิ่มสูงถึง 1.3 ล้านคนในปีการศึกษาล่าสุด

นอกจากนี้ยังมีผลสำรวจจาก Mics: Unicef ชี้ว่า แม้เด็กเกือบทุกคนในประเทศไทยเข้าเรียนและจบชั้นประถมศึกษาได้ แต่เด็กที่มาจากครัวเรือนรายได้ต่ำที่สุด 20% ของประเทศ จะมีอัตราเรียนต่อระดับชั้นมัธยมต้นลดลงอย่างชัดเจน และเมื่อถึงระดับมัธยมปลายจะมีเด็กจากครอบครัวกลุ่มนี้ได้เรียนต่อเพียง 53% ต่างจากเด็กจากครอบครัวที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดีกว่า ซึ่งจะได้เรียนต่อชั้นมัธยมในอัตรา 87% ข้อมูลนี้ย้ำเตือนว่าประเทศไทยจำเป็นต้องมีหลักประกันทางการศึกษา เพื่อลดอัตราการหลุดจากระบบการศึกษาของเด็กกลุ่มนี้

“ตัวเลขได้แสดงให้เราเห็นนัยสำคัญของเด็กที่หลุดจากระบบในช่วงรอยต่ออนุบาลเข้าชั้นประถม ประถมต่อมัธยมต้น หรือมัธยมต้นต่อมัธยมปลาย ผลสำรวจพบว่าสาเหตุสำคัญของการหลุดจากระบบคือปัจจัยทางเศรษฐกิจ แม้รัฐจะสนับสนุนให้เด็กได้รับการศึกษาภาคบังคับโดยไม่ต้องจ่ายค่าเล่าเรียน แต่ค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น​ ค่าเครื่องแบบ อุปกรณ์การเรียน ค่าอาหาร ค่าธรรมเนียมต่างๆ ค่าที่พักและเดินทางสำหรับเด็กที่ต้องเดินทางเข้าไปเรียนต่อในอำเภอหรือในตัวจังหวัด ก็ยังเป็นอุปสรรคสำคัญ​ อีกสาเหตุหนึ่งคือ​ ในครอบครัวที่มีรายได้น้อย เมื่อถึงช่วงรอยต่อที่ต้องตัดสินใจเลือกระหว่างโรงเรียนกับการทำมาหากิน เด็กจะถูกคาดหวังให้เป็นแรงงานหาเลี้ยงครอบครัว จนต้องหลุดจากการศึกษาไป ดังนั้นเราอาจต้องคำนึงถึงการสร้างระบบการศึกษาที่ยืดหยุ่น มีช่องทางให้เด็กสามารถเรียนและทำงานไปพร้อมกัน เพื่อไม่ให้เขาต้องทิ้งโอกาสทางการศึกษา ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตในอนาคต

“เทอม 1 ของปีการศึกษา 2564 กสศ.สำรวจพบว่ามีเด็กหลุดจากระบบการศึกษาจำนวน 4.3 หมื่นคน ส่วนใหญ่คือคนที่หายไปในช่วงรอยต่อ นี่คือแนวโน้มที่แสดงว่าปัญหาความยากจนข้ามชั่วคนจะยังคงดำเนินต่อไป และช่องว่างของความเหลื่อมล้ำจะยิ่งถ่างขยายออกไปเรื่อยๆ ขณะที่การทำงานของ กสศ.ได้มุ่งค้นหาเด็กกลุ่มนี้ และหาทางช่วยเหลือผลักดันให้ได้รับการพัฒนาบนแนวทางที่เหมาะสม โดยมีระบบสารสนเทศ Isee ที่บันทึกข้อมูลเด็กยากจนพิเศษทั่วประเทศ ซึ่งสามารถชี้เป้าในระดับตำบล เพื่อให้ทุกหน่วยงานหรือทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาได้ เพราะงานด้านการศึกษาไม่อาจสำเร็จได้ด้วยการทำงานขององค์กรใดองค์กรหนึ่งเพียงลำพัง แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากคนไทยทุกๆ คน”

“สร้างการศึกษาที่มีลู่รองรับเด็กและเยาวชนนอกระบบ ให้ก้าวต่อไปได้บนวิถีทางของตน”

ศ.​ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการบริหาร กสศ. กล่าวว่าจากประสบการณ์การทำงานกับเด็กและเยาวชนนอกระบบ พบว่าเมื่อเด็กออกจากระบบกลางคัน ส่วนใหญ่ต้องเผชิญปัญหาการสูญเสียความมั่นใจ รู้สึกว่าตนเองถูกตีตราจากสังคมว่าเป็นผู้แพ้ ซึ่งคือชนวนที่นำไปสู่ปัญหาเชิงพฤติกรรม โดยเฉพาะหากปล่อยระยะเวลาให้เนิ่นนาน การช่วยเหลือเยียวยาจะทำได้ยาก

“หลังจากเด็กหลุดจากระบบช่วงรอยต่อการศึกษาไปมากกว่า 3 เดือน 6 ใน 10 คนจะเดินเข้าสู่เส้นทางที่สุ่มเสี่ยงต่อการเป็นยุวอาชญากร แล้วท้ายที่สุดก็ไปลงเอยอยู่ในสถานพินิจ ฉะนั้นเราต้องสกัดตั้งแต่ต้นทางไม่ให้เด็ก Drop out ไหลไปกองกันตรงนั้น”

โจทย์สำคัญในวันนี้คือโควิด-19 ทำให้อัตราเร่งของกลไกนี้เพิ่มเร็วขึ้น มีการคาดการณ์ว่าเมื่อสิ้นสุดเทอม 2 ปีการศึกษา 2564 ตัวเลขของเด็กหลุดจากระบบช่วงรอยต่ออาจจะพุ่งไปที่ 6.5 หมื่นคน ทั้งนี้นอกจากปัญหาเศรษฐกิจ การปรับโครงสร้างระบบการศึกษาของประเทศก็เป็นสิ่งที่ต้องพิจารณา เนื่องจากหลักสูตรกระบวนการเรียนรู้ที่เน้นการตัดเกรด แข่งขัน วัดผลแปดกลุ่มสาระวิชา พันสองร้อยกว่าตัวชี้วัด ทำให้เด็กที่ปรับตัวไม่ได้ถูกระบบการศึกษาผลักออกไป ที่ผ่านมามีเด็กเพียง 30% ที่ไปต่อได้ ส่วนที่เหลือจะค่อยๆ หลุดออกไปทั้งกลางทางและช่วงรอยต่อ

“การสอบ TCAS คัดคนเข้ามหาวิทยาลัยจะมีเด็กเพียงครึ่งเดียว คือ 3 แสนคนจากทั้งหมด 6 แสนคนที่ได้เรียนต่อ ส่วนที่เหลือจะถูกเทออกไปหมด ตอนนี้เราจึงมีเด็กหลุดจากระบบสะสมอยู่เกือบ 20 ล้านคน ถึงเวลาแล้วที่เราต้องคิดว่าการใช้หลักสูตรมาตรฐานเดียวครอบการศึกษาของเด็กทั้งประเทศ มันตอบโจทย์การพัฒนาของเด็กชายขอบ ชนกลุ่มน้อย หรือเด็กเยาวชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนได้หรือไม่ ด้วยภาษา วัฒนธรรม วิถีชีวิตที่แตกต่าง ควรได้เริ่มเรียนในระบบทวิภาษา พหุวัฒนธรรม แต่พอถูกบังคับให้เรียนในหลักสูตรที่ขัดแย้งกับสภาพแวดล้อมรอบตัว สุดท้ายเขาก็ไม่ประสบความสำเร็จ

“อีกประเด็นคือเครื่องมือการเรียนรู้เพื่อรับมือกับการศึกษาช่วงโควิด-19 กลุ่มเด็กยากจนเปราะบางไม่มีคนสนับสนุน เขาไม่มีสมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ เข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ต หรือแม้แต่ปัญหาทุพโภชนาการ เด็กไม่ได้กินข้าวเช้า พอมาโรงเรียนก็หิว เรียนไม่รู้เรื่อง แคระแกร็น ไอคิวต่ำ เหล่านี้ล้วนทำให้เขาอยู่ในระบบการศึกษาไม่ได้ และถูกผลักออกมาเช่นกัน ทั้งหมดนี้คือการออกแบบระบบการศึกษาที่ไม่สอดคล้องกับวิถีของผู้เรียน”

หลักสูตร ‘ฐานสมรรถนะ’ ที่กำลังจะนำมาใช้จึงนับว่ามาถูกทาง ด้วยการเรียนรู้ที่ไม่อิงกับกระแสหลักที่มีเพียงลู่เดียว แต่หันมาสนับสนุนผู้เรียนตามความสามารถ ความถนัด ความพร้อม ไม่ได้มุ่งปลายทางไปที่การเข้าสู่มหาวิทยาลัยเท่านั้น เพื่อให้เด็กแต่ละคนที่ศักยภาพแตกต่าง ได้เรียนรู้ในระบบที่เอื้อต่อพัฒนาการเฉพาะบุคคล

ศ.​ดร.สมพงษ์กล่าวว่า อีกโมเดลหนึ่งที่น่าสนใจ คือการที่มีภาคเอกชนเข้ามาช่วยทุ่มงบประมาณสนับสนุนไปยังโรงเรียนขนาดเล็กในท้องถิ่น ซึ่งเห็นผลมาแล้วว่าทำให้เด็กมีศักยภาพเพิ่มขึ้น สามารถดึงเด็กที่ไปเรียนในอำเภอหรือจังหวัดกลับมาในพื้นที่ได้ นี่คือการกระจายความเสมอภาคทางการศึกษาในเชิงพื้นที่ เปิดโอกาสให้เด็กไม่ว่าจะเติบโตจากที่ใดก็ตาม สามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้เท่าเทียมกัน​

หมดสมัยของระบบการศึกษาที่ผลิตผู้เรียนแบบสายพานอุตสาหกรรม

ดร.วิริยะ ฤาชัยพาณิชย์ ผู้ก่อตั้ง Eduzones กล่าวว่าโควิด-19 เร่งให้ทั่วโลกเห็นว่าการศึกษาได้ถูก Disruption จากวิธีการเดิมๆ แล้ว รูปแบบการเรียนได้ถูกรื้อทำลายไปสู่ยุคสมัยของพื้นที่เรียนรู้ใหม่ ๆ ที่ไร้ขอบเขต (Learning Space) ดังนั้นเราต้องตั้งคำถามว่าผู้เรียนยังจำเป็นต้องอยู่ในระบบแค่ไหน หรือระบบการศึกษาที่เด็กต้องไปเข้าแถวกลางสนาม เข้าห้องเรียนไปนั่งจด เพื่อสอบด้วยข้อสอบชุดเดียวกันทุกคน คือปัจจัยที่ผลักเด็กออกจากระบบการศึกษาหรือไม่

“ถ้ามองในมุมของผู้เรียน เราพาเด็กเข้าระบบแล้วเขาจะได้อะไร โรงเรียนตอบสนองในสิ่งที่เขาต้องการได้จริงหรือเปล่า นำความสุข ความภูมิใจมาให้ชีวิตของเขาในท้ายที่สุดได้ไหม ตรงนี้เราต้องยอมรับว่าโลกเปลี่ยนไปแล้ว เด็กรุ่นที่กำลังเติบโตขึ้นมาเขาต้องการการเรียนรู้ที่ท้าทาย มีอิสระ และเลือกโจทย์เรียนรู้ตามต้องการได้

“ถ้าเด็กไม่อยากไปโรงเรียนเพราะเขารู้ว่ามีอย่างอื่นที่ทำได้ดีกว่า สนใจมากกว่า ทำไมเราไม่ออกแบบการศึกษาที่ช่วยเขาได้ตรงนั้น ให้เขาสามารถเลือกเวลาเรียน สถานที่เรียน มีช่องทางเสริมศักยภาพรองรับ ให้เขาเรียนรู้ที่จะพัฒนาตนเองบนพื้นฐานของความรัก ไม่ใช่ความกลัวที่จะผิด กลัวไม่เหมือนคนอื่น ๆ เราต้องไม่ขับเคลื่อนระบบการศึกษาบนแนวทางเดียวกับอุตสาหกรรม ที่คาดหวังให้ทุกคนต้องเป็นพิมพ์เดียวแบบเดียวกันหมด เราต้องตระหนักแล้วว่า ความเหลื่อมล้ำนั้นไม่ได้จำกัดอยู่แค่กลุ่มเด็กด้อยโอกาสไม่มีเงินเรียนหนังสือ แต่หมายถึงองค์รวมที่การศึกษาควรจะต้องรองรับความต้องการที่หลากหลายของผู้เรียนให้ได้ด้วย”

ระบบนิเวศทางการศึกษา: ถ่ายเทศักยภาพจากโมเดลที่ประสบความสำเร็จสู่พื้นที่ขาดแคลนโอกาส

วิเชียร พงศธร คณะภาคีเครือข่ายงาน Good Soceity Summit 2021 กล่าวว่า ‘ความร่วมมือ’ คือกุญแจสำคัญในการตีโจทย์ที่ซับซ้อนทางการศึกษา ให้ออกมาเป็นกระบวนการทำงานแก้ไขปัญหา ถึงวันนี้เรามีโมเดลทางการศึกษามากมายที่ทำอยู่ในพื้นที่เล็กๆ เช่น​ การสร้างเครือข่ายโรงเรียนที่เด็กจากครอบครัวที่มีมากกว่า ช่วยส่งต่อโอกาสไปยังโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล หรือการแบ่งปันโมเดลการแก้ปัญหาระหว่างครูต่างพื้นที่ที่มีประสบการณ์ต่างกัน เหล่านี้คือแนวทางที่เราต้องมองถึงการขยายผล สร้างเครือข่ายความร่วมมือให้กว้างออกไปในระดับชาติ

“หนึ่งในทางออกของเราคือ​ ต้องสร้างระบบนิเวศทางการศึกษา ทั้งในส่วนของคนที่ทำงานในและนอกระบบให้เชื่อมต่อกัน โดยมีปลายทางคือพัฒนาเขาให้เป็นพลเมืองคุณภาพในสังคม ดูแลตนเองและครอบครัวได้ นี่คือปลายทางที่แท้จริงของการศึกษา จากการทำงานของหลายฝ่าย ทำให้เรามีระบบหรือรูปแบบการทำงานที่กระจายในเชิงพื้นที่ ซึ่งจำเป็นต้องนำมาสานต่อจากจุดเริ่มต้นให้เป็นต้นแบบพัฒนา เงื่อนไขสำคัญตรงนี้แสดงให้เห็นว่าเราไม่ได้เริ่มต้นจากศูนย์ แต่ต้องมุ่งไปที่ระบบการหยิบยื่นและถ่ายเท เพื่อให้การทำงานที่เห็นแล้วว่าประสบความสำเร็จได้ ขยายไปสู่พื้นที่ที่มีบริบทใกล้เคียงกัน”

*เรียบเรียงจาก งานเสวนาโต๊ะกลม โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายตำแหน่งหน้าที่ในแวดวงการศึกษา บนเวทีระดมสมอง: ‘เด็กหลุดจากระบบ และผลกระทบจากโควิด’ ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมขยายผล เพื่อการศึกษาไทยกับ Thailand Social Development Forum-Education…เพราะปัญหาการศึกษาเป็น ‘โจทย์ร่วม’ ของทุกคน วันที่ 15 ตุลาคม 2564