ชวน ‘เด็กทุกคน’ ร่วมส่งเสียงสร้างความเปลี่ยนแปลงชุมชน กับกลุ่ม ‘บางกอกนี้ดีจัง’ “เพราะเด็กทุกคนมีศักยภาพ แต่ขาดเพียงพื้นที่สร้างสรรค์”

ชวน ‘เด็กทุกคน’ ร่วมส่งเสียงสร้างความเปลี่ยนแปลงชุมชน กับกลุ่ม ‘บางกอกนี้ดีจัง’ “เพราะเด็กทุกคนมีศักยภาพ แต่ขาดเพียงพื้นที่สร้างสรรค์”

ย้อนรอยจุดเริ่มต้นกิจกรรม ‘บางกอกกำลังดี …ที่ฝั่งธน’ การผลักดันพื้นที่เรียนรู้เพื่อเด็กและเยาวชนทั่ว กทม. นำร่องใน 12 เขต ซึ่งจะเวียนจัดทุกวันอาทิตย์ ตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป โดย กสศ. สสส. กทม. ภาคเอกชน และเครือข่ายทำงานเกี่ยวกับเด็กเยาวชนในกรุงเทพมหานคร

หนึ่งในคณะทำงานที่มีบทบาทสำคัญของการทำงานครั้งนี้ ได้แก่เครือข่ายเยาวชนและชุมชนในพื้นที่ฝั่งธนบุรี ที่เรียกตัวเองว่ากลุ่ม ‘บางกอกนี้ดีจัง’ พวกเขาลุกขึ้นสร้างสรรค์ชุมชนบ้านเกิด สร้าง ‘พื้นที่เรียนรู้’ ด้วยฐานความคิดว่าชุมชนที่ดี ต้องมี ‘สื่อดี พื้นที่ดี และภูมิดี’ สำคัญคือต้องส่งเสริมเยาวชนและคนในชุมชน ให้สำรวจและสนับสนุน ‘ของดี’ ภายใน เพื่อร้อยเรียงให้มีแนวทางเติบโตพัฒนาเป็น ‘ชุมชนแห่งการเรียนรู้’ ของคนทุกวัย

“คำว่า ‘บางกอก’ คือความหมายดั้งเดิมของกรุงเทพฯ เมืองที่เราเกิด เติบโต อาศัยใช้ชีวิต ตัวเราเองมองเห็นการเปลี่ยนแปลงเปลี่ยนผ่านมามากกว่า 30 ปี นอกจากแก้ปัญหา คิดว่าในอีกทางหนึ่งเราต้องเตรียมทั้ง ‘คน’ และ ‘เมือง’ ให้พร้อมรองรับทุกความผันแปรที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เหตุผลนี้เอง ที่เราต้องช่วยกันสร้างพื้นที่สาธารณะที่มีชีวิต ที่ทุกคนในชุมชน โดยเฉพาะเด็กเยาวชน สามารถเข้ามาใช้ มาสนุก มาผ่อนคลาย สร้างสรรค์ ได้ค้นพบประสบการณ์เรียนรู้ด้วยตัวเอง

“…พื้นที่ตรงนี้จะเป็นจุดตั้งต้นของการสร้างเครือข่ายชุมชน ที่คนทุกช่วงวัยได้เข้ามาสื่อสาร เพื่อให้เกิดแนวทางแก้ปัญหาและพัฒนาชุมชนของทุกคนไปด้วยกัน”

‘ตัน’ สุรนาถ แป้นประเสริฐ แกนนำกลุ่มบางกอกนี้ดีจังกล่าวถึงวัตถุประสงค์การตั้งกลุ่ม ก่อนเผยประสบการณ์ทำงานที่เกินกว่า 10 ปีว่า กลุ่มได้รวบรวมแกนนำเยาวชนคนรุ่นใหม่ย่านฝั่งธน ด้วยแรงหนุนของผู้นำชุมชน จนเกิดบทบาทสร้างสรรค์และแก้ปัญหาชุมชนที่ตรงกับความต้องการของคนในพื้นที่ กอปรกับความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอก ที่นำเครื่องมือและองค์ความรู้เข้ามาช่วยออกแบบวิธีการ ลำดับความคิด เพิ่มศักยภาพในการเก็บข้อมูลและสื่อสารกับทั้งคนในและคนนอกชุมชน

“มีสองประเด็นใหญ่ที่ผมว่าไปด้วยกันได้ แล้วบางกอกนี้ดีจังได้ยึดถือเป็นแนวทางทำงาน หนึ่งคือปัญหาชุมชนที่เกิดกับเด็กเยาวชน ทั้งยาเสพติด การขาดพื้นที่แสดงออก และเรื่องการหลุดออกจากระบบการศึกษา ซึ่งผสมปนเปและเป็นชนวนที่นำเด็กไปสู่ปัจจัยเสี่ยงที่ร้ายแรงยิ่งขึ้น แน่นอนว่าก่อนอื่นเราต้องเข้าไปแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น แต่ขณะเดียวกันถ้าทำเพียงมิติเดียว มันคือการตั้งรับที่ปลายทาง สุดท้ายจำนวนของเด็กๆ กลุ่มนี้ก็ไม่ได้ลดลง จึงต้องมีประเด็นที่สอง คือการออกแบบพื้นที่และสื่อสร้างสรรค์ ที่เรามีต้นทุนที่แข็งแรงอยู่แล้ว”

ปลุกอดีตให้มีชีวิตด้วยพลังความสดใหม่

ใน 3 เขตนำร่องการทำงาน คือบางกอกน้อย บางกอกใหญ่ และบางพลัด เป็นชุมชนดั้งเดิมที่มีเรื่องเล่า มีประวัติศาสตร์ของผู้คนหลายต่อหลายรุ่น เหล่านี้คือ ‘ของดีชุมชน’ ที่เป็นด้านตรงข้ามของความแออัด ความยากลำบาก หรือปัจจัยเสี่ยง ซึ่งบางกอกนี้ดีจังตั้งใจนำมาสื่อสารสร้างพลังบวก เปิดมุมมองให้คนนอกรับรู้ และในทางกลับกันก็เป็นการดึงพลังคนในให้เข้ามาร่วมมือ ออกแบบพื้นที่สร้างสรรค์ที่เป็นของทุกคน

“แต่ละพื้นที่มีเรื่องราว มีของดี มีปราชญ์ แต่อาจไม่ได้ถูกพูดถึงหรือทำให้สำคัญ บ้างเกือบสูญหายไปแล้ว เราคิดว่าการนำกลับมาพูดคุยกันใหม่ มันเหมือนเราปลุกชุมชนให้มีชีวิตชีวาอีกครั้ง อย่างย่านวัดโพธิ์เรียงบ้านผม มีคุณป้าทำกระทงกาบมะพร้าวสืบมาจากปู่ย่าตายายเป็นร้อยปี ปัจจุบันเป็นรุ่นสุดท้ายจะไม่มีใครสานต่อแล้ว คืออยู่มานานมากแต่คนในชุมชนไม่ได้ให้ความสำคัญ หรือมีกลุ่มทำข้าวเม่าหมี่โบราณ ที่สืบย้อนไปได้ว่าบรรพบุรุษเขาอพยพเข้ามาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เรียกตัวเองว่า ‘บ้านข้าวเม่า’ มีชุมชน ‘บ้านบุขันลงหิน’ ทำภาชนะที่ใช้ทักษะผสมผสานแร่ธาตุ โลหะ คุณสมบัติคงทน แข็งแรง เงางาม ใส่น้ำเย็นได้นาน ทั้งหมดนี้คือคุณค่าของอัตลักษณ์ ที่ทำให้เรานึกย้อนไปได้ถึงบรรยากาศท้องร่อง สวนผลไม้ เรือสัญจรในคลองสายเล็กๆ ซึ่งวันนี้เวลาทำให้ถูกลืมสูญหาย

“บางกอกนี้ดีจังเราจึงเข้าไปขุดคุ้ยข้อมูล พยายามฟื้นฟูให้กลับมา ผ่านการทำกิจกรรมหลากหลาย มีพื้นที่สร้างสรรค์ชุมชนเป็นสื่อกลาง เพราะเรื่องนี้เราต้องทำให้คนในมีอารมณ์ร่วมก่อน แล้วมันจะได้รับการหยิบยก ผลักดัน ได้รับความสำคัญ เมื่อนั้นการรับรู้จะเปิดไปถึงคนภายนอก และก้าวพ้นจากเรื่องราวของชุมชนแออัดโดยอัตโนมัติ เขาจะมองเห็นอาหารโบราณ ขนมอร่อย ศิลปะงดงาม และวิถีชีวิตอันเป็นเอกลักษณ์ ดึงดูดให้คนเข้ามาชมมาชิม เป็นการสร้างความหมายใหม่ให้กับชุมชน แล้วเราเชื่อในตัวเด็กเยาวชนว่าเขามีความสดใหม่ มีไอเดีย และมีพลังมากมายที่จะหยิบจับอดีตมาพลิกฟื้นให้ร่วมสมัยและคงคุณค่าในคราวเดียวกันได้ แต่เรื่องแนวคิด ความรู้ ระบบจัดการ การประสานงาน เราคิดว่าต้องใช้ประสบการณ์จากคนอีกรุ่น จากผู้นำชุมชน หรือองค์กรภายนอกมาร่วมผลักดัน เพื่อขับเคลื่อนทั้งชุมชนให้ไปด้วยกันเป็นก้อนเดียว”

‘พื้นที่เรียนรู้สร้างสรรค์’
กลไกชุมชนดูแลป้องกันกลุ่มเสี่ยง-ฟื้นฟูเด็กเยาวชนหลุดจากระบบการศึกษา

“เราค้นพบว่าปัญหาของเด็กเยาวชนในชุมชน ไม่ว่าจะกลุ่มนอกระบบหรือคนที่กำลังจะหลุดไปก็ตาม ล้วนสัมพันธ์กับพื้นที่เรียนรู้โดยตรง เพราะสิ่งที่ขัดแย้งคือเด็กมีพลัง มีความสามารถในตัวเอง แต่ขาดพื้นที่แสดงออก ขาดการขัดเกลาให้พัฒนางอกเงย อย่าลืมว่าเด็กทุกคนไม่ได้ถนัดการศึกษาตาม ‘ขนบ’ ทุกคน หรือบางคนมีข้อจำกัดด้วยสถานะเศรษฐกิจครอบครัว แต่สิ่งที่เขามีเช่นเดียวกันคือศักยภาพ บางกอกนี้ดีจังจึงชวนเขาส่งเสียง ชวนเข้ามาร่วมสร้างความเปลี่ยนแปลงชุมชน”

แกนนำกลุ่มบางกอกนี้ดีจัง อธิบายกระบวนการทำงานกับเด็กและเยาวชนว่า อย่างแรกคือต้องค้นหาความสนใจ และความสามารถในตัวเด็กก่อน ด้วยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในกลุ่มเด็กด้วยกันเอง รวมถึงนำกิจกรรมจากภายนอกเข้ามาให้เด็กทดลองทำ ซึ่งไม่ใช่ครั้งเดียว แต่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง

“การจัดกิจกรรมวันสองวันจบมันเหมือนแค่ให้เด็กมาเข้าร่วม แต่เขาไม่มีโอกาสได้ทำอะไรเลย แต่ถ้าเรามีพื้นที่ให้เขาใช้ศักยภาพบ่อยๆ มีกิจกรรม มีกระบวนการซ้ำๆ เราจะเห็นเลยว่าเกิดพัฒนาการ เราเลยทำเป็นกระบวนการ มีค่ายชุมชน มีเทศกาล มีเล่นดนตรี มีแรลลี่ ให้เด็กเขาได้รวมกลุ่มกัน แบ่งหน้าที่กัน ใครชอบจัดการพื้นที่ ใครถนัดออกแบบสื่อ ใครสนใจดนตรี ทำอาหาร เล่นโขน เชิดสิงโตได้ลองหมด ที่เกิดขึ้นคือรูปแบบการเรียนรู้ที่ทุกคนมีส่วนร่วม ได้แสดง ได้ค้นพบทักษะของตัวเองจริงๆ เพียงแต่ว่าเราต้องให้เวลาและพร้อมที่จะรอเขา”

“แล้วพอเจอกระบวนการที่เหมาะสม จัดกลุ่มได้ เราหาคนมีความรู้มาช่วยเติมศักยภาพ วิเคราะห์ประเมินผลบ่อยๆ อย่างน้อยเราต้องรู้อย่างหนึ่งว่าเด็กจะไม่ได้อยู่กับเราตลอดไป ฉะนั้นการที่เขาได้เปิดโลกกว้างผ่านการตกผลึกความคิด ได้สร้างสรรค์แสดงออก ได้เรียนรู้การอยู่ร่วมกันคนในสังคม หลังจากนั้นเขาจะไปอยู่ที่ไหนเราเชื่อว่าจะเติบโตงอกงามได้ ปรับตัวเปลี่ยนแปลงตามความเคลื่อนไหลของสถานการณ์ต่างๆ ได้ เช่นในช่วงโควิด-19 เราเจอปัญหาปากท้องเศรษฐกิจ มีเด็กกลุ่มเสี่ยงหลุดจากระบบและหลุดออกมาจากระบบเพิ่มขึ้น สิ่งที่เราทำอย่างแรกคือหนึ่งต้องให้เขาอยู่ได้ มีกิจกรรมในชุมชนช่วยสร้างอาชีพ ลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ และที่สำคัญคือเติมพลังใจให้เขาลุกขึ้นช่วยเหลือคนอื่นได้ เพราะสังคมเรามีคนที่อยู่บนสถานการณ์ต่างกัน มีคนได้รับผลกระทบมากน้อยไม่เท่ากัน เราอยากให้เขาไม่รู้สึกว่าตัวเองได้รับผลกระทบสูงสุด ก็ชวนมาทำกิจกรรมเดินหน้าฝ่าวิกฤติกัน เมื่อมีหลายมือ หลายใจ มันก็เกิดการรวมกลุ่มที่เข้มแข็ง ช่วยพากันผ่านพ้นมาได้”

ในส่วนการขยายการทำงานไปยังพื้นที่อื่นๆ ‘ตัน’ สุรนาถ เสนอว่าพื้นที่ชุมชนสร้างสรรค์ไม่เกี่ยวกับ ‘ขนาด’ แต่ควรมีโมเดลการทำงานจากพื้นที่เล็กๆ อาจเป็นบ้านต้นทางสักหลัง แล้วขยับสู่การทำในพื้นที่ของชุมชนส่วนรวม

“ผมมองว่า ‘วัด’ กับ ‘โรงเรียน’ นั้นมีอยู่ทุกชุมชน มีพื้นที่เพียงพอ ซึ่งเราออกแบบตามความเหมาะสมได้ว่าจะดัดแปลงลานโล่ง ให้เกิดกิจกรรมอย่างไร แต่ที่สำคัญคือต้องให้ชุมชนร่วมออกแบบ เข้ามาร่วมดูแล และได้ร่วมทุกกระบวนการสร้างการเรียนรู้ นอกจากนี้พื้นที่ราชการหลายแห่งที่ใช้เฉพาะเวลาทำงานเช้าถึงเย็นแล้วปิดประตู มันเหมือน ‘คน’ ถูกกันคนออกไป ดังนั้นชุมชนไหนมีหน่วยราชการ กทม. น่าจะออกแบบวิธีให้คนเข้าไปใช้ได้ แบ่งสรรจัดส่วนให้เหมาะสม

“นี่คือสิ่งที่เราเรียนรู้ ว่าเมื่อชุมชนได้มาร่วมออกแบบ ร่วมคิด ร่วมทำ พื้นที่นั้นจะเกิดคุณค่าและความหมาย ไม่งั้นมันจะเป็นการออกแบบโดยหน่วยงานรัฐ หมดเวลาทำการก็ปิดล็อกเหมือนเดิม สุดท้ายคนในพื้นที่ก็ไม่ได้ใช้งาน”

…และจาก 3 เขตย่านฝั่งธน วันนี้กลุ่ม ‘บางกอกนี้ดีจัง’ พร้อมที่จะนำความรู้และประสบการณ์ มาร่วมจับมือกับเครือข่ายกิจกรรม ‘บางกอกกำลังดี’ เพื่อขยายพื้นที่แลกเปลี่ยนความคิด ลานกิจกรรมสร้างสรรค์ และสถานที่ที่เด็กเยาวชนได้มาค้นพบและขัดเกลาทักษะภายในออกไปยังเขตอื่นๆ ซึ่งเป็นหนึ่งในภารกิจการเปลี่ยนกรุงเทพมหานครให้เป็น ‘เมืองแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต’ สำหรับทุกคน