SET Learning@home เมื่อพ่อแม่ต้องจัดการเรียนรู้ที่บ้านสำหรับลูกปฐมวัย แนะนำโดย ครูเม-เมริษา ยอดมณฑป (เพจตามใจนักจิตวิทยา)

SET Learning@home เมื่อพ่อแม่ต้องจัดการเรียนรู้ที่บ้านสำหรับลูกปฐมวัย แนะนำโดย ครูเม-เมริษา ยอดมณฑป (เพจตามใจนักจิตวิทยา)

คำถาม “เด็กปฐมวัย (0-6 ปี) มีความจำเป็นต้องเรียนรู้อะไรบ้าง?”
คำตอบ “งานหลักของเด็กปฐมวัยคือ การเตรียมร่างกายให้พร้อมสำหรับการเรียนรู้ในวัยถัดไป ผ่านการฝึกช่วยเหลือตัวเองตามวัย การเล่น การฟัง (นิทาน) และการทำงานบ้านหรืองานที่เหมาะสมกับวัย”

หากอ้างอิงตามพัฒนาการตามทฤษฎีพัฒนาการทางจิตสังคม (Psychosocial Development) ของอีริก อีริกสัน จะเห็นถึงความสำคัญที่เด็กควรทำได้ และสิ่งที่ผู้ใหญ่ควรมอบให้ในแต่ละช่วงวัย โดยเรียงลำดับตามขั้นบันไดพัฒนาการดังนี้

บันไดขั้นที่ 1 สร้างสายสัมพันธ์ พัฒนาความเชื่อใจ สร้างพ่อแม่ลูกที่มีอยู่จริง

พัฒนาการขั้นแรกของมนุษย์ (วัย 0-2 ปีแรก) เริ่มจากการที่พ่อแม่ต้องสร้างความเชื่อใจ (Trust) ให้กับลูก ภารกิจที่สำคัญของพ่อแม่และผู้ใหญ่คือ การมีเวลาให้กับลูกเพื่อตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐาน ถ้าพ่อแม่ให้การตอบสนอง เด็กจะรับรู้ว่า สายสัมพันธ์ที่เขามีระหว่างพ่อแม่กับตัวเขานั้นมั่นคงและปลอดภัย

“การอ่านหนังสือนิทานให้ลูกฟัง” ถือเป็นอีกกิจกรรมที่พ่อแม่สามารถทำได้ทุกวัน  ทุกครั้งที่พ่อแม่นั่งลงเพื่ออ่านหนังสือให้ลูกฟัง ความสัมพันธ์ระหว่างเรากับลูกจะค่อย ๆ ก่อตัวขึ้นมา รวมทั้งสมองของลูกที่ค่อยๆ พัฒนาขึ้นจากการที่พ่อแม่อ่านหนังสือให้เขาฟัง

ที่สำคัญก่อนที่เด็ก ๆ จะเรียนรู้ “การฟังและทำตามคำบอกของพ่อแม่” เสียงของพ่อแม่จำเป็นต้องมีความสำคัญสำหรับลูกเสียก่อน การอ่านหนังสือนิทานนอกจากเด็ก ๆ จะได้ยินเรื่องราวและมองเห็นภาพในหนังสือนิทานแล้ว เขายังได้ยินเสียงของพ่อแม่ และเสียงพ่อแม่มีความสำคัญสำหรับเขา เพราะช่วงเวลานิทานที่เต็มไปด้วยความสนุก เด็ก ๆ จะเชื่อมโยงความสุขที่เกิดขึ้นกับเสียงของพ่อแม่ และความรู้สึกอบอุ่นปลอดภัยกับช่วงเวลาที่พ่อแม่อยู่กับเขา

บันไดขั้นที่ 2 พัฒนาความเป็นตัวของตัวเอง ผ่านการใช้ร่างกายเพื่อช่วยเหลือตัวเอง

พัฒนาการขั้นที่สองของมนุษย์ (วัย 2-3 ปี) คือ ความเป็นตัวของตัวเอง (Autonomy) เด็กวัยนี้มีอิสรภาพทางร่างกายมากขึ้น เขาสามารถคลาน เดิน วิ่ง และหยิบคว้าอย่างรวดเร็ว เพราะกล้ามเนื้อของเขาเริ่มแข็งแรงพอจะเคลื่อนไหวได้ด้วยตนเอง ภารกิจที่สำคัญของพ่อแม่และผู้ใหญ่ของเด็กวัยนี้ ได้แก่

1. การสอนเด็กช่วยเหลือตัวเองตามวัย (Self-care)

เพื่อให้เขาได้ฝึกทำอะไรด้วยตนเอง เช่น การกิน การล้างหน้าแปรงฟัน การอาบน้ำ การถอด-ใส่เสื้อผ้า การถอด-ใส่รองเท้า การเก็บของเล่น และการเข้าห้องน้ำ เด็กที่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ไม่ใช่แค่เพียงทำให้พ่อแม่สบายใจที่ปล่อยลูกไปสู่โลกภายนอก แต่เป็นความมั่นใจที่เกิดขึ้นในตัวเด็กด้วยว่า “เขาสามารถทำได้” เด็กจะพร้อมเรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ๆ อย่างมีความสุข เพราะฐานของเขานั้นมั่นคงและเเข็งแรง

2. การให้เด็กๆ เล่นโดยใช้ร่างกายให้มากที่สุด

เพื่อสร้างกล้ามเนื้อมัดเล็ก-มัดใหญ่ที่แข็งแรงพร้อมสำหรับการเรียนรู้ขั้นต่อไป และเพื่อกระตุ้นประสาทสัมผัสทางกายต่าง ๆ อย่างเต็มที่ เพื่อช่วยให้เด็ก ๆ สามารถปรับตัวกับสังคมในวัยถัดมา อย่าเพิ่งมุ่งอ่านเขียนเป็นสำคัญ เช่น

  • การเล่นปีนป่าย เช่น ปีนเครื่องเล่นในสนามเด็กเล่น ปีนต้นไม้ หรือการปีนป่ายฐานอุปสรรคที่ทำในบ้าน
  • การเล่นกับธรรมชาติ เช่น เล่นน้ำ เล่นดิน เล่นทราย เล่นโคลน เล่นใบไม้ ใบหญ้า เรียงหิน เป็นต้น
  • การเล่นเลอะเทอะ (Messy play) เช่น เล่นกับอาหาร ได้แก่ ข้าวสาร เม็ดแมงลักแช่น้ำ เส้นสปาเกตตีต้ม เส้นมะกะโรนี หั่นผักผลไม้ แป้งข้าวโพดผสมน้ำ เป็นต้น
  • กิจกรรมศิลปะ สำหรับเด็กวัยนี้ก็ถือว่าเป็นการเล่นได้เช่นกัน เมื่อเด็ก ๆ ละเลงสี หรือวาดเส้นไปทั่วกระดาษ ร่างกายของเขาได้เคลื่อนไหว สมองได้สร้างสรรค์ และเขารู้สึกสนุกกับการเล่นนี้
  • การเล่นทำงานบ้าน เช่น ช่วยแม่ทำอาหาร ช่วยพ่อล้างรถ ช่วยกวาดพื้น ถูพื้น ซักผ้า เป็นต้น

เพราะการเล่นเหล่านี้ทำให้เด็กได้ทดสอบร่างกายของตนเอง และส่งเสริมให้ร่างกายได้ใช้งานอย่างเต็มที่นั่นเอง เมื่อเด็กรับรู้ว่า “ตนเองสามารถทำสิ่งใดได้ด้วยตนเอง” เขาจะรับรู้ถึงความสามารถของตน ซึ่งนำไปสู่ความภาคภูมิใจและความรู้สึกเป็นตัวของตัวเอง (Sense of Autonomy) และการควบคุมตนเอง (Self Control) จะเกิดขึ้นตามมา

บันไดขั้นที่ 3 พัฒนาความคิดริเริ่มและลงมือทำตามความคิดผ่านการเล่น เพื่อเตรียมความพร้อมออกสู่โลกกว้าง

พัฒนาการขั้นที่สามของมนุษย์ (วัย 3-5 ปี) คือ การเป็นผู้คิดริเริ่ม (Initiative) เด็กวัยนี้เริ่มมีความคิดริเริ่มอยากจะทำอะไรด้วยตนเอง พวกเขาจะพยายามช่วยเหลือตัวเองให้มากที่สุด

นอกจากนี้จินตนาการจะเข้ามามีส่วนสำคัญในโลกของเด็กวัยนี้เป็นอย่างมาก ด้วยเหตุนี้การเล่นจึงเป็นกุญแจสำคัญของการพัฒนาร่างกาย จิตใจ ความคิด อารมณ์ และสังคมของเด็กวัยนี้เป็นอย่างมาก การเล่นทำให้เด็กๆ สามารถทดลองทำตามความคิดของตนเอง และความสนุกที่เกิดจากอิสระทางความคิดได้ปลดปล่อยให้เด็ก ๆ เล่นตามจินตนาการอย่างสนุกสนาน การเล่นที่เข้ามามีบทบาทสำคัญของเด็ก ๆ วัยนี้ ได้แก่

  • การเล่นปรากฏในรูปแบบการทำกิจกรรมศิลปะ ประดิษฐ์ และสร้างสรรค์งานต่าง ๆ อย่างอิสระ
  • การเล่นบทบาทสมมติ เช่น การสมมติให้ตัวเองหรือพ่อแม่และคนรอบตัวที่เล่นด้วยเป็นสิ่งของหรือสิ่งมี ชีวิตต่าง ๆ การสมมติให้สิ่งของรอบตัวเป็นอะไรก็ตามในจินตนาการของตน
  • การเล่นทดลองเพื่อตอบคำถามสิ่งที่เด็ก ๆ อยากรู้
  • การเล่นตามกติกาอย่างง่าย เช่น เกมโดมิโน เกมจับคู่ เกมบิงโก เป็นต้น

ภารกิจที่สำคัญของพ่อแม่และผู้ใหญ่ของเด็กวัย 3-5 ปี คือ “การอนุญาตให้เด็ก ๆ ได้เล่นอย่างที่เด็กวัยเขาควรได้เล่น และได้ทดลองสิ่งที่เขาอยากรู้ โดยมีพ่อแม่คอยดูแลและสนับสนุน” 

นอกจากนี้การสอนให้เด็ก ๆ เรียนรู้การทำงานส่วนรวม หรืองานบ้าน จะช่วยให้พวกเขาได้เรียนรู้การยับยั้งชั่งใจเพื่อรับผิดชอบต่อหน้าที่ให้เสร็จก่อนไปทำสิ่งที่เขาอยากทำ และเรียนรู้ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น เพราะเมื่อเด็ก ๆ ทำงานเพื่อส่วนรวม พวกเขาค่อยๆ ลดการเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางลง และพัฒนาการมองเห็นผู้อื่นมากขึ้น ที่สำคัญเด็ก ๆ ยังมองเห็นคุณค่าในตัวเองผ่านการได้ทำสิ่งที่มีคุณค่าต่อส่วนรวมอีกด้วย

“การเตรียมสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับการเรียนรู้และการเล่นของเด็กปฐมวัย”

1. พื้นที่ที่ปลอดภัย

ปิดรูปลั๊กไฟ ไม่มีของอันตรายหรือของที่อยู่สูงเกินเด็กเอื้อมถึง และหากเลอะเทอะแล้วทำความสะอาดในภายหลังได้อย่างง่ายดาย อาจจะใช้การปูผ้ายางกันเปื้อนก่อนจะปล่อยให้เด็ก ๆ เล่น

2. วัตถุดิบและอุปกรณ์สำหรับเล่น

-ของเล่นต่างๆ ทั้งแบบ Free form และสำเร็จรูป เช่น บล็อกไม้ ตัวต่อพลาสติก ตุ๊กตา รถของเล่น เป็นต้น
-วัสดุและวัตถุดิบจากธรรมชาติ เช่น หิน ดิน ทราย ไม้ ใบไม้ ดอกไม้ เป็นต้น

3. อุปกรณ์สำหรับสร้างสรรค์งาน

เช่น กาว กรรไกร สีต่าง ๆ ทั้งนี้ผู้ใหญ่ควรสอนให้เด็ก ๆ ใช้อุปกรณ์เหล่านั้นให้ถูกวิธี ก่อนจะมอบให้พวกเขาไป และในเด็กเล็กต่ำกว่า 6 ปี ผู้ใหญ่ควรให้การดูแลระหว่างที่เด็ก ๆ ใช้อุปกรณ์เหล่านี้

“การเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย” เท่ากับ “การเล่น” และ “การเล่น” เท่ากับ “การเรียนรู้”

เพราะ “การเล่น” เป็นวิธีการเรียนรู้ที่ดีที่สุดสำหรับเด็ก ๆ เด็ก ๆ ควรได้เล่นอย่างเพียงพอ โดยเฉลี่ยอย่างน้อย 2-3 ชั่วโมงต่อวัน จะแบ่งเวลาเล่นเป็นครั้งละ 30 นาที-1 ชั่วโมง เช้า กลางวัน เย็น ก็ทำได้เช่นกัน ทั้งนี้อย่าลืมให้เด็ก ๆ ได้ทำกิจวัตรประจำวันที่สำคัญหรืองานที่จำเป็นก่อนไปเล่น เพื่อให้เด็ก ๆ เรียนรู้การเรียงลำดับความสำคัญก่อนหลัง และการยับยั่งชั่งใจ เพื่อสร้างวินัยที่เหมาะสมให้กับพวกเขา

แม้จะให้เด็ก ๆ เล่นอย่างอิสระ แต่อย่าลืมกำหนดขอบเขตและตั้งกติกาให้ชัดเจนตั้งแต่แรกเริ่ม กติกาสำคัญที่ทุกบ้านควรมีก่อนปล่อยให้เด็ก ๆ ไปเล่น ได้แก่

1. กฎ 3 ข้อ ไม่ทำร้ายตัวเอง ไม่ทำร้ายผู้อื่น และไม่ทำลายข้าวของ
2. เล่นแล้วเก็บให้เหมือนเดิม หรือเล่นแล้วต้องช่วยกันทำความสะอาดด้วย
3. บริเวณที่เล่น ของเล่นที่เล่นได้ จะอยู่ในบริเวณดังกล่าว

เพียงเท่านี้เด็ก ๆ จะได้เรียนรู้ที่จะสร้างสรรค์อย่างอิสระ แต่ไม่ลืมที่จะรับผิดชอบต่อสิ่งต่าง ๆ รอบตัวเขาด้วย

เมื่อใดที่เด็ก ๆ เล่น พวกเขาได้เรียนรู้ การเล่นยังเป็นการเตรียมร่างกายทั้งสมองและกล้ามเนื้อมัดเล็ก-มัดใหญ่ให้พร้อมสำหรับการใช้งานในการเรียนรู้ขั้นต่อไป เด็กที่ได้เล่นอย่างเพียงพอและเหมาะสมกับวัย ช่วยให้เด็ก ๆ สามารถพัฒนาการควบคุมร่างกายภายนอกของตัวเอง และนำไปสู่การควบคุมตัวเองจากภายใน ซึ่งช่วยให้พวกเขามีสมาธิที่เพียงพอต่อการจดจ่อเพื่อเรียนรู้ในขั้นต่อ ๆ ไป

อ้างอิง : Widick, C, Parker, C A, & Knefelkamp, L (1978) Erik Erikson and psychosocial development New directions for student services, 1978(4), 1-17