“เป้าหมายทางการศึกษาควรเป็นไปเพื่อเติมเต็มความเป็นมนุษย์มากกว่าจะเป็นการศึกษาเพื่อให้เด็กโตขึ้นมาเป็นแรงงาน”
ภูมิสิทธิ์ ศิระศุภฤกษ์ชัย องค์กรอาชีฟ (a-chieve)

“เป้าหมายทางการศึกษาควรเป็นไปเพื่อเติมเต็มความเป็นมนุษย์มากกว่าจะเป็นการศึกษาเพื่อให้เด็กโตขึ้นมาเป็นแรงงาน”

อาชีฟ (a-chieve) ทำงานด้านการศึกษาในประเด็น “แนะแนว” มาได้ 10 ​ปีแล้ว โดยเราทำงานทั้งกับเด็กและครูแนะแนว ในมุมที่ทำกับเด็กๆ ทีมจะเน้นเรื่องการค้นหาตัวเองของเด็ก การสำรวจอาชีพ  และช่วยให้เด็กได้ทบทวนตัวเอง ผ่านกระบวนการและเครื่องมือหลากหลาย นอกจากนี้ยังมีโปรเจ็กต์ที่เปิดโอกาสให้เด็กได้เชื่อมต่อและเรียนรู้อาชีพกับคนทำงานในสายอาชีพต่างๆ เพื่อให้เด็กได้มีประสบการณ์ตรงในการตัดสินใจ ส่วนในมุมที่ทำงานกับครูแนะแนว เราจะมีหลักสูตรซัพพอร์ตครูแนะแนว โดยปัจจุบันเปิดหลักสูตรไปแล้ว 4 รุ่น รุ่นละ 25 คน ก็มีครูแนะแนวที่เข้าร่วมจากทุกภูมิภาคของประเทศ

Education for All
ควรขับเคลื่อนเพื่อทุกคน และเปิดให้ทุกคนมีส่วนร่วมในกระบวนการ

ถ้ามองในมุมการศึกษา คำว่า “Education For All” ควรเป็นการศึกษาที่ลดการผูกขาดลง แล้วก็กระจายให้เป็นการศึกษาของทุกคนจริงๆ ซึ่งปัจจุบันก็เห็นความพยายามจากหลายภาคส่วนที่ผลักดันให้เกิดสิ่งนี้ขึ้น ทั้งนี้ในมุมมองผม มองประเด็น “Education for All” หรือ “การศึกษาของทุกคน” ใน 2 ความหมาย ได้แก่

“การศึกษาของทุกคน” ในความหมายแรก หมายถึง การศึกษาสำหรับทุกคนจริงๆ ซึ่งการจะทำให้เกิดขึ้นได้ ต้องปรับเปลี่ยนหลักสูตร ระบบโรงเรียน ระบบการศึกษาให้เหมาะสมและสอดคล้องกับเด็กทุกคน ไม่ว่าเด็กคนนั้นจะเป็นเด็กที่อยากเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา เป็นเด็กที่ไม่ได้มีเป้าหมายอยากเรียนต่อ เป็นเด็กพิการ หรือเป็นเด็กแบบอื่นก็ตาม การศึกษาควรถูกออกแบบมาให้เอื้อและส่งเสริมการเรียนรู้ของทุกคน ซึ่งในแง่นี้การศึกษาแต่ละท้องถิ่นอาจถูกออกแบบให้มีหลักสูตรที่แตกต่างกันไปก็ได้ ผมมองว่าอันนี้เป็นสิ่งที่นโยบายการศึกษาควรจะก้าวไปให้ถึง

“การศึกษาของทุกคน” ในความหมายที่สอง คำว่า “ของทุกคน” ควรหมายถึง การเปิดโอกาสให้เด็ก ครอบครัว ชุมชน หรือทุกคนที่มีส่วนในกระบวนการศึกษา ได้เข้ามามีส่วนร่วม ร่วมออกแบบและจัดการระบบในโรงเรียน ออกแบบหลักสูตร หรือออกแบบเนื้อหาการศึกษาของตัวเขาเอง หรืออย่างน้อยๆ พวกเขาต้องได้มีส่วนร่วม 

ดังนั้น Education for All  ควรต้องลดการผูกขาดลง แล้วก็กระจายให้เป็นการศึกษาของทุกคนจริงๆ ให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมออกแบบการเรียนการสอน ออกแบบชั้นเรียน เพื่อให้เหมาะกับเงื่อนไขปัจจัยของเขา และเหมาะกับท้องถิ่นหรือพื้นที่ของเขาด้วย

รัฐควรเปิดรับวิธีคิดหรือปรัชญาการศึกษาหลากหลายแบบ

จากประสบการณ์ทำงานของทีมอาชีฟที่ได้ทำงานร่วมกับองค์กร กระทรวงที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้บริหารหลากหลายท่าน วิธีคิดหนึ่งที่ผู้บริหารและส่วนกลางมักจะมองคือ เขามองการศึกษาเป็นเครื่องมือที่จะป้อนเด็กออกไปสู่ตลาดแรงงาน แต่จริงๆ แล้วปรัชญาทางการศึกษาสามารถมีเป้าหมายแบบอื่นนอกเหนือจากผลักดันคนสู่ตลาดแรงงานก็ได้ จากการที่เราได้พูดคุยในหมู่คนทำงานด้านการศึกษาทางเลือก เราพบข้อเสนอหนึ่งว่า เป้าหมายทางการศึกษาควรเป็นไปเพื่อเติมเต็มความเป็นมนุษย์ มากกว่าจะเป็นการศึกษาเพื่อให้เด็กโตขึ้นมาเป็นแรงงาน หรือมองคนเป็นแรงงานทางเศรษฐกิจอย่างเดียว หากรัฐเปิดรับปรัชญาการศึกษาแบบอื่นหรือเปลี่ยนวิธีคิด เราอาจจะได้เห็นการปรับเปลี่ยนหลักสูตรการเรียนของไทยก็ได้ เพราะหลักสูตรก็ถูกออกแบบมาจากวิธีคิดของคนนี่แหละครับ หากวิธีคิดเปลี่ยน หลักสูตรเปลี่ยน เด็กอนุบาล ประถม และมัธยมของไทย อาจจะได้เรียนรู้เรื่องของพื้นฐานชีวิตที่เปิดกว้างกว่านี้ ทั้งในมุมของการเรียนรู้ตลอดชีวิต และพื้นฐานที่ส่งเสริมให้เขาเปิดกว้างมากขึ้นในแง่ความเป็นมนุษย์

“รัฐสวัสดิการ” เป็นคำตอบที่น่าสนใจ

ในแง่ของการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของไทย ผมคิดว่า “รัฐสวัสดิการ”​ ยังเป็นแนวคิดที่น่าสนใจ น่าจะเป็นคำตอบในระยะยาวได้ หากประเทศไทยมีสวัสดิการทางด้านการศึกษาที่ทุกคน ทุกพื้นที่สามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมและถ้วนหน้า คงน่ายินดีไม่น้อย แต่ขณะเดียวกัน นอกจากความเท่าเทียมและถ้วนหน้าแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องมาคู่กันคือ “คุณภาพทางการศึกษา” หากว่าสามารถยกระดับการศึกษาให้มีคุณภาพมากขึ้น อย่างน้อยที่สุด เมื่อเด็กสำเร็จการศึกษาภาคบังคับออกไป เราก็ยังพอมั่นใจได้ว่า เด็กคนนั้นจะมีพื้นฐานและทักษะจำเป็นที่ทำให้เขาเอาตัวรอดได้แล้ว ไม่ว่าเขาจะเลือกทางอื่นที่ไม่ใช่การเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัยก็ตามที

เด็กหลุดจากระบบมีมาอย่างต่อเนื่อง อาจต้องกลับไปมองที่ต้นทาง ได้แก่ “นโยบายการศึกษา”

จากสถานการณ์เด็กหลุดจากระบบ เท่าที่เราได้ทำงานร่วมกับคุณครูมา พบว่า เด็กหลุดจากระบบมีมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ก่อนโควิด-19 ด้วยซ้ำ ทีนี้ประเด็นสำคัญคือ เราอาจต้องกลับมามองว่า อะไรคือเหตุผลที่ทำให้เด็กบางกลุ่มตัดสินใจไม่มาโรงเรียน ซึ่งปัญหาเศรษฐกิจอาจเป็นส่วนหนึ่ง แต่ตัวนโยบายการศึกษาเองนั้น เป็นต้นทางส่วนหนึ่งที่ผลักเด็กออกไปหรือเปล่า

สิ่งที่เราพบคือ โรงเรียนไทยจะมีค่านิยมในการเชิดชูเด็กเก่งบางแบบ เช่น โรงเรียนมักจะขึ้นป้ายชื่นชมเด็กที่สอบติดหมอ ติดวิศวะ ขณะที่ไม่ได้ใส่ใจชื่นชมเด็กอีกส่วน ในมุมการเรียนรู้ของเด็ก เด็กบางคนอาจจะไม่เหมาะกับการท่องจำ แต่อาจจะเหมาะกับการเรียนรู้แบบอื่น เช่น การใช้ฐานกาย แต่เพราะค่านิยมและนโยบายการศึกษาที่เป็นอยู่ จะทำให้เด็กบางกลุ่มรู้สึกไม่เป็นส่วนหนึ่งกับระบบการศึกษา นั่นอาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักเขาออกไป การกลับมามองต้นทาง ปรับแก้ที่ต้นทางอย่างนโยบายการศึกษา อาจเป็นข้อเสนอหนึ่งที่ผมอยากฝากไว้