เปิดไทม์ไลน์ ‘8 เดือนที่สูญหาย’ ของ วง ตาวง จากวันที่หลุดจากรั้วโรงเรียนช่วงรอยต่อ ด้วยผลกระทบจากโควิด-19 จนถึง วันได้กลับเข้าเรียนอีกครั้ง

เปิดไทม์ไลน์ ‘8 เดือนที่สูญหาย’ ของ วง ตาวง จากวันที่หลุดจากรั้วโรงเรียนช่วงรอยต่อ ด้วยผลกระทบจากโควิด-19 จนถึง วันได้กลับเข้าเรียนอีกครั้ง

ผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้เยาวชนคนหนึ่งต้องหลุดจากระบบการศึกษา ตรงช่วงชั้นรอยต่อปีการศึกษา 63-64 เมื่อเขาจบ ม.3 พร้อมกับน้องสาว ในช่วงที่ครอบครัวไม่มีรายได้ จนต้องยอมสละสิทธิ์ให้น้องได้เรียนต่อ ขณะที่ตนเองตัดสินใจไปช่วยแม่ทำงาน

แต่วันหนึ่ง เขาก็พบว่าเส้นทางที่เลือกไม่เอื้อกับสิ่งที่หวัง เมื่อเพื่อนร่วมชั้นที่จบ ม.3 มาด้วยกัน รวมถึงน้องสาวของเขายังอยู่บนเส้นทางการศึกษา เข้าถึงสิทธิต่าง ๆ ด้วยสถานะนักเรียน เช่นการได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ขณะที่วงจรชีวิตของเขาที่นอกรั้วสถาบันการศึกษา คือการทำงานหนักทุกวันตั้งแต่เช้ายันค่ำ โดยแทบไม่ได้ช่วยให้ครอบครัวมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างที่คิด

วง ตาวง วัย 17 ปี เด็กที่หลุดจากรั้วโรงเรียน
ด้วยผลกระทบจากโควิด-19

และนี่คือช่วงเวลา 8 เดือน บนเส้นทางคู่ขนานที่ค่อย ๆ พาเขาห่างไกลออกไปจากระบบการศึกษา จนตัวเขาเองเริ่มคิดว่า หากชีวิตยังคงอยู่ที่นอกรั้วโรงเรียนต่อไป วันหนึ่งแรงใจไฟฝันที่เขายังพอมีให้กับการเรียน ก็คงจะค่อย ๆ เลือนจางลง …แล้วถึงวันนั้น การศึกษากับตัวเขาก็คงต้องลาขาดจากกันอย่างถาวร

‘Time Line’ ช่วงเวลา 8 เดือนที่สูญหายของ วง ตาวง

ปี 2564

มี.ค.

  • สิ้นปีการศึกษา 2563 ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19
  • จบ ม.3 โรงเรียนไทรน้อย พร้อมกับน้องสาว
หลุดจากรั้วโรงเรียนช่วงรอยต่อ ด้วยผลกระทบจากโควิด-19

เม.ย.

  • ครอบครัวขาดรายได้อย่างหนัก
  • ช่วยแม่ทำงานรับจ้างระหว่างปิดเทอม

พ.ค.

  • เตรียมสมัครเรียนต่อ ม.4 พร้อมน้องสาว
  • สภาพคล่องการเงินครอบครัวไม่ดีขึ้น
    เหลือกำลังส่งเสียลูกได้เพียงคนเดียว
“น้องเรียนเก่งกว่าผม เขาควรได้เรียนก่อน ส่วนผมตั้งใจจะไปช่วยแม่ทำงานเพื่อให้ครอบครัวเราดีขึ้น”

มิ.ย.

  • ตัดสินใจไม่เรียนต่อ เพื่อให้น้องสาวได้เรียน
  • วางแผนเรียน กศน. / ช่วยงานแม่เต็มตัว
    หวังให้ครอบครัวมีรายได้เพิ่มขึ้น

ก.ค.

  • ทุกวันตื่นนอนตี 5 ทำงานในสวน-ไร่ (ถอนหญ้า, เก็บผัก, ตัดต้นไม้ ฯลฯ)
    ตั้งแต่ 7-9 โมงเช้าจนพลบค่ำ
  • รับค่าแรงวันละ 300-400 บาท
    (เป็นค่าจ้างสำหรับ 1 แรง ที่วงต้องแบ่งกับแม่สองคน)
  • เปิดเทอมปีการศึกษา 2564 น้องสาวเริ่มเรียนออนไลน์
“บางทีผมก็แอบไปเอาหนังสือเรียนของน้องมาเปิดดูว่าบทเรียนของชั้น ม.ปลายเป็นยังไง”

ส.ค.

  • ตระหนักว่า ‘ทางที่เลือกไม่ง่ายอย่างที่คิด’
    เพราะแม้ทำงานหนัก แต่รายได้ไม่เพิ่ม
  • กังวลว่าอนาคตต้องจมอยู่กับงานในสวน-ไร่
    และอาจไม่ได้กลับไปเรียนอีก
  • ย้อนนึกถึงความใฝ่ฝันของตนที่อยากเป็น ‘ยูทูเบอร์’
    คิดถึงโรงเรียน อยากกลับไปเรียนหนังสืออีกครั้ง

ก.ย.

  • กสศ.-สพฐ. สำรวจเด็กเยาวชนไม่มีรายชื่อเรียนต่อช่วงชั้นที่สูงขึ้น
    ตามแนวทางการสร้าง ‘ระบบป้องกันและช่วยเหลือเด็กหลุดออกนอกระบบ’
  • พบ วง เป็น 1 ใน 4.3 หมื่นคน ที่หลุดจากระบบการศึกษาช่วงเทอม 1 ปีการศึกษา 2564
  • โรงเรียนเปิดเรียนออนไซต์ น้องสาววงได้สิทธิ์นักเรียนเข้ารับการฉีดวัคซีน ส่วนวงไม่ได้รับสิทธิ์
ปิติ ยางกลาง ผู้อำนวยการโรงเรียนไทรน้อย
โรงเรียนได้ทำงานร่วมกับ กสศ. จนเกิดเป็น “ไทรน้อยโมเดล”

ต.ค.

  • แจ้งความประสงค์ว่าอยากกลับเข้าเรียนชั้น ม.4 โรงเรียนไทรน้อย
    หลัง กสศ. สอบถามความต้องการในการให้ความช่วยเหลือ
  • วงสื่อสารติดตามความเป็นไปได้กับ กสศ. เป็นระยะ
    ยืนยันความปรารถนาของตน และหวังว่าจะได้กลับไปเรียนจริง ๆ  

กลับเข้าเรียน

พ.ย.

  • กสศ. ประสานกับโรงเรียนไทรน้อย นำกลับเข้าโรงเรียน  
หลัง 8 เดือนที่สูญหาย หลุดจากรั้วโรงเรียน
‘วง ตาวง’ กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาอีกครั้ง

ธ.ค. 2564 – ก.พ. 2565

  • เข้าโปรแกรมฟื้นฟูความรู้ที่โรงเรียน สลับเรียนออนไลน์จากที่บ้าน  
  • เติมความรู้ด้วยโปรแกรมจากนอกโรงเรียน
    โดย กสศ. เป็นผู้สนับสนุน

มี.ค. 2565 

  • ประเมินผลก่อนเข้าสู่ปีการศึกษา 2565
    (ขึ้นชั้น ม.5 หรือเริ่ม ม.4 อีกครั้ง ในปีการศึกษาถัดไป)