5 STEPS Active Learning พัฒนาเต็มศักยภาพเพื่อก้าวสู่ความเป็นเลิศตามแนวทางของตัวเอง

5 STEPS Active Learning พัฒนาเต็มศักยภาพเพื่อก้าวสู่ความเป็นเลิศตามแนวทางของตัวเอง

จุดเริ่มต้นจากการกำหนดเป้าหมายการพัฒนาโรงเรียนหรือ School Goals ที่โรงเรียนบ้านน้ำเขียว จังหวัดสุรินทร์ ใช้กระบวนการมีส่วนร่วม ชักชวนทุกภาคส่วนตั้งแต่ผู้บริหาร ครู ชุมชน ผู้ปกครอง และนักเรียน มาร่วมกันวางทิศทางอนาคตที่อยากให้โรงเรียนไปถึงเป้าหมายที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องร่วมกัน

นักเรียน : ได้รับการพัฒนาเต็มศักยภาพเพื่อก้าวสู่ความเป็นเลิศตามแนวทางของตัวเอง และมีการเรียนรู้ มีทักษะและความสามารถตามระดับชั้นที่กำหนดไว้ในหลักสูตร 

ครูผู้สอน : ใช้กระบวนการ PLC ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา และจัดการสอนแบบ Active Learning เน้นการสอนแบบ 5 Steps พัฒนาผู้เรียน

ผู้บริหาร : เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงวิชาการ บริหารจัดการคุณภาพสถานศึกษาอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ และใช้ระบบสารสนเทศในการบริหารจัดการพัฒนาคุณภาพโรงเรียน 

ปัจจุบัน “เป้าหมาย” ที่วางไว้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี จากความร่วมไม้ร่วมมือของทุกฝ่าย ตอกย้ำด้วยผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาทั้งคะแนน O-NET, RT NT ที่ดีขึ้นในทุกสาระวิชา และเฉลี่ยสูงกว่าระดับประเทศ 

5 สเต็ปส์ พัฒนาการเรียนการสอน

ครูลูกน้ำ บุญทัพไท ครูวิชาการโรงเรียนบ้านน้ำเขียว ประเมินว่า Active Learning เป็นการสอนที่ตอบโจทย์การเรียนรู้ของเด็กๆ ที่ผ่านมาครูหลายคนก็ใช้รูปแบบการสอนนี้อยู่แล้ว มากบ้างน้อยบ้างขึ้นอยู่กับแต่ละคน การปรับเปลี่ยนจึงทำได้ง่าย โดยเฉพาะเมื่อได้ทาง สพป.สุรินทร์ เขต 2 มาร่วมเป็นโค้ช พัฒนาการเรียนการสอนในโครงการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง (TSQP) ของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)​

หนึ่งในเทคนิคสำคัญที่นำมาใช้สอดแทรกไปกับเนื้อหาการเรียน คือ 5 เสต็ปส์พัฒนาการเรียนการสอน เริ่มจาก 1. การตั้งคำถาม 2. การแสวงหาความรู้สารสนเทศ 3. สร้างองค์ความรู้ 4. เรียนรู้เพื่อการสื่อสาร และ 5. การตอบแทนสังคม นำความรู้ไปเผยแพร่ 

ยกตัวอย่างการเรียนภาษาไทย เรื่องชนิดของคำ ก็จะเริ่มต้นจากการตั้งคำถาม เช่น คำนามคืออะไร ให้เด็กไปแสวงหาความรู้ จากนั้นจึงนำมาช่วยกันสรุปว่าข้อมูลที่ไปหามาได้เป็นอย่างไร คำนามคืออะไร ยกตัวอย่างการใช้ สามารถอธิบายได้ และสุดท้ายก็นำมาจัดทำเผยแพร่เป็นป้ายนิเทศ แผนผังความคิด

“สิ่งที่เห็นได้ชัดคือนักเรียนกล้าแสดงออกมากขึ้น กล้าพูด กล้าถาม เวลาครูให้อิสระ เขาก็จะกล้านำเสนองาน กล้าพูด และความรู้ที่เขาได้จะเป็นความรู้ที่มาจากการเรียนรู้  ที่จะทำให้เข้าใจได้ดีกว่าแค่อ่านจากหนังสือหรือครูบอกให้ฟัง อีกมุมหนึ่งคือการแบ่งกลุ่มให้เด็กทำงาน จะแบ่งคละเด็กเก่งเด็กอ่อนให้อยู่ด้วยกัน เวลาทำงานเขาก็จะช่วยกัน เกิดการเรียนรู้ด้วยกัน”

PLC หนุนเสริมเพื่อให้ครูกล้าพัฒนา​

เคล็ดลับความสำเร็จคือการทำงานเป็นทีมและการพัฒนาแบบ PLC ที่เดิมเคยทำกันมาบ้างแล้ว ต่อมาได้พัฒนาให้เป็นการทำ PLC ใน 3 ระดับ 

1. PLC ระดับคู่บัดดี้ ที่ครูจับคู่กันเพื่อพัฒนาแผนการสอน ตั้งแต่ขั้นตอน วางแผน ลงมือสอน และสะท้อนผล 
2. PLC ระดับช่วงชั้น เช่น ป.1-3, ป.4-6, ม.1-3 
3. PLC ระดับโรงเรียน ที่จะทำให้การเรียนการสอนดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

“ที่ผ่านมาครูก็สอนแบบ Active Learning การทำ PLC จะช่วยทำให้ครูมั่นใจว่าสิ่งที่ทำนั้นมาถูกทาง โดยมีเพื่อนครูและผู้บริหารเข้ามาช่วยการหนุนเสริมให้พัฒนาได้ดียิ่งขึ้น ครูก็จะพัฒนา อย่างเดิมเราก็ถามให้เด็กคิดหาคำตอบ ไม่ได้สอนให้ท่องจำ​ แต่บางครั้งก็ต้องปรับเพิ่ม เช่น เวลาถามแล้วเด็กไม่ตอบก็ต้องใจเย็นรอ หรือหาทางให้เด็กได้คิด ข้อดีของการทำ PLC ระดับคู่บัดดี้  คือช่วยทำให้ครูไม่เกร็ง  เพื่อนช่วยเพื่อน คอยสังเกต ชี้แนะกันและกัน บางครั้งครูเองก็อาจจะมองข้ามหรือไม่เห็นรายละเอียดที่ตัวเองสอน เช่น บางครั้งอาจจะมองไม่เห็นเด็กที่ยกมือจะตอบ ทำให้เขาไม่ได้พูด ต่อไปเขาก็จะไม่กล้าตอบอีก แต่ถ้าครูบัดดี้สังเกตการสอนก็จะให้คำแนะนำช่วยเหลือได้” 

สพป.สุรินทร์เขต 2 กัลยาณมิตรร่วมพัฒนา เปลี่ยนบทบาทจากผู้ประเมิน เป็น “โค้ช”​

ครูลูกน้ำเล่าให้ฟังว่า เครื่องมือ Q-info ที่ กสศ.นำมาให้ใช้ เป็นระบบสารสนเทศที่ทำให้ครูและผู้บริหารทำงานได้ง่ายขึ้น และยังช่วยลดภาระการทำงานของครู ที่เทอมนี้จะไม่ต้องทำเอกสาร ป.พ. 5 แต่จะใช้วิธีพริ้นต์จากระบบได้เลย ซึ่งมีข้อมูลทั้งภาวะโภชนาการ เช็กเวลาเรียน ตัวชี้วัด ที่จะเช็กว่าเป็นไปตามเป้าหรือไม่ สามารถเห็นภาพของเด็กนักเรียนทั้งรายบุคคลและภาพรวมทั้งโรงเรียน นำไปสู่การพัฒนาได้ดียิ่งขึ้น 

จากนั้นทุกวันศุกร์ก็จะมา PLC ระดับกลุ่ม และแต่ละเดือนก็จะมี PLC ระดับโรงเรียน เพื่อให้เกิดการพูดคุย คิดหาทางแก้ไขปัญหาและพัฒนา เรื่องไหนทำแล้วประสบความสำเร็จ หรือเรื่องไหนยังต้องปรับเพิ่มตรงไหนอีก ครูแต่ละคนก็จะได้ช่วยกันคิดหรือเสนอแนวทางใหม่ โดยทั้งหมดจะมีการบันทึกเป็นล็อกบุ๊กเพื่อเป็นฐานข้อมูล  

“การได้ สพป.สุรินทร์เขต 2 เข้ามาเป็นโค้ช ช่วยให้เกิดการพัฒนาได้มาก ​จากเดิมบทบาทอาจจะเป็นลักษณะของฝ่ายที่จะมาประเมิน ทำให้เกร็ง ไม่กล้าให้ดูแผน เพราะกลัวได้คะแนนน้อย แต่พอเปลี่ยนบทบาทก็เหมือนเป็นกัลยาณมิตรมาช่วยกันพัฒนา ที่สำคัญโครงการ TSQP ทำให้การทำงานมีระบบมากขึ้น มีเป้าหมายที่ชัด ช่วยให้วางขั้นตอนการทำงานที่มีประสิทธิภาพเพื่อเดินไปสู่เป้าหมายที่วางไว้” ​