สำรวจ 4 วิกฤตเด็กในชุมชนแออัด กับภาวะความเครียดเงียบ

สำรวจ 4 วิกฤตเด็กในชุมชนแออัด กับภาวะความเครียดเงียบ

การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกล่าสุด ทำให้มีเด็กและเยาวชนไทยมากมาย โดยเฉพาะกลุ่มด้อยโอกาสในชุมชนแออัดกลางเมือง ต้องแบกรับภาระทั้งทางร่างกายและจิตใจอย่างหนัก ตั้งแต่ด้านโภชนาการ การเรียนรู้ถดถอย สภาวะเครียด กังวลใจที่มีแนวโน้มว่าจะดำเนินต่อเนื่องไปอีกเป็นเวลานาน

แม้เด็กและเยาวชนจำนวนมากจะยังไม่เป็นผู้ติดเชื้อโควิด แต่วิกฤตที่เกิดขึ้นกระทบพัฒนาการและการเรียนรู้ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชนในชุมชนแออัด กล่าวได้ว่า พวกเขาสูญเสียสิทธิ์ในทุกด้าน มีชีวิตที่เต็มไปด้วยความเสี่ยง พัฒนาการถดถอย ขาดความคุ้มครอง และไม่มีส่วนร่วม

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้มีโครงการสนับสนุนการพัฒนาครูและเด็กนอกระบบการศึกษา ดำเนินงานในด้านการหนุนเสริมการทำงานสร้างโอกาสทางการศึกษา และการเรียนรู้ในระยะยาวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในพื้นที่ชุมชนแออัดของกรุงเทพมหานครซึ่งกำลังมีการระบาดอย่างหนัก และมีเด็กเยาวชนกลุ่มเปราะบางอยู่เป็นจำนวนมาก

ใต้ภาวะจำยอม นำมาซึ่ง 4 วิกฤตในเด็ก

ศาสตราจารย์ ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ภาคประชาสังคม) ในคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ชี้ว่า ที่ผ่านมา กสศ. ได้เข้าไปทำงานกับเด็กและเยาวชนในพื้นที่ชุมชนแออัดทั่ว กทม. ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 ที่เกิดสถานการณ์โควิด-19 รอบแรก จนถึงวิกฤตครั้งล่าสุดนี้ สิ่งหนึ่งที่ได้ค้นพบคือ “เสียงของความเครียดเงียบงันที่อยู่ภายในตัวเด็ก ๆ”

ศาสตราจารย์ ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการบริหาร กสศ.

“หมายถึงเราต้องพยายามฟังเสียงที่ซ่อนอยู่ภายใต้ภาวะจำยอม หรือการเก็บกักตัวเอง ที่ระบายออกมาไม่ได้ จนกลายเป็นภาวะ ‘เครียดเงียบ’ ให้ได้ยิน เพื่อหาทางเยียวยาเขา

“หนึ่งปีเต็มที่ กสศ. ทำงานร่วมกับครูของเด็กนอกระบบจากเครือข่ายประชาสังคม ที่เปรียบเสมือนอาสาสมัครการศึกษาราว 100 คน พัฒนาพื้นที่ทดลองระบบการช่วยเหลือเด็ก ๆ ให้ได้รับการเรียนรู้เต็มศักยภาพและความต้องการ ภายใต้ความช่วยเหลือที่ตรงจุดและมีส่วนร่วม

“จากการรวบรวมข้อมูลในพื้นที่ทำให้พบ 4 ประเด็นปัญหาใหญ่ของเด็ก ๆ จากภาวะวิกฤต

“อย่างแรกคือ ภาวะ ‘เครียดเงียบ’ อันเป็นผลจากห่วงโซ่ความรุนแรงของโควิด-19 ที่ทำให้เด็กและเยาวชนซึมซับปัญหาเข้าไปในจิตใจ ทั้งเรื่องครอบครัวต้องขาดรายได้ สภาพแวดล้อมใกล้ตัวที่มีอัตราผู้ป่วยเพิ่มขึ้น รวมถึงคนรอบตัวกลายเป็นกลุ่มเสี่ยงทั้งหมด หรือการที่ต้องกักตัว ไม่สามารถใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติได้ ทั้งที่ธรรมชาติตามวัยจำเป็นต้องได้วิ่งเล่นสนุกสนาน สิ่งเดียวที่เด็กตอบสนองได้มีเพียงความเงียบ ซึ่งสังเกตได้ผ่านสายตาที่เศร้ากังวลของเด็ก ๆ ในชุมชนแออัดทุกที่

“สองคือ การปิดโรงเรียน ทำให้ภาวะการเรียนรู้ของเด็กถดถอยกว่าปกติราว 2 – 5 เดือน ซึ่งยิ่งทำให้คุณภาพการเรียนรู้ในภาพรวมตกต่ำลงไปกว่าเดิมอีกมาก

“สามคือ ภาวะทุพโภชนาการจากการกินไม่ครบมื้อ บางมื้อไม่ได้กินอิ่มเต็มที่ หรือได้สารอาหารไม่ครบหมวดหมู่

“และสี่คือ ประเด็นที่ติดตามมาจากวิกฤตเศรษฐกิจ เด็กกลุ่มนี้จะมีความเสี่ยงสูงในการหลุดออกจากระบบการศึกษา เนื่องจากหลายครอบครัวขาดรายได้ จึงไม่มีกำลังส่งเสียบุตรหลาน

“ปัจจัยทั้ง 4 ด้านนี้คือข้อบ่งชี้ว่า แม้จะยังไม่เป็นผู้ติดเชื้อ แต่เด็กและเยาวชนในชุมชนแออัดทุกแห่งล้วนสูญเสียสิทธิ์ในทุกด้าน มีชีวิตที่เต็มไปด้วยความเสี่ยง พัฒนาการถดถอย ขาดความคุ้มครอง ไม่มีส่วนร่วม นี่คือสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นกับเด็กกลุ่มเปราะบางและขาดโอกาสในสังคมของเรา”

ถึงเวลาปรับกลยุทธ์ใหม่ : เยียวยาให้ตรงจุดผ่านกล่องเรียนรู้ “เติมยิ้ม”

จากวิกฤตที่เกิดขึ้น จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนากล่องการเรียนรู้ “เติมยิ้ม” เพื่อเยียวยาผลกระทบจากการเรียนรู้ที่ถดถอยในภาวะวิกฤต และช่วยเติมความสุข เติมรอยยิ้ม ตลอดจนส่งต่อการเรียนรู้ไปถึงเด็ก ๆ ในทุกที่ทุกเวลา เพื่อไม่ให้พัฒนาการต้องหยุดชะงักลง ถือเป็นเครื่องมือการทำงานของคุณครูนอกระบบ ซึ่งเป็นเสมือนอาสาสมัครการศึกษาของชุมชน เพื่อประคับประคองให้เด็ก ๆ ผ่านพ้นวิกฤต และเตรียมความพร้อมสำหรับแผนการช่วยเหลือที่ยั่งยืนต่อไป

โดยพื้นที่นำร่องของการส่งมอบกล่องการเรียนรู้เติมยิ้มไปถึงเด็ก ๆ จะเริ่มจากชุมชนในพื้นที่ทดลองของ กสศ. ได้แก่ ชุมชนโรงหมู ชุมชนริมคลองวัดสะพาน ชุมชนแฟลต 23/24/25 และชุมชนบ้านมั่นคง รวม 802 หลังคาเรือน มีจำนวนเด็กราว 1,455 คน รวมไปถึงบางพื้นที่ในชุมชนริมทางรถไฟ เช่น โค้งรถไฟยมราช ชุมชนบ่อนไก่ ชุมชนไซต์ก่อสร้าง ซึ่งครูจิ๋ว – ทองพูล บัวศรี แห่งมูลนิธิสร้างสรรค์เด็กดูแลอยู่

กลยุทธ์นี้เป็นเพียงหนทางหนึ่ง ภายใต้วิกฤตใหญ่ที่กำลังส่งผลสะเทือนเด็กและเยาวชนทั้งประเทศ ยังมีภารกิจอีกมาก ที่ กสศ., ครูนอกระบบ, หน่วยงานด้านการศึกษาที่เกี่ยวข้อง, รวมถึงพันธมิตรในภาคส่วนอื่น ต้องร่วมมือร่วมแรงเพื่อผลักดันให้เกิดความเสมอภาคทางการศึกษาอย่างทั่วหน้าและยั่งยืน