AI มิติใหม่แห่งการเรียนรู้ ค้นหานวัตกรรมด้านบวก พัฒนาครูและผู้เรียน ลดอุปสรรคความเหลื่อมล้ำ

AI มิติใหม่แห่งการเรียนรู้ ค้นหานวัตกรรมด้านบวก พัฒนาครูและผู้เรียน ลดอุปสรรคความเหลื่อมล้ำ

ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและโอกาสในการเข้าถึงการเรียนรู้ เป็นประเด็นที่ประเทศไทยยังคงเผชิญอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของ AI หรือปัญญาประดิษฐ์ ก็เข้ามามีบทบาทในแวดวงการศึกษา และถูกนำมาใช้การเรียนรู้อย่างจริงจัง โจทย์สำคัญก็คือเราจะนำ AI มาใช้ในทางบวกเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา พร้อมๆ กับใช้แก้ปัญหาและอุปสรรคด้านความพร้อมของด้านบุคลากรและผู้เรียนอย่างไร

วันที่ 30 สิงหาคม 2566 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดงานสัมมนาออนไลน์ระดับนานาชาติในหัวข้อ ‘Empowering Teaching and Learning through AI’ หรือ ‘AI มิติใหม่แห่งการเรียนรู้’ โดยในงานสัมมนามีวิทยากรที่มาร่วมพูดคุยในประเด็นเกี่ยวกับการนำ AI มาใช้ในการศึกษาและการพัฒนาทั้งผู้เรียนและผู้สอน

‘AI is Inevitable’ – เมื่อเราหลีกเลี่ยงปัญญาประดิษฐ์ไม่ได้ โจทย์สำคัญจึงอยู่ที่หลักจริยธรรม

ศาสตราจารย์ ดร.อานันธา ดูไรอัปพาห์ ผู้อำนวยการสถาบันการศึกษาเพื่อสันติภาพและการพัฒนาอย่างยั่งยืน มหาตมะ คานธี (Mahatma Gandhi Institute of Education for Peace and Sustainable Development: MGIEP) เปิดประเด็นด้วยการเสนอรายงานความยากจนของธนาคารโลก และชี้ให้เห็นว่าปัญหาสำคัญคือการที่เด็กไม่สามารถอ่านออกเขียนได้ ซึ่งเป็นปัญหาที่ใหญ่กว่าการเข้าไม่ถึงระบบการศึกษาหรือการที่เด็กไม่สามารถเข้าโรงเรียนได้เสียอีก

รายงานดังกล่าวระบุว่า มีเพียง 70 เปอร์เซ็นต์ของประชากรโลกเท่านั้นที่อ่านออกเขียนได้ ส่วนจำนวนเด็กที่ขาดทักษะในการอ่านออกเขียนได้มีอยู่ 30 เปอร์เซ็นต์ ซึ่ง ศ.ดร.อานันธา ย้ำว่า เป็นตัวเลขที่รับไม่ได้ และหากมองมาที่เมืองไทยจะพบว่ามีคนที่ไม่สามารถอ่านออกเขียนได้อยู่ที่ 25-30 เปอร์เซ็นต์ 

“ปัญหาการอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ เป็นอุปสรรคขั้นต้นในการนำ AI มาใช้เป็นเครื่องมือลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและสร้างสังคมที่เท่าเทียม”

ศ.ดร.อานันธา ชี้ถึงความสำคัญเมื่อพูดถึงปัญญาประดิษฐ์ว่า จะต้องเริ่มต้นที่วัตถุประสงค์ของการศึกษาเสมอ เราต้องถามตัวเองว่าวัตถุประสงค์ของการศึกษาแท้จริงแล้วคืออะไร แล้วเราไปถึงเป้าประสงค์ตรงนั้นหรือยัง ที่ผ่านมาเราให้ความสำคัญเรื่องการศึกษาในฐานะที่เป็นการพัฒนาทุนมนุษย์ แต่เกณฑ์การวัดเด็กเข้าโรงเรียนกลับไม่ใช่เกณฑ์ที่ถูกต้อง รวมไปถึงการจัดการเรียนการสอนรูปแบบเดียว (one size fit all) ก็ทำให้เกิดปัญหา 

“เด็กแต่ละคนล้วนมีระดับการเรียนรู้ที่แตกต่างกันออกไป เด็ก 1 ใน 5 จะมีการเรียนรู้ที่แตกต่างกับเด็กทั่วๆ ไป แต่โรงเรียนกลับมีระบบการเรียนรู้หลักแค่แบบเดียว ซึ่งสิ่งนี้ส่งผลให้มีเด็กหลุดออกไปจากระบบการศึกษากลางคัน”

มิหนำซ้ำ ระบบการศึกษาที่มีอยู่ กลับผลิตคนให้เป็นนักล่าที่ต้องแข่งขันกัน แต่สิ่งที่เราอยากเห็นคือ การสู้กับตัวเอง เพิ่มพูนและพัฒนาตัวเองต่างหาก ซึ่งสภาพแวดล้อมที่แข่งขันกันสูงเช่นนี้ ย่อมทำให้คนที่เรียนเก่ง เรียนดี กลายเป็นชนชั้นนำในสังคม ผลที่ตามมาจึงกลายเป็นโลกที่ไม่เป็นมิตรและไม่เป็นธรรมต่อผู้คน ดังนั้น การนำเอา AI มาใช้ในการศึกษาจึงต้องระมัดระวังให้มาก เพราะหากขาดความระมัดระวังอาจกลายเป็นการสร้างความเหลื่อมล้ำให้มากขึ้น

ศ.ดร.อานันธา กล่าวด้วยว่า ปัญญาประดิษฐ์เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ (AI is Inevitable) เด็กๆ เกิดมาพร้อมกับ AI พวกเขาเป็นพลเมืองดิจิทัล ดังนั้น โจทย์สำคัญคือเราจะใช้ปัญญาประดิษฐ์อย่างไรให้เกิดผลบวกมากกว่าผลลบ โดย ศ.ดร.อานันธา เชื่อว่าการกำหนดแบบแผนและหลักจริยธรรมในการนำปัญญาประดิษฐ์มาใช้กับการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญ 

“ปัจจุบันองค์การยูเนสโกได้มีการกำหนดแบบแผนและหลักจริยธรรมในการใช้ AI ไว้แล้ว แต่คำถามคือมันเพียงพอหรือ เพราะการมีหลักและแบบแผนทางจริยธรรมดังกล่าว ไม่ได้การันตีว่าปัญญาประดิษฐ์จะถูกคนนำไปใช้อย่างมีจริยธรรม”

ดังนั้น ในการนำ AI มาใช้ นอกจากจะต้องเข้าใจว่า AI แต่ละประเภทมีไว้เพื่อทำอะไร และจะช่วยเสริมการเรียนการสอนของครูได้อย่างไร เราต้องเข้าใจอัลกอริทึมของ AI แต่ละประเภทด้วย และต้องมีการตรวจสอบอัลกอริทึมเหล่านั้นให้สอดคล้องกับหลักจริยธรรมทางการศึกษาที่วางไว้ ไม่เช่นนั้นอาจเกิดผลในแง่ลบตามมาได้

ศ.ดร.อานันธา ชี้ให้เห็นว่า AI ก็คือระบบการประมวลจากฐานข้อมูล ซึ่งในระบบการศึกษา ยิ่งมีข้อมูลมากก็ยิ่งส่งผลดี เพราะสามารถใช้ลดอคติที่ไม่ได้อิงจากข้อมูลได้ แต่ก็จำเป็นมากที่ต้องมีผู้ควบคุมและตรวจสอบว่าเป็นข้อมูลที่ดีสำหรับทุกคนหรือไม่ ในทางที่ดีควรจะต้องมีกระบวนการที่ทำให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมกับการตรวจสอบข้อมูลได้

ในด้านบทบาทของครูในการทำงานกับ AI ครูไม่จำเป็นต้องเขียนโปรแกรมเป็น แต่จะต้องรู้ว่าควรใช้ AI อย่างไรในการสอน รู้จักที่จะเลือก AI เพื่อตอบสนองผลลัพธ์ที่ต้องการ ให้เด็กได้เรียนรู้ตามที่เด็กต้องการ และจะต้องผลวัดว่าเด็กได้เรียนรู้จาก AI ได้ รวมถึงทำให้เด็กเข้าใจการใช้ AI อย่างเหมาะสม นี่คือบทบาทของครูยุคใหม่ที่จะต้องเข้าใจเรื่องเหล่านี้ แม้จะมีผลลบและสิ่งที่ต้องเฝ้าระวัง แต่ ศ.ดร.อานันธา ก็มีความหวังและมองปัญญาประดิษฐ์ในแง่บวก เช่นเดียวกับที่มีความหวังในแง่บวกต่อมนุษยชาติ

AI คืออนาคต แต่การศึกษาคือต้นน้ำ

ดร.ภัทร์พงศ์ พงศ์ภัทรกานต์ อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้บรรยายในหัวข้อ ‘การเปลี่ยนผันการศึกษา ด้วยปัญญาประดิษฐ์: เรียนรู้อย่างฉลาดและสร้างสรรค์’ โดยนำเสนอว่า ผลงานวิจัยด้าน AI ทั่วโลกปี 2023 มีงานที่เน้นมิติด้านศึกษาถึง 23 เปอร์เซ็นต์ แม้การมาของ AI จะเป็นเรื่องสำคัญและส่งผลต่อการพัฒนาเทคโนโลยี แต่สิ่งสำคัญที่จะส่งผลกระทบมากก็คือการศึกษา เพราะการศึกษาคือต้นน้ำ ดังนั้น เราจึงเห็นการนำ AI มาใช้ในด้านการศึกษาอย่างแพร่หลาย

จากนั้นจึงชวนมองการมาของ AI ว่ามีลักษณะเป็น ‘BANI World’ [B: Brittle (ความเปราะบาง) A: Anxious (ความกังวล) N: Nonlinear (สับสนต่อการคาดเดา) I: Incomprehensible (ยากเกินความเข้าใจ)] ซึ่งหมายถึงยุคสมัยและสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและคาดเดายากเสียกว่ายุคสมัย ‘VUCA World’ [V: Volatility (ความผันผวน) U: Uncertainty (ความไม่แน่นอน) C: Complexity (ความซับซ้อน) และ A: Ambiguity (ความคลุมเครือ)] เสียอีก ซึ่งนี่คือธรรมชาติของ AI ที่เราต้องทำความเข้าใจและอยู่ร่วมกับมันให้ได้

ดร.ภัทร์พงศ์ กล่าวว่า ปัจจุบันหลักสูตรการเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษาหลายมหาวิทยาลัยเริ่มมีการปรับตัว โดยนำ AI เข้ามาใช้หลักๆ ใน 4 ด้าน 1) คณิตศาสตร์และสถิติ 2) วิทยาการคอมพิวเตอร์และวิศวกรรม 3) มนุษยศาสตร์กับศิลปะ และ 4) AI Cluster ซึ่งว่าด้วยการเพิ่มระดับประสิทธิภาพของงานด้านต่างๆ ด้วย AI

การเรียนรู้ในปัจจุบันก็มีโมเดลหลายตัวที่ถูกนำมาใช้ เช่น e-CLIP โดยใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาช่วยพัฒนาการเรียนการสอน เพิ่มสมรรถภาพ ขณะเดียวกันก็ยังมีรูปแบบการเรียนรู้แบบ AI Based Learning ที่ถูกนำมาใช้มากมากขึ้น

ขณะเดียวกัน กลุ่มที่ใช้ AI แชตบอตก็เป็นอีกกลุ่มที่เริ่มได้รับความนิยม เช่น ChatGPT หรือ Alisa ช่วยกระตุ้นให้ผู้เรียนเข้าถึงข้อมูลและองค์ความรู้ อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่ได้มาจาก AI แชตบอต ก็ต้องนำมาพิจารณาความถูกต้องกันอีกครั้ง

ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยนเรศวรได้มีการนำ AI มาฝึกสอนนิสิตครูจากคณะศึกษาศาสตร์ เพื่อเตรียมตัวเป็นครูแห่งอนาคตที่พร้อมสำหรับโลกที่ปัญญาประดิษฐ์เข้ามามีบทบาทในการเรียนรู้มากขึ้น นอกจากจะต้องเข้าใจกรอบสมรรถนะของ AI แล้ว ครูผู้สอนจะต้องเข้าใจหลักจริยธรรมในการใช้ AI ด้วย

ส่งเสริมให้เด็กเรียนรู้ด้วยตัวเองและเป็นเจ้านาย AI

รองศาสตราจารย์ ดร.ธันยวิช วิเชียรพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนานวัตกรรม มหาวิทยาลัยศรีปทุม วิทยาเขตชลบุรี บรรยายในหัวข้อ ‘เตรียมเด็กไทยอย่างไร ให้เป็นเจ้านาย AI’ โดยกล่าวถึง AI ใน 2 มิติ คือสำหรับสำหรับครูและผู้เรียน

สำหรับครู การนำ AI มาใช้จะช่วยลดภาระของครูได้ เช่น มีการใช้แอป Copilot มาช่วยในการเตรียมการสอนของครู และมีแอป SlideAI ที่ช่วยครูทำสไลด์ประกอบการสอน 

ขณะเดียวกัน การนำ AI มาใช้กับผู้เรียนก็จะช่วยให้พวกเขาสามารถเรียนรู้ด้วยตัวเองได้ เช่น iPhylum แอปพลิเคชันไทยสำหรับจัดทำตารางไฟลัม ให้เด็กสามารถค้นเองได้ หรือ Soratic เป็นแอปที่ช่วยเด็กๆ แก้ไขปัญหา แก้โจทย์คณิตศาสตร์ โดยมีการส่งเสริมให้แก้ปัญหาได้ในที่สุด และสำหรับภาษา ก็มี memrise และ Duolingo ซึ่งช่วยผู้เรียนในการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ

รศ.ดร. ธันยวิช ได้ยกตัวกรณีศึกษาการใช้ AI กับ IoT ในวิชาพลเมือง ที่เด็กๆ ได้ทำเรือดำน้ำจิ๋ว มีเซนเซอร์เพื่อตรวจจับว่าน้ำเสียที่ถูกปล่อยออกมาในชุมชนมาจากไหน ซึ่งเด็กก็มีการเขียนโค้ดแบบง่ายๆ และลงมือทำเรือดำน้ำด้วยตัวเอง แม้ผลลัพธ์จะไม่สมบูรณ์ แต่เด็กๆ ก็ได้เรียนรู้จากการลงมือทำและเรียนรู้จากข้อผิดพลาด

สิ่งสำคัญจากกรณีเรือดำน้ำจิ๋ว คือการสร้างโจทย์ที่เชื่อมโยงกับชีวิตประจำวันของตนเอง เช่น ปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชน เป็นการเรียนโดยหาองค์ความรู้และเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาที่มีอยู่ ทำให้เด็กได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง ขณะเดียวกัน การลงมือแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นและนำ AI เข้ามาเสริม ก็จะทำให้เด็กเป็นเจ้านายของ AI และใช้ AI ได้อย่างเหมาะสม ไม่เกิดผลในแง่ลบด้วยเช่นกัน