“ฝึกพวกเขาจากข้างใน เพื่อให้เขาไปพัฒนาข้างนอก”
อ.น้อย นิตยา เรืองมาก ครูพี่เลี้ยง ‘ครูรัก(ษ์)ถิ่น’ แห่งมรภ.หมู่บ้านจอมบึง กับการสร้างครูที่เป็นทุกอย่างของโรงเรียน

“ฝึกพวกเขาจากข้างใน เพื่อให้เขาไปพัฒนาข้างนอก”

กว่าจะเป็นครู ย่อมต้องผ่านครู…

กำลังสำคัญของโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ที่นับเป็นงานวิจัยทุนมนุษย์ที่ส่งผลต่อยอดในระบบการศึกษาไทย ไม่พ้นกลุ่มครูและอาจารย์ในสถาบันการผลิตครู ที่ต้องเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่ต้นน้ำในการค้นหาเด็กๆ ในพื้นที่ห่างไกลและขาดโอกาสเพื่อสมัครเข้าโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น กลางน้ำในส่วนของการสร้างและพัฒนาหลักสูตรการผลิตครูเพื่อให้สอดคล้องกับบริบทโรงเรียนปลายทาง และปลายน้ำคือการติดตามผลการดำเนินงานหลังจากนักศึกษาครูรัก(ษ์)ถิ่นได้ทำงานเป็นครูอย่างเต็มตัวที่จะมีการประเมินผลนานถึง 6 ปี 

ความยากไม่ใช่แค่การผลิตบัณฑิตคณะครุศาสตร์ แต่คือการสร้างครูของนักเรียน และครูนักพัฒนาที่เป็นส่วนหนึ่งของชุมชน สถาบันการผลิตหรือมหาวิทยาลัยจึงต้องสร้างหลักสูตรการศึกษาเพื่อตอบรับบริบทโรงเรียนปลายทางที่เรียกว่า Enrichment Program รวมถึงให้วางบทบาท ‘ครูพี่เลี้ยง’ เพื่อเป็นคนประสานงานให้ นักศึกษาทุนครูรัก(ษ์)ถิ่น กลายเป็นครูที่มีคุณภาพและอยู่ได้จริงในอนาคต 

“ครู ใครๆ ก็เป็นได้ แต่การที่เราจะเป็นครูต้นแบบมันยาก เพราะฉะนั้นเราต้องบ่มเพาะกัน”

หากครูเปรียบเสมือนผู้แจวเรือจ้าง แต่สำหรับ อาจารย์น้อย นิตยา เรืองมาก รองคณบดีคณะครุศาสตร์ ครูพี่เลี้ยง ‘ครูรัก(ษ์)ถิ่น’ แห่งมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง (มรภ.หมู่บ้านจอมบึง) นอกจากจะเป็นผู้แจวเรือจ้างแล้ว ยังต้องเป็นผู้สร้างเรือแจวที่ทำงานแบบไม่หยุดพัก จากเดิมที่ อ.น้อยเป็นเพียงแค่อาจารย์ที่ต้องรอนักศึกษาเดินเข้ามาสมัครเรียน พอมาเป็นกำลังสำคัญของครูรัก(ษ์)ถิ่นก็ต้องปรับบทบาทเป็นหนึ่งในทีมค้นหาเด็ก ดูแลชีวิตความเป็นอยู่  ไปจนถึงกระบวนการหลังเรียนจบ ที่นับเป็นการทำงานระยะยาวกว่า 10 ปีต่อครูรัก(ษ์)ถิ่น 1 รุ่น 

“เพราะการสร้างครูหนึ่งคนไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะการสร้างครูที่เป็นมากกว่าครู” อ.น้อย กล่าวไว้อย่างนั้น 

อาจารย์น้อย นิตยา เรืองมาก รองคณบดีคณะครุศาสตร์
ครูพี่เลี้ยง ‘ครูรัก(ษ์)ถิ่น’ มรภ.หมู่บ้านจอมบึง

หน้าที่ของครูพี่เลี้ยงครูรัก(ษ์)ถิ่นต้องทำอะไรบ้าง

หลักๆ จะดู 3 ส่วน คือการดูแลในเรื่องกิจกรรมพัฒนานักศึกษาหรือกิจกรรมเสริมหลักสูตร ที่เรียกว่า Enrichment Program ส่วนสองดูแลการฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูของนักศึกษาในแต่ละปีที่ต้องลงไปฝึกสอนที่โรงเรียนปลายทาง เช่นต้องลงไปในลักษณะไหน แล้วหลังจากนั้นเราก็มีหน้าที่ไปคุยกับผู้อำนวยการและคุณครูพี่เลี้ยงของโรงเรียนปลายทางเพื่อทําความเข้าใจด้วยกัน ลําดับที่สามมีหน้าที่ดูแลความเป็นอยู่ของนักศึกษาในมหาวิทยาลัย อย่างเรื่องหอพัก พฤติกรรม และกฎระเบียบของการอยู่หอพัก

หรือแม้แต่ช่วงการฝึกสอนเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน ทางคณะอาจารย์ก็ต้องลงพื้นที่ไปเยี่ยมนักศึกษาระหว่างฝึกสอนด้วย ไม่ใช่แค่เยี่ยมโรงเรียนนะต้องเยี่ยมไปถึงบ้าน ดูความเป็นอยู่พ่อแม่ปู่ย่าตายายอยู่อย่างไร และไม่ลืมฝากฝังผู้นำชุมชน เพราะนักศึกษาบางคนไปฝึกสอนโรงเรียนคนละตำบล คนละอำเภอจากบ้านเขา ชุมชนอาจจะไม่รู้จักนักศึกษา แล้วนักศึกษาอาจจะไม่ได้มีการร่วมพัฒนาหรือร่วมกิจกรรมกับชุมชนมากเท่าที่ควร 

ทางคณะอาจารย์นี่แหละเป็นตัวเปิดทางไปคุยกับชุมชน สร้างสัมพันธภาพที่ดีระหว่างนักศึกษากับชุมชนเพราะเราเชื่อมั่นว่าถ้านักศึกษาลงไปพัฒนาชุมชนตามลำพัง น้อยมากที่จะเกิดความไว้วางใจและความน่าเชื่อถือเพราะชุมชนไม่รู้จักนักศึกษา เราต้องทำให้ชุมชน โรงเรียนและตัวนักศึกษาทํางานร่วมกันได้ทั้งสามส่วน

ตามไปหาถึงบ้าน ทำไมครูรัก(ษ์)ถิ่นถึงต้องมีระบบค้นหาเด็กแล้วให้อาจารย์มหาวิทยาลัยลงพื้นที่ไปด้วย

การค้นหาคัดกรองเด็กเป็นกระบวนการแรกของครูรัก(ษ์)ถิ่น โดยจะเริ่มจากการวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐาน เช่น แต่ละรุ่นเราได้นักเรียนกี่จังหวัด แล้วในแต่ละจังหวัดมีตําบลอะไรบ้าง พอมีชุดข้อมูลคร่าวๆ ก็เอามาตั้งขอบเขต แล้วก็ส่งประชาสัมพันธ์ออนไลน์ไปให้โรงเรียนก่อน 

หลังจากนั้นเราจะใช้คณาจารย์ในคณะทั้งหมดลงไปค้นหาคัดเลือกคัดกรองเด็กในพื้นที่ แบ่งอาจารย์ออกไปเป็นสายๆ ตัวเราเองก็จะต้องลงพื้นที่ด้วยทุกครั้ง ลงทุกสาย วันที่คณะอาจารย์ลงพื้นที่โรงเรียนครั้งแรก ก็จะให้นักเรียนม.6 ที่สนใจมาส่งใบสมัครกับพวกเราที่โรงเรียนปลายทาง เพื่อให้คุณครูโรงเรียนปลายทางได้เห็นตัวผู้สมัคร มีการพูดคุยกันคร่าวๆ ที่ไม่ใช่เป็นการสอบสัมภาษณ์ในรอบแรก แต่เป็นการพูดคุยเพื่อดูว่าแต่ละคนที่สมัครมีบริบทยังไง ส่วนนี้ฝั่งเราก็จะเก็บข้อมูลตรงนี้เพื่อออกแบบหลักสูตรด้วย

หลังจากนั้นเราก็จะต้องลงไปสํารวจบ้านของนักเรียน เพื่อดูว่าเป็นไปตามคุณสมบัติที่ครูรัก(ษ์)ถิ่นกำหนดไหม ส่วนตรงนี้เราก็จะลงไปดูซ้ำทั้ง 2 รอบโดยคณะอาจารย์ชุดเดียวกัน เพราะเราดูแค่เอกสารอย่างเดียวไม่ได้ เมื่อดูบ้านเสร็จแล้ว เราก็ต้องคุยกับชุมชน คุยกับละแวกใกล้ๆ ว่าใช่บ้านนักเรียนคนนี้จริงเปล่า สถานะเป็นยังไง ตลอดจนพฤติกรรม ครอบครัวเขา 

เราต้องมองรอบด้าน เพราะว่าเราต้องได้ข้อมูลตัวนี้มาเป็นตัวพิจารณา และที่สําคัญคือข้อมูลต่างๆ ที่เราลงพื้นที่เราต้องเอามาออกแบบหลักสูตร และกิจกรรมเสริมหลักสูตรเพื่อให้ตอบโจทย์กับบริบทโรงเรียนปลายทางที่นักศึกษาต้องไปเป็นครู 

ข้อดีของกระบวนการค้นหาคัดกรองเด็กแบบนี้คืออะไร

สิ่งสําคัญคือเป็นการให้โอกาสคนที่ไม่มีโอกาสเรียนต่อ ซึ่งในบางครอบครัว ตอนที่เราลงพื้นที่เยี่ยมบ้านของนักเรียนสมัครทุน ยังเคยถามผู้ปกครองเลยว่าถ้าสมมตินักศึกษาไม่ได้ทุนนี้ ผู้ปกครองจะทํายังไง เขาก็ตอบว่าไม่ให้เรียนหรอกเพราะว่าไม่มีตังค์ ส่งแค่จบม.6 ก็ไม่มีเงินแล้ว ซึ่งบางครั้งเวลาเขาพูดออกมา ผู้ปกครองก็น้ําตาไหล ยิ่งนักศึกษายืนฟังอยู่ก็ร้องไห้ตามเพราะเขามองว่าจะหมดโอกาสเรียนแล้ว 

นั่นคือสิ่งที่เราคิดว่ามันเป็นผลดีที่ทําให้เราเห็นว่า ณ ปัจจุบันนี้ยังมีเด็กกลุ่มนี้ที่ควรเข้าถึงโอกาส ถ้าเราหาเด็กปกติเราจะไม่ได้ลงพื้นที่แบบนี้และเราจะไม่เจอเด็กกลุ่มนี้เลย 

โดยเฉพาะปัญหาหลักๆ ที่เจอกับเด็กในพื้นที่กาญจนบุรี และพื้นที่หมู่บ้านจอมบึงคือความไม่พร้อมของครอบครัว เด็กกว่า 80% อยู่กับปู่ย่าตายาย บางครอบครัวเป็นพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว ปัญหารองลงมาคือเด็กบางคนไม่ได้มีบ้านและที่ดินเป็นของตัวเอง ต้องอยู่กับนายจ้าง ถ้าพ่อแม่ทำงานไม่ไหวก็ลำบาก ต้องหาที่อยู่ ย้ายถิ่นฐาน

ทำไมครูรัก(ษ์)ถิ่น ต้องมีครูพี่เลี้ยง

หลักสูตรของครูรักษ์ถิ่น จะมีครูพี่เลี้ยงแบ่งเป็น  2 ส่วน ส่วนหนึ่งเป็นของมหาวิทยาลัย ที่คอยดูแลบ่มเพาะพัฒนาในช่วงระยะเวลา 4 ปี 

แต่ในช่วงระหว่างแต่ละปีที่ต้องไปอยู่โรงเรียนปลายทางก็จะมีครูพี่เลี้ยงเหมือนกัน เราเรียกครูพี่เลี้ยงที่โรงเรียนปลายทางว่าเป็นครูพี่เลี้ยงเฉพาะศาสตร์ เช่น นักศึกษาปฐมวัยก็จะมีครูพี่เลี้ยงปฐมวัยในการช่วยพัฒนาเขา คอยให้คําแนะนําว่าในส่วนของหลักสูตรปฐมวัย เวลานักศึกษาเขียนแผนก่อนที่จะไปสอน นักศึกษาก็จะต้องออกแบบแผนการจัดการเรียนรู้หรือแผนการฝึกประสบการณ์ให้คุณครูดูก่อนว่าสามารถไปใช้สอนและพัฒนาได้ไหมถึงจะลงไปพัฒนาต่อ

ความเข้มข้นที่นักศึกษาครูรัก(ษ์)ถิ่นต้องเจอมีอะไรบ้าง

หลักสูตรที่ครูรัก(ษ์)ถิ่นเรียนอยู่ เราเรียกว่าเป็นหลักสูตรของมหาวิทยาลัยที่สาขาได้มีการปรับปรุง ซึ่งหลักสูตรตัวแรกเป็นหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิตที่นักศึกษาคณะนี้จะเรียนเหมือนกันทั้งหมด 

แต่ส่วนที่สองที่เพิ่มเติมมาสําหรับนักศึกษาโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น เป็นหลักสูตรเสริมการเรียนรู้ ที่เรียกว่า Enrichment Program ซึ่งหลักสูตรนี้เราได้มาจากการลงพื้นที่ต่างๆ และศึกษาบริบทโรงเรียน ชุมชน เช่น จังหวัดนี้ ตําบลนี้ อําเภอนี้ มีพืชเศรษฐกิจอะไร ทําอาชีพอะไร มีอะไรเป็น​ OTOP  มีจุดเด่นอย่างไร เมื่อได้สิ่งนี้แล้วก็เอามากรองข้อมูลเป็นชุดความรู้ แล้วส่งต่อในการทำหลักสูตรเสริมการเรียนรู้

ส่วนที่สามก็คือเวลานักศึกษาลงไปฝึกสอนในโรงเรียน ก็ต้องใช้หลักสูตรตามสถานศึกษานั้นๆ ซึ่งก็มีอยู่หลายแบบเหมือนกัน บางทีถ้าโรงเรียนไม่มีหลักสูตรเป็นของสถานศึกษาเองก็ยึดหลักสูตรแกนกลาง แต่ถ้าโรงเรียนมีหลักสูตรสถานศึกษาเองก็ใช้ของตัวเอง 

Enrichment Program ฉบับมรภ.หมู่บ้านจอมบึงเป็นอย่างไร

หลักสูตรที่มรภ.หมู่บ้านจอมบึง เน้นเรื่องทักษะอาชีพ เรามีบ้านไร่รัก(ษ์)ถิ่น แนวคิดเดิมมาจากอาจารย์ที่เกษียณไปแล้วเนื่องจากอาจารย์มีประสบการณ์ในการพัฒนาครูชายแดน ที่เป็นการเรียนรู้จากครูตชด.ที่ไม่มีวุฒิครู เราก็ใช้ข้อมูลตรงนี้มาปรับใช้และออกแบบหลักสูตร Enrichment Program ของเรา 

ที่นี่สอนเพิ่มด้านการเกษตรและพวกอาชีพต่างๆ เช่น ช่างไม้ ช่างไฟ ช่างเหล็ก แนวคิดมาจากการลงพื้นที่ไปดูโรงเรียนปลายทางแต่ละที่พบว่า หลายๆ โรงเรียนไม่มีความพร้อมด้านบุคลากร เพราะฉะนั้นในฐานะที่ครูจะลงไปบรรจุหรืออยู่ที่โรงเรียนนั้นๆ ถ้าสมมติโรงเรียนเกิดพัดลมเสีย สวิตช์ไฟเสีย หลอดไฟเสีย นักศึกษาต้องทําเหล่านี้ได้ หรือแม้แต่เกิดเก้าอี้พัง ขาหัก นักศึกษาต้องซ่อมเป็น 

แถวจังหวัดกาญจนบุรีส่วนใหญ่ไฟฟ้าเข้าไม่ถึง สัญญาณอินเทอร์เน็ตไม่มี เขาจะต้องใช้เครื่องสํารองไฟ ใช้โซล่าเซลล์ เพราะฉะนั้นนักศึกษาก็ต้องทําสิ่งต่างๆ เหล่านี้ได้ และอีกอย่างหนึ่งก็คือเขาจะต้องช่วยเหลือชุมชนและให้ข้อมูลให้องค์ความรู้กับชุมชนในการพัฒนาและอยู่ให้ได้กับสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ด้วย

แต่ละวันครูรัก(ษ์)ถิ่นต้องทำอะไรบ้างในมหาวิทยาลัย

ก่อนหน้านี้เราจะได้ยินกันว่าช่วงชีวิตมหาวิทยาลัยจะสบายที่สุด ฉันจะนอนตอนไหน ตื่นตอนไหน หรือทําอะไรก็ได้ แต่เด็กครูรัก(ษ์)ถิ่นจะต้องจําลองสถานการณ์เหมือนตัวเองอยู่ในโรงเรียนให้ได้ เริ่มตั้งแต่ตื่นตี 5 ครึ่ง แล้ว ช่วง 6 โมงเช้าจะมีนัดกันในสถานที่ต่างกันออกไปแต่ละวัน เช่น ใต้ถุนตึก สนามกีฬาเพื่อออกกำลังกายถึง 7 โมง หลังจากนั้นนักศึกษาก็จะกลับไปที่หอพัก เพื่อไปเตรียมตัวทําภารกิจประจําวัน และเข้าเรียนปกติตั้งแต่เวลา 8.30 – 16.30 น.

เรียนจบแต่ละวัน เด็กครูรัก(ษ์)ถิ่น ได้พักแป๊บหนึ่งแล้วหลังจากนั้นจะต้องไปทำกิจกรรมที่บ้านไร่รัก(ษ์)ถิ่น การทำงานที่นี่ก็จะแย่งตามชั้นปีและภาระงานต่างกันไป เช่น ปี 1 ทำหน้าที่ยกร่องปลูกผัก ปี 2 ก็จะรับผิดชอบโรงเรือนปลูกผักออร์แกนิค หรือปี 4 จะรับผิดชอบทำอาหารเย็น พอถึงเวลา 1 ทุ่มจะกินข้าวร่วมกันแล้วทยอยกลับเข้าหอพัก 2 ทุ่มก็จะมีการสวดมนต์ไหว้พระ พอสวดมนต์ไหว้พระเสร็จก็มีการประชุม หลัง 4 ทุ่มเป็นช่วงเวรประจําวันจะต้องเดินตรวจตามห้อง คือเคาะประตูห้องแล้วก็ตรวจพร้อมถ่ายภาพส่งมาให้อาจารย์ประจําหอพักดูว่าห้องหมายเลขนี้อยู่ครบไหมหลังจากนั้นก็เข้านอน 

กิจกรรมอื่นๆ ก็แทรกไประหว่างชั้นปีแตกต่างกันเช่นนักศึกษาปี 4 อาจจะต้องอยู่เวรรับเด็กหน้าโรงเรียน ซึ่งเราเรียกว่าโรงเรียนอนุบาลสาธิตทานตะวันที่จะสอนเด็กอายุสองขวบจนถึงอนุบาลสาม วิธีการคือแต่งชุดนักศึกษามายืนที่หน้าโรงเรียนเพื่อรับน้องๆ อนุบาลที่ผู้ปกครองมาส่ง 

การดูแลเด็กทุนครูรัก(ษ์)ถิ่นครอบคลุมไปจนถึงช่วงปิดเทอม เราจะมีปฏิทินให้กลับบ้านว่าเทอมหนึ่งให้กลับบ้านกี่ครั้ง ผู้ปกครองมารับจะต้องมีการเซ็น นักศึกษาอาจจะต้องมีการถ่ายภาพหรือเขียนรายงานว่ากลับถึงบ้านแล้ว อยู่กับผู้ปกครอง หรือกลับไปถึงบ้านช่วยเหลือผู้ปกครองอย่างไรบ้าง

ดูเข้มข้นและเข้มงวด การทำแบบนี้ส่งผลอะไรกับการเป็นครูในอนาคต

หน้าที่ของเราคือดูแลตั้งแต่นักศึกษาเข้ามาในมหาวิทยาลัย ดูแลการเรียน ดูแลฐานะทางการเงิน พฤติกรรม ชู้สาว การมีปัญหาครอบครัว เจ็บป่วยไม่สบายคือต้องดูครอบคลุมทั้งหมดเลย ซึ่งเด็กๆ โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นก็จะมีการดูแลพิเศษเพิ่มเข้าไปอีก ยกตัวอย่าง การอยู่หอพักเขาจะต้องเข้าหอตรงเวลาและต้องทำกิจกรรมต่างๆ ตามกำหนด จะมีอาจารย์หอพักเรียกประชุม พูดคุย สวดมนต์ ไหว้พระ มีการร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี ปลูกฝังเขาให้เป็นครูที่ดี 

สิ่งต่างๆ เหล่านี้เราแฝงเพื่อต้องการให้นักศึกษาได้รู้สึกในเรื่องของให้เห็นแก่นแท้ของความเป็นครูว่าไม่ใช่แค่เป็นข้าราชการหรือมีเงินเดือนประจํา แต่คําว่าครูเราต้องรับผิดชอบมากกว่าสิ่งที่เป็นอยู่

ในปัจจุบันมีครูรัก(ษ์)ถิ่นถึง 4 รุ่น ในหลักสูตรการสอนมีความเปลี่ยนแปลงมากน้อยแค่ไหน

ครูรัก(ษ์)ถิ่นรุ่น 1 ดูหนักทั้งการเรียนและกิจกรรม ซึ่งมันเหมือนเป็นการลองผิดลองถูก แต่ไม่ได้หมายความว่าสิ่งที่ทำอยู่ผิดนะแต่มันหนักหน่วงกว่ารุ่นหลังๆ ที่มีการปรับเปลี่ยนไปบ้าง นักศึกษาบางคนบอกว่า ‘ทำไมเรียนหนักจัง’ ในมุมของครูผู้ดูแลคือทุกคนใหม่กันทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นตัวคณะอาจารย์ในสถาบันผลิต นักศึกษา และ กสศ. เองก็ตาม

รุ่นหลังมีการปรับเปลี่ยนให้เข้ารูปเข้ารอยขึ้น เรื่องแรกคือการปรับกิจกรรมในหลักสูตร ด้วยความที่เรามีเวทีเครือข่ายพูดคุยกับอาจารย์ต่างมหาวิทยาลัย ต่างสถาบันมาแลกเปลี่ยนกัน บางกิจกรรมต้องบอกเลยว่าเห็นที่อื่นทําแล้วมันดี เราเอามาประยุกต์ใช้กับมหาวิทยาลัยเราบ้าง เราจะไม่ได้คิดว่าสถาบันฉัน สถาบันเธอ แต่เราคิดว่าการผลิตนักศึกษาโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น คือมันหัวใจเดียวกันหมด เราแลกเปลี่ยนกันได้เพื่อต้องการผลิตครูหนึ่งคนให้เป็นครูต้นแบบในชุมชน

ปรับที่มหาวิทยาลัยแล้ว ทางโรงเรียนปลายทางมีการจัดการดูแลอย่างไรบ้าง

กระบวนการปรับเปลี่ยนหลักสูตรให้เข้ากับบริบทพื้นที่โรงเรียนเกิดขึ้นตลอดเวลา อาจารย์ที่มหาวิทยาลัยจะคุยกับผู้บริการ คุยกับชุมชน คุยกับครูพี่เลี้ยงโรงเรียนปลายทางถึงการฝึกสอนของนักศึกษา โดยเราจะคุยไม่ต่ำกว่าเทอมละ 2 ครั้ง จริงๆ อาจจะถี่กว่านั้นแบบไม่เป็นทางการ เช่น ช่วงสองสัปดาห์แรกที่นักศึกษาไปฝึกสอน มหาวิทยาลัยก็มีการเรียกประชุมออนไลน์กับครูในโรงเรียน ทั้ง ผอ. ว่าเกิดปัญหาอะไรขึ้นไหม ปรับตัวได้ไหม แล้วก็พอคุยเสร็จเราก็ลงปฏิทินให้กับ ผอ. เลยว่าครั้งต่อไปเราจะเจอกันวันไหน หลังจากนักศึกษาฝึกสอนจบเราก็จะมีการถอดบทเรียนเป็นการสะท้อนคิดกันที่นักศึกษาไปฝึกสอนที่โรงเรียน โรงเรียนได้ประโยชน์อะไรบ้าง นักศึกษาต้องมีส่วนไหนกลับมาปรับปรุงบ้าง

ครูรัก(ษ์)ถิ่น ก่อนจบต้องมีนวัตกรรมหนึ่งชิ้น นวัตกรรมนั้นคืออะไร

พอเราพูดถึงคําว่านวัตกรรมหลายๆ คน หลายส่วนมีความเป็นกังวลว่าฉันต้องไปสร้างอะไรที่มันใหญ่โตมันใช้เทคโนโลยีมันต้องใช้เครื่องจักร แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ มันคือนวัตกรรมทางด้านการศึกษา เช่น นักศึกษา ไปสอนหนังสือที่โรงเรียนแล้วรับรู้ว่าเด็กคนนี้ทําไมเรียนรู้ช้า ไม่เกิดการพัฒนาหรือบางคนไม่อยากมาโรงเรียน 

เราอาจจะสร้างสื่อนวัตกรรมที่มันดึงดูดให้เด็กอยากมาไหม สมมติปฐมวัยเรามีสื่อเป็นกระดาษครูตัดแปะหรือฉีกปะ เด็กบางคนเขาจะไม่ชอบตรงนี้ เขาจะดูในไอแพด เขาจะดูการ์ตูนแอนิเมชั่นอะไรต่างๆ แต่ถ้าเราวาดตัวการ์ตูนแล้วเราใส่เสียงเราไปเป็นเสียงเด็ก เสียงสัตว์ เสียงนู่นเสียงนี่ แล้วเปิดให้เด็กดู นั่นคือเกิดนวัตกรรมแล้วซึ่งจริงๆ แนวคิดตัวนี้มันเป็นสิ่งที่พัฒนาได้

เรียนจบแล้ว ครูพี่เลี้ยงยังจำเป็นอยู่อีกหรือ

เมื่อนักศึกษาเรียนจบ แต่การทำงานโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นยังไม่จบ ด้วยเงื่อนไขว่านักศึกษาทุกคนต้องไปเป็นครูอย่างน้อย  6 ปีห้ามย้ายไปไหน ทางอาจารย์มหาวิทยาลัยก็ต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในการทําแผนพัฒนานักศึกษาว่าเมื่อออกไปเป็นครูเต็มตัวแล้วต้องปรับปรุงตรงไหนยังไงบ้าง

ณ ปัจจุบันนี้ขอบเขตการทำงานแบ่งเป็นหน่วยแรกคือทีม กสศ. หน่วยที่สองคือทีมสถาบันการผลิต

หน่วยที่ 3 ก็จะเป็นหน่วยของการหนุนเสริมและพัฒนา หน่วยที่ 4 ก็คือ ผอ.เขตการศึกษา และหน่วยที่ 5 คือ ผอ.โรงเรียน 

เราทําแผนคร่าวๆ โดยแบ่งช่วงออกเป็น 2 ปีและ 4 ปี ในช่วงสองปีแรกเราจะพัฒนานักศึกษาเรื่องการพัฒนาตัวเองที่กำลังอยู่ในฐานะของครูผู้ช่วย เพื่อไม่ให้นักศึกษาหลุดจากครูผู้ช่วยได้ หลังจากนักศึกษาผ่านครูผู้ช่วยไปได้แล้วเราก็จะต้องมาคิดต่อว่าจะมีการพัฒนาอะไรเพิ่มเติมอีก แต่จะไม่ใช่แค่การพัฒนาตัวคนอย่างเดียวแล้ว เราจะต้องพัฒนาร่วมกันทุกๆ ส่วนคือพัฒนาตัวนักศึกษา พัฒนาตัวโรงเรียน พัฒนาตัวครูประจําการ และสิ่งที่ลืมไม่ได้คือนักเรียนกับชุมชนที่เราจะต้องพัฒนาและควบคู่ไปด้วยกันอันนั้นคือในส่วนของแผนหกปีหลัง

ครูรัก(ษ์)ถิ่น ในมุมคนทำงาน เจอผลตอบรับยังไงมาบ้าง

จากประสบการณ์การทำงานมาโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นมาทุกรุ่น เวลาเราลงไปที่ชุมชนลงไปที่โรงเรียนปลายทาง เราจะได้รับการตอบรับจากโรงเรียนเป็นอย่างดี จากทั้งผู้อำนวยการที่เขาจะบอกตลอดว่าโครงการนี้เป็นโครงการที่ดี ตอบโจทย์ชุมชน ตอบโจทย์โรงเรียน เนื่องจากว่าบางครั้งโรงเรียนขนาดเล็กไปขอตําแหน่งครูกับเขตพื้นที่บางทีไม่เคยได้เลย เพราะยอดนักเรียนไม่ถึงบ้าง หรือด้วยอะไรต่างๆ ที่มันไม่เหมาะที่จะให้ครูลงมา

ด้านชุมชน ที่ผ่านมาได้พูดคุยกับชุมชนกรรมการสถานศึกษา บางชุมชนพูดเลยว่าเป็นนิมิตหมายที่ดี เป็นครั้งแรกเลยที่เราได้เด็กในชุมชนของตัวเองมาบรรจุเป็นครูที่นี่ เพราะโรงเรียนแถวนี้เป็นโรงเรียนที่พักครู ซึ่งคําว่าพักครูตอนแรกก็ไม่เข้าใจ ก็ถามกลับไปว่าพักครูคืออะไร เขาก็บอกว่าไม่เคยมีครูในตําบลในอําเภอนี้มาบรรจุที่โรงเรียนนี้เลย มีแต่คุณครูที่มาจากต่างจังหวัดมาบรรจุ พอถึงเวลาที่เขาสามารถที่จะย้ายได้ เขาก็ขอย้ายไป แล้วทําให้การเรียนของเด็กไม่ต่อเนื่อง แต่พอได้โครงการนี้มาก็เหมือนเป็นการสร้างแรงจูงใจให้เด็กในชุมชนนี้อยากเรียนหนังสือ เหมือนกับว่าเห็นรุ่นพี่หรือเห็นคนที่รู้จักอยู่ใกล้ๆ บ้าน เขาเรียนหนังสือ เขาได้ทุน เขาได้เป็นครู เขากลับมาสอนหนังสือที่บ้าน