“โรงเรียนคืออะไร?”
คำถามนี้อาจจะฟังดูมีคำตอบตายตัวว่าเป็นสถานที่ที่มีอาคารสำหรับเรียนหนังสือ มีกระดานเอาไว้ให้ครูเขียนตัวอักษร มีสนามหญ้าให้เตะบอล และมีเสาธงให้ยืนเข้าแถวเคารพธงชาติในตอนเช้า
แต่สำหรับเด็กที่ ‘บ้านกองผักปิ้ง’ หมู่บ้านเล็กๆ ที่ตั้งอยู่ในตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ โรงเรียนไม่จำเป็นต้องมีหน้าตาแบบนั้นเสมอไป
“โรงเรียนคือที่ที่เราได้เรียนรู้ในสิ่งที่เรายังไม่รู้”
นี่คือคำตอบจาก ป่าดิ เด็กชายวัย 15 ปี อดีตกัปตันทีมฟุตบอลของโรงเรียนในตัวเมืองเชียงดาว

ป่าดิเป็นเด็กชาติพันธุ์ลาหู่ที่ไร้สัญชาติไทย ไม่มีบัตรประชาชน และก่อนได้มารู้จักกับไมตรี ป่าดิเคยถูกส่งไปอยู่ฝั่งพม่ากับญาติเพื่อทำงานหาเงิน เขาเคยเข้าเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ที่โรงเรียนในเมืองนะ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากหมู่บ้าน แต่พอจบภาคเรียนกลับต้องซ้ำชั้น แม่ของป่าดิจึงต้องพาเขาย้ายไปเรียนที่โรงเรียนวัดจันทร์ จังหวัดเชียงใหม่แทน
“ตอนนั้นผมเรียนถึงแค่ ป.2 ก็โดนไล่ออก เพราะผมเกเร ผมดมกาว ตีกับคนอื่นไปทั่ว”
หมู่บ้านกองผักปิ้ง เป็นพื้นที่สีแดงที่กรมการปกครองมองว่ายาเสพติดชุกชุม เนื่องจากมีพื้นที่อยู่ติดชายแดน ยาเสพติดจึงเดินทางเข้า-ออกได้ง่าย และต่อให้ไม่ออกไปไหน ยาเสพติดก็พร้อมมาเคาะประตูหน้าบ้านเสมอ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกของที่นี่หากป่าดิจะรู้จักกับการดมสารเสพติดในกาวตั้งแต่อายุยังน้อย
ป่าดิต้องไปเริ่มต้นใหม่ที่โรงเรียนในตัวเมืองเชียงดาว ทำให้เขาได้เป็นส่วนหนึ่งของทีมฟุตบอลประจำโรงเรียน ได้เตะบอลกับเพื่อนๆ ภายใต้เสื้อหมายเลข 11 และครอบครองตำแหน่งกัปตันทีม แม้จะมีความสุขกับการเป็นส่วนหนึ่งของทีม แต่ปัญหาเรื่องการเรียนและการเงินของครอบครัว ทำให้ป่าดิต้องลาออก แม้ว่ายังไม่จบชั้นประถมก็ตาม
“ตอนเรียนอยู่ผมเป็นนักฟุตบอลนะพี่ ใส่เสื้อเบอร์ 11 ผมเป็นกัปตันทีม ตอนที่ยังไม่ออกก็ไปแข่งเรื่อยๆ”
ชีวิตประจำวันของป่าดิตั้งแต่ออกจากโรงเรียนจึงเป็นการตื่นเพื่อออกไปทำงาน บ้างก็เป็นการตัดกระเทียม บ้างก็เป็นการเก็บข้าวโพด ขึ้นอยู่กับว่านายจ้างจะให้ทำอะไร ซึ่งการที่ป่าดิได้รู้จักกับ ‘ไมตรี จำเริญสุขสกุล-ยุพิน ซาจ๊ะ’ ทำให้ป่าดิมีพื้นที่ที่จะได้เป็นเด็กอีกครั้ง เพราะเมื่อไหร่ที่ว่าง เขาก็จะมานั่งเล่นที่บ้านของไมตรีและยุพินเป็นประจำ
“ตอนกลางคืนผมก็มานอนที่นี่นะ มานอนเล่นเกมกับเพื่อน ใช้ไวไฟของที่นี่เล่น FreeFire บางวันก็มากินข้าวที่นี่เลย”
นอกจากนี้ยังทำให้เขาได้เอาประสบการณ์การทำงานในแต่ละวันของตัวเองมาร้อยเรียงเป็นบันทึก เกิดเป็นชิ้นงานสำหรับการศึกษาที่ทำให้เขาได้วุฒิป.6 ติดตัว
“เวลาไปทำงานก็จะถ่ายรูปมาโพสต์ใน Facebook แล้วจะมีครูเข้ามาถามคำถามในคอมเมนต์”
ไมตรี พี่เลี้ยงโครงการพัฒนาการเรียนรู้สำหรับเยาวชนนอกระบบการศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ที่ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา เจ้าของบ้านที่เปิดพื้นที่ให้เด็กๆ บ้านกองผักปิ้งวิ่งเข้ามาหา อธิบายว่า การเรียนของป่าดิและเด็กกองผักปิ้งคนอื่นๆ คือ การเรียนแบบองค์รวม ที่จะให้เขาลองคิดจากกิจกรรมหรืองานที่ตัวเองทำว่า พวกเขาได้เรียนรู้อะไร และครูจะเอาไปพิจารณาเทียบเคียงกับวิชาการตามหลักสูตรปกติทั่วไป
หรือที่เรียกว่า ‘ห้องเรียนชีวิต’

“ตัวอย่างเช่น ถ้าเขาไปทำงานปลูกข้าว ครูก็จะถามว่าปลูกกี่ไร่ มีพื้นที่เท่าไหร่ เขาก็ต้องไปคิดหาคำตอบ เรื่องนี้ก็จะตรงกับวิชาคณิตศาสตร์”
“เรามองว่าการเรียนไม่จำเป็นต้องเป็นการนั่งฟังใครสักคนบ่น แต่เราสามารถเรียนรู้ได้ทุกๆ ที่ แม้กระทั่งใต้ต้นไม้ก็สามารถเป็นห้องเรียนได้” ไมตรีเสริม
สำหรับป่าดิ วิธีการเรียนแบบนี้ทำให้เขามีความสุขที่ได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ ผ่านการทำงาน หรือการไปร่วมกิจกรรมที่ทางไมตรีและยุพินจัดมาให้ ซึ่งต่อให้วิธีการพูดของป่าดิจะสำเนียงลาหู่ ทำให้เราจับใจความได้ยาก แต่ที่สัมผัสได้จากน้ำเสียงคือ ความดีใจที่เก็บไว้ไม่อยู่เพราะกำลังจะได้วุฒิการศึกษา
“ผมดีใจนะที่จะจบ ป.6 แล้ว หลังจากนี้ผมก็อยากเรียนต่อนะ เรียนแบบนี้ก็ได้ จะได้มีความรู้เพราะตอนนี้ยังมีความรู้ไม่มาก”
ส่วนความฝันที่จะได้เป็นนักบอลของป่าดิก็ยังไม่หายไปไหน เพียงแต่อาจจะไม่ได้มีเส้นทางที่ชัดเจน ป่าดิยังคงชอบเล่นฟุตบอล ถ้าเจอสนามบอลก็จะเข้าไปเล่น หรือถ้าไม่มีที่เล่นจริงๆ ก็จะมาเตะฟุตบอลที่บ้านของไมตรี และวันไหนที่ ‘เอ็มบัปเป้’ นักเตะขวัญใจป่าดิลงสนาม เขาก็จะรับชมการแข่งขันผ่านจอมือถือของตัวเอง
พื้นที่ ‘โครงการการพัฒนาทักษะการผลิตสื่อดิจิทัลเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของเยาวชนนอกระบบการศึกษา’ ภายใต้การสนับสนุนของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ใต้รั้วบ้านของไมตรีและยุพิน จึงเป็นพื้นที่ที่ทำให้เด็กได้มีโอกาสกลับมาเป็นเด็กธรรมดาๆ อีกครั้ง ไม่ใช่เด็กเกเรเพราะไม่เรียนหนังสือแบบที่ผู้ใหญ่คนอื่นในหมู่บ้านเข้าใจ จนผลักให้พวกเขาอยู่นอกสายตา
อยากเป็นนายช่าง
“อยากเรียนวิชาช่างยนต์ เพราะอนาคตผมอยากเปิดอู่ครับ” เดวิด เด็กชายวัย 17 ปี ตอบเมื่อโดนยิงคำถามว่าจะเอาวุฒิที่กำลังจะได้ไปทำอะไรต่อ ซึ่งเจ้าตัวก็ชี้ให้ดูว่ารถมอเตอร์ไซต์ของตัวเองก็ผ่านการเปลี่ยนล้อ เปลี่ยนโซ่ เปลี่ยนสายไฟด้วยสองมือของตัวเอง
แต่ถ้าถามเดวิดว่าอยากกลับไปเรียนที่โรงเรียนไหม เขาตอบกลับโดยทันทีว่าไม่อยาก
เดวิดเป็นเด็กที่ไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน เพราะไม่มีเอกสารยืนยันการเกิดจากพ่อแท้ๆ และในตอนนี้เดวิดกลายเป็นกำลังสำคัญในการทำงานหาเงินดูแลปากท้องของตัวเอง แม่ และน้องๆ ในครอบครัว เพราะพ่อใหม่ถูกจับจากคดียาเสพติดการเรียนจึงไม่ได้อยู่ในทางเลือกหลักของเด็กชายคนนี้
เดวิดเป็นอีกคนหนึ่งที่กำลังจะได้วุฒิป.6 จากการเข้าร่วมโครงการภายใต้พื้นที่บ้านของไมตรีและยุพิน ซึ่งก่อนหน้านี้ ระดับชั้นสุดท้ายที่เดวิดได้เข้าไปเรียนที่โรงเรียน คือ ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ทั้งที่เขาควรจะได้ขึ้น ป.5

“ตอนแรกผมได้ขึ้นป.5 แต่เพราะผมไปทำงานแล้วขาดเรียนไปเดือนนึง ครูเขาเลยเอาผมลงมาป.4 เหมือนเดิม”
นอกจากการถูกลดระดับชั้น เดวิดยังรู้สึกว่าการเรียนในโรงเรียนนั้นไม่ได้ประโยชน์ต่อตัวเองสักเท่าไร และต้องเผชิญหน้ากับครูที่มักจะดุด่าเขา
“แค่เสื้อออกนอกกางเกงนิดเดียว เขาก็ถือไม้มายืนด่าแล้ว เวลาเรียนแล้วจะขอไปเข้าห้องน้ำเขาก็ไม่ให้ไป”
เดวิดจึงลาออกจากโรงเรียนมาทำงานในสวนในไร่ รับจ้างทั่วไป ไม่ได้มีความคิดที่จะกลับไปเรียนอีกเลย แต่การที่มีไมตรีเป็นเพื่อนบ้านที่อยู่ไม่ห่างกัน ทำให้เดวิดเข้ามาอยู่ใต้ร่มโครงการ และในตอนนี้เดวิดกำลังจะได้วุฒิ ป.6 จาก ‘ห้องเรียนในฝัน’
เดวิดอธิบายว่า ห้องเรียนในฝันคือการเรียนรู้ผ่านการบันทึกงานที่ตัวเองรับจ้างทำในแต่ละวันลงใน Facebook ส่วนตัวของตัวเอง หรือหากวันไหนไม่มีงานแต่เข้ามาทำกิจกรรมกับไมตรีก็สามารถจดบันทึกได้เช่นกัน
“ถ้าผมไปทำงานหักข้าวโพด ผมก็จะถ่ายรูปไร่ข้าวโพดเพื่อไปโพสต์บน Facebook แล้วผมก็จะเขียนว่าผมไปทำงานที่ไหน ทำยังไง แล้วก็เขียนชื่อตัวเองไว้ในโพสต์พร้อมแท็กที่อยู่ รอครูเข้ามาถามใต้โพสต์”
ซึ่งคำถามที่ครูถาม จะเป็นคำถามที่เปิดโอกาสให้เด็กคิดและค้นคว้าคำตอบด้วยตัวเอง เช่น หากในโพสต์ระบุว่าไปทำงานช่วงพระอาทิตย์ขึ้น ครูก็จะถามว่าพระอาทิตย์ขึ้นกี่โมง เด็กที่ถูกถามก็ต้องไปค้นคำตอบใน Google มาตอบให้ถูกต้อง
เดวิดจึงมองว่า การเรียนรู้แบบนี้ไม่ได้ยาก เพียงแค่ต้องโพสต์ให้ครบ 30 คอร์ส โดยที่ภาพและเนื้อหาไม่ซ้ำกันก็พอ แต่สิ่งเดียวที่เดวิดไม่ค่อยชอบเกี่ยวกับการเรียนแบบนี้ คือการที่ต้องตอบคำถามเยอะๆ
เหมือนกับป่าดิเพื่อนของเขาที่รู้สึกว่าคำถามประเภท “5 ปีข้างหน้าอยากเป็นอะไร” นั้นเป็นคำถามที่ยากที่สุด เพราะแค่พรุ่งนี้จะทำอะไรเขาก็คิดไม่ออกแล้ว แต่การถูกตั้งคำถามในแต่ละครั้งก็ทำให้พวกเขาได้ฝึกคิด ฝึกหาข้อมูล
และต่อให้ไม่ชอบที่จะตอบคำถาม แต่พวกเขาก็ยินดีที่จะตอบไม่ว่าจะถูกถามกี่คำถามก็ตาม เพราะทุกคำตอบมีคะแนน และจะทำให้เขาเข้าใกล้ความฝันที่ใกล้จะเอื้อมถึงอย่างการได้วุฒิการศึกษา ที่สามารถต่อยอดอนาคตของพวกเขาได้
“ถ้าไปรับจ้างเขาก็จะมาถามใต้โพสต์ว่าได้เท่าไหร่ ทำยังไง เราก็ต้องตอบกลับไปในนั้นแล้วครูเขาจะคิดคะแนนให้ แต่เขาถามเยอะ ถามหลายอย่าง”
โดยการไปรับจ้างแต่ละครั้งนั้นได้ค่าแรงไม่เท่ากัน บางครั้งก็ได้มาก บางครั้งก็ได้น้อย แต่ถ้าเดวิดสามารถเป็นเจ้าของอู่ได้ เขาเชื่อว่าตัวเองจะมีรายได้ที่ดีและมั่นคง เพราะเขาเห็นว่าเจ้าของอู่ในเมืองนะรวย
ต่อ วัย 15 ปีก็เป็นอีกคนที่เห็นว่าการมีอาชีพที่มั่นคงจะทำให้ปากท้องของตัวเองดีขึ้น ถึงแม้จะไม่ชอบเรียน จนทำให้ต้องออกจากโรงเรียนตอนอยู่ ป.5 แต่เขาก็ยังอยากเรียนแบบเดียวกับเพื่อนๆ ที่แวะเวียนมาเล่นที่บ้านของไมตรีเพื่อให้ได้วุฒิ ม.6 ก่อนจะไปฝึกวิชาช่างไฟเพื่อหาเลี้ยงชีพตัวเอง

“อยากเป็นช่างไฟ เพราะรายได้มันเยอะ”
หากต่อสามารถซ่อมไฟ หรือเปลี่ยนไฟได้ เขาเชื่อว่าตัวเองจะมีรายได้ที่ดี เพราะที่ผ่านมาเวลาไฟในหมู่บ้านมีปัญหา ก็จะมีเพียงช่างไฟชาวไทใหญ่เพียงคนเดียวเท่านั้นที่รับจ้างซ่อม
ความฝันของเด็กๆ บ้านกองผักปิ้งอาจไม่ได้ยิ่งใหญ่หวือหวา เพียงแค่มีงานที่ได้รายได้ดีก็เพียงพอ เพราะสิ่งที่สำคัญสำหรับพวกเขาในตอนนี้ คือ ปากท้องต้องมาก่อน
จากเด็กเกเรสู่เด็กในสายตา
ในขณะที่หนุ่มๆ ในบ้านไมตรีฝันอยากเป็นช่าง ฝันอยากเป็นนักบอล รุ้ง เด็กหญิงวัย 20 ปีไม่ได้มีความฝันอะไรเป็นพิเศษ
รุ้งเป็นอีกหนึ่งคนที่เคยเข้าระบบการศึกษาทั่วไป แต่เพราะต้องย้ายที่เรียนไปมาและมีปัญหาสุขภาพ ทำให้ไม่ค่อยได้ไปเรียน ท้ายที่สุดก็ต้องลาออกจากโรงเรียน
“หนูออกตอนม.1 เพราะเราไม่ได้ไปเรียนเลยซ้ำชั้นบ่อย ซ้ำชั้นเดิมหลายๆ ครั้ง ตามเพื่อนเขาไม่ทัน”
ถึงแม้รุ้งจะไม่มีความฝันเหมือนใคร แต่รุ้งก็เป็นอีกคนหนึ่งที่พื้นที่แห่งนี้เปิดรับ เพราะแค่มีความตั้งใจที่จะเรียนรู้ ก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้ได้
“พี่เขามาถามว่าอยากเรียนไหม ถ้าอยากเรียนให้เขียนชื่อไป ผมไม่มีทางเลือก ไม่รู้ทำยังไงถึงจะได้เรียนต่อ ผมเลยบอกชื่อไป เขาเลยเรียกให้มาอยู่ที่นี่” ป่าดิเล่าให้ฟังหลังจากเราถามว่ามาอยู่กับไมตรีได้อย่างไร

หากใครบอกว่าโรงเรียน คือ บ้านหลังที่ 2 บ้านหลังที่สองของป่าดิ คือ บ้านของไมตรีและยุพิน เพราะตลอดระยะเวลา 10 เดือนที่เขามาอยู่ที่นี่ ป่าดิแวะเวียนมานั่งเล่น มากินข้าว มาค้างคืนอยู่เป็นประจำ
ป่าดิเล่าว่าไมตรีและยุพินดีกับเขามากๆ เพราะก่อนหน้าที่ป่าดิจะได้เข้าโครงการ เขาไม่สามารถเลิกดมกาวและเลิกกัญชาได้ แต่พอถูกดึงเขามาอยู่ในสายตาของไมตรี ถูกสอนให้ค่อยๆ เลิก ป่าดิในตอนนี้จึงไม่กลับไปแตะสารเสพติดอีกเลย และถ้าพี่เลี้ยงทั้งสองคนอยากให้เขาช่วยอะไร เขาก็ยินดีทำ
1 ในกิจกรรมการเรียนรู้ที่ไมตรีและยุพินจัดสรรให้กับเด็กในโครงการ คือ กิจกรรมอนุรักษ์วัฒนธรรมลาหู่ อย่างการเต้นจะคึ (การเต้นเพื่อบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในพิธีกรรมสำคัญของชาวลาหู่) ทำให้เด็กกลุ่มนี้มีโอกาสออกนอกพื้นที่เพื่อไปแสดงที่กรุงเทพ และได้รับโอกาสจากคนในหมู่บ้านให้ไปแสดงในวันสำคัญของหมู่บ้าน
“ก่อนหน้านี้เด็กพวกนี้จะโดนผู้นำหมู่บ้านด่าตลอดว่าไม่ได้เรื่อง เป็นเด็กมีปัญหา”
ไมตรีอธิบายว่า หากย้อนไปก่อนหน้านี้ ไม่มีผู้ใหญ่คนไหนในหมู่บ้านอ้าแขนต้อนรับเด็กกลุ่มนี้ มิหนำซ้ำยังมองว่าเป็นเด็กเกเรเพราะไม่ไปเรียน และเป็นต้นเหตุของการทะเลาะวิวาทกับเด็กชาติพันธุ์อื่น
“เขาด่าพวกผมใส่ลำโพง ด่าระบุชื่อเรียงคน แต่ว่าพวกผมไม่ได้เป็นคนทำ”
เดวิดและเพื่อนๆ เคยโดนผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านด่าผ่านเสียงตามสาย ซึ่งข้อความในเสียงตามสายบอกว่าพวกเขาเป็น ‘คนเลว’ เพราะยกพวกไปทะเลาะวิวาทกับคนนอกหมู่บ้าน เดวิดและเพื่อนจึงต้องยกโขยงกันไปหาผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านเพื่อประท้วงว่าพวกเขาไม่ได้ทำ
“ผมไปคุยว่าทำไมเรียกชื่อพวกผมทั้งๆ ที่ไม่ได้ทำอะไรผิด เขาก็ขึ้นเสียงใส่ว่าไปทำไม่ดีแบบนั้นทำไม ผมเลยโมโหขึ้นเสียงกลับไปว่าไม่ได้ทำ ฟังมาจากไหน ฟังให้ดีๆ ก่อนว่าใครเป็นคนทำ”
พอเดวิดยืนกรานว่าตัวเองไม่ได้ทำ ฝ่ายผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านก็ขอโทษและบอกว่าได้ยินมาจากคนอื่น แต่การขอโทษนั้นได้ยินเพียงเดวิดและเพื่อนๆ ไม่เหมือนตอนด่าออกลำโพงของหมู่บ้านที่ได้ยินกันทั้งหมู่บ้าน คนในหมู่บ้านจึงเข้าใจผิดไปกันหมดว่าเดวิดและเพื่อนเป็นเด็กเกเร

แต่พอพื้นที่บ้านของไมตรีเปิดให้เด็กๆ วิ่งเข้ามาหา โครงการเริ่มต้นขึ้นให้เด็กๆ ได้เรียน ได้มีวุฒิ ผู้คนในหมู่บ้านก็เริ่มมีทัศนคติที่ดีขึ้นกับเด็กๆ กลุ่มนี้ พอมีงานสำคัญก็เรียกให้ไปแสดงการเต้นจะคึ เพราะไม่มีใครในหมู่บ้านเต้นได้นอกจากเด็กๆ กลุ่มนี้
“ผมพาพวกเขาไปเต้นเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อชุมชน”
ไมตรี ยุพิน และพื้นที่ภายใต้รั้วบ้านแห่งนี้ จึงเป็นเหมือนที่พักพิงที่มีคนพร้อมรับฟังให้กับเด็กๆ ในหมู่บ้านที่ถูกคนในหมู่บ้านตีตราว่าเป็นเด็กเกเรเพราะไม่เรียนหนังสือ ให้มีโอกาสได้รับวุฒิการศึกษา และถอยห่างจากปัญหายาเสพติดที่ผู้ใหญ่คนอื่นในสังคมไม่ใส่ใจ
เรื่อง : ธันยพร เกษรสิทธิ์
ภาพ : ธาตรี แสงมีอานุภาพ
ภาพประกอบ : ภัทราภรณ์ สงสาร