“ลดความเหลื่อมล้ำด้วยการสนับสนุนทุกคนให้เข้าถึงโอกาส” ชวนฟังเสียงจากผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษถึงนโยบายรัฐ

“ลดความเหลื่อมล้ำด้วยการสนับสนุนทุกคนให้เข้าถึงโอกาส” ชวนฟังเสียงจากผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษถึงนโยบายรัฐ

จากรายงานสำรวจความพิการปี 2560 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ซึ่งสำรวจทุก ๆ 5 ปี พบว่าคนพิการในประเทศไทยมีจำนวนราว 3.7 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 5.5 ของประชากรทั้งหมด ข้อมูลนี้เมื่อนำมาเทียบกับรายงานโดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ณ วันที่ 31 มีนาคม 2566 ที่ระบุว่าประเทศไทยมีผู้พิการที่ได้รับการออกบัตรประจำตัวคนพิการจำนวน 2,180,178 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 3.18 ของประชากรทั้งประเทศ เท่ากับว่ามีผู้พิการมากกว่าครึ่งหนึ่งที่ไม่ได้รับการขึ้นทะเบียน ซึ่งหมายถึงการเข้าไม่ถึงสวัสดิการเบี้ยยังชีพ 

พ้นจากสถิติเชิงตัวเลข ผลสำรวจข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการดำรงชีวิตในสังคมยังพบว่า ‘ผู้ที่มีความต้องการพิเศษ’ หรือผู้พิการในประเทศไทยต้องประสบปัญหาหลายด้าน ตั้งแต่ไม่มีรายได้เพียงพอในการใช้ชีวิต ขาดผู้ดูแลเฉพาะทาง ขาดแคลนเครื่องมืออุปกรณ์จำเป็น มีปัญหาด้านสภาพที่อยู่อาศัย จนถึงไม่มีพื้นที่สำหรับการประกอบอาชีพ และยังขาดโอกาสทางการศึกษา โดยข้อมูลชี้ว่าในจำนวนผู้พิการ 2.1 ล้านคนที่ขึ้นทะเบียนกับ พม. มีถึง 855,816 คน ที่อยู่ในวัยทำงาน (อายุ 15-59 ปี) คิดเป็นร้อยละ 40.71 และร้อยละ 63.87 ของประชากรกลุ่มนี้ จบการศึกษาเพียงระดับประถมศึกษาเท่านั้น

ขณะที่การหาเสียงของพรรคการเมืองต่าง ๆ ในการเลือกตั้ง 2566 ที่ผ่านมา หลายพรรคต่างชูนโยบาย ‘สวัสดิการรัฐเพื่อผู้พิการ’ ซึ่งแม้จะเป็นประเด็นหนึ่งที่ถูกพูดถึงในวาระต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม ความสำคัญอันดับแรกยังมุ่งเน้นไปที่การ ‘top up’ หรือเพิ่มเบี้ยยังชีพคนพิการ จากเดิมอยู่ที่ 800 บาทต่อเดือน และ 1,000 บาทต่อเดือน สำหรับผู้พิการที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี (ตัวเลขนี้เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563) และหากไล่เลียงตามมา ประเด็นการวางแนวทางพัฒนานโยบายเพื่อผู้พิการ จะพูดถึงการเพิ่มตำแหน่งการจ้างงาน เพิ่มผู้ดูแลคนพิการ จนถึงการปรับปรุงชุมชน บ้านเรือน โครงสร้างพื้นฐานของเมืองเพื่อความสะดวกในการใช้ชีวิตของผู้พิการ โดยประเด็นที่ได้รับความสนใจท้ายสุดมักเป็นเรื่องของการสนับสนุนการศึกษา

ดังนั้นเพื่อเป็นการสื่อสารความต้องการจากผู้มีความต้องการพิเศษ ให้ไปถึงรัฐ หรือผู้มีอำนาจกำหนดนโยบายของประเทศในการลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา และส่งเสริมโอกาสการทำงานเพื่อการใช้ชีวิตในสังคมของผู้พิการ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ชวนทุกท่านมาร่วมฟังเสียงนักศึกษาในโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง รุ่นที่ 2 และผู้ปกครอง ว่าในวาระที่เยาวชนกลุ่มนี้เพิ่งจบการศึกษาชั้น ปวส. และกำลังจะก้าวเข้าสู่โลกของการทำงานอย่างเต็มตัว มีประเด็นใดที่อยากร่วมสะท้อน เพื่อการเดินหน้าไปในทิศทางที่ดีขึ้นของการทำงานเชิงนโยบาย เพื่อสร้าง ‘โอกาส’ เพื่อการเข้าถึง ‘สิทธิ’ และเพื่อทำให้ประเทศไทยมีพื้นที่ที่คนทุกคนสามารถเข้าถึง ‘ความเสมอภาค’ ถ้วนหน้าไปด้วยกัน

“อยากให้มีกองทุนเพื่อตั้งต้นประกอบอาชีพ”

‘วุธ’ สราวุธ เตรัมย์ จบ ปวส. สาขาเทคโนโลยีธุรกิจดิจิทัล ที่วิทยาลัยเทคโนโลยีพระมหาไถ่หนองคาย ในพระราชูปถัมภ์ฯ เล่าว่า เขาเรียนสาขาคอมพิวเตอร์ธุรกิจตั้งแต่ ปวช. ระหว่างนั้นทำงานฟรีแลนซ์ด้านกราฟิกและตัดต่อวิดีโอไปด้วย เมื่อเห็นว่าที่วิทยาลัยมีเปิดรับ ปวส. ก็สนใจยากเรียนต่อ เพราะวุธสนใจเรื่องการเขียนเว็บไซต์หรือเขียนโปรแกรม โดยมองว่ายิ่งเรียนมากยิ่งต่อยอดได้มาก และทำให้มีทางเลือกในการทำงานที่หลากหลายขึ้น

“ถ้าถามถึงความจำเป็นหรือความต้องการ ผมคิดว่าการอัปเดตเทคโนโลยีเป็นสิ่งสำคัญกับคนที่เรียนในสาขาคอมพิวเตอร์หรือออกแบบ อยากให้ทางวิทยาลัยมีการสนับสนุนให้เราเข้าถึงเครื่องมือที่ทันยุคสมัย และปรับเปลี่ยนหลักสูตรให้เท่าทันกับความเปลี่ยนแปลงสม่ำเสมอครับ

“ถ้าส่งเสียงไปถึงภาครัฐได้ ผมอยากให้พิจารณาถึงการจัดตั้งกองทุนเพื่อการประกอบอาชีพที่ช่วยเราได้จริง ๆ เช่น ทุนกู้ยืมเพื่อจัดตั้งบริษัท หรือถ้าในภาพใหญ่ก็อยากให้มีทุนการศึกษาที่เข้าถึงผู้พิการมากขึ้น อย่างที่ผ่านมาแม้จะมีทุนที่ให้เราเรียนฟรีถึงปริญญาตรี ซึ่งมีค่าเรียนให้ แต่หลายคนเขามีปัญหาเรื่องค่ากินอยู่หรือค่าเดินทาง ทำให้ยากลำบากที่จะเรียนให้จบ อย่างตัวผมกับเพื่อนหลายคนคิดเหมือนกันว่าอยากเรียนไปด้วย ทำงานไปด้วย จนมีโอกาสมารู้จักโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงของ กสศ. ที่มีค่าใช้จ่ายรองรับรอบด้าน จากนั้นเลยไม่ต้องกังวลแล้วครับว่าเรียนไปแล้วจะจบไหม หรือคุ้มค่ากับเวลาที่เสียไปแค่ไหน

“คือถ้าไม่มีเงินพอ เราอาจต้องเลิกเรียนกลางทาง ก็เหมือนเสียเวลาไปเปล่า ๆ ส่วนวันนี้ที่จบการศึกษาแล้ว ก็มีแผนกับเพื่อน ๆ ว่าอยากตั้งบริษัทเพื่อรับงานกันเอง ดังนั้นคิดว่าถ้ามีทุนเริ่มต้นสำหรับส่วนนี้ พวกเราจะมีโอกาสมากขึ้นเพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์ และพัฒนาตัวเองไปได้ไกลกว่านี้”

“ถ้ามีสิ่งอำนวยความสะดวกในพื้นที่สาธารณะเพิ่มขึ้น ก็มีโอกาสใช้ชีวิตได้เหมือนคนอื่น ๆ”

คุณยายอาภา บุญมารักษ์ ผู้ปกครองของ ‘ของขวัญ’ จากสาขาเทคโนโลยีธุรกิจดิจิทัล วิทยาลัยสารพัดช่างเชียงใหม่ บอกว่า อยากให้มีแนวทางช่วยเหลือกลุ่มที่มีความต้องการพิเศษมากขึ้น หากรัฐสามารถดูแลโอบอุ้มให้บุคคลเหล่านี้ใช้ชีวิตและมีช่องทางพัฒนาตัวเอง ซึ่งหมายถึงการมีที่ทางในสังคมโดยไม่แบ่งแยก เพื่อให้พ้นจากการเป็นภาระพึ่งพิงแต่เพียงฝ่ายเดียว

“เรามองว่าโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่สุดคือ สิ่งอำนวยความสะดวกในที่สาธารณะต่าง ๆ อย่างเรื่องการเดินทาง ถ้าทำให้สะดวกกว่านี้ได้ มีสวัสดิการวีลแชร์ มีทางเฉพาะสำหรับวีลแชร์ มีลิฟต์ในพื้นที่จำเป็น มีการคำนึงถึงว่าคนเหล่านี้จะใช้บริการขนส่งสาธารณะกันอย่างไร แค่นี้โอกาสที่เขาจะเดินทางด้วยตัวเองก็มีมากขึ้น

“ในฐานะผู้ปกครอง ขอแค่เขาได้มีโอกาสใช้ชีวิตเหมือนคนอื่น ๆ อยากให้หลานได้ออกไปข้างนอก ไปเรียนรู้ที่จะช่วยเหลือตัวเอง ฝึกรับผิดชอบชีวิตตัวเอง ซึ่งแน่นอนเรารู้ว่าเขามีข้อจำกัดบางอย่าง แต่ในทางกลับกันเราก็เชื่อว่าคนทุกคนก็ต้องเผชิญข้อจำกัดบางอย่างในตัวเองทั้งนั้น ดังนั้นทุกคนต้องได้โอกาสเรียนรู้ เพราะสักวันหนึ่งที่เขาไม่มีเรา เขาก็ต้องอยู่ด้วยตัวเองให้ได้”

“ต้องเพิ่มงบอีกเท่าไร คำตอบคือจะอีกเท่าไรก็ไม่มีทางพอ”

“ที่ผ่านมาเมื่อคุณพูดถึงสวัสดิการสำหรับผู้พิการ การ top up เบี้ยยังชีพจะเป็นตัวตั้ง ส่วนการสนับสนุนศึกษาจะมาทีหลังสุด ซึ่งหนูอยากให้พลิกมุมมองกลับกัน เพราะไม่ใช่พวกเราทุกคนที่ต้องการเงินเป็นสิ่งแรก”

‘มะปราง’ จิดาภา นิติวีระกุล ที่เพิ่งสำเร็จการศึกษาชั้น ปวส. จากวิทยาลัยเทคโนโลยีพระมหาไถ่พัทยา จังหวัดชลบุรี สาขาเทคโนโลยีธุรกิจดิจิทัล และมีแผนต่อไปคือเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยพร้อมทำงานไปด้วย กล่าวถึงมุมมองเกี่ยวกับการจัดสวัสดิการผู้พิการ โดยเธอย้ำว่า ‘เบี้ยผู้พิการ’ อย่างไรก็ยังมีความสำคัญ แต่การถกเถียงกันว่าต้องเท่าไรถึงจะพอนั้น เป็นเพียงการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ

“ถ้าคุณให้เงินเรา ไม่นานมันก็จะหมดไป แต่ถ้าให้โอกาสเรียน ให้โอกาสมีงานทำ เราจะหาเงินได้เองโดยไม่ต้องคอยพึ่งพาเงินที่รัฐส่งให้ทุกเดือน หมายถึงว่าถ้าให้รอรับเงินอย่างเดียว คุณให้มาเท่าไรก็ไม่มีทางพอค่ะ เพราะสำหรับพวกเราแล้ว ไม่ว่า 800 หรือ 3,000 บาท ก็ยังเป็นจำนวนเงินที่น้อยมากในความเป็นจริงของชีวิตคนคนหนึ่ง เราต้องการมากกว่านั้น ดังนั้นสิ่งที่อยากส่งเสียงไปถึงผู้เกี่ยวข้องคือ อยากให้ท่านมองในอีกมุมว่า จะทำอย่างไรให้พวกเราหาเงินด้วยตัวเองได้ ทำอย่างไรให้พวกเราเข้าถึงการศึกษาเพื่อการมีงานทำทั้งระยะสั้นและระยะยาว หนูเชื่อว่าแนวทางนี้จะดีกับพวกเรามากกว่า 

“อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่น้อยกว่ากัน คือหนูคิดว่าทุกวันนี้คนพิการส่วนใหญ่สามารถออกไปใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติ และจะไม่มีปัญหาอะไรเลยถ้าสิ่งอำนวยความสะดวกทุกอย่างพร้อม และได้มาตรฐานเหมือนกับที่หลายเมืองทั่วโลกนี้มีให้เห็น ไม่ว่าทางลาด ลิฟต์ หรือสิ่งที่ธรรมดาที่สุดคือ ขอแค่ทางเท้าที่ราบเรียบสม่ำเสมอ ไม่แตกหักหรือมีท่อยื่นออกมา ไม่มีสายไฟลงมาพาดบนทางเดิน และไม่มีรถมอเตอร์ไซค์ขึ้นมาใช้ทางร่วมก็พอค่ะ 

“หนูขอแค่คุณเปิดโอกาส สนับสนุนให้เราได้เลี้ยงดูตัวเอง เพราะสำหรับคนพิการจำนวนมาก เรามีศักยภาพ มีความสามารถอยู่แล้ว ถ้ามีสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ เรามั่นใจว่าจะสามารถออกไปใช้ชีวิตได้โดยรบกวนคนอื่นน้อยที่สุด ไม่ต้องขอความช่วยเหลือใครมาช่วยยกวีลแชร์ เพียงเท่านี้ก็จะเป็นชีวิตที่เรียบง่าย แทบไม่แตกต่างจากคนทั่วไป แล้วเราไม่ได้พูดถึงเรื่องนี้แค่ในฐานะคนพิการ แต่ในสังคมของเรายังมีคนชรา มีคนอื่น ๆ ที่มีความต้องการต่างกันไป ดังนั้นคุณต้องทำให้ทุกคนใช้ชีวิตได้ ทำงานได้ มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่ใช้งานได้จริง หนูคิดว่าเราจะช่วยเพิ่มโอกาสของการพัฒนาคนทุกกลุ่มได้อย่างเสมอภาคค่ะ” 

“ต้องจัดการศึกษาที่นำไปสู่การทำงานได้จริง”

คุณแม่ดนิตา นิติวีระกุล ผู้ปกครองของมะปราง ฝากถึงนโยบายด้านการศึกษาสำหรับผู้พิการ ว่าจำเป็นต้องเปิดกว้างให้มากขึ้นสำหรับผู้พิการทุกประเภท และมีแนวทางต่อยอดไปสู่การทำงานได้จริง

“รัฐต้องคิดถึงการจัดการศึกษาที่รองรับผู้พิการได้หลากหลาย เพราะหลายแห่งที่เปิดรับยังจำกัดเฉพาะผู้พิการบางประเภท พอมีผู้พิการที่มีความต้องการแตกต่างเข้าไปก็เรียนไม่ได้ เพราะไม่มีการช่วยเหลือสนับสนุน หรือในอีกทางหนึ่งคือ ระบุให้ชัดเจนเลยว่าเปิดรับผู้พิการประเภทไหนบ้าง นอกจากนี้ยังต้องมีแนวทางรองรับว่าจะต่อยอดหลังจบการศึกษาอย่างไร

“สำหรับแม่ ๆ อย่างเรา เราไม่ยอมแพ้อยู่แล้วที่จะหาที่เรียนให้ลูก ถึงไม่มีเงินก็ยังมีหนทางที่จะกู้เงินมาเรียนก็ได้ แต่เมื่อคุณจัดการศึกษาแล้ว ต้องไม่ใช่การเปิดหลักสูตรไปตามระเบียบกฎเกณฑ์เท่านั้น เราขอให้การศึกษาของลูกเป็นเรื่องที่เข้มข้นจริงจัง ให้เขาสามารถเอาไปต่อยอดในการทำงานเพื่อเลี้ยงดูตัวเองได้ในอนาคต เมื่อนั้นถึงจะพูดได้ว่าเป็นการจัดการศึกษาเพื่อความเสมอภาคจริง ๆ”