ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาคือ ‘ดาต้า’ ไม่ใช่ ดราม่า’ นโยบายฟื้นฟูอย่างเสมอภาค ยั่งยืน จึงต้องมาและทำได้จริง

ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาคือ ‘ดาต้า’ ไม่ใช่ ดราม่า’ นโยบายฟื้นฟูอย่างเสมอภาค ยั่งยืน จึงต้องมาและทำได้จริง

หนึ่งในปัญหาสำคัญที่ถูกจับตามองในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา คงหนีไม่พ้น ‘ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา’ ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้มีนักเรียนยากจนจำนวนมากต้องหลุดออกจากระบบการศึกษา

แม้ว่าจะเป็นปัญหาที่เห็นได้ชัด แต่การแก้ปัญหานั้นต้องอาศัยการขับเคลื่อนเชิงนโยบายที่ถูกออกแบบอยู่บนฐานของความรู้ อาศัยการทำงานกับฐานข้อมูล (data) เพื่อกำหนดทิศทางในการขับเคลื่อน และนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ตรงจุดและยั่งยืน

ปรากฏการณ์ดังกล่าวจึงเป็นที่มาของ “วงคุยวิธีคิดสู่การออกแบบนโยบายฟื้นฟูระบบการศึกษาไทยอย่างเสมอภาคและยั่งยืน (Equitable Education Recovery Policy)” จัดขึ้นโดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ที่ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายและตัวแทนพรรคการเมือง เพื่อร่วมกันเสนอวิธีคิดและเปิดความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ที่จะช่วยลดความเหลื่อล้ำทางการศึกษาและเพิ่มความเสมอภาคทางการศึกษาอย่างยั่งยืน โดยมีตัวแทนจากพรรคการเมือง ดังนี้

  • ดร.ณหทัย ทิวไผ่งาม ประธานคณะที่ปรึกษาด้านส่งเสริมศักยภาพการแข่งขันของประเทศ พรรคเพื่อไทย
  • ธิดารัตน์ ยิ่งเจริญ โฆษกพรรคไทยสร้างไทย
  • วิโรจน์ ลักขณาอดิศร พรรคก้าวไกล
  • ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ หัวหน้าทีมการศึกษาทันสมัย พรรคประชาธิปัตย์

ดำเนินรายการโดย

  • สันติพงษ์ ช้างเผือก บรรณาธิการข่าวไทยพีบีเอส
  • ฐปนีย์ เอียดศรีไชย ผู้ก่อตั้งสำนักข่าว The Reporters

“เมื่อพูดถึงความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา หลายคนอาจนึกว่าเป็นเรื่องของอารมณ์ ความรู้สึก หรือเรื่องดราม่า”

เปิดด้วยประโยคจาก ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ หัวหน้าทีมการศึกษาทันสมัย พรรคประชาธิปัตย์ ที่พูดถึงมุมมองของสังคมที่มีต่อปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา หลายครั้งที่การพูดคุยเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าวถูกตีความไปในเชิงของความรู้สึก อารมณ์ หรือเป็นแค่เรื่องดราม่าบนโลกออนไลน์ที่พบเจอได้ในชีวิตประจำวัน

“แต่วันนี้ กสศ. ทำให้พวกเรารู้ว่า ความเหลื่อมล้ำมันคือ ‘ดาต้า’ ไม่ใช่ ดราม่า’ เรามีข้อมูลชัดเจนว่ามีจำนวนคนจนและจำนวนเด็กที่หลุดออกนอกระบบมากขึ้นเรื่อย ๆ”

แต่ในความเป็นจริงนั้นปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาถูกฉายให้เห็นผ่านสถิติและชุดข้อมูล (data) ที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่ามีนักเรียนจำนวนมากที่กำลังหลุดออกจากระบบการศึกษาในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสภาวะเงินเฟ้อและวิกฤตโควิด-19

ตัวเลขรายได้เฉลี่ยของครัวเรือนที่ลดลง จำนวนเด็กนักเรียนที่ตกอยู่ในกลุ่มยากจนและยากจนพิเศษมากขึ้น มีนักเรียนที่หลุดออกจากระบบการศึกษาในช่วงระดับชั้นรอยต่อ (ป.6 ม.3 และม.6) มากกว่า 85,000 คนในช่วงเวลาดังกล่าว

“หากโฟกัสผิดจุด เราจะไม่มีวันเอาชนะความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้เลย”

ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ หัวหน้าทีมการศึกษาทันสมัย พรรคประชาธิปัตย์

สถานการณ์ดังกล่าวจึงเกิดข้อเสนอเชิงนโยบายจาก ศ.ดร.สุชัชวีร์ ต่อกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เพื่อนำไปพัฒนาสู่แนวทางการฟื้นฟูระบบการศึกษาอย่างตรงจุดดังนี้

[1] ใช้ข้อมูลเป็นเข็มทิศนำทางแก้ปัญหา

เพื่อเป็นการแก้ปัญหาได้อย่างแม่นยำ การกลับมาโฟกัสกับฐานข้อมูลที่มี เช่น รายได้เฉลี่ยครัวเรือน สถานภาพทางครอบครัว หรือการเข้าถึงการศึกษาของนักเรียน จะเป็นหัวใจหลักในการจัดลำดับความสำคัญ การจัดสรรงบประมาณ และการจัดสรรอัตรากำลังครูในแต่ละโรงเรียนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

[2] ส่งเสริมการพัฒนาด้านสุขภาพสำหรับเด็กเล็ก 0-6 ปี

การจัดสรรงบประมาณควรมุ่งไปที่การพัฒนา ‘สุขภาพของเยาวชน (Hardware)’ ด้วยการส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนได้รับประทานอาหารที่ถูกหลักโภชนาการและออกกำลังกายอย่างเพียงพอ เนื่องจากร่างกายที่แข็งแรงจะเป็นพื้นฐานสำคัญในการต่อยอด ‘การเรียนรู้ (Software)’ ในอนาคต

[3] ทบทวนเป้าหมายของการศึกษา และการเข้าสู่ระบบมหาวิทยาลัย

มหาวิทยาลัยอาจไม่ใช่เป้าหมายทางการศึกษาสำหรับทุกคน บางครอบครัวต้องการแค่เพียงทักษะในการประกอบอาชีพเพื่อหารายได้ ดังนั้นโจทย์ที่สำคัญคือการยกระดับศักยภาพของเยาวชนที่ไม่ได้เข้าสู่การศึกษาในระดับอุดมศึกษาให้มีความสามารถในการประกอบอาชีพและมีคุณภาพชีวิตทัดเทียมกับคนทั่วไปในสังคม

“หากไร้ซึ่งความกล้าหาญในการจัดสรรงบประมาณ ในปีถัดไปเราทุกคนก็จะวนกลับมาคุยกันเกี่ยวกับปัญหาการศึกษาในเรื่องเดิม ๆ”

ขณะที่ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ตัวแทนจากพรรคก้าวไกล เสนอว่าหัวใจสำคัญในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่ยั่งยืนอาจไม่ใช่เพียงวิธีคิดในการจัดการศึกษา แต่ต้องเกิดจากการจัดสรรงบประมาณจากส่วนกลางให้เพียงพอในแต่ละพื้นที่และมีการบริหารจัดการงบประมาณเหล่านั้นอย่างมีประสิทธิภาพ

อดีต ส.ส.พรรคก้าวไกล เน้นย้ำว่าหากใช้มุมมองทางเศรษฐศาสตร์แล้ว การลงทุนที่น้อยจนเกินไป อาจไม่ส่งผลใด ๆ ในการฟื้นฟูระบบการศึกษา เปรียบเสมือนกับการแจกเงินคนละ 1 บาททั่วประเทศไทย อาจไม่ส่งผลอะไรต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เช่นเดียวกันกับงบประมาณด้านการศึกษา หากมีงบประมาณที่น้อยจนเกินไป จะทำให้ไม่สามารถขับเคลื่อนใด ๆ ให้เกิดขึ้นในเชิงรูปธรรมได้

“เพราะฉะนั้นการเพิ่มงบประมาณให้กับ กสศ. 4,000 ล้านบาท จึงเป็นขั้นพื้นฐานและขั้นต่ำที่สุดที่ไม่ต้องคิดอะไร ใช้แค่หัวใจอย่างเดียวก็พอ”

วิโรจน์ ลักขณาอดิศร พรรคก้าวไกล

วิโรจน์ ยังมองว่านอกจากการเพิ่มงบประมาณเงินอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานให้กับนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษแล้ว การเพิ่มงบประมาณสำหรับเงินอุดหนุนรายหัวในแต่ละโรงเรียนก็เป็นปัจจัยที่สำคัญ เนื่องจากงบประมาณที่กระจายไปในแต่ละโรงเรียนจะส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพในการจัดการศึกษาในแต่ละพื้นที่

นอกจากนี้ ‘งบประมาณค่าอาหารกลางวัน’ และ ‘งบประมาณสนับสนุนค่าเดินทาง’ มักจะเป็นนโยบายสำคัญที่ถูกมองข้าม เนื่องจากเป็นค่าใช้จ่ายส่วนต่างทางการศึกษาที่นักเรียนแต่ละคนจะต้องรับผิดชอบเพิ่มเติม หากนักเรียนคนใดมีเงินไม่มากพอต่อการใช้จ่ายสำหรับการเดินทางมาเรียนหรือซื้ออาหารกลางวัน ก็มีความเสี่ยงที่เด็กเหล่านั้นจะตัดสินใจไม่มาเรียน และเลือกช่วยผู้ปกครองหารายได้ที่บ้านแทน

“ที่ผ่านมาเราบอกให้เด็กต้องคิดนอกกรอบ ผมก็ต้องบอกว่านโยบายการศึกษาก็ต้องคิดนอกรั้วโรงเรียนด้วย อย่างประเด็นควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก พ่อแม่หลายคนไม่มีปัญหาและพร้อมที่จะส่งลูกไปเรียนโรงเรียนที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนประจำจังหวัดหรือโรงเรียนประจำอำเภอ แต่สิ่งหนึ่งที่เราไม่กล้าจัดสรรงบประมาณคือการทำรถโรงเรียนให้มีคุณภาพ เพื่อพาเด็ก ๆ ไปโรงเรียนที่มีเหล่านั้นให้ได้” วิโรจน์กล่าวทิ้งท้าย

หลักในการออกแบบนโยบายทางการศึกษาจึงต้องคิดทั้ง ‘ในรั้วโรงเรียน (นโยบายทางการศึกษา)’ และ ‘นอกรั้วโรงเรียน (นโยบายครัวเรือน)’ ไปพร้อม ๆ กัน

“หน้าที่ของรัฐคือการจับคู่ทักษะที่แต่ละคนมีเข้ากับตลาดแรงงานที่ยังว่างอยู่”

นอกจากการคำนึงถึงแนวทางการจัดสรรงบประมาณทางการศึกษาแล้ว ดร.ณหทัย ทิวไผ่งาม ประธานคณะที่ปรึกษาด้านส่งเสริมศักยภาพการแข่งขันของประเทศ ตัวแทนจากพรรคเพื่อไทย ชี้ให้เห็นว่าเป้าหมายในการจัดการศึกษาก็เป็นสิ่งที่จำเป็นไม่แพ้กัน

โดยมีมุมมองว่าระบบการศึกษาที่ดีจะต้องช่วยให้ผู้คนมีศักยภาพมากเพียงพอในการประกอบอาชีพเพื่อหารายได้ให้กับตนเองและครอบครัว ผ่านแนวคิด ‘Learn to Earn ทุกคนต้องได้เรียน เรียนแล้วต้องมีรายได้’ หน้าที่ของรัฐจึงเป็นการค้นหาศักยภาพที่ซ่อนอยู่ในแต่ละครอบครัวเพื่อจับคู่กับตำแหน่งในตลาดแรงงาน หากครอบครัวใดมีความสามารถไม่เพียงพอก็จำเป็นต้องใช้นวัตกรรมเข้าไปเสริมให้พวกเขามีทักษะเพียงพอต่อการประกอบอาชีพ

“เราอย่ามองว่าการศึกษาเป็นเรื่องที่ต้องให้คนเข้าไปอยู่ในระบบเท่านั้น การศึกษาคือการเรียนรู้ ทำอย่างไรให้ทุกคนสามารถเรียนรู้เพื่อยกระดับความสามารถของตนเองได้ วันนี้โลกหลังโควิดนั้นเปลี่ยนไป  หลายอาชีพตายไปแล้ว บางอาชีพต้องอาศัยความรู้ที่มากขึ้น ความรู้เดิมอาจใช้ไม่ได้ เพราะฉะนั้นความรู้จึงไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่ในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย”

ดร.ณหทัย ทิวไผ่งาม ประธานคณะที่ปรึกษา
ด้านส่งเสริมศักยภาพการแข่งขันของประเทศ พรรคเพื่อไทย

มากไปกว่านั้น การแก้ปัญหาดังกล่าวต้องควบคู่กับการทำงานผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (ICT) หากสามารถระบุได้ว่าแต่ละครัวเรือนมีจำนวนกี่คน แต่ละคนประกอบอาชีพใดบ้าง สถานะทางเศรษฐกิจเป็นอย่างไร แบกรับหนี้ครัวเรือนอยู่เท่าไหร่ ใครสมควรได้รับการช่วยเหลือจากทางภาครัฐอย่างเร่งด่วน และหน่วยงานใดที่ต้องเข้าไปประสานกับชุมชน ฯลฯ รูปแบบการทำงานเช่นนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากไม่มีการเชื่อมโยงฐานข้อมูลที่แต่ละหน่วยงานมี และช่วยกันขับเคลื่อนไปพร้อม ๆ กันทั้งขบวน

“เราต้องทำการเรียนรู้เชิงรุก เตรียมเครื่องมือกับเครือข่าย เทคโนโลยีต้องเข้าถึงประชาชนทั้งหมด” ดร.ณหทัย เน้นย้ำความสำคัญในการใช้เทคโนโลยีในการทำงานกับประชาชน

“คำว่าปฏิรูปอาจไม่เพียงพอ เราต้องออกแบบนโยบายที่ปฏิวัติวงการการศึกษา”

ธิดารัตน์ ยิ่งเจริญ โฆษกพรรคไทยสร้างไทย เสนอมุมมองว่าการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษานั้น การใช้คำว่าปฏิรูปอาจไม่เพียงพอ เนื่องจากจำเป็นจะต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิดและแนวทางการจัดศึกษาใหม่ ให้เหมาะสมกับโลกในปัจจุบัน ผ่านแนวคิดหลัก 4 ข้อดังนี้

[1] ทบทวนเป้าหมายของการศึกษา

เป้าหมายของการศึกษาต้องมุ่งเน้นให้นักเรียนได้มีโอกาสในการค้นหาตัวเองได้เร็วที่สุด ทำให้เยาวชนรับรู้ว่าสิ่งที่ตนเองสนใจนั้นสอดคล้องกับตลาดแรงงานหรือไม่ ช่วยเหลือให้สังคมดีขึ้นได้อย่างไร และต้องทำให้เด็ก ๆ สามารถปรับตัวกับโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วได้ และหาความรู้ได้ด้วยตนเองผ่านวิธีการทางวิทยาศาสตร์

[2] ปรับระยะเวลาในการเรียนรู้

ในปัจจุบัน นักเรียนไทยใช้เวลาในห้องเรียนเฉลี่ย 80 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างฟินแลนด์ ที่นักเรียนใช้เวลาในห้องเรียนเฉลี่ย 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ (อ้างอิง : PISA THAILAND) และมีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาที่ต่ำกว่าอย่างเห็นได้ชัด

“เป็นไปได้ไหมที่จะปรับลดเวลาเรียนเหลือเพียง 3 วัน แล้วใช้เวลาที่เหลือไปกับการฝึกงาน หาประสบการณ์ เพื่อค้นหาตัวเอง”

ยิ่งค้นหาตัวเองเจอเร็วเท่าไร รับรู้ว่าความสามารถที่ตนเองมีสอดคล้องกับตลาดแรงงานหรือไม่ จะทำให้พวกเขามีโอกาสในการประกอบอาชีพในอนาคต และทดแทนแรงงานที่ขาดหายไปในสังคมสูงวัยที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่

[3] พัฒนาวิธีการจัดการศึกษา

พัฒนาการรูปแบบสอนให้เด็กเรียนรู้ผ่านกระบวนการคิด (Active Learning) ทดแทนการท่องจำ (Passive Learning) และทำให้สามารถนำความรู้ไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน

[4] ปฏิวัติการเข้าถึงการจัดการเรียนรู้

ทำให้การเรียนฟรี ‘ต้องฟรีจริง’ จนถึงปริญญาตรี หรือสุดความสามารถที่แต่ละคนมีอย่างทั่วถึง

การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาไม่ควรโฟกัสแค่การพัฒนาระบบการศึกษาให้ดีขึ้น แต่ต้องมองภาพใหญ่ในเชิงโครงสร้าง สวัสดิการที่ประชาชนควรได้รับตั้งแต่ “เด็กที่เกิดมา มารดาที่คลอดบุตร” ตลอดจนถึงวัยทำงานและวัยชรา การดูแลตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำจะทำให้ประเทศไทยหลุดออกจากปัญหาความเหลื่อมล้ำได้อย่างยั่งยืน

ธิดารัตน์ ยิ่งเจริญ โฆษกพรรคไทยสร้างไทย

“เราเชื่อว่าเราจำเป็นต้องดูแลเด็กตั้งแต่วันที่เขาเกิดมา ทำให้เขาสามารถอยู่ได้โดยไม่ทำให้พ่อแม่รู้สึกว่าเกิดมาแล้วจะดูแลยังไง จะหาเงินจากที่ไหน และจำเป็นต้องมีสวัสดิการรองรับ” ธิดารัตน์ทิ้งท้าย