“ระบบการศึกษาที่ทุกคนมีทางเลือกและตอบโจทย์ชีวิต” ข้อเสนอนโยบายเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

“ระบบการศึกษาที่ทุกคนมีทางเลือกและตอบโจทย์ชีวิต” ข้อเสนอนโยบายเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

ความยากจนข้ามรุ่น

คือ อุปสรรคสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยติดกับดักรายได้ปานกลาง หนึ่งในทางแก้ที่ยั่งยืนแต่ต้องใช้เวลาคือ โอกาสทางการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเสมอภาคและทั่วถึง

แต่โอกาสต้องมาพร้อมกับการเข้าถึงการศึกษา ที่อันดับแรก ต้องไม่หลุดออกจากระบบการศึกษาก่อน

แล้วต้นเหตุการหลุดคืออะไรกันแน่?
เพราะเด็กไม่เข้ากับระบบ หรือระบบไม่เข้ากับเด็ก?

โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนจำนวน 2.5 ล้านคนที่มาจากครัวเรือนยากจน 20% ท้ายของประเทศ

กสศ. ร่วมกับ ‘เครือข่ายนวัตกรรมการศึกษาทางเลือก’ ทำงานวิจัยเชิงพื้นที่ ริเริ่มใหม่ในการทำงานเพื่อเรียนรู้ ทดลอง พัฒนานวัตกรรม สร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลง ตลอดจนทำความเข้าใจสภาพปัญหา แสวงหาข้อค้นพบและทางออกใหม่ ๆ ที่จะช่วยบรรเทาปัญหาและลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษา

จนได้ออกมาเป็น “ระบบการศึกษาที่ทุกคนมีทางเลือกและตอบโจทย์ชีวิต ทางออก ปัญหาเด็กและเยาวชน หลุดนอกระบบ” ข้อเสนอนโนบายเร่งด่วนถึงว่าที่รัฐบาลใหม่ เพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ที่มุ่ง “ทำความเข้าใจเด็กจริง ๆ ” บนความเชื่อร่วมกันว่าระบบการศึกษาที่ดีและเหมาะสมคือ ระบบการศึกษาที่ทุกคนมีทางเลือกและตอบโจทย์ชีวิต

มีอะไรบ้างนั้น ภาพและคำอธิบายจาก Visual Note ชุดนี้คือคำตอบ

เพราะเด็กไม่เข้ากับระบบ หรือ ระบบไม่เข้ากับเด็ก?

20.2 ล้านคน หรือ ร้อยละ 51 คือสถานการณ์แรงงานนอกระบบของประเทศไทยล่าสุด โดยแรงงานนอกระบบสำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษามากที่สุด ร้อยละ 27.0 รองลงมาเป็น ระดับต่ำกว่าประถมศึกษาร้อยละ 22.5 ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นร้อยละ 17.6 ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ร้อยละ 17.5 ระดับอุดมศึกษาร้อยละ 12.2 และผู้ไม่มีการศึกษาร้อยละ 2.9

ขณะที่งานวิจัยเชิงลึกเกี่ยวกับเยาวชนที่ไม่ได้อยู่ในการทำงานการศึกษา หรือการฝึกอบรม (Youth Not in Employment, Education, or Training: NEET) ในประเทศไทย ซึ่งจัดทำโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและสนับสนุนโดยองค์การยูนิเซฟประเทศไทย ระบุว่า ไทยมีเยาวชนอายุ 15-24 ปี จำนวน 1.4 ล้านคน ที่ไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษาและอบรมใด ๆหรือคิดเป็นร้อยละ  15 ของเยาวชนรุ่นนี้ ขณะที่ 7 ใน 10 คน ออกจากโรงเรียน ไม่กลับไปเรียนต่อหรือหางานทำ เพราะหมดความหวังและกำลังใจ ไม่อยากพัฒนาทักษะ

ภายใต้ความหมดหวังและท้อใจ อะไรคือสาเหตุ เพราะเด็กไม่เข้ากับระบบ หรือ ระบบไม่เข้ากับเด็ก?

ระบบการศึกษาที่ไม่มีทางเลือก ผลักให้เด็กและเยาวชนต้องหลุดจากระบบ

รายงานผลการวิเคราะห์ข้อมูลของเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาใน

ประเทศไทยซึ่งสำรวจกลุ่มตัวอย่าง จำนวน  35,003 คน โดย กสศ. ร่วมกับเครือข่ายด้านเด็กและเยาวชน 67 องค์กร ทั่วประเทศ  พบว่า เด็กและเยาวชนนอกระบบต้องการได้รับการช่วยเหลือด้านการศึกษามากที่สุด รองลงมาคือด้านการฟื้นฟูสุขภาพกาย ด้านที่พักอาศัย ด้านการฟื้นฟูทางด้านจิตใจ 

แม้จะมีความต้องการความช่วยเหลือด้านการศึกษา แต่ร้อยละ 78.23 หรือ 4 ใน 5  คน  ไม่มีเป้าหมายทั้งด้านการศึกษาและการประกอบอาชีพที่ชัดเจน

ระบบการศึกษาที่ขาดแคลนทางเลือก  ไม่สามารถตอบสนองความต้องการที่แตกต่าง หลากหลาย และมีความซับซ้อน เป็นสาเหตุสำคัญของการผลักดันให้เด็กและเยาวชนหลุดออกจากระบบการศึกษาและระบบสังคม โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนในครัวเรือนยากจน ด้อยโอกาส ได้แก่ กลุ่มพิการและกลุ่มที่มีความต้องการพิเศษด้านการเรียนรู้ มีความสามารถพิเศษ  เด็กและเยาวชนที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรม  ตั้งครรภ์ในวัยเรียน ฯลฯ

ข้อเสนอนโยบาย สลายปมในและนอกระบบ

การศึกษาเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน  รัฐมีหน้าที่สนับสนุนให้เกิดหน่วยจัดการเรียนรู้ที่หลากหลายที่ประชาชนทุกคนมีสิทธิเสรีภาพอย่างเท่าเทียมและเสมอภาคในการเลือกเส้นทางการศึกษา ตามความถนัด ความต้องการ และความจำเป็นพื้นฐานแห่งชีวิต เพื่อให้สามารถพัฒนาตนเองได้อย่างเต็มศักยภาพ  กสศ. และ ‘เครือข่ายนวัตกรรมการศึกษาทางเลือก’ จึงมีข้อเสนอดังนี้

1.สนับสนุนให้เกิดหน่วยจัดการเรียนรู้ที่หลากหลายทางเลือกและเป็นนวัตกรรม ตอบโจทย์ที่แตกต่างกัน 

หน่วยจัดการเรียนรู้ดังกล่าวควรเข้าถึงได้อย่างเสมอภาค มีความยืดหยุ่นทั้งเวลา รูปแบบ และเงื่อนไขในการเข้ารับบริการทางด้านการศึกษา

ตัวอย่างนวัตกรรมหน่วยจัดการเรียนรู้หลากหลายทางเลือก  อาทิ หนึ่งโรงเรียนหลายระบบ, หนึ่งตำบลหรือชุมชน หนึ่งหน่วยจัดการเรียนรู้ทางเลือก ,หลักสูตรอาชีพระยะสั้น Upskill & reskill  ,โรงเรียนมือถือ, Open Education , Online Learning Platform ,บ้านเรียน ,ศูนย์การเรียน ,ช้างเผือก Academy

2.ระบบติดตามค้นหาและฐานข้อมูลรายบุคคลที่ไร้รอยต่อ 

ขยายผลระบบสารสนเทศและฐานข้อมูลรายบุคคลและรายสถานศึกษาระยะยาว (Longitudinal Database) ที่ กสศ. ได้ร่วมมือกับทุกหน่วยงานต้นสังกัดทางการศึกษาวิจัยพัฒนาขึ้น เพื่อใช้ในการค้นหาเด็กและเยาวชนที่หลุดจากระบบ โดยนำทะเบียนราษฎร์จากฐานข้อมูลของกรมการปกครองกระทรวงมหาดไทยและจำนวนนักเรียนตามระดับการศึกษาจากหน่วยงานทางการศึกษาทุกสังกัดมาเปรียบเทียบ ให้สามารถชี้เป้าหมายเด็กและเยาวชนที่หลุดจากระบบในเบื้องต้นได้

3. ปิดช่องว่างของกฎหมายและแนวทางปฏิบัติ

• อาศัยโอกาสการเกิดขึ้นของ พระราชบัญญัติส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 เป็นจุดเปลี่ยนพาประเทศไทยให้ไปสู่การมีระบบการเรียนรู้ที่ทุกคนมีทางเลือกและตอบโจทย์ชีวิต โดยสนับสนุนให้กรมส่งเสริมการเรียนรู้ ซึ่งมีหน้าที่จัด ส่งเสริม และสนับสนุนการเรียนรู้ 3 รูปแบบ คือ การเรียนรู้ตลอดชีวิต การเรียนรู้เพื่อการพัฒนาตนเอง และการเรียนรู้เพื่อคุณวุฒิตามระดับ สามารถดำเนินงานได้จริงตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ช่วยคลี่คลายช่องว่างหรือปัญหาอุปสรรคของการจัดการศึกษาทางเลือกตลอดเวลาที่ผ่านมา

• มีกลไกที่รับผิดชอบ ดูแล ส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาทางเลือกที่มีความเชี่ยวชาญโดยตรง ตามมาตรา12 พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ตั้งแต่ระดับชาติ(ส่วนกลาง) -ภาค-ท้องถิ่น-จังหวัด และให้มีตัวแทนจากองค์กร/เครือข่ายการศึกษาทางเลือกมาตรา12 ของสถาบันสังคมมีส่วนร่วมด้วย เพื่อขจัดอุปสรรคในทางปฏิบัติของการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยสถาบันทางสังคม ซึ่งเป็นการศึกษาทางเลือกที่มีสถานะทางกฎหมาย เป็นอีกเส้นทางหนึ่งของระบบการเรียนรู้ที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างจริงจัง 

• ปรับปรุงระเบียบที่เกี่ยวข้องให้เป็นทางเลือกการศึกษาโดยไม่กำหนดเกณฑ์เรื่องอายุและคุณสมบัติของผู้เรียนเพื่อขยายโอกาสให้กับเด็กเยาวชนที่หลุดจากระบบการศึกษาได้เข้ารับการศึกษาขั้นพื้นฐานตามหลักการสิทธิเด็ก

4.ระบบสวัสดิการครอบคลุมทุกรูปแบบการจัดการศึกษา 

นโยบายเรียนฟรี 15 ปี  ควรเพิ่มงบประมาณให้ครอบคลุมการเรียนรู้ในทุกเส้นทาง เช่น ศูนย์การเรียนของสถาบันทางสังคมที่ดำเนินการโดยบุคคล องค์กรชุมชนหรือองค์กรเอกชน และองค์กรวิชาชีพ ซึ่งในปัจจุบัน มีเพียงการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานในศูนย์การเรียนสถานประกอบการเท่านั้นที่ได้รับการจัดสรรเงินอุดหนุนรายหัวแก่ผู้เรียน

ขณะที่ศูนย์การเรียนประเภทอื่นที่เป็นที่ทางเลือกของเด็กและเยาวชนที่มีข้อจำกัดในชีวิต กลับยังไม่มีระเบียบใด ๆ ออกมาสนับสนุนการจัดสรรเงินอุดหนุนรายหัว และสิทธิประโยชน์แก่ผู้เรียน เช่น การได้รับอาหารเสริมนม อาหารกลางวัน อุปกรณ์การเรียนการสอน เสื้อผ้า/ยูนิฟอร์ม การได้รับวัคซีน การตรวจสุขภาพจากสถานพยาบาล  นอกจากนี้ ควรพัฒนาการจัดชุดสวัสดิการที่เหมาะสมกับความต้องการตามสภาพปัญหาของเด็กและเยาวชนเป็นรายคน  เช่น กลุ่มแม่วัยใส เด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรม เด็กพิการ หรือ ผู้ที่ต้องการพัฒนาทักษะอาชีพ เป็นต้น

5. พัฒนาคูปองส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต หรือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐด้านการศึกษา หรือ Education Credit ID   

เพื่อเพิ่มความสามารถในการเข้าถึงบริการทางการศึกษา ซึ่งรัฐสามารถจัดสรรเงินอุดหนุนจากรัฐบาลไปยังเด็กและเยาวชนกลุ่มยากจนด้อยโอกาสโดยตรง ให้สามารถใช้คูปองหรือ Credit ดังกล่าวในการเลือกเรียนรู้ ฝึกอบรม ได้ทุกที่ ทุกเวลาตามความต้องการ โดยจัดสรรจากงบประมาณแผ่นดิน ทุนอุดหนุนจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ด้วยเลข 13 หลักและ Prompt Pay ของเยาวชนทุกคนอย่างมีประสิทธิภาพและสะดวกรวดเร็ว รวมทั้งใช้ในการเก็บข้อมูลเครดิตการเรียนไปใช้ในการสมัครงาน และศึกษาต่อในอนาคตได้

6. พัฒนาเครือข่ายอินเทอร์เน็ตให้ครอบคลุมในพื้นที่ทุกจุดอย่างแท้จริง ไม่ใช่เฉพาะเพียงจุดใดจุดหนึ่งของชุมชนเท่านั้น 

รวมถึงสนับสนุนความเสมอภาคในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของเด็กเยาวชนวัยเรียนโดยเฉพาะกลุ่มผู้ด้อยโอกาสผ่านการสนับสนุน Sim / E-Sim แก่เด็กเยาวชนวัยเรียนการศึกษาขั้นพื้นฐาน (3-18 ปี) หรือเยาวชนที่กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยไม่มีค่าใช้จ่าย สนับสนุนการเข้าถึงโปรแกรมและช่องทางการศึกษาที่ลงทะเบียนกับ กสทช. ได้ฟรี สนับสนุนอุปกรณ์เข้าถึง เช่น โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ ที่มีการ Trade-in ในโปรโมชันเครื่องเก่าแลกใหม่ที่ยังสามารถใช้งานได้ ให้แก่นักเรียนยากจนด้อยโอกาสที่ยังไม่มีอุปกรณ์

อ่านข้อเสนอข้อเสนอนโนบายเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาฉบับเต็มได้ที่นี่ : เปิด 3 ข้อเสนอเร่งด่วนจาก กสศ. ในวาระเลือกตั้ง เพื่อเด็กยากจน 2.5 ล้านคน หลุดพ้นจากวงจรยากจนข้ามรุ่น
ชมไลฟ์ย้อนหลัง : https://fb.watch/k6auOImbjU/?mibextid=1YhcI9R