“ปัญหาสายตาในเด็ก” กำแพงกั้นการเรียนรู้ที่ผู้ใหญ่ต้องช่วยกันดูแล

“ปัญหาสายตาในเด็ก” กำแพงกั้นการเรียนรู้ที่ผู้ใหญ่ต้องช่วยกันดูแล

การมองเห็นที่ดี เป็นเสมือนสมรรถนะเบื้องต้นของร่างกายที่จะช่วยสร้างประสิทธิภาพทางการเรียนรู้หรือการทำกิจกรรมต่างๆ ของเด็กเยาวชน ทว่าหากสายตาประสบปัญหาด้านการมองเห็นก็อาจจะกลายเป็นอุปสรรคสำคัญของการเรียนรู้เช่นกัน เพราะหากไม่ได้รับการแก้ไขหรือดูแลอย่างเหมาะสม ปัญหาด้านสายตาก็อาจจะกลายเป็นกำแพงขวางกั้นโอกาสในการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับแต่ละช่วงวัยได้

ศิริชัย คุ้มโห้ นักทัศนมาตรจากสมาคมทัศนมาตรแห่งประเทศไทย บอกกับเราว่า ปัญหาด้านสายตาในเด็กเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะหากเกิดปัญหา จะแก้ไขเหมือนกับผู้ใหญ่ไม่ได้ หากผู้ใหญ่ตรวจพบว่ามีสายตาสั้นก็ไปตัดแว่นเพื่อแก้ไขภาวะผิดปกติของสายตา แต่สำหรับเด็กนั้นแตกต่างออกไป เนื่องจากระบบการมองเห็นในเด็กตั้งแต่แรกเกิดยังไม่สมบูรณ์ 100% สายตาของพวกเขายังต้องใช้เวลาในการการพัฒนาต่อเนื่องตั้งแต่แรกเกิดถึงอายุประมาณ 6 ขวบ จึงจะผ่านช่วงเวลาปรับการมองเห็นให้สมบูรณ์เหมือนกับผู้ใหญ่

ศิริชัย คุ้มโห้ นักทัศนมาตรจากสมาคมทัศนมาตรแห่งประเทศไทย

“หากเด็กคนไหนประสบปัญหาด้านสายตา ไม่สามารถมองเห็นภาพที่ชัดเจนได้ในช่วงอายุตั้งแต่แรกเกิดถึง 6 ขวบ การพัฒนาการมองเห็นของเด็กนั้น ก็จะเกิดขึ้นยาก เพราะการพัฒนาการมองเห็นนั้นต้องประกอบด้วยปัจจัยทั้งทางด้านสายตาและสมอง ซึ่งก็คือศูนย์รับภาพการมองเห็น ถ้าพัฒนาการนี้ไม่เกิด ก็แสดงว่าเด็กคนดังกล่าวจะไม่สามารถมองเห็นได้ตามปกติ และตัวเด็กจะคิดว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเอง ภาพที่เห็นอยู่เป็นเรื่องปกติ” 

ศิริชัยเล่าต่อไปว่าเด็กเล็ก มักจะขาดทักษะในการสื่อสาร จึงไม่สามารถบอกได้ว่าตัวเองมองเห็นได้ชัดเจนหรือไม่ ไม่สามารถแยกความแตกต่าง ระหว่างการเห็นภาพชัด และการเห็นภาพไม่ชัดเจนได้ ซึ่งหากตรวจพบปัญหาได้เร็ว ก็จะยิ่งเป็นผลดีกับเด็ก โดยเฉพาะโรคบางโรคที่สามารถแก้ไขได้ถ้าตรวจพบเร็วตั้งแต่ยังเล็ก เช่น สายตาขี้เกียจ และตาเข ซึ่งเป็นโรคที่สามารถรักษาได้หากรักษาตั้งแต่เด็ก หากไปรักษาตอนที่เด็กมีอายุมากขึ้น ผลการรักษาอาจจะไม่ดีเท่ากับการเริ่มรักษาตั้งแต่วัยที่ยังอายุไม่เยอะ

“กรณีผู้ใหญ่หากเห็นภาพมัว เมื่อไปตัดแว่นสวมใส่ก็มองเห็นชัดได้ เพราะว่าพัฒนาการการมองเห็นของผู้ใหญ่คนนั้น ๆ สมบูรณ์ไปแล้วตั้งแต่อายุ 6 ขวบแล้ว แต่กรณีของเด็กที่สายตาสั้นตั้งแต่ก่อนอายุ 6 ขวบ และไม่ได้รับการแก้ไขด้วยการสวมแว่น ก็จะเกิดการสายตาเสียถาวร อาจจะส่งผลให้หลังจาก 6 ขวบจะไม่สามารถพัฒนาการมองเห็นได้อีก แม้ว่าจะไปใส่แว่นหลังจากนั้น ก็จะไม่สามารถกระตุ้นให้เกิดพัฒนาการที่สมบูรณ์ 100% ได้”

การแก้ไขปัญหาด้านสายตาให้เด็กก่อนอายุ 6 ขวบ จึงเป็นเรื่องสำคัญมาก การเปลี่ยนแปลงทางสายตาของเด็กจะเกิดขึ้นทุกปีตามการเจริญเติบโต การแก้ไขภาวะสายตาสั้น ยาว หรือเอียงผิดปกติ ควรได้รับการตรวจและดูแลอย่างใกล้ชิดจากจักษุแพทย์ และแว่นตาจะช่วยให้เด็กมีระดับการมองเห็นที่ดีขึ้น 

ศิริชัยระบุอีกว่า ปัญหาด้านสายตาในเด็กเป็นปัญหาที่ไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับเด็กไทย แต่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับเด็กทั่วโลก โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการที่ผู้ปกครองปล่อยให้เด็กจ้องอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ตและโทรศัพท์มือถือติดต่อกันหลายชั่วโมง โดยไม่การควบคุมดูแล 

การจ้องจอโทรศัพท์นาน ๆ ต่อเนื่องเกิน 1 ชั่วโมงโดยไม่หยุดพักจะทำให้สายตาถูกกระตุ้นให้เกิดการเพิ่มของสายตาในเด็กได้ หากไม่ได้รับการแก้ไขหรือควบคุมดูแลอย่างถูกต้อง ปัญหา​สายตาที่เด็กคนนั้นประสบอยู่​ ก็อาจจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และเพิ่มขึ้นตามอัตราการเจริญเติบโตของเด็กที่โตขึ้นทุกปี

นอกจากนี้ ตาและระบบการมองเห็นของเด็กแต่ละคนยังอ่อนไหวและมีการเปลี่ยนแปลง จึงไม่ควรมองแสงที่สว่างมากเกินไป แสงสีฟ้าจากหน้าจอสมาร์ตโฟนสามารถทำลายจอประสาทตาของเด็ก จนนำไปสู่โรคทางสายตา หรือจอประสาทตาเสื่อมได้ โดยปัญหาด้านสายตาที่เพิ่มขึ้นนั้นอาจเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ ทั้งเกิดจากกระบอกตาที่ยาวขึ้น จนส่งผลให้จอตามีความโค้งได้มากกว่าปกติ กระบอกตาที่ยาวขึ้น จะทำให้เกิดความเสี่ยงในการเกิดโรคตามากขึ้นตามมา และปัญหาที่เห็นได้ชัด ก็คือการเรียนของเด็กคนนั้นจะถดถอยลง

“สิ่งที่พ่อแม่ผู้ปกครองและผู้ใกล้ชิดเด็กอย่างครูประจำชั้น สามารถตั้งข้อสังเกตเบื้องต้นว่าเด็กมีความผิดปกติทางสายตา คือเด็กคนนั้นจะไม่เล่นซน ปีนป่าย ไม่ค่อยกล้าออกไปเล่นนอกบ้าน หรือต้องหรี่ตาบ่อย ๆ เวลามองกระดานดำในห้องเรียน หากพบเจออาการดังกล่าว ผู้ปกครองหรือครูควรติดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในชุมชนหรือใกล้บ้านเพื่อขอรับความช่วยเหลือในการตรวจวัดสายตาเบื้องต้น และรักษาตามขั้นตอนต่างๆ ต่อไป” นักทัศนมาตรกล่าวทิ้งท้าย

กสศ. สปสช. จับมือท้องถิ่นทั่วประเทศ ช่วยเด็กยากจนเข้าถึงสิทธิคัดกรองสายตาและตัดแว่นฟรี หลังพบเข้าไม่ถึงบริการ ไม่รู้สิทธิ