Series: ‘สุรินทร์ปิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาทุกช่วงวัย’ EP 5: ‘หนองสนิทรุ่งเรืองเมืองเกษตรอินทรีย์’
ร้อยรวมชุมชนสู่การก่อตั้ง ‘ศูนย์การเรียนรู้เกษตรอินทรีย์ครบวงจร’

Series: ‘สุรินทร์ปิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาทุกช่วงวัย’ EP 5: ‘หนองสนิทรุ่งเรืองเมืองเกษตรอินทรีย์’

“คนจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ ต้องมีสุขภาพที่ดีก่อน และการที่ทุกคนมีสุขภาพที่ดีได้ ส่วนหนึ่งต้องมาจากการกินอาหารที่ดี เป้าหมายแรกของเราจึงมุ่งไปที่การสร้าง ‘ชุมชนอาหารปลอดภัย’ ให้สำเร็จ”  

นโยบายสั้น ๆ อันเป็นแรงขับเคลื่อนของสหกรณ์พืชผักอินทรีย์ที่ ต.หนองสนิท อ.จอมพระ จ.สุรินทร์ ที่ครั้งหนึ่งเคยประสบปัญหาการทำเกษตรไม่ได้ผล ผู้คนมีรายได้ไม่พอเลี้ยงครอบครัว เกษตรกรมีปัญหาด้านสุขภาพ ไปจนถึงเด็กเยาวชนจำนวนหนึ่งหลุดจากระบบการศึกษา เนื่องจากขาดแรงบันดาลใจในการเรียนรู้และการประกอบอาชีพ        

ขณะที่วันนี้ที่คนในชุมชนพร้อมใจกันเดินตามนโยบายชุมชนอาหารปลอดภัย เวลาเพียงสองปีผ่านมา พื้นที่ 21,293 ไร่ กับประชากร 5,232 คน ใน 10 หมู่บ้านที่ตำบลหนองสนิท ได้เกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ด้วยความร่วมมือที่เข้มแข็งในการสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ ภายใต้หลักบริหารจัดการมุ่งพัฒนาระบบเศรษฐกิจ ด้วยการทำเกษตรอินทรีย์ครบวงจร จนเกิดงานเกิดอาชีพที่มั่นคง และต่อยอดเป็น ‘ห้องเรียนชุมชน’ สำหรับคนทุกวัยทุกกลุ่ม ที่สามารถเข้ามาเรียนรู้พัฒนาตนเองได้อย่างต่อเนื่อง บนพื้นฐานความรู้เรื่องอาหารปลอดภัย และการทำเกษตรกรรมสมัยใหม่ที่ช่วยลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต ก่อนเดินหน้าสู่การสร้าง ‘ศูนย์การเรียนรู้ชุมชน’ เพื่อเป็นที่พึ่งของคนในพื้นที่ และยกระดับเป็นพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาท้องถิ่นด้วยฐานทุนชุมชน

หนองสนิทเดินทางมาถึงวันนี้ได้อย่างไร ?

สมเกียรติ สาระ ผู้รับผิดชอบโครงการส่งเสริมและพัฒนาทักษะเยาวชนและแรงงานนอกระบบ (กสศ.) อบต. หนองสนิท กล่าวว่า ความร่วมมืออย่างต่อเนื่องของเกษตรกรและหน่วยงานต่าง ๆ ทำให้ตำบลหนองสนิทสามารถวางแผนและกระจายการทำงานลงไปได้ในทุกระดับ โดยเฉพาะการมองไปยังเป้าหมายใหญ่ร่วมกัน แล้วเมื่อเครือข่ายแน่นเหนียว เป้าหมายที่เคยวางไว้แค่ชุมชนอาหารปลอดภัย ก็กลายเป็นการ ‘หักดิบ’ เลิกใช้เคมีในการทำเกษตรทุกกรณี เพราะทุกคนเห็นภาพอนาคตแล้วว่า ‘เกษตรอินทรีย์แบบ 100%’ จะพาหนองสนิทไปสู่ความสำเร็จที่จะพลิกชีวิตของทุกคนในตำบลอย่างยั่งยืน

นอกจากความร่วมมือภายใน ชาวหนองสนิทยังมีพลังเสริมจากการเข้าร่วมโครงการสร้างอาชีพจากฐานชุมชนกับ กสศ. ทำให้มีการเชื่อมโยงองค์ความรู้จากทีมพี่เลี้ยงผู้มีประสบการณ์เข้ามาเสริม เติมด้วยทุนที่เข้ามาหนุนให้เกิดการก่อตั้งธนาคารพืชผัก เพื่อบริหารจัดการการผลิต จนสามารถเปิดตลาดจำหน่ายผลผลิตให้กว้างออกไป ทั้งยังขยายเป้าหมายเรียนรู้จากกลุ่มเกษตรกรไปถึงเยาวชน ผู้สูงอายุ และเป็นที่พึ่งให้กับแรงงานนอกระบบได้เป็นอย่างดีในช่วงวิกฤตโควิด-19

“ปีแรกเราลองผิดลองถูก เริ่มจากเลิกใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลง ซึ่งแน่นอนว่ายังไม่เห็นผลในการปลูกเพียงครั้งเดียว แต่พอทำซ้ำหนที่สองที่สาม คุณภาพดินก็ดีขึ้น ผักมีคุณภาพดีขึ้น พอปีที่สองเราวางแผนกระจายการปลูกผักแต่ละชนิดไม่ให้ซ้ำกัน โดยคำนวณให้เพียงพอกับปริมาณการบริโภคของชุมชน แล้วเริ่มเข้าไปเชื่อมโยงกับโรงเรียนในพื้นที่ตำบล ผลิตพืชผักอินทรีย์ให้เด็กนักเรียนได้มีอาหารกลางวันที่ปลอดภัยและมีคุณภาพ ขณะเดียวกันก็หมุนเวียนเม็ดเงินให้อยู่ในชุมชนมากที่สุด ก่อนถึงปีที่สาม ซึ่งเรามั่นใจแล้วว่ามีฐานการผลิตที่แข็งแรงขึ้น จึงเริ่มออกไปเชื่อมโยงกับโรงพยาบาลเจ็ดแห่งในอำเภอจอมพระ จนสามารถเพิ่มมูลค่าผลผลิตคืนกลับมายังตำบลได้เป็นเงินหลักล้านบาท

“อย่างไรก็ตาม ในขั้นตอนการผลิตเรายังเอาใจใส่อย่างต่อเนื่อง ด้วยความร่วมมือจากทีมแพทย์จากโรงพยาบาลจอมพระ ที่เข้ามาตรวจสารเคมีในผักเพื่อรับรองมาตรฐานเป็นประจำ พืชผักหนองสนิทจึงพร้อมก้าวไปอีกขั้น กับการเป็นแหล่งผลิตอาหารปลอดภัยภายใต้แบรนด์ ‘สหกรณ์เกษตรอินทรีย์หนองสนิท’ ส่งออกผลผลิตไปยังตลาดขนาดใหญ่ทั้งในและนอกอำเภอ รวมถึงได้ไปวางใน TOP ซูเปอร์มาเก็ต และมีการสั่งซื้อจากผู้ประกอบการรายใหญ่”

พร้อมตั้ง ‘ศูนย์เรียนรู้ชุมชนหนองสนิท’ ส่งเสริมหลักสูตรพัฒนาอาชีพเกษตรอินทรีย์ครบวงจร

ศุภราช สุขเกษม รองนายก อบต.หนองสนิท กล่าวว่า ย้อนกลับไปก่อนจะเกิดสหกรณ์พืชผักอินทรีย์หนองสนิท ทางตำบลได้ร่วมกับ กสศ. ทำงานเชิงพื้นที่เรื่องเยาวชนนอกระบบ จนพัฒนาเป็นพื้นที่อบรมทักษะโดยมุ่ง ‘จัดการศึกษาเฉพาะทางนอกโรงเรียน’ โดยมีเยาวชนนอกระบบชุดแรก 50 คน ที่สนใจเรียนรู้การประกอบอาชีพจากฐานทุนเดิมของครอบครัว คือการเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ โดยเดินหน้าทำอย่างต่อเนื่องจนเกิดเป็นพื้นฐานหลักสูตรเกษตรและการทำปศุสัตว์แบบอินทรีย์ แล้วถึงวันนี้ที่สหกรณ์พืชผักหนองสนิทเติบโตขึ้น ทางตำบลจึงคิดว่าจะต่อยอดให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ ให้คนทุกกลุ่มทุกช่วงวัยมีช่องทางไปสู่การประกอบอาชีพที่ยั่งยืน

ศูนย์การเรียนรู้ที่จะเกิดขึ้น เราไม่ได้วางไว้ว่าต้องเป็นตึกเป็นอาคารขนาดใหญ่ แต่จะเป็นระบบเชื่อมโยงคนทำเกษตรอินทรีย์กลุ่มต่าง ๆ ออกแบบเป็นหลักสูตรเฉพาะ โดยมีเรื่องพืชผักอินทรีย์เป็นตัวนำ เสริมด้วยเรื่องของการเลี้ยงไก่พันธ์เนื้อ ไข่ไก่อินทรีย์ การเลี้ยงวัวพันธุ์พื้นเมืองและสายพันธุ์ใหม่ การเลี้ยงปลา การแปรรูปผลผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ซึ่งทั้งหมดจะผ่านการสำรวจ รวบรวมข้อมูล วางแผนออกแบบกระบวนการร่วมกัน มีวิทยากรชำนาญทั้งในและนอกพื้นที่เป็นแกนหลัก ก่อนที่ในอนาคตเราจะผลักดันให้เกิดเป็นสถาบันการศึกษาทางเลือก ที่ผู้เรียนสามารถเข้ารับการพัฒนาทักษะอาชีพ เก็บหน่วยกิต และรับวุฒิการศึกษาได้

“วันนี้เรามีคนทุกกลุ่มทุกประเภทที่สนใจเข้ามาฝึกอาชีพ ซึ่งทาง อบต. กับ กศน. หนองสนิท ได้ช่วยวางเส้นทางการเรียนรู้ รวมถึงสร้างวงจรหารายได้ระหว่างทาง โดยมีทุนตั้งต้นสำหรับประกอบอาชีพและเรียนรู้ไปพร้อมกัน เช่น เลี้ยงวัว เลี้ยงไก่ เป็นการประกันรายได้และใช้เวลาสั้น ๆ ในการฝึกฝนเรียนรู้ทักษะพื้นฐาน โดยมองว่าสิ่งที่ผู้เรียนควรได้รับในจุดเริ่มต้นคือกำลังใจ ก่อนจะไปให้ถึงความชอบความสนใจและความถนัด อันเป็นปลายทางของการตั้งหลักประกอบอาชีพในอนาคต”

พื้นที่เรียนรู้ของคนทุกกลุ่มทุกช่วงวัย

ครูธัญยธรณ์ พจนะแก้ว จาก กศน. อ.จอมพระ กล่าวว่า บทบาทของ กศน. คือการมีส่วนร่วมเรื่องการจัดการเรียนรู้ในพื้นที่ ด้วยวิธีบูรณาการพร้อมกันกับทุกหน่วยงาน ทั้งท้องที่ ท้องถิ่น ภาครัฐ เอกชน ประชาชน ดังนั้นจึงเห็นจุดเด่น-จุดด้อยของตำบล ว่าควรพัฒนาจากตรงไหน โดยเฉพาะในการจัดการศึกษาสำหรับเด็กหลุดออกจากระบบ ที่มีโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชน ซึ่งเน้นสร้างจิตสำนึกรักพื้นที่ จุดประกายอาชีพในชุมชน พาเด็กเปลี่ยนวิธีคิด มุมมอง และสร้างเป้าหมายชีวิต

“ประเด็นสำคัญคือผู้เรียนต้องได้วางแผนชีวิตด้วยตัวเอง ได้ทดลองเขียนโครงการที่อยากทำ ค้นหาภาพความฝัน จากนั้นจึงเป็นเรื่องของการไปให้ถึงวุฒิการศึกษาภาคบังคับ ผ่านกิจกรรมพัฒนาทักษะชีวิต พัฒนาสังคม-ชุมชน โดยมีผู้ใหญ่ในชุมชนคอยสนับสนุน แล้วเรามีโรงเรียนผู้สูงอายุซึ่ง อบต.หนองสนิท ตั้งขึ้นจากฐาน กศน. ตำบล จนเป็นพื้นที่เรียนรู้ให้คนสองรุ่นมาพบกัน

“ผู้สูงอายุเองจะคอยช่วยดูแลแนะนำเด็ก ๆ ในเรื่องภูมิปัญญา ทักษะชีวิต ส่วนเด็ก ๆ ก็จะนำความสดใหม่และองค์ความรู้ใหม่ ๆ มาเติมเต็มให้คนรุ่นเก่า นี่คือพลังภายในของการทำงานเชิงพื้นที่ เป็นต้นทุนที่ต่อยอดไปถึงผู้ปกครองของเด็ก ๆ ดึงดูดให้คนวัยอื่น ๆ กลุ่มอื่น ๆ เข้ามาร่วมกันเป็นเครือข่ายเรียนรู้ของตำบล”

‘พลังคนพื้นที่’ ที่ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ

มัสยา คำแหง หัวหน้าพี่เลี้ยงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โครงการส่งเสริมและพัฒนาทักษะเยาวชนและแรงงานนอกระบบ กล่าวว่า ความสำเร็จของตำบลหนองสนิทในวันนี้ เกิดจากความเข้าใจและเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย ทำให้ภาคีแต่ละฝ่ายสามารถเสริมเติมจุดที่ขาดพร่องจนเต็ม ทั้งความรู้ การตอบสนองที่สอดคล้องกับสถานการณ์ และที่สำคัญคือการรวมกลุ่มลงมือทำไปด้วยกัน จนได้ผลลัพธ์ที่จับต้องได้จริง

“เราเห็นผลตอบแทนที่คืนกลับมาทั้งในด้านคุณค่าและมูลค่า ในฐานะการศึกษาทางเลือกสำหรับทุกคนที่ต้องการเรียนรู้เพื่อพัฒนาตัวเอง เป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบของ อบต.หนองสนิท ตั้งแต่ระดับนโยบาย บุคลากร กลไก จนถึงระดับบุคคล คือที่เกิดขึ้นได้เพราะทุกองคาพยพไปด้วยกันจริง ๆ แล้วถึงแม้สำเร็จเห็นผล โครงการจบแล้วแต่ทุกคนไม่ยอมจบงาน ยังมีการถอดบทเรียนอยู่เสมอ เพื่อหาแนวทางการพัฒนาเพิ่ม มองหากลุ่มเป้าหมายใหม่ ๆ เข้ามา กลายเป็นพื้นที่โอกาสของทุกคนที่ต้องการเรียนรู้ โดยไม่ต้องเดินทาง ไม่ต้องถูกตามหา นับว่าตอบโจทย์ของการสร้างการเรียนรู้ที่เหมาะสมสอดคล้องกับผู้ต้องการโอกาสจริง ๆ

‘ผู้รับ’ ที่เปลี่ยนเป็น ‘ผู้ให้’

จากคนกลุ่มเล็ก ๆ ที่เชื่อมั่นในสิ่งเดียวกันเมื่อสามปีก่อน วันนี้ชาวตำบลหนองสนิท ได้ขยายกลุ่มกระจายออกไปทั้งตำบล มีฐานที่แข็งแรงรองรับคนรุ่นต่อ ๆ ไป และศูนย์การเรียนรู้ที่กำลังเกิดขึ้น ยังเป็นตัวแบบที่จะสร้างทางเลือกและทางรอดให้กับคนในพื้นที่อื่น ๆ อีกด้วย

พี่แสงดาว หนึ่งในสมาชิกสหกรณ์พืชผักอินทรีย์หนองสนิท กล่าวว่า “สามปีแล้วที่ได้เข้าร่วมโครงการ ได้ปลูกผัก มีรายได้ เป็นวิถีชีวิตที่ทำให้คิดว่าถึงแม้เราไม่ได้มีโอกาสไปใช้ชีวิตข้างนอกเหมือนคนอื่น ๆ แต่เราได้อยู่บ้าน ได้ทำกิจกรรมร่วมกับพี่น้องในชุมชน ได้มีเวลาดูแลแม่ที่เป็นผู้ป่วยติดเตียง และตอนนี้ได้เข้าไปทำงานในตำแหน่งบัญชีของสหกรณ์ ฯ รู้สึกภูมิใจและตื้นตัน ขอบคุณทุกฝ่ายทุกคน ที่ทำให้ได้รับโอกาสนี้”

ด้าน พี่มัณฑนา บอกว่า ได้เข้ามาเริ่มงานตั้งแต่จุดแรกที่ไม่เข้าใจอะไรเลย มีเพียงความตั้งใจที่จะพัฒนาตนเองให้ดีขึ้น ถึงวันนี้รู้สึกภาคภูมิใจในตัวเองที่ได้รับเกียรติให้เป็นวิทยากร เป็นพี่เลี้ยงดูแลคนใหม่ ๆ ที่เข้ามา ได้ขยายผลจากสิ่งที่เรียนรู้ไปสู่สมาชิกคนอื่น ๆ ในหมู่บ้านของเรา และดีใจที่เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้พี่น้องในหมู่บ้านมีรายได้มั่นคงกว่าแต่ก่อน

‘สุรินทร์ปิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาทุกช่วงวัย’ – เพราะความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา คือปัญหาขนาดใหญ่ที่ไม่อาจแก้ไขได้ด้วยหน่วยงานใดหนึ่งเพียงลำพัง ต้องอาศัยความร่วมมือ และย่อขนาดปัญหาลงในระดับพื้นที่ โดยเริ่มจากจุดเล็ก ๆ ในจังหวัด ซึ่งจะทำให้ขนาดของปัญหาลดลงถึง 100 เท่า ดังนั้นการปิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำที่ยั่งยืน ย่อมเกิดขึ้นได้จากพลังของทุกคนในพื้นที่ แล้วความสำเร็จที่เกิดขึ้น จะเป็นการจุดประกาย ในฐานะตัวแบบที่จะขยายผลไปสู่พื้นที่อื่น ๆ ต่อไป