‘Learning Recovery Ideation Workshop’ ออกแบบไอเดียฟื้นฟูการเรียนรู้ผ่านการจัดสรรอินเทอร์เน็ตให้กับนักเรียนทุนเสมอภาค

‘Learning Recovery Ideation Workshop’ ออกแบบไอเดียฟื้นฟูการเรียนรู้ผ่านการจัดสรรอินเทอร์เน็ตให้กับนักเรียนทุนเสมอภาค

นับตั้งแต่การแพร่ระบาดโควิด-19 เข้ามาเปลี่ยนโฉมการเรียนรู้จากห้องเรียนออนไซต์เป็นห้องเรียนออนไลน์ ‘อินเทอร์เน็ต’ ก็กลายเป็นปัจจัยจำเป็นในการเข้าถึงการศึกษา เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่สำคัญเพื่อเปิดประตูสู่การเรียนรู้ สร้างความเสมอภาคทางการศึกษา และลดความเหลื่อมล้ำในอนาคต แต่ในสภาพความเป็นจริง ไม่ใช่ว่าทุกคนจะสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้อย่างเท่าเทียม

สิ่งนี้นำมาสู่การระดมไอเดียเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงกับกิจกรรม “Learning Recovery Ideation Workshop ออกแบบไอเดียฟื้นฟูการเรียนรู้” โดยห้องปฏิบัติการเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กสศ. หรือ Equity Lab ร่วมกับ อุทยานการเรียนรู้ TK Park และ BlackBox Team ชวนผู้สนใจจากหน่วยงานรัฐ ภาคเอกชน นวัตกรเพื่อสังคม ไปจนถึงทุกคนที่มีประสบการณ์ในการพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อการศึกษา มาช่วยกันระดมไอเดียเพื่อแก้ไขปัญหาการเรียนรู้ถดถอย เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 ณ ศูนย์การเรียนรู้อเนกประสงค์ อุทยานการเรียนรู้ TK Park ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ โดยเริ่มต้นจากโจทย์จริงที่ได้จากการสำรวจสถานการณ์ปัญหาของนักเรียนทุนเสมอภาคชั้น ม.ต้น ที่ได้รับผลกระทบจากการเรียนออนไลน์ในช่วงวิกฤตการณ์โควิด-19

Internet Lost Education Error!
นักเรียนยากจนพิเศษไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาได้

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ.

ในช่วงต้นของการเวิร์กช็อป ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ. สรุปภาพรวมสถานการณ์ที่ได้จากการสำรวจและวิเคราะห์การใช้จ่ายด้านอินเทอร์เน็ตของนักเรียนทุนเสมอภาคในปี 2564 เพื่อชวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมตรวจสอบสัญญาณปัญหาการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเพื่อการศึกษาของนักเรียนยากจนไปพร้อมกัน

ในตอนนั้น กสศ. ได้สำรวจด้วยวิธีโทรศัพท์ใน 2 กลุ่มตัวอย่าง คือ นักเรียนยากจนพิเศษ ซึ่งหมายถึงนักเรียนจากครัวเรือนที่มีรายได้น้อยที่สุดของประเทศ เฉลี่ยเดือนละ 1,398.75 บาท จำนวน 1,541 คน และนักเรียนครัวเรือนทั่วไป ซึ่งหมายถึงนักเรียนที่มาจากครัวเรือนที่มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 11,799.21 บาท จำนวน 861 คน กสศ. พบว่า นักเรียนยากจนพิเศษ เผชิญปัญหาการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเพื่อใช้ในการศึกษา จาก 3 สาเหตุสำคัญ ได้แก่

1.การไร้อินเทอร์เน็ตบ้าน 66% ของนักเรียนยากจนพิเศษ ใช้เน็ตมือถืออย่างเดียว เนื่องจากการใช้เน็ตบ้านมีค่าติดตั้งเพิ่มเติม บริการไปไม่ถึงพื้นที่ห่างไกล ต้องใช้ไฟฟ้าและเอกสาร ซึ่งบางบ้านไม่มี

2.การไร้อุปกรณ์ 71% ของนักเรียนยากจนพิเศษใช้โทรศัพท์มือถือในการเรียนรู้  และไม่ถึง 5% ที่มีแท็บแล็ตหรือคอมพิวเตอร์ ทำให้นักเรียนยากจนพิเศษส่วนใหญ่ได้รับประสบการณ์เรียนรู้ไม่เต็มที่ บ้างจ้องหน้าจอขนาดเล็ก บ้างทนกับแบตเตอรี่โทรศัพท์ร้อนเร็ว

3.การไร้เงินเติมอินเทอร์เน็ต นักเรียนยากจนพิเศษต้องเสียค่าเติมเงินมือถือสูงกว่าครัวเรือนทั่วไป ครอบครัวนักเรียนยากจนพิเศษมีรายได้น้อย แต่ 17% ของรายได้ครัวเรือนถูกใช้จ่ายเป็นค่าเติมเงินมือถือซึ่งมีสัดส่วนสูงกว่าครอบครัวนักเรียนทั่วไปถึงเกือบ 4 เท่าเลยทีเดียว

กสศ. ชวนผู้อ่านลองไปสำรวจสัญญาณปัญหาการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเพื่อการศึกษาของนักเรียนยากจนไปพร้อมกัน คลิก

ปัญหาดังกล่าวส่งผลถึงประสิทธิภาพการเรียนรู้ของเด็กวัยเรียน เมื่อเน็ตหลุด เน็ตหาย นั่นหมายถึงความไม่เสมอภาคทางการศึกษา หรือกระทั่งโอกาสที่อาจจะหลุดจากระบบการศึกษา และนี่ก็คือข้อมูลสำคัญที่ กสศ. นำมาใช้เป็นโจทย์ในการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมกันสนับสนุนการเดินทางของอินเทอร์เน็ตไปสู่ประตูบ้านของนักเรียนยากจนพิเศษ ซึ่งยังคงมีพื้นที่รอการพัฒนาให้ครอบคลุมและสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา โดย กสศ. มีข้อเสนอแนะดังต่อไปนี้

1.ข้อเสนอถึงหน่วยงานกำกับกิจการโทรคมนาคม

  • ต้องทำให้ประชาชนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ทุกพื้นที่ของประเทศไทย
  • ต้องทำให้ทุกคนมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจซื้ออินเทอร์เน็ตที่เท่ากัน
  • ต้องสร้างมาตรการเชิงรุกไม่ให้ความยากจนเป็นอุปสรรคในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะเพื่อการเรียนรู้

2.ข้อเสนอถึงผู้ให้บริการกิจการโทรคมนาคม

  • จัดทำซิมเพื่อการศึกษา ซิมฟรี หรือ ซิมเน็ตที่มีราคาถูกที่สุดสำหรับนักเรียน
  • จัดทำโปรโมชันเครื่องเก่าแลกเครื่องใหม่หรือส่วนลด เมื่อนำโทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ตเครื่องเก่าที่ยังมีคุณภาพไปให้นักเรียนที่ต้องการใช้เรียน

3.ข้อเสนอถึงผู้ให้บริการเติมเงินอินเทอร์เน็ต

  • ปรับลดอัตราค่าธรรมเนียมการเติมเงิน
  • ให้ข้อมูลราคาที่ครบถ้วนเพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจ เช่น จำนวนอินเทอร์เน็ตที่ได้รับในการเติมเงินแต่ละช่วงราคา และอัตราค่าธรรมเนียมของแต่ละช่วงราคา เป็นต้น
  • มีช่องทางการร้องเรียนและให้ข้อมูลที่เข้าถึงได้ สะดวก รวดเร็ว

ดร.ไกรยส เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (บอร์ด กสทช.) ได้มีมติเห็นชอบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงฟรีสำหรับนักเรียนยากจนพิเศษและคนพิการ โดยจะสนับสนุนซิมการ์ดอินเทอร์เน็ตให้กับนักเรียนทุนเสมอภาคชั้น ม.ต้น เริ่มจากกลุ่มตัวอย่าง 300,000 คนเพื่อวัดประเมินผลเป็นเวลา 6 เดือน

“อินเทอร์เน็ต คือเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้เด็กมีโอกาสเข้าถึงการศึกษา เราพบว่า นักเรียนทุนเสมอภาคคือกลุ่มที่มีโอกาสเข้าถึงอินเทอร์เน็ตอย่างจำกัด เพราะมีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่าย เราได้หารือกับหน่วยงานอย่าง กสทช. ซึ่งหลังจากรับทราบประเด็นปัญหาก็ได้เสนอว่าจะช่วยแก้ปัญหานี้ด้วยการให้ซิมฟรีกับนักเรียนทุนเสมอภาคในทุกสังกัด 300,000 คน เพื่อช่วยให้นักเรียนกลุ่มนี้สามารถใช้ช่องทางอินเทอร์เน็ตจากโทรศัพท์มือถือสำหรับการเรียนรู้  ทั้งสองหน่วยงานมองเห็นตรงกันว่าจะแจกโดยปราศจากรูปแบบและแนวทางการใช้งานไม่ได้ จำเป็นที่จะต้องจัดทำต้นแบบและแนวทางการแจกซิมการ์ดอย่างรอบคอบ เพื่อสร้างผลลัพธ์การเรียนรู้ที่ดีขึ้น และพัฒนาเป็นแนวทางในการแจกซิมการ์ดที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด

“เป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะช่วยกันหาเครื่องมือที่ถูกออกแบบมาจากไอเดียของคนที่เข้าใจสถานการณ์และมิติต่าง ๆ ของการศึกษา เพื่อมาเป็นหนึ่งในการผลักดันให้เด็กเยาวชนกลุ่มนี้มีโอกาสทางการศึกษาทั้งในระบบและได้พัฒนาตนเองในเส้นทางอื่น ๆ บนพื้นฐานความหลากหลายทางศักยภาพ ต่อยอดการเรียนรู้จากเครื่องมือที่ถูกคิดค้นขึ้นไปสู่การประสบความสำเร็จในชีวิตได้ สามารถปลดล็อกตัวเองออกจากกับดักความยากจน จนกลายเป็นคนที่ประสบความสำเร็จ และเปลี่ยนแปลงครอบครัวตนเองได้” ดร.ไกรยส เล่าถึงจุดประสงค์ของการจัดงาน Learning Recovery Ideation Workshop

ออกแบบไอเดียแก้ไขปัญหาจากโจทย์จริง

กิจกรรมในครั้งนี้ออกแบบโดยทีมงาน Equity Lab จากสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กสศ. ร่วมกับ BlackBox Team ศิรี จงดี รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กสศ. เผยว่า โปรเจกต์นี้ตั้งใจมองหาแนวทางนำซิมการ์ดอินเทอร์เน็ตไปให้นักเรียนทุนเสมอภาคชั้น ม.ต้น ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายเร่งด่วน 300,000 ซิม ซึ่งทั้ง กสทช. และ กสศ. เห็นตรงกันว่าเราจำเป็นต้องมีวิธีการ เครื่องมือ และแพลตฟอร์มการเรียนรู้ที่เหมาะสม เพื่อให้การฟื้นฟูการเรียนรู้ตอบสนองความต้องการของเด็กที่มีอย่างหลากหลาย และจำเป็นต้องจัดทำต้นแบบแนวทางการแจกซิมที่สร้างผลลัพธ์การเรียนรู้ที่ดีขึ้นสำหรับนักเรียนคนอื่น ๆ ด้วย

“วันนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่เราได้มองหาบุคลากรจากภาคส่วนต่าง ๆ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญและมีความเข้าใจในปัญหามาช่วยเราออกแบบไอเดียไปสู่การทำงาน เราถือว่าคนที่มาช่วยเราในวันนี้คือ ‘นวัตกร’ ที่มาช่วยให้ไอเดียว่าแพลตฟอร์มที่ดี ที่ตอบโจทย์ประเด็นต่าง ๆ จะมีหน้าตาอย่างไร และเพื่อหาความร่วมมือในการออกแบบไอเดียจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อให้ได้นวัตกรรมในการแก้ปัญหา และพัฒนาเป็นแนวทางในการแจกซิมการ์ดที่มีประสิทธิภาพ และสร้างรูปแบบการดูแลนักเรียนทุนเสมอภาคในประเด็นที่เราได้สำรวจพบ”

ทีมงานสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กสศ.

ศิรี เผยถึงข้อมูลเชิงลึกล่าสุดที่ทีมงานได้ลงพื้นที่สำรวจและเก็บข้อมูลเชิงลึกกับนักเรียนทุนเสมอภาคระดับชั้น ม.ต้น (ม.1-ม.3) และคุณครู ในโรงเรียนขยายโอกาสรวมกว่า 1,500 คน พบปัญหาที่จำเป็นเร่งด่วนใน 4 ประเด็น คือ 1.นักเรียนไม่ได้รับการแนะแนวเพื่อการศึกษาต่อและประกอบอาชีพอย่างเหมาะสม 2.การบูลลี่กันในโรงเรียน 3.นักเรียนไม่มาโรงเรียนจนหลุดออกจากระบบ 4.นักเรียนไม่รู้ความต้องการ ความสนใจ และไม่ได้รับการพัฒนาศักยภาพอย่างต่อเนื่อง 

ซึ่งในกิจกรรมเวิร์กช็อปนี้จะหาความร่วมมือในการออกแบบไอเดียจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) เพื่อนำไปสู่การทดลองนวัตกรรมในการแก้ปัญหาดังกล่าว (Prototype & test) และพัฒนาเป็นแนวทางในการแจกซิมอินเทอร์เน็ตที่มีประสิทธิภาพให้กับกลุ่มเป้าหมายต่อไป โดยจัดกลุ่มระดมความคิดออกแบบไอเดียตามปัญหาการศึกษาที่แต่ละคนสนใจ แล้วเลือกไอเดียหรือนวัตกรรมที่น่าสนใจและทำได้จริงมาเป็นแผนร่างความร่วมมือในก้าวต่อไปของการทำงาน

ศิรี จงดี รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กสศ.

ขาดการแนะแนวเพื่อการศึกษาต่อและประกอบอาชีพอย่างเหมาะสม

โจทย์นี้มาจากการสำรวจพบว่านักเรียนทุนเสมอภาคจำนวนหนึ่ง ไม่ทราบว่าตนเองสนใจเรื่องอะไร โตขึ้นอยากเป็นอะไร อยากมีอาชีพอะไร และเมื่อหาคำตอบเรื่องนี้ให้ตัวเองไม่ได้ พวกเขามักจะเลือกคำตอบเป็นอาชีพเดียวกับคนในครอบครัว  หลายคนไม่ทราบและไม่แน่ใจเลยว่าจะมีอาชีพใดที่เหมาะกับตัวเอง แม้แต่อาชีพในฝันก็เป็นสิ่งที่พวกเขาไม่กล้าฝันถึงและไม่กล้าเลือก เพราะคิดว่าตัวเองมีความสามารถไม่เพียงพอ ประกอบกับข้อจำกัดของสถานะทางบ้านที่ทำให้พวกเขามองว่าถึงมีความฝันก็เกิดขึ้นยากเพราะไม่มีปัจจัยสนับสนุน

นักเรียนทุนเสมอภาคส่วนหนึ่งให้ข้อมูลว่า โรงเรียนไม่มีครูแนะแนวโดยตรง ภาระหน้าที่ในส่วนนี้ถูกมอบหมายให้ครูประจำชั้น หรือครูสอนวิชาต่าง ๆ สิ่งที่เกิดขึ้นตามมา คือ ครูขาดความเชี่ยวชาญในการจัดกิจกรรมแนะแนวที่มีประสิทธิภาพ จึงมักให้คำแนะนำแบบ One Size Fit All ทำให้นักเรียนไม่รู้จักตัวเองชัด ไม่รู้ความสนใจ ความถนัดจุดแข็งหรือข้อจำกัดของตัวเอง และไม่มีความรู้ที่ช่วยให้ใช้อินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมือได้อย่างมีประสิทธิภาพ และแม้ว่าจะมีนักเรียนบางคนพยายามแก้ปัญหานี้ด้วยการหาความรู้ด้วยตัวเอง แต่ก็ตัดสินใจวางแผนอนาคตด้วยข้อมูลที่มีอยู่อย่างจำกัด

วสุวัส มอญขาม ผู้จัดการบริษัท มายด์พัฒน์ จำกัด

วสุวัส มอญขาม ผู้จัดการบริษัท มายด์พัฒน์ จำกัด ผู้เข้าร่วมเวิร์กช็อปในกลุ่มนี้ มองว่าเป็นเรื่องน่าเสียดายที่ครูแนะแนวเป็นครูที่ถูกให้ความสำคัญน้อยกว่าที่ควร และสิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ ปัญหาที่เป็นผลพวงจากเรื่องนี้กำลังถูกมองข้ามไปอย่างน่าเสียดาย

“มนุษย์แต่ละคนมีความแตกต่างกัน ทุก ๆ คนมีความสนใจที่จำเพาะ หากเด็กคนหนึ่งได้ทำหรือได้ประกอบอาชีพในสิ่งที่ชอบ ก็มีแนวโน้มที่จะพัฒนาความสามารถได้เต็มศักยภาพที่มีได้ในอนาคต การแนะแนวควรจะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลับตรงข้าม โรงเรียนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับวิชาการก่อน แล้วให้เด็กแต่ละคนเลือกอาชีพกันเองภายหลัง หลายคนยอมประกอบอาชีพที่ตัวเองไม่มีความสุขในการทำงาน เลยไม่รู้เลยว่าสิ่งที่เลือกกำลังบั่นทอนศักยภาพ ทักษะ หรือตัวตนของตัวเองลงไปอย่างน่าเสียดาย”

วสุวัส อธิบายว่า ปัจจุบันมีการสำรวจพบว่าประเทศไทย มีอัตราส่วนครูแนะแนว 1 คนต่อนักเรียน 500 คน อัตราส่วนดังกล่าวไม่เพียงพอต่อการดูแล หรือการแก้ปัญหานี้อย่างชัดเจน เพราะครูแนะแนวแต่ละคน จำเป็นที่จะต้องรู้จักหรือทำความรู้จักนักเรียนอย่างค่อนข้างที่จะละเอียด ต้องรู้ว่าเด็กแต่ละคนมีมิติอะไรบ้าง เด็กแต่ละคนมีความชอบด้านไหน มีทักษะอะไรที่เชี่ยวชาญเป็นพิเศษ แม้กระทั่งเมื่อได้รู้จักเด็กคนใดคนหนึ่งแล้วพบว่า เด็กคนนั้นยังไม่มีความชอบด้านไหนหรือมีทักษะที่เชี่ยวชาญเป็นพิเศษ ครูแนะแนวจะต้องมีกระบวนการ ค้นหาสิ่งเหล่านี้จากตัวเด็กออกมาให้ได้ การคลุกคลีกับเด็กในชั่วโมงที่จำกัด หรือเพียงแค่เทอมเดียวอาจจะไม่เพียงพอที่จะมองเห็นสิ่งที่อยู่ในตัวเด็กแต่ละคน จึงเห็นได้ว่า เรื่องนี้กำลังเป็นภาระที่จำนวนครูแนะแนวที่มีอยู่อาจจะแบกไว้ไม่ไหว

“เราจำเป็นที่จะต้องช่วยกันคิดค้นเครื่องมืออื่น ๆ มาช่วยดูแลเด็ก ปัจจุบันมีเครื่องมือสำหรับช่วยเหลือครูแนะแนวประเภทฟรีเว็บไซต์ ซึ่งถูกคิดค้นโดยนักจิตวิทยา มีรูปแบบให้ นักเรียนทดลองกรอกข้อมูลส่วนตัวของแต่ละคน และนำไปประมวลผลเพื่อสุ่มอาชีพให้กับเด็ก แต่เครื่องมือเหล่านี้ยังไม่ได้ผ่านการวิจัยและพัฒนาอย่างเพียงพอ จึงอาจจะทำให้เกิดการคลาดเคลื่อนได้ และสิ่งที่น่ากลัวสำหรับเครื่องมือทางจิตวิทยานี้ก็คือ เมื่อผลที่ออกมาระบุว่าเด็กคนไหนเหมาะกับอาชีพไหน ก็จะส่งผลให้เด็กเกิดความคิดฝังใจในผลที่ออกมา ทั้ง ๆ ที่ผลที่ออกมา อาจจะผิดก็ได้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องช่วยกันระดมไอเดียสร้างความตระหนักถึงปัญหานี้ และผลักดันให้มีการออกแบบเครื่องมือหรือแพลตฟอร์มที่ผ่านการวิจัยและพัฒนามาอย่างละเอียดจนมีผลลัพธ์ที่เชื่อถือได้ มีรูปแบบที่คนทั่วไปเข้าใจง่าย ซึ่งเครื่องมือชนิดนี้จะมีส่วนช่วยครูแนะแนว ได้มากขึ้นในอนาคต”

บูลลี่กันในโรงเรียน วังวนปัญหา ที่นักเรียนทุนเสมอภาคเผชิญอยู่

Bully หรือปัญหานักเรียนกลั่นแกล้งกันด้วยคำพูดหรือพฤติกรรม เกิดขึ้นในนักเรียนทุกกลุ่ม กลายเป็นปัญหาร้ายแรงที่สร้างผลพวงอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย โดยเฉพาะกับนักเรียนทุนเสมอภาค ปัญหานี้ถูกสำรวจพบว่าเป็นเรื่องที่คาดไม่ถึงว่าสามารถกัดกร่อนความรู้สึกของเด็กหลายคน จนทำให้พวกเขาไม่ชอบตัวเอง ไม่มั่นใจในตัวเอง ไม่อยากไปโรงเรียน หรือกระทั่งลุกลามกลายเป็นสร้างภาวะซึมเศร้าได้

วรรณา เลิศวิตรจรัส ผู้จัดการโครงการพัฒนาระบบสนับสนุน
การสร้างเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพ สสส.

วรรณา เลิศวิตรจรัส ผู้จัดการโครงการพัฒนาระบบสนับสนุนการสร้างเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพ สสส. เผยภายหลังจากที่เข้าร่วมเสนอไอเดียกับกลุ่มว่า การบูลลี่กันในโรงเรียน เป็นปัญหาที่มีมานาน แต่เริ่มเป็นปัญหาที่เพิ่มความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อมีการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างแพร่หลาย

“เพนพ้อยท์สำคัญของเรื่องนี้ คือครูไม่รู้จะจัดการกับปัญหาอย่างไร นักเรียนที่ประสบปัญหา ก็ใช้วิธีกัดฟันอดทน อาศัยว่าตัวเองมีความอดทนอดกลั้นเห็นคุณค่าในตัวเองจนผ่านไปได้ แต่ปัจจุบันปัญหานี้ยิ่งรุนแรงขึ้น เพราะเด็กบางคนไม่ได้บูลลี่คนอื่นแค่ต่อหน้า แต่บูลลี่คนอื่นในโซเชียลด้วย เรื่องราวที่บูลลี่ถูกอ่านซ้ำได้หลายรอบ มีพลังในการตอกย้ำมากขึ้นไปอีก ผู้เชี่ยวชาญระบุว่าการแก้ปัญหานี้เคสบายเคส จะเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่รู้จักจบสิ้น วิธีแก้ปัญหานี้ที่ดีที่สุดคือการแก้ปัญหาเชิงระบบ ไอเดียที่ถูกเสนอขึ้นในกลุ่ม คือการสร้างบรรยากาศเชิงบวก ทั้งในสังคมโรงเรียนจริง ๆ และการใช้เครื่องมือโลกโซเชียล”

วรรณา เน้นย้ำว่าจำเป็นที่จะต้องมีเครื่องมือ ที่สามารถสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ในจุดแข็งของกันและกัน โรงเรียนจะต้องมีแผนการจัดการเรียนรู้เรื่องนี้ ไม่ว่าจะอยู่ในชั่วโมงโฮมรูมหรือชั่วโมงแนะแนว ให้เด็กรู้ว่าอะไรที่บูลลี่กัน คำไหนที่พูดออกไปแล้วจะทำร้ายจิตใจของคนอื่นได้ โรงเรียนต้องมีกลไกช่วยเหลือเมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น อาจจะใช้รูปแบบ Health Services มีแกนนำนักเรียน กลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน ที่สามารถให้คำแนะนำ ให้คำปรึกษา อย่างเข้าใจปัญหา

“การแก้ปัญหานี้ จำเป็นที่จะต้องสร้างเครือข่ายครู ที่สามารถแลกเปลี่ยนและสะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้น และหาแนวทางในการแก้ไขร่วมกัน การสร้างเครือข่าย จะช่วยเพิ่มทางเลือกในการแก้ปัญหา ทั้งจากประสบการณ์และเทคนิคในการทำงาน ซึ่งครูแต่ละพื้นที่เคยใช้ปฏิบัติจริง และสามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นมาแล้ว นำมาประยุกต์กับเคสที่เกิดขึ้นกับนักเรียนหรือโรงเรียนอื่นๆ”

ขาดเรียนจนหลุดจากระบบการศึกษา

เรื่องนี้เป็นปัญหาสำคัญที่นักเรียนทุนเสมอภาคเผชิญมาตลอด จากการสำรวจพบว่า ส่วนใหญ่เกิดจากเหตุผลสำคัญ คือ เบื่อการเรียน หลายคนไม่สนุกกับการเรียนในโรงเรียน ไม่มีแรงจูงใจในการเรียนให้จบกระทั่งการศึกษาภาคบังคับ หรือ ชั้นม.3 ปัญหานี้ยิ่งรุนแรงขึ้นเมื่อพวกเขาอยู่ในครอบครัวที่พ่อแม่ต้องทำงานหนัก ไม่มีเวลาดูแล ทำให้ไปรวมตัวกับกลุ่มเพื่อนในช่วงวัยที่กำลังต้องการการยอมรับ

กวีไกร ม่วงศิริ นักจิตวิทยาการปรึกษาประจำศูนย์บริการปรึกษา Knowing Mind

กวีไกร ม่วงศิริ นักจิตวิทยาการปรึกษาประจำศูนย์บริการปรึกษา Knowing Mind ระบุว่า จากการร่วมเวิร์กช็อปในกลุ่มนี้ สมาชิกในกลุ่มมองเห็นปัญหาร่วมกันว่า นักเรียนขาดเรียนจนหลุดจากระบบการศึกษาเป็นปัญหาปลายทางของปัญหาอื่น ๆ ที่ทั้งพบเห็นได้ทั่วไปและซ่อนตัวอยู่ในปัจจัยที่คาดไม่ถึง

“ปัญหานี้เป็นปลายทางของปัญหาที่แท้จริง เพราะจากข้อมูลที่มีและได้คุยกัน พบว่าเกิดจากสาเหตุที่หลากหลายมาก ทั้งปัญหาที่เกิดจากนักเรียนเองและเกิดจากครอบครัว การแก้ปัญหานี้ ต้องย้อนกลับไปดูว่า ปัจจัยอะไรบ้างที่ส่งผลต่อเด็กกลุ่มนี้ ข้อเสนอที่ได้เสนอไปได้เสนอให้แก้ที่ต้นทางของปัญหามากกว่าปลายทาง เช่น อาจจะจำเป็นต้องสร้างเน็ตเวิร์กให้ครูมีกลุ่มของครูที่สามารถปรึกษาหารือหาทางแก้ไขปัญหารูปแบบต่าง ๆ กันเองได้ เพราะครูในพื้นที่ต่าง ๆ มีหลักคิดหรือวิธีการที่เหมาะสมหรือสอดคล้องกับปัญหาเฉพาะด้าน ต้องมาดูกันว่าอะไรที่นำมาช่วยครูคนอื่น ๆ ได้ หรือมีวิธีการไหนที่จะมาแชร์กันแบบเรียลไทม์ได้บ้าง

กวีไกร บอกว่าแนวคิดที่กล่าวมา เกิดขึ้นจากการที่เขาเคยเห็นครูตั้งกลุ่มกันช่วยเหลือด้านการเรียนการสอนออนไลน์ในช่วงโควิด-19 ตอนนั้นครูมารวมกลุ่มกันเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลที่มีประโยชน์และแก้ปัญหาได้ตรงจุด และการแจกซิมการ์ดอินเทอร์เน็ตให้เด็กก็สามารถสร้างกลไกที่สอดคล้องกับการทำงานของกลุ่มครูในรูปแบบนี้ได้ ทั้งเรื่องของการช่วยกันหาแรงจูงใจ และปัจจัยต่าง ๆ ที่สามารถหนุนเสริม สร้างแรงบันดาลใจ สร้างทักษะในการดูแลตัวเอง รับฟังปัญหา หาแนวทางที่ช่วยให้เด็กมองเห็นคุณค่าในตัวเอง ช่วยให้มองเห็นความสำคัญของตัวเขาร่วมกัน

“ซิมการ์ดที่เขาได้รับ ควรจะเป็นอุปกรณ์สำคัญในการเปิดประตูไปสู่โอกาสในการทดลองทำสิ่งต่าง ๆ ในโลกออนไลน์ ที่ช่วยให้เด็กกลุ่มนี้ได้รับทางเลือกใหม่ ๆ เพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างตัวเขากับโรงเรียน จนเกิดแนวทางในการสร้างกำลังใจให้เด็กยังอยู่ในระบบการศึกษาอย่างมีความหวัง”

ศักยภาพที่ยังไม่ถูกค้นพบ ความสามารถที่ไม่ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ความสนใจและความต้องการที่ยังมองไม่เห็น

“การค้นพบตัวเอง” มักจะเป็นสิ่งที่ถูกละเลยไปอย่างน่าเสียดาย ปัญหานี้เหมือนเป็นเรื่องเล็กสำหรับหลายคนที่มีโอกาสลองผิดลองถูก มีเวลา มีโอกาส และปัจจัยในการค้นหาตัวเอง  แต่ในกลุ่มนักเรียนทุนเสมอภาค ซึ่งมีแหล่งทรัพยากรในการเรียนรู้และทุนการศึกษาที่สนับสนุนให้ทำตามความฝันของตัวเองอย่างจำกัด ทำให้ต้องยอมเลือกเรียนและทำงานที่ไม่ตรงกับทักษะและความถนัด ยอมสูญเสียโอกาสในการพัฒนาศักยภาพที่จะสร้างรายได้และความก้าวหน้าในอาชีพอย่างเต็มที่

วีรพัฒน์ ชววัฑรัตน์ชัย รองประธานสภาเด็กโรงเรียนราชวินิตมัธยม

วีรพัฒน์ ชววัฑรัตน์ชัย รองประธานสภาเด็กโรงเรียนราชวินิตมัธยม มองปัญหานี้ว่า เด็กมัธยม วัยเดียวกับเขาส่วนใหญ่ มักจะขาดโอกาสในการค้นหาตัวเอง อุปสรรคสำคัญของปัญหานี้คือเรื่องของต้นทุนชีวิต

“เด็กหลายคนที่ผมรู้จัก มีโอกาสที่จะค้นพบตัวเองน้อยมาก เพราะสังคมของพวกเขา ถูกจำกัดทางเลือก หลายคนต้องเรียนไปด้วยและทำงานไปด้วย เวลาที่เขาจะใช้เพื่อค้นหาตัวเองหรือเวลาที่ไปร่วมกิจกรรมซึ่งอาจจะทำให้มองเห็นทางเลือกหรือโอกาสในการค้นพบตัวเองของพวกเขาก็เกิดขึ้นยาก หลายคนเรียนไปจนถึง ม. 3 หรือ ม. 6 โดยไม่รู้ว่าชอบอะไรหรืออยากเรียนต่อในด้านไหนเลย  ในขณะที่บางคน ผู้ปกครองมีทุนทรัพย์เพียงพอที่จะสนับสนุนการศึกษา สนับสนุนให้ไปร่วมกิจกรรมต่าง ๆ แบบลองผิดลองถูกได้”

วีรพัฒน์ เห็นว่าที่ผ่านมา โรงเรียนพยายามช่วยเหลือเด็กในเรื่องนี้อย่างเต็มที่ เช่นจัดกิจกรรม Open House หรือกิจกรรมที่ประสานกับสถาบันอุดมศึกษามีชื่อต่าง ๆ เปิดคณะดัง ๆ ให้เข้าไปเยี่ยมชม เข้าไปสอบถามว่าเรียนสอนอะไรบ้าง โดยมีผู้ให้คำตอบเป็นรุ่นพี่คอยชักชวนนักเรียนที่สนใจ แต่กิจกรรมรูปแบบนี้ก็ไม่เพียงพอที่จะช่วยให้เด็กค้นพบตัวเองว่าอยากเรียนอะไรได้

“พวกเขาจึงแก้ปัญหานี้ด้วยวิธีที่พอจะทำได้ก็คือหยิบโทรศัพท์ขึ้นมา พยายามเสิร์ชสิ่งที่ไม่รู้ หาคำตอบเรื่องต่าง ๆ ทางกูเกิล แต่เครื่องมือนี้ก็อาจจะไม่ช่วยให้ค้นพบตัวเองได้ เรื่องนี้จำเป็นต้องมีการออกแบบแพลตฟอร์มหรือโปรแกรมการหาคำตอบเรื่องนี้อย่างเป็นระบบ และหากเป็นไปได้ ผู้ใหญ่จะต้องช่วยกันคิดว่าจะมีเครื่องมือแบบไหนที่ช่วยให้เด็กรู้จักปัจเจกของตัวเองได้ดีขึ้น อาจจะเป็นเครื่องมือที่คอยติดตามการเรียนรู้เพื่อสร้างกิจกรรมต่างๆ ที่เหมาะสม ระบบการแชร์ข้อมูลสำคัญที่ช่วยให้เด็กมองเห็นหรือประเมินตัวเองได้ เครื่องมือทำนองนี้จะเป็นเสมือนต้นทุนชีวิตสำหรับใช้ดูแลปัญหานี้ และน่าจะช่วยให้ปัญหาที่เด็กมัธยมทุกกลุ่มกำลังพบเจออยู่ในปัจจุบันบรรเทาลงไปได้ในอนาคต”

กิจกรรมเวิร์กช็อปครั้งนี้ เป็นจุดเริ่มต้นของการระดมความคิดสร้างสรรค์ที่จะนำไปสู่การหารือกับผู้เกี่ยวข้องและเลือกแพลตฟอร์มทางการศึกษาที่เหมาะสมสำหรับการแจกซิมการ์ดอินเทอร์เน็ตให้กับนักเรียนทุนเสมอภาคกลุ่มตัวอย่าง 300,000 คนประมาณเดือนกรกฎาคมนี้ โดยระหว่างนี้ กสศ. และผู้เกี่ยวข้องจะมีการเตรียมความพร้อมทุกด้าน และจะมีการวัดประเมินผลลัพธ์การเรียนรู้หลังจากเด็ก ๆ ได้รับซิมไปใช้งานเป็นเวลา 6 เดือน