เปิดเทอม คือชีวิตใหม่ กราบที่หัวใจขอบคุณคุณครู

เปิดเทอม คือชีวิตใหม่ กราบที่หัวใจขอบคุณคุณครู

ต้องกล่าวคำขอบคุณอีกครั้ง แม้จะทราบดีว่า ไม่ว่าจะต้องเอ่ยคำนี้อีกกี่ครั้ง ก็ไม่อาจแทนค่าของคุณูปการและความเสียสละของคุณครูทุกท่านได้

เราบอกคำนี้กับคุณครูไปแล้วในงาน ‘Thank You Teacher ขอบคุณครูเสมอภาค’ ซึ่งสำนักพัฒนาหลักประกันโอกาสทางการศึกษา กสศ. จัดมาแล้ว 2 ภูมิภาคที่จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดสงขลา ในช่วงเวลาที่คุณครูภาคกลางได้เดินทางมาพบกัน 19 – 20 พฤษภาคมนี้ กสศ. ขอรวบรวมเรื่องราวต้อนรับเปิดเทอมที่ได้พูดคุยกับคุณครูทุนเสมอภาคจากพื้นที่ภาคใต้มาบอกต่อในบทความนี้

เปิดเทอมคือช่วงเวลาที่ลูกศิษย์ได้เริ่มต้นชีวิตที่ดีอีกครั้ง

ภาณุพันธ์ พูลสวัสดิ์ โรงเรียนวัดทุ่งบัว

ครูภาณุพันธ์ พูลสวัสดิ์ โรงเรียนวัดทุ่งบัว เล่าว่าการเดินทางไปเยี่ยมบ้านทำให้ทราบถึงสภาพความเป็นอยู่ของนักเรียน บ้านของนักเรียนทุนเสมอภาคที่ได้เคยลงไปเยี่ยม ส่วนใหญ่จะตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกล สภาพบ้านเป็นบ้านไม้มุงสังกะสี อาศัยอยู่กับปู่ย่าตายาย พ่อแม่ต้องออกไปทำงานตั้งแต่เช้า ทำให้การดูแลมีข้อจำกัดหลายด้านโดยเฉพาะเรื่องอาหารการกินก่อนที่จะมาโรงเรียน พวกเขาต้องหามื้อเช้ากินกันเอง หลายคนชอบมาโรงเรียนเพราะโรงเรียนช่วยให้ความเป็นอยู่ของเขาดีขึ้น อย่างน้อยก็มีอาหารกลางวันกิน มีครูช่วยเหลือ 

บริเวณที่ตั้งของโรงเรียนวัดทุ่งบัว ตำบลเกาะใหญ่ อำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา เป็นพื้นที่ติดทะเลสาบอาชีพหลักของคนในพื้นที่คือทำสวนยางพาราและการประมงขนาดเล็ก 

ครูภาณุพันธ์มองว่าด้วยข้อจำกัดของพื้นที่ ทำให้ผู้ปกครองของนักเรียนทุนเสมอภาคมีทางเลือกในการประกอบอาชีพไม่มากนัก ส่วนใหญ่จะมีอาชีพหาเช้ากินค่ำ รับจ้างกรีดยางและออกเรือหาปลามีรายได้ที่ไม่แน่นอน

 “รายได้ของผู้ปกครองที่มาจากการออกเรือหาปลา จับได้บ้างไม่ได้บ้าง บางครั้งก็ไม่พอประทังชีวิต เด็กบางคนมาโรงเรียนโดยไม่มีเงินติดตัว ถ้ามาโรงเรียนก็ได้กินอิ่มและบางครั้งก็ได้อาหารกลับไปตุนไว้ที่บ้านด้วย โรงเรียนพยายามที่จะหาทางดูแลเด็กกลุ่มนี้ ด้วยการหาทุนต่าง ๆ เช่นที่ได้จากทุนเสมอภาคมาสนับสนุนช่วยเหลือ สำหรับใครหลายคน เงินที่ได้จากทุนต่างๆ  อาจจะไม่ใช่จำนวนที่มากมาย แต่สำหรับเด็ก ๆ ที่มาจากครอบครัวเหล่านี้ถือเป็นจำนวนที่มีค่ามาก             

“เด็ก ๆ จำนวนไม่น้อยโดยเฉพาะกลุ่มที่มีความขาดแคลนทุนทรัพย์อยากให้โรงเรียนเปิดเทอมเพราะชีวิตในโรงเรียนนั้นดีกว่าอยู่บ้าน ซึ่งต้องอดมื้อกินมื้อ มาโรงเรียน อย่างน้อยก็มีอาหารกลางวันที่กินได้จนอิ่ม ช่วงเปิดเทอมเราจะได้เห็นเด็กหลายคนยิ้มแย้มดีใจ เหมือนได้เริ่มต้นช่วงเวลาดี ๆ อีกครั้ง และจะสังเกตได้ว่าเด็กบางคนจะขอเติมอาหารมื้อกลางวันหลายครั้ง เพราะตอนเช้าไม่ได้กิน ปิดเทอมอยู่กับบ้านก็ไม่ค่อยได้กิน”

พื้นที่แห่งโอกาส

ครูมูฮำหมัดซอและ กะเด็ง โรงเรียนบ้านน้ำดำ

บรรยากาศของโรงเรียนกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งในวันเปิดเทอม เด็กๆ และผู้ปกครองมาโรงเรียนตั้งแต่เช้าตรู่ เสียงหัวเราะ เสียงพูดคุย ถามไถ่สารทุกข์สุขดิบ เข้ามาแทนที่ความเงียบเหงาที่เคยมี

ครูมูฮำหมัดซอและ กะเด็ง โรงเรียนบ้านน้ำดำ อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี เล่าว่าเด็ก ๆ ที่นั่นจะรู้สึกดีใจที่โรงเรียนเปิดเทอม เนื่องจากเด็ก ๆ บางคนไม่มีโอกาสได้เจอกันเลยตลอดช่วงปิดภาคเรียนเปิดเทอมจึงเป็นโอกาสได้กลับมาเจอกันอีกครั้ง

“เด็กนักเรียนยากจนสุดในพื้นที่ที่เคยไปเยี่ยมบ้าน คือเด็ก 7 คนอยู่กับครอบครัวที่ไม่มีบ้าน ไม่มีที่ดิน อาศัยอยู่ในยุ้งข้าว ซึ่งเป็นกระต๊อบสำหรับเก็บข้าวเปลือกที่ไม่ได้ใช้งานแล้ว พี่ ๆ คนโตของครอบครัว 3 ชีวิตต้องไปทำงานพิเศษในตอนกลางคืนเพื่อหาเงินมาจุนเจือครอบครัว ตอนแรกก็ไม่เข้าใจว่าทำไมเด็กทั้ง 3 คนนี้ถึงชอบมาโรงเรียนสาย มาแล้วก็ไม่พร้อมที่จะเรียนเหมือนง่วงนอนอยู่ตลอดเวลา ทั้งที่ทั้ง 3 คนเป็นเด็กเรียนเก่ง การลงไปเยี่ยมบ้านทำให้เราได้สัมผัสกับปัญหาที่เด็กเผชิญอยู่จริง ๆ และนำปัญหานั้นมาประสานกับหน่วยงานในท้องถิ่นเพื่อช่วยกันคิดหาทางออกให้กับพวกเขา

 “พ่อแม่ส่วนใหญ่อยากให้ลูกมาโรงเรียนเพราะส่วนหนึ่งจะได้หมดห่วงเรื่องอาหารการกินซึ่งโรงเรียนจัดสรรไว้ให้  แม้แต่ช่วงปิดภาคเรียนเด็ก ๆ หลายคนยังแวะเวียนมาที่โรงเรียน ทั้งมาเล่นกีฬาและมาร่วมกิจกรรมปลูกผักและเลี้ยงสัตว์ในโรงเรียน ช่วงเปิดภาคเรียน เด็กๆ จะได้กินอาหารมื้อหลักในช่วงกลางวันและตอนเย็น เมื่อไปเรียนคัมภีร์อัลกุรอานในโรงเรียนสอนศาสนา เรียนเสร็จประมาณ 6 โมงหรือทุ่มหนึ่งก็จะมีการจัดเลี้ยงข้าวต้ม ทั้งโรงเรียนภาคบังคับและโรงเรียนสอนศาสนาจึงเป็นพื้นที่แห่งโอกาส ทั้งได้เรียนรู้เรื่องต่าง ๆ และเรื่องอาหารการกินของพวกเขา”

สิ่งที่ตั้งตารอ

ครูนูรฟาติน สีเดะ โรงเรียนบ้านบาตะกูโบ

ครูนูรฟาติน สีเดะ โรงเรียนบ้านบาตะกูโบ อำเภอมายอ จังหวัดปัตตานี เล่าว่าแม้นักเรียนส่วนใหญ่ในโรงเรียนจะอยู่ในครัวเรือนที่มีความยากจน แต่พวกเขาก็รักการมาโรงเรียนมาก โดยเฉพาะหลังโควิดระบาดยิ่งอยากมาโรงเรียนมากเพราะรู้สึกว่ามาโรงเรียนแล้วได้เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ มากกว่าเรียนอยู่กับบ้าน 

“เปิดเรียนวันแรก ๆ เด็ก ๆ จะดีใจมากเพราะได้กลับมาพบเจอกันอีกครั้ง ช่วงเปิดเทอม 1 อาจจะยังไม่พบปัญหาอะไรมากนัก ปัญหาบางอย่างเช่นเรื่องของเสื้อผ้ามักจะพบในช่วงเปิดเทอม 2 เพราะเทอม 1 รัฐยังจัดสรรค่าเสื้อผ้าและอุปกรณ์การเรียนให้ แต่เทอม 2 จะไม่มีเงินส่วนนี้ให้ เด็กกลุ่มยากจนพิเศษจึงมักจะใส่เสื้อผ้าขาด ๆ มาเรียน เพราะบางคนช่วงอยู่บ้านจะไม่ค่อยมีเสื้อผ้าใส่ ต้องใส่ทั้งชุดนักเรียนและชุดพละอยู่บ้าน เสื้อผ้าจึงเก่าเร็ว บางครอบครัวก็ไม่ได้นำเงินที่รัฐจัดสรรให้ไปซื้อเสื้อผ้าจริง ๆ เอาไปซื้ออย่างอื่นที่จำเป็นกว่า 

“การลงไปเยี่ยมบ้านทำให้ทราบว่านักเรียนที่มีความยากจนพิเศษมีปัญหาที่คล้ายกัน คือนักเรียนกลุ่มนี้ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ ส่วนใหญ่อยู่กับคุณตาคุณยาย ถ้าครอบครัวไหนได้รับทุนเสมอภาคก็จะดีใจมาก เพราะเงินที่ได้จะช่วยพวกเขาได้เยอะ หลายครอบครัวมีลูกหลายคน พอได้ทุนทั้งครอบครัวก็จะดีใจกันมาก ผู้ปกครองมีเวลาดูแลเด็กนักเรียนมากขึ้นเพราะบางวันไม่ต้องไปทำงานพิเศษ เด็กบางคนอาจเคยขาดเรียนบ่อยเพราะต้องตามผู้ปกครองไปทำงาน พอได้ทุนก็ปรับเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น ไม่ค่อยขาดเรียน 

เยี่ยมบ้านในพื้นที่สีแดง

ครูสะมะแอ สาแม โรงเรียนบ้านบันนังดามา

ครูสะมะแอ สาแม โรงเรียนบ้านบันนังดามา จังหวัดยะลา เล่าว่าเด็ก ๆ ที่นั่นชอบมาโรงเรียน ยังไม่ถึงเวลาเปิดเรียนจริง ๆ ก็เริ่มเดินทางมาช่วยงานต่าง ๆ ช่วยเหลือคุณครูที่โรงเรียนเพื่อเตรียมตัวสำหรับเปิดภาคเรียนกันแล้ว

“เงินอุดหนุนจากทุนเสมอภาค สามารถช่วยเหลือครอบครัวที่ยากจนจริง ๆ เพราะบางคนมาจากครอบครัวยากจน ที่มีลูก ๆ อยู่ในวัยเรียนหลายคน พ่อแม่ไม่สามารถส่งเสียไปโรงเรียนได้ เด็กกลุ่มนี้เราจะทราบปัญหาพวกเขาได้ก็ตอนที่ไปเยี่ยมบ้าน ได้เห็นสภาพความเป็นอยู่ บางคนขาดเรียนบ่อยก็สงสัยว่าทำไมขาดเรียนบ่อย ไปเยี่ยมบ้านถึงได้รู้ว่าอาศัยกันอยู่ในกระท่อมในสวนยาง มีสมาชิกหลายคน บ้านไม่มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกไม่มีอินเทอร์เน็ต ไม่มีกระทั่งสัญญาณโทรศัพท์ ถ้าไม่ได้ไปโรงเรียนก็ต้องวิ่งเล่นตามประสาของพวกเขาอยู่แถวบ้าน อยู่ในป่า วิ่งเล่นอยู่ตามลำธาร

“โรงเรียนตั้งอยู่ในพื้นที่สีแดง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่หลายคนเป็นห่วง บางคนก็กลัว และถามว่าการไปเยี่ยมบ้านอันตรายไหม ครูที่เป็นคนในพื้นที่บางคนก็อาจจะชินแล้ว แต่การไปเยี่ยมบ้านจำเป็นต้องวางแผนอย่างละเอียดรอบคอบ ต้องประสานกับนักเรียนและผู้นำหมู่บ้าน นักเรียนบางคนอยู่ในพื้นที่ห่างไกลอยู่ในป่าครูไม่ทราบเส้นทาง ก็ต้องให้นักเรียนพาไป ต้องถามข้อมูลกับนักเรียนอย่างละเอียด เช่น ถามว่าพ่อแม่อยู่บ้านเวลา ไหน พ่อแม่ทำงานอะไร ต้องแน่ใจว่าการไปเยี่ยมบ้านจะได้พบกับพ่อแม่ผู้ปกครองของเด็กจริง ๆ และต้องระวังเรื่องออกนอกเส้นทาง บางวันหากเดินทางไปในพื้นที่ยากลำบากมาก ก็เยี่ยมบ้านได้ไม่กี่คนหรือสูงสุดแค่ 10 คน”